รายงาน: จับตาเดินหน้าโครงการทวาย รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน


"การดำเนินการของบริษัทที่ผ่านมาได้ทำลายป่าชายเลนในพื้นที่
สัตว์ทะเลบางอย่างที่เคยหาได้จากป่าชายเลนหายาก หรือสูญพันธุ์จากพื้นที่ไปแล้ว"
ชาวบ้านจากหมู่บ้านเต็งจี ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการทวายกล่าว

 

ข่าวคราวการเดินทางเยือนประเทศเมียนมาร์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ มีการระบุถึงกำหนดการเจรจาหารือกับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อรื้อฟื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย ทั้งนี้ กระแสข่าวที่ออกมาไม่เว้นแต่ละวันระบุถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการค้าของไทยที่จะได้รับ และการประกาศความพร้อมเดินหน้าโครงการอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ปีนี้

ทว่า หากมองสภาพการณ์ ณ ขณะนี้แล้ว ความคิดที่จะขับเคลื่อนโครงการทวาย กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่สวนทางกัน 

ตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2551 โครงการทวาย (ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดถึง 8 เท่า) ก็ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด และต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากความล้มเหลวในการระดมทุนเพื่อเดินหน้าโครงการของบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด มหาชน ประกอบกับสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย แม้ว่ารัฐบาลสมัยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะโหมผลักดันอย่างหนักก็ตาม

รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ทำแม้กระทั่งการเข้าอุ้มโครงการทวายแทนบริษัท อิตาเลียนไทยฯ โดยทำข้อตกลงถ่ายโอนให้อยู่ในรูปของบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือ เอสพีวี (วงเงินเริ่มต้น 12 ล้านบาท) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าฝ่ายละครึ่ง โดยทำข้อตกลงเพิ่มเติมว่า บริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในเฟสเริ่มต้นจะเป็นผู้ชำระเงินค่าลงทุนเบื้องต้นที่ผ่านมาคืนให้กับ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ (ซึ่งบริษัทประเมินว่าประมาณ 6,000 ล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากไม่มีนักลงทุนใดให้ความสนใจกับแนวคิดนี้

มาวันนี้มีกระแสข่าวออกมาว่ารัฐบาลไทยประกาศพร้อมผลักดันโครงการทวายเต็มที่ ทั้งมีการโน้มน้าวให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมสนับสนุน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลเฉพาะกาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับให้ความสำคัญแต่มิติทางด้านเศรษฐกิจ โดยละเลยความสำคัญในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ยังเป็นปัญหาคาราคาซังอันเนื่องมาจากการดำเนินการของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ร้องเรียน และพวกเขายังคงเดือดร้อนอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้
 


"ไม่เอาเขื่อน" คำประกาศที่ชาวบ้านกาโลนท่า หมู่บ้านที่จะต้องถูกโยกย้ายทั้งหมู่บ้าน
เพื่อสร้างเขื่อนนำน้ำไปใช้ในเขตนิคมอุตสาหกรรมทวาย

โบ โบ สมาชิกของ สมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association) องค์กรท้องถิ่นในทวายที่ติดตามความเคลื่อนไหวของนี้มาโดยตลอด ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยจะเจรจากับรัฐบาลพม่าเพื่อรื้อฟื้นผลักดันโครงการทวายอีกครั้ง 

คุณรู้สึกอย่างไรที่มีการรื้อฟื้นโครงการทวายขึ้นมาเจรจาอีกครั้ง?
โครงการนำความเปลี่ยนแปลงมากมายมาให้กับทวาย ทั้งด้านบวกและด้านลบ แต่การจะรู้สึกว่าเป็นผลกระทบด้านบวกหรือลบก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่แตกต่างกันไป เพราะผลกระทบด้านลบส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม และมีปัญหามากมายที่ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข พวกเราคนท้องถิ่นทวายได้ตระหนักดีแล้วว่า หากบทบาทในการมีส่วนร่วมเพื่อตัดสินใจใดๆ ในโครงการของพวกเราถูกจำกัด โครงการจะไม่นำผลประโยชน์อะไรมาให้ นอกจากความเสียหายต่างๆ

มันมีความเสี่ยงสำหรับบรรดานักลงทุนด้วย พม่าจะมีการเลือกตั้งในไม่ช้านี้ และรัฐบาลใหม่ นโยบายใหม่อาจเกิดขึ้น กระบวนการสันติภาพกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นประเด็นที่เปราะบางมาก สิ่งสำคัญมากที่ต้องพึงระวังคือ ถนนเชื่อมต่อระหว่างโครงการทวายกับประเทศไทยนั้นตัดผ่านพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของกองกำลังสหภาพแห่งรัฐกะเหรี่ยง หรือเคเอ็นยู ซึ่งตอนนี้ได้ถอนตัวออกจากกระบวนการเจรจาสันติภาพ และเริ่มมีการสู้รบกันอีกครั้ง ดังนั้นในสถานการณ์เมืองเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงอย่างมากในการตัดสินใจใดๆ ของนักลงทุน

สมาคมพัฒนาทวายเชื่อหรือไม่ว่ารัฐบาลพม่าเองจะมีศักยภาพในการดำเนินการโครงการนี้?
เราไม่คิดว่ารัฐบาลพม่าจะมีศักยภาพในการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ พวกเราได้เรียนรู้ถึงความล้มเหลวมากมายของรัฐบาลพม่าในการดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา แม้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาจะอยู่ใกล้กับย่างกุ้ง แต่มีข้อร้องเรียนมากมายเกิดขึ้นกับกระบวนการและการจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอพยพโยกย้ายชาวบ้าน การชดเชย และการยึดที่ดิน โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาเฟสแรกมีเนื้อที่เพียง 400 เฮกตาร์ ซึ่งถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับโครงการทวาย ซึ่งมีขนาดมหึมา ขณะนี้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency - JICA) กำลังดำเนินการสอบสวนโครงการนี้อยู่ว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กรหรือไม่ มันมีความผิดพลาดล้มเหลวมากมายในการดำเนินการโครงการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายกับชุมชน การคุกคามข่มขู่ชาวบ้านเพื่อให้ลงนามในข้อตกลง และมันก็ไม่ได้ดำเนินตามขั้นตอนและกฎหมายภายในประเทศด้วย ความล้มเหลวสำคัญคือมันไม่มีการทำงานประสานกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก การทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับก็ยังคงเป็นข้อท้าทายใหญ่ของประเทศพม่าด้วย

สมาคมพัฒนาทวายอยากจะพูดอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่โครงการทวาย และคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากโครงการนี้เดินหน้า?
มีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ โครงการทวายไม่มีความโปร่งใสและไร้ความรับผิดชอบ ถ้าโครงการยังดำเนินไปในแนวทางเดิมๆ คุณจะได้เห็นการคัดค้านอย่างหนักหน่วงของชุมชนต่างๆ ในทวาย ความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญได้ถูกทำลายลงไปแล้ว และมันต้องการการแก้ไขด้วยการให้ความเคารพในสิทธิมนุษยชน และนำหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากล (international best practices) มาใช้

หากรัฐบาลพม่าและรัฐบาลไทยต้องการที่จะดำเนินโครงการทวายในขณะนี้ จะต้องคำนึงถึงอะไรเป็นสำคัญ?

ต้องคำนึงถึงเสียงของสาธารณชน ถ้ารัฐบาลต้องการที่จะดำเนินโครงการต่อ พวกเขาต้องฟังเสียงประชาชน
 


รั้วลวดหนามกั้นเขตแดนของพื้นที่โครงการทวาย จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประเมินอย่างชัดเจนจากโครงการว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสูญเสียที่ดินและต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่จำนวนเท่าใด และจะมีชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต อีกจำนวนเท่าใด
 

ในฐานะคนทวาย คุณต้องการบอกอะไรกับสาธารณชนไทย รัฐบาลไทย และนักลงทุน?
เราได้เรียนรู้กับบทเรียนมากมายตลอด 3 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่โครงการเริ่มต้น พวกเราต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยเพราะเรามีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายคลึงกัน คนไทยควรมีส่วนในการรับผิดชอบในการเฝ้าจับตารัฐบาลไทยเพื่อไม่ให้รัฐบาลใช้จ่ายเงินของพวกเขาด้วยการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่น และควรต้องกดดันรัฐบาลไทยหากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

สำหรับนักลงทุน พวกเขาต้องตระหนักว่าพวกเขาก็มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเงินหากพวกเขาพบว่าการเข้ามาลงทุนกลับกลายเป็นการก่อผลกระทบด้านลบต่างๆ ให้กับคนท้องถิ่น โลกมันเล็กมาก - มันเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักลงทุนในการรักษาชื่อเสียงของเขา

และที่ชัดเจนที่สุดก็คือ คนทวายจะไม่มีทางยอมรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมหนัก หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินในทวายเป็นอันขาด


แนวรั้วของโครงการทวายที่ตัดผ่านเข้าไปในแปลงเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งพื้นที่ตั้งของโครงการเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของชาวบ้าน เช่น สวนมะม่วงหิมพานต์ สวนยางพารา และมีชาวบ้านจำนวนมากที่สูญเสียที่ดินไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับค่าชดเชย

*****************
สาธารณชนไทยคงต้องเฝ้าจับตาดูการพลิกฟื้นโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายรอบใหม่ครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ และยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลของทั้งสองประเทศจะจัดการกับปัญหาที่ยังค้างคาอยู่อย่างไร และหากจะเดินหน้าโครงการจริง จะดำเนินการโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพียงใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท