Skip to main content
sharethis
 
ญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายการลงทุนในอินเดียเพิ่ม 2 เท่าใน 5 ปี
 
1 ก.ย. 2014 ญี่ปุ่นตั้งเป้าขยายการลงทุนในอินเดียเพิ่มเป็น 2 เท่าใน 5 ปี โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีอินเดียยังเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนประถมศึกษาในกรุงโตเกียว และพบปะกับ รมต.ต่างประเทศของญี่ปุ่น ในวันที่ 3 ของการเยือนญี่ปุ่นเป็นเวลา 5 วัน
 
การประชุมสุดยอดกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ระบุญี่ปุ่นจะขยายการลงทุนในอินเดียเพิ่มอีก 2 เท่าภายใน 5 ปี จากเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 60,000 ล้านบาท คาดว่าผู้นำทั้งสองจะเห็นพ้องให้ซ้อมรบทางทะเลร่วมกันเป็นประจำ
 
ผู้นำอินเดียเดินทางถึงญี่ปุ่นในวันเสาร์ที่ผ่านมา และเริ่มการเยือนญี่ปุ่นด้วยการเดินทางไปเยือนเมืองเกียวโต ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ของญี่ปุ่น ล่าสุด นายโมดีเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนประถมศึกษาไทเมในกรุงโตเกียว โดยได้รับการต้อนรับจากกลุ่มนักเรียนและได้ชมการแสดงร้องเพลงและเป่าขลุ่ยของนักเรียน จากนั้นเขาได้พบปะกับนายฟูมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น
 
อินเดียได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ อันดับ 3 ของเอเชียรองจากจีน และญี่ปุ่น และอินเดีย ต้องเร่งเสริมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างงานให้คนหนุ่มสาวอินเดียที่เข้าสู่ตลาดแรงงานถึงเดือนละ 1 ล้านคน
 
พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังทั่วมะกัน ผละงานประท้วงขอขึ้นค่าแรง
 
5 ก.ย. 2014 พนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดชั้นนำในสหรัฐฯ ทั้งแมคโดนัลด์ และพิซซ่า ฮัต ใน 150 เมืองทั่วประเทศ นัดรวมตัวประท้วงขอขึ้นค่าแรง แต่โดนตร.จับไปหลายร้อยคน ขณะที่ บ.วิจัยเผยผลประกอบการร้านฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ ปีนี้ กำไรนับ 2.2 แสนล้าน
 
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 5 ก.ย.ว่า บรรดาพนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นแมคโดนัลด์, พิซซ่า ฮัต พร้อมใจนัดรวมตัวประท้วงใน 150 เมืองทั่วประเทศสหรัฐฯ​ เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (4 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ชูธงเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างทำงานขั้นต่ำ เพิ่มให้เป็นชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ หรือราว 480 บาท ขณะที่ปัจจุบัน พนักงานจะได้ค่าจ้างประมาณเพียงชั่วโมงละ 8-9 ดอลลาร์ (ราว 256-282 บาท) เท่านั้น
 
องค์กรของพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า พนักงานได้ผละงานมานั่งชุมนุมในหลายๆ เมือง รวมทั้งที่บริเวณ ไทม์สแควร์ ในย่านแมนฮัตตัน นครนิวยอร์ก ไปจนถึงนครลอสแอนเจลิส พร้อมกับแขวนป้ายเขียนข้อความว่า ‘ร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อ 15$ และสิทธิต่างๆ ของสหภาพแรงงาน’
 
อย่างไรก็ตาม การนั่งประท้วงของบรรดาพนักงานร้านฟาสต์ฟู้ดในย่านไทม์สแควร์ ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปกว่า 450 คน และในหลายพื้นที่ก็มีพนักงานโดนตำรวจจับไปเช่นกัน โดยพนักงานคนหนึ่งให้เหตุผลที่มาชุมนุมประท้วงเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม เนื่องจากการได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 15 ดอลลาร์ จะทำให้เขาพอที่จะเก็บเงินไว้สำหรับเช่าบ้านให้ลูกๆ อยู่ ไม่ต้องอยู่ในสถานที่พักของคนไร้บ้านเช่นทุกวันนี้
 
ทั้งนี้ จากการวิจัยของบริษัท IBIS WOrld คาดการณ์ว่า ธุรกิจร้านฟาสต์ฟู้ดในสหรัฐฯ ในปีนี้จะสร้างกำไรถึง 7,200 ล้านดอลลาร์ จากรายได้ 198,9000 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ของร้านอาหารในสหรัฐฯ อยู่ในรูปของแฟรนไชส์ ซึ่งเจ้าของร้านสาขาจะเป็นผู้กำหนดค่าแรงเอง และเห็นว่าการขึ้นค่าแรงจะกระทบต่อธุรกิจของพวกตน
 
แฉโรงงานจีนสภาพแย่ ซัพพลายเออร์แอปเปิล
 
6 ก.ย. 2014 เอ็นจีโอด้านสิทธิแรงงานเผย โรงงานในจีนซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้กับแอปเปิลมีสภาพต่ำกว่ามาตรฐานในเรื่องสุขภาพ, ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการทำงาน
 
ไชน่าเลเบอร์วอตช์และกรีนอเมริกาเผยรายงานที่แอบเข้าไปตรวจสอบโรงงานแคตเชอร์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ให้แอปเปิล ที่เมืองซูเฉียนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยตรวจสอบโรงงานนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว และรายงานเรื่องนี้ให้แอปเปิลทราบ แต่พบว่ายังไม่มีการปรับปรุงสภาพของโรงงานให้ดีขึ้น
 
เอลิซาเบธ โอคอนเนลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของกรีนอเมริกากล่าวว่า "ปัญหาที่พบด้านสุขภาพและความปลอดภัยในโรงงานนี้ยังดำรงอยู่ถึง 2 ปี เป็นเรื่องน่าตกใจมาก การขาดการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยและไม่มีอุปกรณ์ป้องกันให้กับคนงานที่ต้องสัมผัสกับวัสดุอันตราย เป็นเรื่องเสี่ยงต่อชีวิตมาก"
 
แคตเชอร์เป็นโรงงานลูกของบริษัทแม่ที่อยู่ในไต้หวัน ซึ่งมีคนงานทั้งหมดราว 20,000 คน เป็นผู้ผลิตส่วนประกอบใหักับแบรนด์ดังหลายแห่ง ได้แก่ โซนี, โมโตโรลา, ฮิวเลตต์-แพ็กการ์ด และเดลล์
 
ปัญหาที่พบในโรงงาน ได้แก่ ประตูหนีไฟถูกปิด, นำของเสียจากโรงงานไปทิ้งในแม่น้ำ, บังคับให้ทำงานล่วงเวลา, ไม่มีการระบายอากาศที่ดี, โลหะผสมอะลูมินัม-แมกนีเซียมตกอยู่บนพื้น, มีอนุภาคของฝุ่นมาก, ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันวัสดุที่มีพิษ, ไม่มีการซ้อมหนีไฟ, ขาดการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัย
 
แอปเปิลแถลงเรื่องนี้ว่า บริษัทตรวจสอบโรงงานต่างๆ ที่เป็นซัพพลายเออร์เป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งต้องอยู่ในสภาพการทำงานที่มีความปลอดภัยและมีค่าจ้างที่เป็นธรรม
 
กาตาร์ยืนยันข่าวจับนักวิจัยสภาพการจ้างงานแรงงานสร้างสนามบอลโลก
 
7 ก.ย. 2014 ทางการกาตาร์ยืนยันข่าวการจับกุมนักวิจัยชาวอังกฤษ 2 คน ที่เข้ามาตรวจสอบสภาพการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่เข้ามาก่อสร้างสถานที่สำหรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 
 
สำนักข่าวคิวเอ็นเอของทางการกาตาร์รายงานอ้างแถลงการณ์กระทรวงต่างประเทศว่า บุคคลทั้งสองกำลังถูกสอบปากคำเนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายของกาตาร์ ทุกอย่างที่ทางการดำเนินการกับทั้งคู่ล้วนเป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้อนุญาตให้ตัวแทนของสถานทูตอังกฤษในกรุงโดฮาเข้าเยี่ยมพวกเขาแล้ว
 
ด้านเครือข่ายโลกเพื่อสิทธิและการพัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่นอร์เวย์ เผยว่านักวิจัยทั้งสองคนถูกจับกุมที่กรุงโดฮาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม หนึ่งในนั้นได้ฝากตัวแทนสถานทูตอังกฤษแจ้งกับครอบครัวว่าได้รับการดูแลอย่างดีและจะกลับบ้านในเร็วๆ นี้ สาเหตุที่ถูกจับเพราะเอกสารการทำวิจัยมีปัญหา ทางเครือข่ายแจ้งเมื่อวันพุธว่า นักวิจัยทั้งสองคนหายตัวไป ภายหลังร้องเรียนว่าถูกตำรวจติดตามและคุกคาม 
 
ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลแถลงในวันถัดมาว่า ทั้งคู่หายไปหลังแจ้งออกจากโรงแรมในกรุงโดฮา พวกเขากำลังวิจัยติดตามผลเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานแรงงานก่อสร้างชาวต่างชาติ หลังจากรัฐบาลกาตาร์รับปากเมื่อต้นปีนี้ว่า จะปฏิรูปสภาพการทำงานครั้งใหญ่ ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน ที่พักและค่าจ้าง เนื่องจากกลุ่มสิทธิกดดันให้สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) ทบทวนการตัดสินใจให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022
 
คนผิวดำว่างงานในสหรัฐ พุ่งสูงมากกว่าคนว่างงานผิวขาวเกินเท่าตัว 
 
7 ก.ย. 2014 ผลสำรวจล่าสุดในสหรัฐพบ จำนวนคนผิวดำที่เป็นผู้ว่างงานมีสัดส่วนมากกว่าคนผิวขาวที่ไม่มีงานทำมากกว่าเท่าตัว รายงานข่าวซึ่งอ้างข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐหรือบีแอลเอสระบุว่า แม้อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของสหรัฐในขณะนี้จะอยู่ที่ระดับ 6.1 เปอร์เซ็นต์ แต่ทว่าจำนวนคนผิวดำอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีงานทำในสหรัฐล่าสุด ได้พุ่งสูงถึง 11.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่า ตัวเลขการว่างงานในหมู่ประชากรผิวขาวในช่วงอายุเดียวกันที่มีเพียง 5.3 เปอร์เซ็นต์ 
 
สิงคโปร์เน้นพัฒนาทักษะไม่สนใจเงินเดือนสูง
 
8 ก.ย. 2014 ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ที่แสดงให้เห็นว่า การขึ้นเงินเดือน หรือค่าแรง ยังเป็นการกระทำที่ไม่มากพอที่จะจูงใจ และดึงตัวพนักงานในสิงคโปร์ ให้ทำงานกับองค์กรได้นานๆ บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์เคลลี เซอร์วิซ สำรวจความคิดเห็นประชาชน 230,000 คน ใน 31 ประเทศ รวมทั้งประชาชนกว่า 1,500 คนในสิงคโปร์ พบว่า 51% ของพนักงานในสิงคโปร์ กล่าวว่า พวกเขาต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากกว่าได้เลื่อนตำแหน่งในองค์กร ตัวเลขนี้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 57% แต่สูงกว่าหลายๆ ประเทศและเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เช่น ฮ่องกง 42% มาเลเซีย 43% ไทย 37% และจีน 
 
เวียดนามหวัง AEC จะช่วยสร้างตลาดแรงงานที่กว้างขวาง
 
9 ก.ย. 2014 เดอะ ไซง่อน ไทม์ส รายงานว่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) มองว่าการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะช่วยให้ตัวเลขของงานในเวียดนามเพิ่มขึ้น 10.5%
 
โดยไอแอลโอและเอดีบี ได้ร่วมกันศึกษาในกรณี "การเป็นประชาคมอาเซียน : การบูรณาการในการรวมกลุ่มเพื่องานที่ดีขึ้น และการกระจายความรุ่งเรือง" ซึ่งมีการเปิดเผยผลการวิจัยที่ฮานอยว่า เวียดนามเป็นหนึ่งประเทศในภูมิภาคที่สร้างผลประโยชน์ได้ หากเกิดการรวมกลุ่มประเทศแล้ว ซึ่งจะช่วยให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสสำหรับการค้าจากต่างชาติมากขึ้นอีกด้วย
 
นายโยชิเทรุ อุระโมะโตะ ผู้อำนวยการ ไอเอลโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวเพิ่มว่า สินค้าหลัก ๆ ที่สำคัญของเวียดนามที่มีการส่งออกมาที่สุด อาทิ รองเท้า เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าเกษตร ซึ่งรายงานการวิจัยคาดว่า การเติบโตของงานในเวียดนามจะแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะภาคการก่อสร้าง ระบบการขนส่ง อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอาหาร
 
ในช่วงระหว่างปี 2553-2568 อุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีคุณภาพดีในระดับปานกลาง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วราว 28% ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับประชาชนในประเทศกว่าล้านคน
 
ในปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานชาวเวียดนามที่ทำงานในภาคเกษตรกรรม ซึ่งด้านความสามารถ รายได้ และเงื่อนไขในการทำงาน ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน
 
ทั้งนี้ นายอุระโมะโตะกล่าวต่อว่า จำนวนประชากรไม่น้อยที่ทำงานให้กับภาคเกษตรกรรมในเวียดนามอาจสร้างความไม่สมดุลให้กับตลาดแรงงานในประเทศได้ อีกทั้งยังเพิ่มจุดอ่อนมากขึ้น อาทิ คุณภาพต่ำของงาน งานนอกระบบ และงานที่ก่อให้เกิดอันตราย
 
อย่างไรก็ตาม นายฝู หวิ่งห์ นักเศรษฐศาสตร์ ไอแอลโอ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค เผยว่า ปัจจุบันอาเซียนอนุญาตให้กับแรงงานใน 8 สาขาอาชีพ ได้แก่ นักตรวจสอบบัญชี สถาปนิก วิศวกร ทันตแพทย์ แพทย์ พยาบาล ช่างสำรวจ และการท่องเที่ยว สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศอาเซียนอื่น ๆ ได้อย่างเสรีและง่ายขึ้น หลังมีการเปิดเออีซีอย่างเต็มตัว
 
เวิลด์แบงก์เตือนวิกฤติขาดแรงงานทั่วโลกกระทบเศรษฐกิจ
 
10 ก.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ธนาคารโลกแถลงเตือนภัยวิกฤติด้านแรงงานทั่วโลกกำลังเกิดขึ้น และจะกระทบถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 โดยเวิลด์แบงก์ แนะทางออกคือต้องเพิ่มแรงงานทั้งโลกเฉลี่ย 600 ล้านตำแหน่งภายในปี 2573 เพื่อให้เข้ากับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น
 
นอกจากนั้น การเพิ่มแรงงานต้องเพิ่มทั้งคุณภาพและรายได้ ขณะที่ชาวโลกยังว่างงานอยู่ราว 100 ล้านคน และแรงงานจำนวนราว 447 ล้านคน มีรายได้ต่ำเฉลี่ยวันละไม่ถึง 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 66 บาท
 
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศ จี 20 ทั้ง 19 ประเทศ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (จี-8) คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี ประเทศในกลุ่มจี 20 มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเท่ากับ 90 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลก และมีประชากรรวมกันประมาณ 2 ใน 3 ของโลก
 
