Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ ‘วิภา ดาวมณี’ กับ 17 ปีการขยายพื้นที่ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ต.ค.19 ผ่านกิจกรรมรำลึก ในวันที่ถูกกระชับพื้นที่จัดงาน พร้อมมองความรับรู้ต่อสังคมไทย ยิ่งประชาชนตื่นตัวยิ่งรับรู้และเข้าใจเหตุการณ์มากขึ้น

สวนประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถานที่จัดงานรำลึก 6 ตุลา

วันพรุ่งนี้(6 ต.ค.57) จะเป็นวันครบรอบ 38 ปี เหตุการณ์กวาดล้างสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ภายหลังเหตุการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา กิจกรรมที่มีความหมายทางการเมืองโดยเฉพาะในลักษณะส่งเสริมประชาธิปไตยจะถูกระงับตลอดมา และกิจกรรมรำลึก ‘6 ตุลา’ นี้ก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารมณฑลทหารบกที่ 32 ได้แจ้งขอให้งดกิจกรรมที่กลุ่มเกลียวแห่งธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาอิสระที่ทำกิจกรรมด้านจิตอาสาภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จะจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในชื่อกิจกรรมงานรำลึก “6 ตุลา วันฟ้าเปลี่ยนสี” โดยทหารให้เหตุผลว่ากิจกรรมมีลักษณะเป็นกิจกรรมทางการเมือง ล่อแหลมต่อการสร้างความแตกแยก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ทหารห้ามนักศึกษา มธ.ศูนย์ลำปาง จัดงานรำลึก 6 ตุลา)

โดยก่อนหน้ากลางเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ด้านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วิภา ดาวมณี คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ผู้ซึ่งจัดกิจกรรมรำลึก เหตุการณ์ดังกล่าวมา 17 ปี ออกมาเปิดเผยว่าในปีนี้ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะขอให้มีการงดการจัดกิจกรรม ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยจะไปรวมเป็นกิจกรรมวันเดียวกันกับการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แทน

ซึ่ง Voice TV ได้ สอบถามไปยัง ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว โดยกล่าวว่าการงดจัดกิจกรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะงดเพียงกิจกรรมเสวนาทางวิชาการและการแสดงที่ใช้พื้นที่หอประชุม เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการใช้สถานที่จนเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ทางมหาวิทยาลัยในฐานะผู้อำนวยการสถานที่จึงต้องขอให้งดจัดเวทีในปีนี้ ทั้งนี้ กิจกรรมในช่วงเช้า คือพิธีกรรมทางศาสนา และการกล่าวรำลึกโดยตัวแทนญาติวีรชน 6 ตุลาฯ และองค์กรต่างๆ จะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ส่วนกิจกรรมเวทีต่างๆ จะไปรวมกับการรำลึกวันที่ 14 ตุลาคมในปีนี้เป็นวันเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม วิภา กล่าวว่า มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัด จะยังคงขอเดินหน้าจัดกิจกรรม ในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ต่อไป โดยยังคงอยู่ระหว่างการประสานงานกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอใช้พื้นที่ในการจัดงานดังกล่าว

ประชาไท จึงได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ‘วิภา ดาวมณี’ อายุ 59 ปี ผู้ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะผู้พยายามขยายพื้นที่การรับรู้ข้อมูลประวัติศาสตร์เหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านการจัดกิจกรรมรำลึกมา 17 ปี อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำความเข้าใจจุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรม และมุมมองต่อการเมืองในปัจจุบัน

 

วิภา ดาวมณี

00000

ประชาไท : ทำไมถึงเข้าไปจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา มา 17 ปี?

วิภา : เนื่องจากปี 2538 อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล มาพูดเรื่องสิ่งที่อยากจำกลับลืม สิ่งที่อยากลืมกลับจำ เมื่อได้ฟังแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก รู้สึกเหมือนกับว่าเราลืมเรื่องนี้ไปเลย หลังจากที่ออกจากป่าแล้วก็มาทำงานมีรายได้ฐานะที่ดีแล้วทำให้ลืมเหตุการณ์ดังกล่าว จึงเข้าร่วมและรวบรวมคนที่ผ่านเหตุการณ์จัดกิจกรรมรำลึก 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยได้คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ มาเป็นผู้ช่วยประสานในการจัดงาน

คิดว่าเป็นผลสะเทือนต่อเนื่องหลังจากเหตุการณ์ พฤษภา 35 ส่งผลให้ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง ตรงนี้คิดว่าเป็นเครื่องฉุดเรากลับเข้ามาสู่การเมืองและยุคที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นกระแสขึ้นมา

เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้น ต้องให้เกียรติและความสำคัญกับเหตุการณ์พฤษภา 35 เพราะหากไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว การจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา คงไม่ได้ ผลจากเหตุการณ์พฤษภา 35 มีคนส่วนหนึ่งที่จะลงเล่นการเมือง สร้างพรรคการเมือง ลงเลือกตั้ง เข้าไปแข่งในแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้ง เพราะหลังจากนั้นเราได้รัฐธรรมนูญ 40 ตามมาอีก ถือเป็นกระบวนการต่อเนื่อง

เหตุการณ์พฤษภา 35 เหมือนการปิดฉาก ทำให้ทหารต้องกลับเข้ากรมกอง บวกกับอีกด้านหนึ่งที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก จึงส่งผลให้การรื้อฟื้นเหตุการณ์ 6 ตุลา กลับมาด้วย ทั้งๆที่หายไป 20 ปี แล้ว

หน้าที่ของงานรำลึก 6 ตุลา คืออะไร?

คิดว่ามีจุดศูนย์กลาง ที่แต่ละปัจเจคจะมีเงื่อนไขของตนเอง เช่น บางคนมีเพื่อนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ หรือเคยเป็นเด็กกิจกรรม หรือผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์รูกสึกได้กลับมาย้อนอดีตที่ต้องค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น เพราะหากเทียบเป็นสัดส่วนที่มาร่วมผลักดันให้เกิดกิจกรรมรำลึกนี้ก็ถือว่าไม่มาก

ปัจจุบันคนที่ผ่านหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้มีความคิดที่แตกต่างหลากหลาย บางคนอยากให้ 6 ตุลา เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เช่น นักประวัติศาสตร์ก็คิดว่าเหตุการณ์นี้ไม่ถูกบันทึกไว้ในแบบเรียน โดยมีขบวนการนักศึกษารุ่นหลังๆ เช่น สนนท. มีการเรียกร้องให้บรรจุเหตุการณ์นี้เข้าไปในเนื้อหาแบบเรียนด้วย

ส่วนคนที่อยู่ในเหตุการณ์บางคนก็รู้สึกเจ็บปวด อยากลืม ทนไม่ได้ รวมไปถึงลบไปจากชีวิตโดยที่ไม่บอกเล่าให้กับที่บ้านทราบเรื่อง บางคนก็เป็นแบบนี้เลย บางคนก็อาจคิดว่าเป็นการรื้อฟื้น รวมไปถือเป็นการฟอกตัว เพราะว่าผู้ที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา ช่วงแรกๆ ที่กลับมานั้นในสายตาของสังคมเหมือนไม่มีที่ยืนในสังคม เพราะคนที่อยู่นเหตุการณ์นี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์ แล้วคนที่ถูกจับ 18 ผู้ต้องหาก็ต้องไปขึ้นศาลทหารถูกข้อหาเยอะแยะไปหมดเลย เหมือนกับนักโทษทางการเมืองตอนนี้ที่เมือโดนข้อหาก็จะโดนหลายข้อหา

เป้าหมายของการจัดงานรำลึก 6 ตุลา ตลอดเวลา 17 ปีที่ผ่านมา คืออะไร?

ถ้าพูดรวมๆ ของทุกคนนั้น มันไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจน จะออกมาในหนังสือชิ้นงานปฏิมากรรม 6 ตุลา คือ ทำให้มีที่ยืน มีสิ่งที่จะรำลึกถึงคนตาย ถึงวีรชนถึงความกล้าหาญ และบอกกับสังคมว่าคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นคนผิด

17 ปีที่ผ่านมานี้ มีรูปแบบการจัดกิจกรรมรำลึกอะไรบ้าง?

มีหลายหลายมาก แต่ก่อนจะพูดถึงตรงนั้นอยากจะยกสิ่งที่ คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เขียนไว้ในประโยคท้ายๆ ของหนังสือเปิดชิ้นงานปฏิมากรรม เพราะจุดประสงค์หนึ่งหลังจากการจัดงานรำลึก 20 ปี 6 ตุลา แล้ว เสนอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ให้พื้นที่สร้างอนุสรณ์ที่เป็นสิ่งรำลึกถึงวีรชน และสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคนั้นก็อนุญาตให้จัดสร้างได้ บริเวณหน้าหอใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ สร้างเสร็จในปี 2543 โดยที่ขณะนั้นอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 16 ยังสร้างไม่เสร็จ

สำหรับสิ่งที่คุณหมอสงวน กรรมการดำเนินการจัดสร้างกำแพงประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธฺปไตย ได้เขียนไว้นั้น น่าจะใช้ตอบได้ว่า “แม้ประเทศไทยจะผ่านการต่อสู้ประชาธิปไตยสำคัญๆ มาหลายเหตุการณ์ แต่ภารกิจการพัฒนาประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมก็ไม่ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เนื่องจากปรากฏการณ์ที่เห็นด้วยทั่วไปในปัจจุบันได้บอกเราเช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนของคนในหลายส่วนของสังคมยังถูกละเลย ช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนก็ยังมีความแตกต่างรุนแรง มีแต่การร่วมภาระกิจของคนหมู่ใหญ่ในสังคมด้วยการเรียนรู้บทเรียนที่เจ็บปวด แปลให้เป็นพลัง การเรียนรู้ที่มีคุณค่า และเต็มความใฝ่ฝันอันงดงามในอนาคตที่ดีกว่าให้แก่กันและกัน จึงจะทำให้ภาระกิจของการพัฒนาประชาธิปไตยมีความหวัง และสามารถสร้างหนทางของสันติภาพที่สถาภรให้เกิดขึ้นต่อไปในระยะยาวอย่างแท้จริง”

ถ้าถามแต่ละปัจเจคเกี่ยวกับการรำลึกเหตุการณื 6 ตุลา นั้นก็จะมีความเห็นแตกต่างกันไป

สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมรำลึกอย่างที่ง่ายที่สุด คือการพยายามจัดให้มีการทำบุญตักบาตรรำลึก เป็นเรื่องของญาติและศาสนา แต่ปรากฏว่าญาติของคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา นั้นเหลือน้อยมากที่มาร่วมงาน หลังๆ มานี้เหลือเพียง 2 ท่าน คือคุณพ่อจินดา ทองสินธุ์ พ่อของ ‘จารุพงษ์ ทองสินธุ์’ กับคุณแม่เล็ก ที่เป็นแม่ของ ‘มนู วิทยาภรณ์’

ขณะที่รูปแบบงานอื่นๆ เป็นงานเสวนา สัมนา ละคร มีรูปแบบอื่นๆ ในทางการเมือง หรือว่าบางปีที่ครบรอบลงเลข 5 เช่น 25, 30, 35 ปี 6 ตุลา ก็จะใช้หอประชุมใหญ่หรือหอประชุมเล็กจัดกิจกรรมในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น มีบทกวี ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดฉายหนังที่เทียบหรือมีความหมายในเชิงความคิด แล้วมีการเชิญอาจารย์และคนดูหนังมาวิจารย์หนังก็มี

แต่ละปีคิดว่าสิ่งที่เป็นข้อดีของการจัดงานรำลึก 6 ตุลา คือมันมีพลวัตรที่สอดคล้องกับการเมืองของปีนั้นๆ ไม่ได้ทำไปรำลึกอดีตแล้วจมอยู่กับอดีต แต่มันใช้อดีตเพื่อมารับใช้ปัจจุบัน ตรงที่ว่าแต่ละปีสถานการณ์ทางการเมืองในปีนั้นๆ มันเป็นอย่างไร ตอนครบรอบ 25 ปี 6 ตุลา เป็นช่วงที่มีการเปิดอนุสรณ์ 14 ตุลา 16 บริเวณสี่แยกคอกวัว ดังนั้นจึงมีการแข่งแนวคิดกันระหว่าง “6 ตุลา” กับ “14 ตุลา” ว่าเริ่มต้นจากอุดมการณ์เหมือนกันหรือไม่ บางคนก็มองว่าไม่เหมือนกันจะนำมารวมกันไม่ได้ หรือบางคนก็พยายามแยก 14 กับ 6 ตุลา เพราะมองว่า 6 ตุลา เป็นเรื่องของคอมมิวนิสต์ รวมทั้งมีเรื่อที่พูดไม่ได้หลายเรื่องในสังคมไทย เนื่องจากคนที่เป็นฆาตรกรของอาชญากรรมรัฐจากการฆ่าหมู่นี้ก็ยังอยู่ โดยใช้ความโหดเหี้ยมรุนแรง

ภาพวางศิลาฤกษ์อนุสรณ์สถาน 6 ตุลาคม 2519

ที่มา บนหน้าแรกของหนังสือที่แจกในงานเปิดประติมากรรม 6 ตุลา ปี 2543

การที่ มธ. ลดกิจกรรม 6 ตุลา เหลือเพียงกิจกรรมทางศาสนาและการกล่าวรำลึก และให้เวทีกิจกรรมต่างๆ ไปร่วจัดกับ 14 ตุลา ทีเดียว มองปรากฏการณีนี้ว่าอย่างไร?

ให้มันไปตามธรรมดาของมันยังจะดีเสียกว่า หรือปล่อยให้เหมือนเดิม คือตนถูกตั้งให้เป็นกรรมการจัดงานมาตลอดต่อเนื่องตั้งแต่ 20 ปี 6 ตุลา แต่มาปีนี้เขาเองชื่อตนออกเลย ไม่ให้อยู่ในกรรมการจัดงาน เนื่องจากตนเป็นรรมการจัดสร้างกำแพงประวัติศาตร์และช่วยระดมทุนจัดชิ้นงานปฏิมากรรม 11 เหตุการณ์ 8 ชิ้นงาน ที่บริเวณหน้าหอใหญ่ มธ. เป็นการทำแบบอาสาสมัคร เวลามีงานตนก็ช่วยคิดช่วยทำมาโดยตลอด จึงสงสัยว่าปีนี้มันเกิดอะไรขึ้น ต้องสอบถามผู้บริหารมหาวิทยาลัย บางคนอาจมองว่าเกิดจากเหตุการณ์ปีที่แล้ว ที่มีการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลา และมีการตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เมื่อทำไปแล้ว ซึ่งกิจกรรมมีหลากหลายมาก แต่พอดีมีละครซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หลายหลายนั้นถูกกล่าวหาว่าผิด ม.112 ทางมหาวิทยาลัยอาจจะกลัวหรือรู้สึกว่าตัวเองอาจจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอะไร ซึ่งคิดว่าตรงนี้ก็ไม่เป็นธรรม จริงๆ แล้วต้องดูเหตุผลของคณะผู้จัดงาน ที่คณะผู้จัดงาน 40 ปี 14 ตุลา นั้นมีวัตถุประสงค์แต่ต้นว่าสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพูดถึงเรื่องวันรำลึกวันสำคัญอันเป็นวันที่นักศึกษา ประชาชน ร่วมกันต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย

ภาพกิจกรรมรำลึก 34 ปี 6 ตุลา 19

คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานรำลึกจากไหน?

คำสั่งจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ แต่มาปีนี้เขารีบเปลี่ยนแปลงคำสั่ง ทั้งที่ในคำสั่งนั้นจะไม่ระบุว่าสิ้นสุดการเป็นกรรมการเมื่อไหร่ เพราะให้เป็นกรรมการจัดงานทุกปีไป โดยชื่อคำสั่งนั้นคือ คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 1915/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน 6 ตุลา 2519 และ 14 ตุลา 2516 โดยในตอนท้ายคำสั่ง ระบุว่า “ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้มีวาระการดำเนินงานในทุกปี” อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลเพราะก่อนหน้านี้ตนก็ทำกิจกรรมนี้มาโดยตลอด ไม่ใช่เพียงปี 55 เท่านั้น

แต่ในปีนี้เขาพยายามดึงชื่อตนออกจากคำสั่งในการจัดงานและเรื่อนการประชุมเตรียมงาน ทั้งที่ปกติดจะต้องประชุมตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ก็เรื่อนประชุมมาเรื่อยๆ จนกระทั่งทราบจากเจ้าหน้าที่ที่เขาปกติดูแลงานก็บอกว่าไม่มีชื่อ ‘วิภา ดาวมณี’ เป็นกรรมการแล้ว แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะแม้จะมีมีชื่อก็ยังทำกิจกรรมนี้ต่อไป เพราะมันมีกลุ่มองค์กรที่จัดงานกันอยู่ประจำ มีญาติ มีเพื่อนของคนที่เสียชีวิตที่จะต้องมางาน

กิจกรรมทำบุญทางศาสนานั้น ในตอนแรกบอกว่าไม่มีด้วยซ้ำ ข่าวตอนแรกที่ทราบคือเขาจะไม่ให้จัดงานในวันที่ 6 ตุลา โดยจะให้ไปรวมจัดวันที่ 14 ตุลา วันเดียว ซึ่งเข้าในว่าเนื่องจากมีคนไปสอบถาม จึงทราบภายหลังว่าทางวอยส์ ทีวี ไปถามอาจารย์นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่ามีการจัดให้มีการรำลึก แต่ห้ามใช้หอประชุม ห้ามจัดสัมนา เสวนาหรือปาฐกถา ซึ่งเป็นเรื่องแปลก ทั้งที่การจัดเสวนาและปาฐกถาไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก่อนหน้านี้ เพราะปาฐกถาปีที่แล้วก็เป็นเสกสรร ประเสริฐกุล จึงไม่ทราบว่าเกิดอะไรผิดปกติ

ภาพนักกิจกรรม นศ. ม.อุบล รณรงค์ รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลา กลางเมืองอุบล เมื่อปีที่แล้ว (ที่มาและอ่านรายละเอียดที่: คนรุ่นใหม่ รำลึก 6 ตุลา กลางเมืองอุบลฯ )

ในฐาะที่ทำงานรำลึก 6 ตุลา มา 17 ปี ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา นี้ การรับรู้ของคนในสังคมไทยมีความสำคัญอย่างไร?

หลายปีที่ผ่านมา เราบอกว่ามันมีพลวัตรและมักจะเกี่ยวข้องกับการเมืองในช่วงนั้นๆ แต่สังเกตุให้ดีว่ามันอาจจะอยู่เพียงกับคนกลุ่มหนึ่ง คือ คนที่อยู่ในรุ่นนั้น หรือสื่อมวลชนบางส่วนเพราะสื่อบางคนที่ปัจจุบันเป็นระดับบริหารก็มาจากคนรุ่นนั้น แต่ว่าในปีที่ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองมากๆ คือหลังจากที่มีกลุ่มเสื้อแดงที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมาก ที่ต้องการสิทธิเสียงทางการเมือง ต้องการการรวมกลุ่ม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความเข้าใจ 6 ตุลา และ 14 ตุลา โดยเฉพาะเรื่อง 6 ตุลา ชัดเจนขึ้น และยิ่งประสบเหตุการณ์ปี 52, 53 คนยิ่งไปเปรียบเทียบว่าเป็นการฆ่านกพิราบ เป็นการล้อมฆ่าคนมือเปล่า

เราต้องดีใจว่าในช่วงความตื่นตัวของประชาชน “6 ตุลา” ได้รับการเผยแพร่ออกไปมากกว่าที่เคยมีมา 10-20 ปีก่อนหน้าเสียอีก แต่ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีมวลชนเสื้อแดงที่มาจากประชาชน ชาวบ้าน มีความเข้าใจและอยากจะรู้เรื่อง 6 ตุลา มากกว่า 10 กว่าปีก่อนหน้าเสียอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นั่นหมายความว่าความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมีผลต่อการรับรู้เรื่อง 6 ตุลา โดยตรง ไม่ว่าจะพยายามเผยแพร่อย่างไร เพราะที่ผ่านๆมาก่อนหน้าที่ ตนพยายามแจกหนังสือ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง 6 ตุลา” ที่คณะจัดทำข้อมูลและสืบพยานจัดทำขึ้นมา บางทีแจกฟรีให้สื่อสื่ยังไม่เปิดดูเลยก็มี แต่หลังจากที่มวลชนมีความตื่นตัวทางการเมืองเขาสามารถเปรียบเทียบเหตุการณ์ได้ ความตื่นตัวทางการเมืองของชนชั้นล่าวมีผลต่อความเข้าใจเหตุการณ์ที่มากกว่าเป็นเพียงงานรำลึก แม้งานรำลึกจะมีส่วนสำคัญในการแย่งชิงพื้นที่สื่อบ้าง แย่งชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์บ้าง ซึ่งประวัติศาสตร์ไม่ได้สร้างมาด้วยคนไม่กี่คน แต่มันต้องสร้างโดยประชาชน เพราะฉะนั้นในยุคของคนเสื้อแดง บางทีก็มีการต่อว่าต่อขานกันว่าคนตุลาหายไปไหน คนตุลาตายแล้ว ซึ่งคนตุลาก็ยังมีการแบ่งว่าเป็นกี่พวกกี่ฝ่าย

สิ่งที่น่าเสียดายคือถ้าธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้จัดงานในเชิงเสวนา สัมนา งานเชิงวิชาการหรือการปาฐกถา มันมีเหตุผลอะไร ในเมื่อธรรมศาสตร์อุตส่าห์เปิดพื้นที่ในการจัดงาน 6 ตุลา มาตลอด

ตอนรัฐประหาร 2549 มีผลต่อการจัดงานรำลึก 6 ตุลา หรือไม่?

ตอนนั้นยังไม่มี เราเดินหน้าจัดทุกครั้งไป  และหากต้องการหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ ‘www.2519.net

จริงๆ ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะการตัดสินใจให้จัดงาน 20 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่มาก ที่อาจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร เป็นอธิการบดี ขณะนั้น และคณะกรรมการจัดงาน 20 ปี 6 ตุลา ตอนนั้นก็ไม่ใช่เพียงจัดงานรำลึกแล้วเลิกไปเลย แต่มีความพยายามผลักดันจัดสร้างอนุสรณ์ของเหตุการณ์นี้ และอาจารย์นรนิติ ก็ต้องการให้มีการสร้างทุกเหตุการณ์ ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ 6 ตุลา จนออกมาเป็นในรูปของ 11 เหตุการณ์ทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกี่ยวข้อง โดยมี 8 ชิ้นงาน และ 11 เหตุการณ์นั้น สะท้อนภาพลักษณ์ของธรรมศาสตร์ในด้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยตรง จึงถือเป็นการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยในขณะนั้นให้ความสนับสนุน ดังนั้นการที่ทางมหาวิทยาลัยคิดว่าการจัดงาน 6 ตุลาในปีนี้ ทำให้มันน้อยที่สุดนั้น จึงคิดว่ามหาวิทยาลัยเองควรต้องกลับไปทบทวน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net