สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ:38 ปี 6 ตุลาคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

“หกตุลาวันมหาประชาหาญ  ลุกขึ้นต้านฟัสซิสม์ไพรี
เราจะเดินหน้าบุกเราจะรุกโจมตี โหมชีวีปูทางสู่ทางยุคใหม่”

เวลาผ่านมาพริบตาเดียว เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ก็ผ่านมาถึง 38 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่า การจัดงาน 6 ตุลา ครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งแรกในรอบ 36 ปี ที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้กำหนดให้มีเพียงการจัดงานทำบุญและพิธีไว้อาลัย แต่ห้ามจัดงานเสวนาทางวิชาการใดๆ เพราะเกรงว่า งานวิชาการที่จัดขึ้นจะกลายไปเป็นงานการเมืองต้านเผด็จการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ งาน 6 ตุลาปีนี้จึงเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ สะท้อนการเมืองของยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

เวลาที่ผ่านมา 38 ปี สร้างความเปลี่ยนแปลงไม่น้อย มิตรสหายเดือนตุลาที่เป็นเยาวชนคนหนุ่มสาว และต่อสู้เผด็จการมาด้วยกันในครั้งนั้น มาถึงในวันนี้กลายเป็นแม่น้ำแยกสาย หลายคนกลับย้อนกลับไปสนับสนุนการล้มล้างประชาธิปไตย ร่วมยกขบวนสนับสนุนการรัฐประหารของกองทัพ และเมื่อกล่าวถึงการรัฐประหารจะพบว่า การเมืองไทยในระยะ 38 ปีนี้เปลี่ยนแปลงน้อยอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้หนุ่มสาวเมื่อครั้ง 6 ตุลา 2519 กับหนุ่มสาวในทุกวันนี้ สามารถที่จะมีประสบการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกันได้

คงจะต้องเริ่มต้นด้วยการทบทวนเหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อ 38 ปีก่อน เหตุการณ์เริ่มจากการที่กลไกรัฐ คือ กำลังตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกับกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่ม เช่น ลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ได้ก่อการสังหารหมู่นักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านจอมพลถนอม กิตติขจร อยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 40 คน บาดเจ็บ 145 คน และยังได้จับกุมนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คนไปคุมขัง ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนผู้ปราศจากความผิดครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กรณีนองเลือดนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะเย็นวันเดียวกันนั้นเอง คณะทหารที่เรียกตนเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ก็ก่อการยึดอำนาจ ล้มเลิกรัฐธรรมนูญ ล้มเลิกรัฐบาลประชาธิปไตยและรัฐสภา สถาปนาอำนาจเผด็จการสมบูรณ์แบบขึ้นมาแทน

แต่คณะทหารที่ยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ยังมีความละอาย จึงไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและตั้งคณะรัฐมนตรีด้วยตนเอง แต่ไปนำตัวนักกฎหมายรับใช้เผด็จการ คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และตั้งสภาชุดหนึ่ง เรียกว่า สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งเป็นสภาทหารและข้าราชการ มาทำหน้าที่เป็นสภานิติบัญญัติ และมีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวมีเพียง 29 มาตรา และมีมาตราที่ให้อำนาจเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะทหาร เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญเผด็จการทั่วไป

รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลที่เผด็จการขวาจัดที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ได้มีการลิดรอนสิทธิของประชาชน โดยประกาศกฎอัยการศึกตลอดเวลา ใช้มาตรการห้ามประชาชนออกนอกบ้านยามวิกาล เพ็อควบคุมสถานการณ์ ห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนทั้งหมด และเสนอแผนการประชาธิปไตยแบบมีขั้นตอน ที่จะเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างน้อย 4 ปี และจะผ่อนให้มีประชาธิปไตยในเวลา 12 ปี แต่กลายเป็นว่า รัฐบาลธานินทร์บริหารประเทศได้เพียงปีเดียว ก็ถูกรัฐประหารซ้อนโค่นอำนาจไป เหลือแต่ชื่อเหม็น ในฐานะรัฐบาลที่บริหารล้มเหลวมากที่สุดชุดหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

หลังจากนั้น ประเทศไทยก็ได้ผ่านกระบวนการที่พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้นตามลำดับ ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพก็ลดบทบาทลง สังคมไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบในสมัยที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2531 การเมืองแบบประชาธิปไตยก็ดูราบรื่น แต่ในที่สุด กองทัพก็อ้างเหตุว่า รัฐบาลคอรับชั่น และปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แล้วก่อการรัฐประหารในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 ล้มล้างรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ นำประชาธิปไตยของไทยมาสู่จุดตั้งต้นใหม่

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาประชาธรรมเมื่อ พ.ศ.2535 เผด็จการทหารถูกโค่นอำนาจลง ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในประเทศไทยเดินหน้าต่อมาจนดูเหมือนว่าจะมั่นคง แต่ในที่สุด คณะทหารก็อ้างเหตุเรื่องความแตกแยกภายในชาติ และกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก่อการรัฐประหารล้มล้างระบบรัฐสภา และล้มเลิกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ประชาธิปไตยไทยก็ถอยหลังกลับไปเริ่มต้นนับศูนย์ใหม่อีกครั้ง

หลังจากมีรัฐบาลเผด็จการรักษาการอยู่ 1 ปี ก็มีการเลือกตั้ง และกระบวนการประชาธิปไตยก็กลับมาอีกครั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งวางข้อจำกัดสำหรับรัฐบาลและรัฐสภาอย่างมาก และมอบอำนาจสูงสุดให้กับฝ่ายตุลาการ การเมืองแบบประชาธิปไตยก็ยังเดินหน้าต่อมา แม้จะมีปัญหาอุปสรรค์อย่างมาก จนถึง พ.ศ.2557 กระบวนการองค์กรอิสระที่ตั้งมาด้วยฝ่ายตุลาการ ได้วางเงื่อนไขจนเกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง แล้วเปิดทางให้คณะทหารก่อการยึดอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยจึงได้โอกาสในการเริ่มต้นประชาธิปไตยจากศูนย์อีกครั้ง

สรุปได้ว่า แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 38 ปี ประเทศไทยก็ยังคงตกอยู่ภายใต้เผด็จการทหารเช่นเดิม วงจรทางการเมืองก็ยังเหมือนเดิม สิทธิเสรีภาพของประชาชนไทยก็ถูกละเลยเช่นเดิม และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ประชาธิปไตยในสังคมไทยจะฟื้นฟูเมื่อไร และมีลักษณะอย่างไร ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศไทย แถลงต่อที่ประชุมสหประชาชาติเมื่อวันที่ 28 กันยายนว่า “ประเทศไทยไม่ได้ถอยออกจากประชาธิปไตย แต่ต้องการเวลาและช่องว่างเพื่อสร้างความปรองดอง ปฏิรูปทางการเมือง เสริมความเข้มแข็งของสถาบันประชาธิปไตย และไม่ต้องการให้เกิดสิ่งที่เคยเกิดในวันที่ 22 พฤษภาคมขึ้นอีก” จึงกลายเป็นเรื่องตลกขบขันของคณะทหารไทยมากกว่าที่ประชาคมโลกจะเชื่อว่าเป็นความจริง

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 วีรชนประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง พลีชีพต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ด้วยความพยายามที่จะรักษาประชาธิปไตยให้กับบ้านเมืองไทย แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาจะไม่ราบรื่น จะสะดุดโดยรัฐประหารถึง 5 ครั้งในระยะ 38 ปี แต่การพลีชีพของวีรชนก็ยังสมควรที่จะได้รับการยกย่อง ดังนั้น ในภาวะที่อาจจะทำอะไรกันได้ไม่มากนัก ที่จะทำให้บ้านเมืองได้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ดังความใฝ่ฝัน แต่ในวันนี้ เราก็มาทำบุญระลึกวีรชนผู้เสียสละกัน และคงจะไม่ใช่เพียงวีรชน 6 ตุลาเท่านั้น แต่หมายถึงวีรชนประชาชนทั้งหมดที่พลีชีวิตเพื่อประชาธิปไตยในเวลาที่ผ่านมา

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 482 วันที่ 4 ตุลาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท