ประจักษ์ ก้องกีรติ: ความรุนแรงในการเลือกตั้งไทย อุปสงค์ อุปทาน ตลาดความรุนแรง

6 ต.ค. 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดการบรรยายหัวข้อ “ความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทย ว่าด้วยอุปสงค์ อุปทานและตลาดของความรุนแรง” ที่ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดย อ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มธ. เป็นผู้บรรยาย

คลิปการนำเสนอของประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ กล่าวว่า อุทิศการนำเสนอนี้ให้กับวันที่ 6 ตุลา รัฐไทยมีความรุนแรงมาตลอดในประวัติศาสตร์ และสยามเมืองยิ้มเป็นภาพลักษณ์ที่เกิดจากการสร้างประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนไทยหลงลืมความรุนแรงที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ไทย พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบความรุนแรง ในช่วง 6 ตุลาคมนั้นเป็นช่วงสูงสุดของความรุนแรงโดยรัฐ แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนรูปไปเป็นประชาชนเองใช้ความรุนแรงหรือกลุ่มทุนที่ไม่ใช่รัฐก็เป็นผู้ใช้ความรุนแรง เป็นการใช้เพื่อต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์

ประจักษ์ได้นำเสนอหัวข้อการบรรยายซึ่งเป็นเนื้อหาจากงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา ซึ่งช่วงแรกนั้นเป็นการอรรถาธิบายเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งของไทย ตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงปัจจุบัน

มีบางจังหวัดมีปัญหาความรุนแรงในการเลือกตั้ง บ่อยๆ ซ้ำๆ ขณะที่บางจังหวัดไม่มีปัญหาความรุนแรง มีกลุ่มจังหวัดที่ไม่เคยรุนแรงแล้วมาปะทุขึ้น และอีกส่วนคือเคยมีความรุนแรงแล้วสงบลง

โดยเขาศึกษาพื้นที่เลือกตั้ง 6 จังหวัด เช่น แพร่ นครสวรรค์ เพชรบุรี บุรีรัมย์ และสระแก้ว ซึ่งจะสะท้อนลักษณะที่แตกต่างกันทั้งทางประชากร เศรษฐกิจ และรูปแบบความรุนแรง

เขาพบว่าความรุนแรงทางการเมืองของไทยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ใช่แค่เรื่องที่เกิดในสังคมไทย ไม่ใช่เรื่อง Unique แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคมอื่นเช่นกัน สิ่งที่เรียกว่าความรุนแรงทางการเลือกตั้งเป็นประเภทของความรุนแรงประเภทหนึ่งและพบมากในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ประเทศกำลังพัฒนาที่สถาบันทางการเมืองและกฎกติกาทางการเมืองยังไม่ลงหลักปักฐาน ไทยก็อยู่ในกลุ่มประเทศนี้ เป็นประเทศที่มีปัญหาความไม่สงบต่างๆ แต่เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาความรุนแรงทางการเลือกตั้ง ระดับความรุนแรงของไทยนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ คือมีความรุนแรงในการเลือกตั้ง ไม่สงบราบคาบเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่สเกลความรุนแรงค่อนข้างต่ำ อยู่ในระดับควบคุมจัดการได้ ถ้ารัฐเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา เราไม่อยู่ในระดับสเกลใหญ่ เช่น เคนยา หรือ ซิมบับเว ที่มีคนตายเป็นพันคน อพยพย้ายถิ่นฐานเป็นแสนคน และมีการนองเลือด

แม้ว่าวิทยานิพนธ์ของเขาจะเขียนเสร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของไทย แต่เขาเห็นว่าในส่วนของปรากฏการณ์การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นสัญญาณที่ไม่ดีนักต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย

เขาเริ่มศึกษาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2518 หลังการโค่นจอมพลถนอม กิตติขจร ลงจากอำนาจซึ่งมีประชาธิปไตยเบ่งบานช่วงสั้นๆ แล้วจบลงที่การรัฐประหารในปี 2519 และมีการฆ่าหมู่นักศึกษา และกลับไปสู่การปกครองในมือทหารอีกครั้ง