โรงงานเคมีเยอรมันระเบิดลามถึงโรงงานใกล้เคียง
 
10 ก.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเกิดเหตุโรงงานเคมีในเมืองริทเธทอร์ฮุดเดอร์ ทางตอนเหนือของเยอรมนีระเบิด เป็นเหตุให้โรงงานอีกหลายแห่งที่อยู่ใกล้เคียงได้รับความเสียหายด้วย
 
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจคร่าว ๆ พบว่าพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งหายตัวไป บางคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกไฟไหม้ ซึ่งบางรายอาจจะไม่สามารถทำงานต่อได้ แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนในเรื่องดังกล่าว
 
ทั้งนี้ ควันไฟจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกระจายไปทั่วพื้นที่เกิดเหตุ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่พบไอระเหยจากสารเคมีที่เป็นอันตรายในอากาศแต่อย่างไร
 
“มอริเตเนีย” เลื่อนวันหยุดสุดสัปดาห์เป็น “วันเสาร์-อาทิตย์” ตามแบบสากล
 
12 ก.ย. 2014 เซยิดนา อาลี อูลด์ โมฮาเหม็ด เคานา รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอริเตเนีย แถลงเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ว่ามาตรการนี้มีขึ้นเพื่อเพื่อชดเชยความสูญเสียที่เศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และฝ่ายบริหารบ้านเมืองได้รับจากการหยุดพักผ่อนก่อนนานาชาติ 1 วัน เขาระบุว่า วันทำงานในแต่ละสัปดาห์จะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์-วันศุกร์ ในเวลา 8.00 น. – 17.00 น. นับแต่นี้เป็นต้นไป
       
มอริเตเนียซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีประชากรราว 3.8 ล้านคน และเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม รัฐเล็กๆ แห่งนี้เปลี่ยนวันหยุดสุดสัปดาห์มาแล้วหลายครั้งตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี 1960 ซึ่งแต่ละครั้งก็จะมีกระแสต่อต้านจากองค์กรศาสนา หรือกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยเสมอ
       
เพื่อบรรเทาเสียงต้านจากพลเมืองมุสลิมที่เคร่งครัด โมฮาเหม็ด เคานา จึงอนุโลมให้ข้าราชการทำงานเพียงครึ่งวันในวันศุกร์ เพื่อจะได้มีเวลาประกอบพิธีละหมาดในช่วงเที่ยง
       
“วันหยุดใหม่จะทำให้ประเทศของเรามีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงขึ้น และอำนวยความสะดวกแก่บริษัทห้างร้านที่ต้องติดต่อกับหุ้นส่วนในต่างประเทศ” เขากล่าว
       
 วันอาทิตย์เคยเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของชาวมอริเตเนียหลังได้รับเอกราชใหม่ๆ ทว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ประธานาธิบดี โมฮาเหม็ด เคานา อูลด์ ไฮดัลลา ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวมุสลิม
       
ในปี 2001 ประธานาธิบดี มาวียา อูลด์ ทายา ได้สั่งให้เปลี่ยนวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นวันเสาร์และอาทิตย์ แต่หลังจากนั้นก็ยังมีการเปลี่ยนกลับไปกลับมาเช่นนี้อีกไม่ต่ำกว่า 3 หน
 
คนงาน ราว 16,000 คน จากโรงงานผลิตจอ LCD ในภาคใต้จีน หยุดงานประท้วง
 
12 ก.ย. 2014 ผู้บริหาร Wintek เผยการหยุดงานประท้วงเริ่มเมื่อวันอังคาร (9 ก.ย.) ที่ Masstop Liquid Crystal Display ในเมืองตงกวน และในวันถัดมา คนงานจาก Wintek (China) Technology ก็มาเข้าร่วมประท้วงด้วย โดยคนงานที่เข้าร่วมประท้วง มีจำนวน ราว 8,000 คน จากแต่ละโรงงาน โดยการประท้วงได้ยุติลงในวันพุธและวันพฤหัสฯ (11 ก.ย.) โดยที่การผลิตไม่ได้รับผลกระทบใด
       
ทั้งนี้ Wintek เป็นซับพลายให้แก่บริษัทแอปเปิลมานาน โรงงานของ Wintek Corp ในเมืองซูโจว ใกล้นครเซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในรายชื่อซับพลายของกลุ่มผู้ผลิต ไอโฟน และไอแพด ปี 2014 แต่ไม่มีชื่อโรงงานในตงกวน
       
ทั้งนี้จีนเผชิญเหตุประท้วงหลายกรณีเมื่อไม่กี่ปีมานี้ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะขาดแคลนแรงงานที่แย่มากขึ้น ทำให้ดุลอำนาจในภาคแรงงานเปลี่ยนไป นอกจากนี้สื่อสังคมออนไลน์และสมาร์ทโฟน ช่วยกระตุ้นให้คนงานตื่นตัวมากขึ้นอีกด้วย
       
การหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปี เกิดขึ้นในเดือนเม.ย. โดยคนงานราว 40,000 คน ที่โรงงานที่เป็นซับพลายรองเท้ารองเท้ากีฬาแบรนด์นอกอย่างไนกี้ อดิดัส และอื่นๆ ที่เมืองตงกวน ได้ผละงานประท้วง แสดงความไม่พอใจต่อค่าใช้จ่ายสวัสดิการที่น้อยนิด
       
กลุ่มคนงานที่เข้าร่วมในการประท้วง Wintek บอกกับผู้สื่อข่าวซินหวา ว่าในประกาศรับสมัครคนงาน ได้เสนอโบนัสเป็นเงินสดเป็นจำนวนเท่ากับครึ่งหนึ่งของเงินเดือนในระหว่างช่วงวันหยุดสามวันของเทศกาลแข่งขันเรือมังกร เทศกาลกลางไหว้พระจันทร์ และเทศกาลตรุษจีน
       
แต่ในเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ (8 ก.ย.) พวกเขาได้รับเพียงเงินสด 100 หยวน หรือราว 500 บาท ไก่และกล้วย เทียบกับเมื่อปีที่แล้ว คนงานแต่ละคนได้รับเงิน 700 หยวน และขนมไหว้พระจันทร์กล่องหนึ่ง คนงานได้กลับเข้าไปทำงานเมื่อเจ้าหน้าที่ชี้แจงว่าผลประกอบการบริษัทกำลังแย่ จึงสามารถให้โบนัสวันหยุดเพียงชิ้นน้อยนิดนี้
 
แอร์ฟรานซ์จะลดเที่ยวบินลงครึ่งหนึ่งเพราะนักบินผละงาน
 
12 ก.ย. 2014 นายฟรองซัวส์ แกเจย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศส แจ้งว่า จะลดบริการเที่ยวบินลงครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 15 กันยายนนี้ เนื่องจากนักบินจะผละงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ประท้วงแผนการตัดลดค่าใช้จ่ายของบริษัท
 
นายแกเจย์ เผยกับสถานีวิทยุฟรานซ์อินเตอร์ในวันนี้ว่า การผละงานอาจดำเนินไปจนถึงวันที่ 22 กันยายน ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เสียหายวันละ 10-15 ล้านยูโร (ราว 420-630 ล้านบาท) และจะให้บริการเที่ยวบินได้เพียงครึ่งหนึ่ง สายการบินจะแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ และอาจขอให้เปลี่ยนตั๋วโดยสารเลี่ยงการเดินทางในช่วงนี้
 
แอร์ฟรานซ์ เป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปในแง่ของรายได้ บริษัทฯ ได้ประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ว่า จะเดินหน้าแผนการเปิดสำนักงานใหม่ในยุโรป ภายใต้ชื่อสายการบินทรานซาเวีย ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่บริหารงานเป็นอิสระจากกลุ่มแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดคืนจากสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบินคู่แข่งจากตะวันออกกลาง แต่ถูกคัดค้านจากสหภาพแรงงาน บริษัทฯ เผยว่า พร้อมเจรจาเรื่องสิทธิประโยชน์ตามอาวุโส และสิ่งจูงใจสำหรับนักบินแอร์ฟรานซ์ที่ย้ายไปทรานซาเวีย แต่จะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหภาพนักบินที่ต้องการให้นักบินของทรานซาเวียมีสัญญาการจ้างงานเทียบเท่ากับนักบินของแอร์ฟรานซ์
 
พม่างดส่งสาวใช้ทำงานในสิงคโปร์ชั่วคราว วิตกปัญหาทารุณกรรม
 
14 ก.ย. 2014 กระทรวงแรงงานพม่า ระงับออกใบอนุญาตให้แก่หญิงชาวพม่าที่ต้องการทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านในสิงคโปร์เป็นการชั่วคราว เนื่องจากวิตกกังวลเกี่ยวกับการถูกทารุณกรรม และการถูกเอาเปรียบ 
       
การระงับออกใบอนุญาตทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านของชาวพม่าในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสภาพการทำงานของสาวใช้ต่างด้าวในประเทศแถบเอเชีย หลังมีรายงานเหตุทารุณกรรมบ่อยครั้ง ซึ่งรวมทั้งกรณีของสาวใช้ชาวอินโดนีเซีย ที่ถูกนายจ้างชาวฮ่องกงทรมานอยู่นานหลายเดือน
       
พม่าเพิ่งผ่านกฎหมายอนุญาตให้พลเมืองทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านในต่างแดนได้เมื่อปีก่อน แต่ได้ออกคำสั่งห้ามทำงานจนกว่าข้อตกลงในประเด็นต่างๆ ที่รวมทั้งสิทธิแรงงาน และค่าจ้างจะบรรลุกับสิงคโปร์เป็นที่เรียบร้อย
       
“เราได้รับแจ้งถึงกรณีการถูกทารุณ และการปฏิบัติไม่ดีต่อสาวใช้ชาวพม่าในสิงคโปร์ นั่นเป็นเหตุว่าทำไมเราจึงต้องการการคุ้มครองที่เหมาะสมต่อแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ระงับการออกใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้หญิงเป็นการชั่วคราว จนกว่าทางสมาพันธ์จะลงนามบันทึกความเข้าใจกับสิงคโปร์” โซ มี้น อ่อง รองประธานสมาพันธ์ตัวแทนการจ้างงานต่างประเทศของพม่า กล่าว
       
หลังแก้กฎหมายการย้ายถิ่นในปี 2556 พม่าได้ส่งผู้ช่วยแม่บ้านอย่างเป็นทางการไปยังสิงคโปร์และฮ่องกง โดยฮ่องกง ได้รับแรงงานชุดแรก จำนวน 19 คน เมื่อเดือน ก.พ. อย่างไรก็ตาม ทางการพม่าระบุว่า ได้ระงับใบอนุญาตสำหรับผู้ช่วยแม่บ้านที่ต้องการทำงานในฮ่องกงเช่นกัน
       
จากกรณีของสาวใช้ชาวอินโดนีเซีย ที่นายจ้างชาวฮ่องกงถูกดำเนินคดีหลายข้อหา รวมทั้งการทำร้ายร่างกายโดยเจตนา สร้างความวิตกต่อนานาชาติถึงการปฏิบัติต่อบรรดาผู้ช่วยแม่บ้านเหล่านี้
       
รายงานระบุว่า มีสาวใช้ชาวพม่าทำงานอยู่ในสิงคโปร์ราว 30,000 คน ทั้งที่ถูกต้องตามกฎหมายและผิดกฎหมาย และมีชาวพม่าอีกเป็นจำนวนมากที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตในไทย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวเตือนก่อนหน้านี้ถึงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของชาวพม่าที่ทำงานในอาชีพเหล่านี้
 
ผลสำรวจชี้จีนยังเป็นเป้าหมายแรกในการขยายธุรกิจของบริษัทเอเชีย
 
15 ก.ย. 2014 Channel NewsAsia ของสิงคโปร์รายงานผลการสำรวจธุรกิจเอเชียของธนาคารยูโอบีประจำปี 2014 (UOB Asian Enterprise Survey 2014) ซึ่งครอบคลุมผู้นำธุรกิจ 1,024 รายทั่ว 6 ตลาดในเอเชีย โดยผลสำรวจล่าสุดชี้ว่า ประเทศจีนยังคงเป็นเป้าหมายแรกในการขยายกิจการของบริษัทเอเชีย และมาเลเซียเป็นเป้าหมายอันดับ 2 ขณะที่สิงคโปร์และเวียดนามครองอันดับ 3 ร่วมกัน
 
ในเรื่องการขยายธุรกิจในเอเชีย บริษัทต่างๆ ต้องการตลาดที่มีฐานผู้บริโภคชนชั้นกลางขนาดใหญ่ หรือตลาดที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า
 
ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยที่ผลักดันให้บริษัทเอเชียขยายกิจการสู่ต่างประเทศ รายงานระบุว่าต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยหลัก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้บริษัทเอเชียขยายธุรกิจระดับภูมิภาค ประกอบด้วยการทำตามคำแนะนำของคนรู้จักส่วนตัวหรือทางธุรกิจ โดยบุคคลดังกล่าวอาจมีความคุ้นเคยกับภาษาหรือวัฒนธรรม หรือเป็นสมาคมการค้าหรือที่ปรึกษาทางการเงิน
 
บริษัทจีนหลายแห่งต้องการขยายกิจการในตลาดภายในประเทศมากกว่า เนื่องจากศักยภาพในการขยายตัวได้อย่างเต็มที่ โดย 40% ของบริษัทจีนกำลังมองหาช่องทางลงทุนและขยายตัวในทางตะวันตกเฉียงใต้ หรือในภาคกลางของจีน สำนักข่าวซินหัวรายงาน
 
สองสายการบินในยุโรปประท้วงพร้อมกัน
 
15 ก.ย. 2014 ผู้โดยสารจำนวนมากตกค้างตามท่าอากาศยานชาร์ลส์เดอโกลในฝรั่งเศส หลังจากนักบินสายการบินแอร์ฟรานซ์ของฝรั่งเศสเริ่มการผละงานเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในวันจันทร์
 
สายการบินแอร์ฟรานซ์ ได้ส่งข้อความสั้นทางโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งผู้โดยสาร 65,000 คนที่เดือดร้อนจากการผละงาน และได้ว่าจ้างพนักงานพิเศษ 7,000 คนมาช่วยดูแลผู้โดยสารที่ตกค้าง ผู้บริหารแอร์ฟรานซ์คาดว่าจะให้บริการเที่ยวบินได้ร้อยละ 48 เพราะนักบินผละงานร้อยละ 60
 
ด้านสหภาพนักบินเตือนว่า แอร์ฟรานซ์อาจต้องยกเลิกเที่ยวบินมากถึง 8 ใน 10 เพราะการผละงานจะยืดเยื้อไป 1 สัปดาห์ นานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 การประท้วงเกิดขึ้นเพราะสหภาพนักบินเกรงว่า การขยายธุรกิจทรานซาเวีย ซึ่งเป็นสายการบินราคาประหยัดของกลุ่มแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็มจะทำให้นักบินสัญญาจ้างในประเทศถูกเลิกจ้างและเสียเปรียบ
 
ส่วนที่นครเบอร์ลิน สหภาพนักบินสายการบินลุฟท์ฮันซ่าแถลงว่า จะผละงานประท้วงที่ท่าอากาศยานแฟรงก์เฟิร์ตเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ในวันอังคารนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ภายหลังจากที่มีการผละงานประท้วงหลายครั้งช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
นักบินลุฟท์ฮันซ่าเรียกร้องให้สายการบินจ่ายเงินชดเชยให้ผู้ต้องการเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ฝ่ายบริหารไม่ยอมตกลง เนื่องจากสายการบินต้องการลดค่าใช้จ่ายเพราะกำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างดุเดือดจากสายการบินต้นทุนต่ำในยุโรป และสายการบินอาหรับรายใหญ่
 
แรงงานเขมรรวมตัวประท้วงรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
 
18 ก.ย. 2014 กลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมในกัมพูชาหลายร้อยคน รวมตัวกันประท้วงในเขตอุตสาหกรรมของกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องขอเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือน จากเดิม 100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3,200 บาท เป็น 177 ดอลลาร์สหรัฐ ประมาณ 5,700 บาท
 
'ไมโครซอฟท์' ปลด พนง.อีก 2,000 คน
 
19 ก.ย. 2014 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ ผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก ดำเนินการปลดพนักงานอีก 2,100 คน หลังก่อนหน้านี้ปลดพนักงานไปแล้ว 13,000 คน ตามแผนการปลดพนักงาน 18,000 คน หรือ 14% ของพนักงานทั้งหมดของบริษัทภายในสิ้นปีนี้
 
ไมโครซอฟท์ระบุว่า พนักงานที่ถูกปลดระลอกล่าสุดราว 747 ตำแหน่งอยู่เมืองซีแอตเติล ส่วนที่เหลือกระจายไปตามสาขาและแผนกต่างๆทั่วโลก ขณะที่พนักงานกว่า 13,000 คนที่ถูกปลดชุดแรกส่วนใหญ่อยู่ในแผนกโทรศัพท์มือถือ โนเกีย ซึ่งไมโครซอฟท์ซื้อมาเมื่อเดือนเม.ย.
 
ทั้งนี้ เมื่อเดือนก.ค. นาย ซัตยา นาเดลลา ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ประกาศแผนการปรับโครงสร้างบริษัทโดยเน้นในเรื่องบริการออนไลน์, แอพพลิเคชั่น และอุปกรณ์ให้มากขึ้น ซึ่งการปลดพนักงานเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากแต่จำเป็น อนึ่ง ไมโครซอฟท์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลดพนักงานว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
บริษัทอีริคส์ยกเลิกการผลิตโมเด็ม พร้อมประกาศปลดพนักงานเกือบ 1,600 คนทั่วโลก
 
20 ก.ย. 2014 บริษัทอีริคส์สันยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมแห่งสวีเดน ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2014 ว่าทางบริษัทตัดสินใจยุติการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทโมเด็มทุกรูปแบบอย่างเป็นทางการ และจะขอยุติบทบาทการเป็นผู้ผลิตโมเด็มรายสำคัญของโลก พร้อมประกาศปลดพนักงานเกือบ 1,600 คนทั่วโลก ท่าทีล่าสุดมีขึ้นหลังอีริคส์สันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดโลก โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้ผลิตโมเด็มรายใหม่ๆจากทวีปเอเชีย ซึ่งใช้กลยุทธ์ตีตลาดด้วยการผลิตโมเด็มราคาถูกออกสู่ท้องตลาด
 
คนเร่ร่อนในกรีซผันตัวเป็นไกด์พาทัวร์เมืองหลวง
 
23 ก.ย. 2014 คริสตอส บันโคยานิส กำลังทำหน้าที่ไกด์พานักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอย่างอะโครโพลิส แต่เป็นตรอกและซอยแคบๆ ที่เขาและบรรดาคนไร้บ้านทั้งหลายเคยใช้เป็นที่ซุกหัวนอน บันโคยานิสบอกว่า ชีวิตไร้บ้านทำให้เขาเผชิญมาแล้วทุกอย่าง ทั้งยาเสพติด ก่อคดีมากมายจนถูกจับหลายครั้ง แต่ยังดีที่เขาเอาตัวรอดมาได้ และหวังว่างานของเขาในตอนนี้ จะมีส่วนช่วยให้สังคมมองเห็นปัญหาของคนเร่ร่อนไร้บ้านมากขึ้น ส่วนลาบรอส มุสตาคิส คนไร้บ้านอีกคนพานักท่องเที่ยวไปดูโรงแรมไอโอนิส ที่ทางการกรีซจัดสรรให้เป็นที่พักพิงสำหรับคนเร่ร่อนและไร้บ้านทั้งหลาย เขาบอกว่าตกงานหลังจากกรีซเผชิญภาวะเศรษฐกิจล่มสลายในปี 2554 จนครอบครัวทิ้งไป แต่เขาจะไม่ยอมแพ้และต้องการสู้อีกครั้ง
 
โครงการให้คนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นไกด์นำเที่ยวกรุงเอเธนส์ เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของกลุ่มชีเดีย องค์กรช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีโอกาสประกอบอาชีพเพื่อความเป็นอยู่ในชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ วิกฤติเศษฐกิจในกรีซเมื่อ 3-4 ปีก่อน ส่งผลให้คนไร้บ้านในประเทศเพิ่มขึ้น 25-30% เนื่องจากพวกเขาตกงานจนไม่มีรายได้จ่ายค่าผ่อนหรือเช่าบ้าน แต่โครงการนี้สามารถช่วยพวกเขาให้กลับมามีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง ค่าใช้จ่ายในการทัวร์กับไกด์คนไร้บ้านครั้งละ 6 ยูโร ซึ่งคนไร้บ้านที่ทำหน้าที่ไกด์จะได้ส่วนแบ่ง 3 ยูโร
 
บริษัทแม่ของโรงงานเซี่ยงไฮ้ หูสี ฟู้ด ประกาศเลิกจ้างคนงาน หลังเกิดกรณีอื้อฉาวในการจัดส่งเนื้อสัตว์หมดอายุ
 
23 ก.ย. 2014 บริษัท โอเอสไอ ไชน่า ระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นของนครเซี่ยงไฮ้ได้อนุมัติแผนการจ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างงานแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 340 คน ในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างโดยตรงของบริษัท หูสี 226 คน ส่วนที่เหลือเป็นลูกจ้างจากภายนอก ซึ่งขณะนี้ลูกจ้างส่วนใหญ่ได้รับแจ้งเรื่องการเลิกจ้างแล้ว
 
เรื่องอื้อฉาวของโรงงานหูสี ถูกเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อโทรทัศน์เซี่ยงไฮ้ รายงานว่า โรงงานได้นำเนื้อสัตว์หมดอายุกลับมาบรรจุใหม่แล้วส่งขายให้ร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังหลายสาขาทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริหารของบริษัท 6 คน ถูกจับกุมและดำเนินคดี
 
ข้อมูลล่าสุดชี้ เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรวัยแรงงานมะกัน “เดินเตะฝุ่น”
 
27 ก.ย. 2014 ข้อมูลล่าสุดที่มีการเปิดเผยผ่านรายงานของคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐฯ ระบุว่า ในขณะนี้เกือบ 1 ใน 4 หรือราว 23.2 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกัน ที่มีอายุระหว่าง 25-54 ปี มีสถานะเป็น “ผู้ว่างงาน” โดยชาวอเมริกันวัยทำงานที่ไร้อาชีพกลุ่มนี้มีจำนวนสูงถึง 28.9 ล้านคน
       
ด้าน นางแพทริเซีย ลีนน์ เมอร์เรย์ ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ออกมาเปิดเผยว่า ในจำนวนชาวอเมริกันวัยทำงานที่มีสถานะเป็นผู้ว่างงานจำนวน 28.9 ล้านคนดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นคนว่างงานอย่างถาวร และเป็นพวกที่ “ยุติการหางานใหม่” ทำแล้วอย่างสิ้นเชิง
       
ประธานคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาสหรัฐฯ ยังเผยด้วยว่า จำนวนประชากรอเมริกันวัยทำงานที่กลายสถานะเป็นผู้ว่างงานถาวรดังกล่าวในขณะนี้ มีจำนวนสูงกว่าประชากรอเมริกันวัยทำงานที่ว่างงานในช่วงก่อนที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะประสบวิกฤตในปี 2007 ถึงราว 3.5 ล้านคน
       
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯเพิ่งออกรายงานฉบับล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานภายในประเทศ ซึ่งระบุว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯนับถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 6.1 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานราว 9.48 ล้านคน แม้ข้อมูลดังกล่าวของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯจะถูกวิจารณ์ว่านำเสนอตัวเลขผู้ว่างงานในเมืองลุงแซม “ต่ำกว่าความเป็นจริง” 
 
ผลศึกษาพบแรงงานหญิงกัมพูชาโลหิตจาง-น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
 
30 ก.ย. 2014 ผลการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จากการสำรวจแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชา 3,890 คน ในโรงงาน 10 แห่ง ชี้ว่า แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปชาวกัมพูชาร้อยละ 43.2 เป็นโรคโลหิตจาง และร้อยละ 15.7 มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และยังพบว่าแรงงานใช้เงินประมาณ 1.3 ดอลลาร์ (ประมาณ 42 บาท) สำหรับค่าอาหารต่อวัน
       
นอกจากนั้น ยังพบว่าแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเกินครึ่งอยู่ในภาวะไม่มั่นคงทางอาหาร มีเพียง 1 ใน 3 ของแรงงานที่ถูกสำรวจจัดอยู่ในกลุ่มมีความมั่นคงทางอาหาร และประมาณร้อยละ 8 จัดอยู่ในกลุ่มไม่มั่นคงทางอาหารอย่างร้ายแรง
       
“ภาวะโลหิตจาง และความไม่มั่นคงทางอาหารสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อแรงงานได้หลากหลาย” จิล ทัคเกอร์ ผู้จัดการโครงการ Better Factories Cambodia ของ ILO กล่าว พร้อมระบุว่า ภาวะโลหิตจางมักนำไปสู่ความเหนื่อยล้า ไม่มีสมาธิ และประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ
       
แม้การจัดการกับปัญหาโรคโลหิตจางจะซับซ้อน แต่ก็ถือเป็นกุญแจสำคัญต่อการปรับปรุงการผลิตในภาคการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป รายได้ขั้นต่ำของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชาในปัจจุบันอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อเดือน อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าของกัมพูชาประกอบด้วยโรงงาน 960 แห่ง มีแรงงานอยู่ราว 620,000 คน ซึ่งภาคส่วนนี้เป็นแหล่งรายได้จากต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ทำรายได้เกือบ 3,500 ล้านดอลลาร์ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2557
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก
 
ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net