เขาไม่ได้ศึกษาการเลือกตั้งก่อนปี 2518 เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ค่อนข้างสงบมาก แทบไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เป็นปริศนาเพราะว่ายุคก่อน 14 ตุลาคม เป็นยุคที่เป็นเผด็จการ ส่วนใหญ่การเมืองไทยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการและระบอบอำนาจนิยม เป็นระบบราชการครอบงำการเมือง ซึ่งเขาพบว่ามี 2 สาเหตุหลัก คือ 1.เพราะการเลือกตั้งในยุคนั้นไม่ได้มีความหมายอย่างแท้จริงในการคัดสรรคนเข้าสู่อำนาจ ตำแหน่งที่ได้มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจน้อยมากในระบบการเมือง ส.ส. ไม่ใช่คนที่มีอำนาจในยุคการเมืองแบบราชการครอบงำ ไม่มีการแย่งชิงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพราะอำนาจและผลประโยชน์ทั้งหมดรวมศูนย์อยู่กับระบบราชการ นายกรัฐมนตรีไทยขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยการรัฐประหาร ถ้าอยากเป็นนักการเมืองไม่ต้องสังกัดพรรคการเมืองให้ไปเรียนนายร้อย จปร. เป็นการขึ้นสู่อำนาจ ช่วงชิงอำนาจ และลงจากอำนาจเกิดขึ้นในพื้นที่ของระบบราชการ พรรคการเมืองอ่อนแอมาก เราเพิ่งจะมีพรรคการเมืองที่ตั้งมาแข่งขันกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นสถาบันการเมืองที่พัฒนาขึ้นมาช้ามาก การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำยุคแรกๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญ ภาคประชาสังคมแทบไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง

2.ในยุคนั้น กระบวนการการเลือกตั้งและการจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยผู้นำรัฐบาล ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งที่เกิดขึ้น ผู้นำทางการเมืองจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา แล้วผู้ใหญ่บ้าน กำนัน หน่วยงานในท้องถิ่นก็ต้องทำงานหาเสียงให้และใช้งบประมาณของสาธารณะไปหาเสียงให้กับพรรคการเมืองของรัฐบาล เป็นโมเดลที่เริ่มจากจอมพลป. ก่อน โดยตั้งพรรคเสรีมนังศิลา

ในยุคที่รัฐคุมอำนาจเบ็ดเสร็จ พรรครัฐบาลไม่ต้องซื้อเสียง ไม่ต้องใช้ความรุนแรง เพราะเขาใช้อำนาจตั้งแต่การลงทะเบียนในการเลือกตั้ง ในกระบวนการเลือกตั้งเองก็ควบคุมทั้งหมด มีการใช้กลไกรัฐไปลงคะแนนซ้ำ เรียกว่า เวียนเทียน หรือบางทียังไม่ทันเปิดคูหาเลือกตั้งก็มีบัตรอยู่ในหีบแล้วครึ่งหนึ่ง หรือกรณีฉุกเฉินมากๆ ก็ดับไฟที่คูหาเลือกตั้ง แล้วยัดบัตรที่เตรียมไว้ลงไปในหีบ ในสภาวะแบบนี้รัฐจึงไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการจำกัดหรือสังหารคู่แข่งทางการเมือง

แต่การเมืองที่มีความสงบเรียบร้อยไม่ได้หมายความว่าเรามีประชาธิปไตย เพราะแม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ใช่การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย ไม่บริสุทธิ์ ไม่ยุติธรรม ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง ไม่มีการแข่งขันที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

แต่บางครั้งรัฐก็แพ้ภัยตัวเองเพราะใช้อำนาจเกินขอบเขต โกงอย่างหน้าด้านบาดตาบาดใจประชาชน เช่นที่เกิดขึ้นกับ “การเลือกตั้งสกปรก พ.ศ. 2500”  ซึ่งถูกนักศึกษาประท้วงว่าใช้อำนาจรัฐมาบิดเบือนการเลือกตั้ง และเปิดโอกาสให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาใช้อำนาจสร้างความชอบธรรมในการโค่นล้มจอมพลป. แต่สิ่งที่ตามมาคือการหยุดประชาธิปไตย ใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 10 ปี และ 11 ปีให้หลัง เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งก็โกงการเลือกตั้งเช่นกัน

การศึกษาความรุนแรงทางการเลือกตั้ง ช่วงแรก

สำหรับยุคแรกที่เกิดความรุนแรงในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2519 มีรูปแบบคล้ายกัน คือเป็นความรุนแรงโดยรัฐ เป็นอาชญากรรมของรัฐ เป็น State Sponsored Violence เป็นยุคที่สังคมแตกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน ความรุนแรงช่วงนี้เหวี่ยงแหแบบไม่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดความสะพรึงกลัว คนบริสุทธิ์ต้องตกเป็นเป้าด้วย

แต่กรณีความรุนแรงของไทยที่เกิดขึ้นก็มีจำนวนประมาณ 20 กรณี เป็นสเกลที่เล็กมากเมื่อเทียบกีบประเทศอื่นๆ เช่น กรณีฟิลิปปินส์ ที่มีกรณีการสังหารหมู่นักข่าวที่รนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ตายเพราะตามไปสังเกตการณ์ในพื้นที่มากินดาเนา

การศึกษาความรุนแรงจากการเลือกตั้ง ช่วงที่สอง

หลังจากช่วง 6 ตุลาคม 2519 มาสู่การศึกษาความรุนแรงช่วงที่ 2 สังคมเปลี่ยนไป เกิดพลังทางเศรษฐกิจสังคมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา ชาวนา กรรมการ ทหารต้องปรับตัวแล้วยอมให้นักการเมือง พรรคการเมือ ภาคธุรกิจเข้ามาแชร์ แบ่งปันอำนาจ เกิดระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นเผด็จการครึ่งหนึ่ง แชร์อำนาจระหว่างระบบราชการที่เคยครอบงำการเมืองไทยมาตลอด ภาคธุรกิจมารวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมือง เริ่มเกิดปรากฏการณ์ความรุนแรงโดยนักการเมืองและพรรคการเมือง โครงสร้างรัฐไทยได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย และนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงในการเลือกตั้งขยับตัว ราชการเริ่มลดบทบาทลง ก่อนหน้านี้ผลประโยชน์ของตำแหน่งสาธารณะกับเอกชนไม่แยกกัน Public กับ Private ไม่ชัด แต่ในยุคนี้โครงสร้างรัฐยังมีลักษณะอุปถัมภ์เหมือนเดิมแต่ระบบราชการเริ่มเสื่อมถอยลง มีกลุ่มใหม่เข้ามายึดอำนาจรัฐได้ คือกลุ่มนักธุรกิจ เข้ามาแบ่งปันผลประโยชน์กับราชการ ยุคนี้ตำแหน่งจากการเลือกตั้งเริ่มมีความหมายสำคัญขึ้นมาแล้ว เป็นที่มาของผลประโยชน์ เป็นที่มาของอำนาจในการกำหนดนโยบาย เป็นที่มาของกรอบคุ้มกันให้กับนักธุรกิจที่ผิดกฎหมายทั้งหลายด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจลักลอบตัดไม้ เหมืองแร่ ค้ายาเสพติด สิ่งที่จะเป็นเกราะกำบังได้ดีก็คือการเข้ามาเป็นนักการเมือง เข้ามาคุมกลไกรัฐได้

ในยุคนี้เราเริ่มพบปรากฏการณ์ความรุนแรงของการเลือกตั้งของกลุ่มคนที่ไม่ใช่รัฐ และความรุนแรงในยุคนี้ไม่เกี่ยวพันกับอุดมการณ์ แต่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์  ความรุนแรงที่เคยเหวี่ยงแหมาเป็นความรุนแรงที่จำกัดเป้าหมาย เฉพาะเจาะจง เพื่อสังหารศัตรูคู่แข่งขัน ตัวเลขความรุนแรงช่วง 2518-2519 จะสูงกว่าช่วงที่สองนี้ ไม่มีการระดมมวลชนหรือผู้สนับสนุนไปขัดขวางการเลือกตั้ง มุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลที่เป็นคู่แข่งขัน หรือหัวคะแนนซึ่งยิ่งเก่งเท่าไร ชีวิตยิ่งมีความเสี่ยง หัวคะแนนบางส่วนทำธุรกิจประกันชีวิตด้วย ซึ่งทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องระมัดระวังมากเพราะมีความเสี่ยงสูง ทำให้เบี้ยประกันของหัวคะแนนที่มีความสามารถเพิ่มสูงตามไปด้วย

อีกส่วนหนึ่งคือธุรกิจมือปืน ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นมือปืนที่สังกัดเจ้าพ่อ แต่ช่วงหลังเป็นมือปืนแบบรับจ้างทั่วไป ไม่ได้สังกัดเจ้านายคนใดคนหนึ่ง มีลักษณะเป็นซุ้มมือปืน ตั้งตัวเองเหมือนบริษัทรับหางาน ไม่มีความจงรักภักดีต่อใคร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง เป็นความสัมพันธ์แบบรับจ้างจริงๆ ซึ่งส่วนนี้ก็สะท้อนลักษณะสังคมอุปถัมภ์ที่ตกต่ำลงไป

แต่ความรุนแรงไม่ได้เกิดจากการที่มีมือปืนรับจ้างเยอะ (ไม่ได้เกิดเพราะ Supply) แต่เกิดขึ้นจาก Demand  ซึ่งไม่ได้สอดคล้องกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ว่าจังหวัดไหนมีมือปืนมาก แสดงว่ามีความรุนแรงมาก การดำรงอยู่ของมือปืนในจังหวัดนั้นๆ ไม่ได้สัมพันธ์กับความรุนแรงในจังหวัดนั้นๆ เสมอไป

อย่างไรก็ตาม นักการเมืองที่มีอำนาจเข้มแข็ง หมายถึงได้รับการเลือกตั้งสม่ำเสมอภายใต้การทำผลงานกับประชาชนและสร้างระบบอุปถัมภ์กับประชาชนมาอย่างยาวนาน เจ้าพ่อที่เข้มแข็งมากๆ แทบไม่ต้องใช้เครื่องมือความรุนแรง แต่เจ้าพ่อที่ไม่มีฐานเสียงจากประชาชนสนับสนุนจะต้องใช้อำนาจแบบนี้

จังหวัดสระแก้วเป็นหนึ่งในจังหวัดที่สงบที่สุดในการเลือกตั้ง เพราะ เสนาะ เทียนทอง ชนะคู่แข่งเป็นแสนๆ คะแนน ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ อีกจังหวัดคือสุพรรณบุรี โดย บรรหาร ศิลปะอาชา ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนในพื้นที่อย่างยาวนานจากผลงานของเขา ความรุนแรงนั้นจึงสะท้อนความอ่อนแอของอำนาจของเจ้าพ่อคนนั้นๆ เอง

ถามว่าพรรคไหนใช้ความรุนแรงบ้าง ตอบได้ว่าทุกพรรค และนักการเมืองแบบผู้มีอิทธิพลก็มีอยู่ในทุกพรรค ทุกพรรคการเมืองหาเสียงด้วยรูปแบบเดียวกันทั้งหมด

ในยุคนี้เอง เริ่มมีหนังแบบที่มีมือปืนเป็นตัวละครเอก เช่น มือปืน พ.ศ. 2526 เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จมากทั้งในแง่รายได้ และรางวัล

เบเนดิกส์ แอนเดอร์สัน ชี้ว่ายิ่งมีการยิงกัน สะท้อนว่ายิ่งมีความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตยเพราะสะท้อนว่ารัฐสภามีอำนาจมากขึ้นกว่าระบบราชการ คนเลยมายิงกันเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งในสภา เป็นการเคลื่อนตัวออกจากยุคเผด็จการแล้ว ยุคที่เผด็จการออกปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ในยุคถัดมานั้น สิ่งที่แทนที่ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชน คือความรุนแรงระหว่างนักการเมือง ซึ่งก้าวหน้ากว่า

ทั้งนี้ประจักษ์ระบุว่า ความสูญเสียที่เกิดจากการที่นักการเมืองฆ่าคู่แข่งนั้นจำกัดความรุนแรง ไม่ฆ่านักข่าว ไม่ฆ่าคนจัดการการเลือกตั้ง สังคมไทยนั้นไม่ใช้ความรุนแรงนอกวง ไม่เหมือนฟิลิปปินส์ ที่มีการฆ่า กกต. ดังนั้น กกต.จะมาพูดมากไม่ได้

การศึกษาความรุนแรงในการเลือกตั้งช่วงที่ 3 พ.ศ. 2544-2554

ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 มีผู้เสียชีวิต 26 คน กับ 30 คนตามลำดับ ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้า

ในการเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 ระดับความรุนแรงลดลงทั้งด้านจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนเหตุการณ์

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ระบบเขตเดียวคนเดียว ทำให้มีความรุนแรงมากขึ้น และประการที่สองคือ การกระจายอำนาจทำให้การเมืองท้องถิ่นมาพัวพันกับการเมืองระดับชาติ สาเหตุประการที่สาม คือ ระบบพรรคการเมืองเปลี่ยนไปเป็นระบบสองพรรคขนาดใหญ่

ส่วนที่ทำให้ความรุนแรงลดลงคือ การรัฐประหาร 2549 และการเมืองเชิงอุดมการณ์ การเลือกตั้งปี 2550 ความรุนแรงลดลงเพราะทหารเข้ามาควบคุมการเลือกตั้งใกล้ชิด ภาคเหนือและภาคอิสานเลือกตั้งภายใต้กฎอัยการศึก หัวคะแนนบางพื้นที่มีทหารประกบ หาเสียงไม่ได้ ขณะที่พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามสามารถแจกเงินซื้อเสียงได้อย่างเสรี

ในอีกด้านหนึ่ง การเลือกตั้งปี 2554 นั้นสะท้อนการเลือกตั้งแบบใหม่ ต้องมีอะไรใหม่มานำเสนอให้กับผู้เลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นผลงาน นโยบาย หรือสังกัดพรรคการเมืองที่ประชาชนชื่นชอบ การเมืองแบบเน้นตัวบุคคลที่ดำรงอยู่ก่อนปี 2540 นั้นลดบทบาทลงแล้ว  ผู้เลือกตั้งมีชุดอุดมการณ์ของตัวเองชัดเจน แม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็สะท้อนภาวะการเมืองเหลืองแดงอย่างชัดเจน เครื่องมือโบราณนั้นใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป ต่อให้ไปสังหารหัวคะแนนฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ได้ตัดกำลัง ประชาชนก็เลือกนักการเมืองที่ตนเองชื่นชอบอยู่ดี ปัจจัยที่ทำให้คนชนะการเลือกตั้งเปลี่ยนไปแล้ว และนี่เป็นเหตุผลที่ความรุนแรงถูกใช้น้อยลง

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยการรัฐประหาร การเลือกตั้งของไทยจะสงบขึ้นเรื่อยๆ แต่น่าเสียดายว่าในที่สุดก็ไม่ได้เกิดแบบนั้นขึ้น ไม่เกิดกระบวนการที่จะพัฒนาไปในทางบวกในสนามการเลือกตั้งที่มีการเคารพกฎกติกา

สิ่งที่เราพบในช่วง 7-8 ปีทีผ่านมา ในสภาวะที่ความรุนแรงทางการเลือกตั้งลดลง แต่ความรุนแรงทางการเมืองในภาพรวมไม่ได้ลดลง ไปสู่การเมืองบนท้องถนน และความรุนแรงโดยรัฐ มันเป็นความรุนแรงที่ไม่ได้นำความก้าวหน้ามาสู่สังคมไทยเลย เป็นความรุนแรงที่สูญเปล่า เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ทั้งสูญเปล่าและขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย พูดง่ายๆ ว่านักการเมืองสปีชีส์เดียวกัน เขาทำลายล้างกันเองประชาชนไม่เดือดร้อน และประชาธิปไตยไม่ได้ถดถอย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ที่เปลี่ยนจากโหวตโน มาเป็นโนโหวต เหตุการณ์ครั้งล่าสุดเป็นความรุนแรงที่เกิดจากฝ่ายประชาชนเองที่ใช้ความรุนแรงเพราะเขาหมดศรัทธากับระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ผิดพลาดมากคือเราหมดศรัทธากับนักการเมืองและรัฐบาลได้ แต่อย่าไปทำลายกติกาประชาธิปไตยเพราะเมื่อคุณทำลายกติกาประชาธิปไตยคือการทำลายกติกาที่เขาออกแบบมาให้แก้ปัญหาอย่างสันติ และทำลายสิทธิทางการเมืองของคนอื่น

พอทำลายและไม่ยอมรับกระบวนการทั้งหมด ก็ทำให้สังคมไทยไปสู่ทางตัน ไม่เหลือทางให้เจรจาต่อรองกันได้อย่างสันติ สิ่งที่เราเผชิญกันในปัจจุบันมันคือผลผลิตของการปฏิเสธกระบวนการประชาธิปไตยเอง และผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้าย ความรุนแรงในอดีต ความรุนแรงในการเลือกตั้งไม่ได้ทำลายสถาบันและกระบวนการประชาธิปไตย เมื่อเกิดความรุนแรงแล้วมันไปต่อได้ แต่ตอนนี้ผมมองไม่เห็นว่าเราจะกลับไปสู่การเลือกตั้งที่สงบสันติและยุติธรรมที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้อีกอย่างไรต่อไป

สิ่งที่สังคมไทยมีอยู่ในปัจจุบันนี้ คือภาวะความสงบที่ไม่มีประชาธิปไตย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท