Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“It is forbidden to kill. Therefore, all murderers are punished, unless they kill in large numbers, and to the sound of trumpets.” Voltaire


The Act of Killing เป็นภาพยนตร์สารคดีที่นักศึกษาในคลาสสัมมนาอุษาคเนย์ศึกษาพูดถึงกันมากในสัปดาห์ที่แล้ว จึงอดไม่ได้ที่จะไปค้นหาในอินเตอร์เน็ตมาดูเสียหน่อย เมื่อดูจบ คิดอยู่ในใจว่า หนังเรื่องนี้น่าจะก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งในและนอกประเทศอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะในหรือนอกวงการสิทธิมนุษยชนก็ตามที เพราะหนังได้เปิดบาดแผลชิ้นใหญ่ของประวัติศาสตร์การเมืองอินโดนีเซียเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมา ที่ยังคงทิ้งมรดกไว้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็จริงดังคาด เพราะแม้แต่ในวงวิชาการเอง ก็ได้รับแรงกระเพื่อมจากหนังเรื่องนี้ไม่น้อย Critical Asian Studies ถึงกับลุกขึ้นมาเปิดโต๊ะกลมออนไลน์ เชิญนักวิชาการและนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานด้านอินโดนีเซียจำนวน 13 ท่านด้วยกัน ร่วมกันเขียนบทวิจารณ์ขนาดสั้น ให้กับวารสารฉบับพิเศษนี้กันเลยทีเดียว (Critical Asian Studies, Vol. 46:1, 2014) ซึ่งนับว่าเป็นโต๊ะกลมออนไลน์ที่เผ็ดร้อนยิ่งนัก เพราะมีตั้งแต่ผู้ที่ชื่นชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปจนถึงผู้ที่เห็นว่าเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ควรค่าแก่การดูด้วยแง่มุมที่แตกต่างและหลากหลาย

The Act of Killing เป็นสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของการสังหารและกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียในระหว่างปี 1965-1966 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารซูฮาร์โต้ ผ่านปากคำของ Anwar Congo ผู้นำของกลุ่มอันธพาลการเมืองในยุคนั้น ผู้ที่เป็นผู้ลงมือสังหารผู้คนจำนวนมากด้วยตนเองตามใบสั่งของผู้มีอำนาจทางการเมืองของประเทศ ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างทีมผู้สร้างจากเดนมาร์ก นอร์เวย์ และอังกฤษ และกำกับโดย Joshua Oppenheimer ผู้กำกับชาวอเมริกัน ถูกนำออกฉายในปี 2012 และกวาดรางวัลมาหลายเวทีทั่วโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในห้าภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง The Academy Award for Best Documentary Feature เมื่อปีที่แล้วอีกด้วย

Oppenheimer ใช้เวลากว่าสองปีในการติดตามสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสังหารโหดผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอำนาจที่ซูฮาร์โต้และรัฐบาลทหารของเขาโค่นล้มซูการ์โนลงในกลางทศวรรษที่ 1960 มีการประมาณการกันว่าผู้นำสหภาพแรงงาน ชาวนา ปัญญาชน นักศึกษา ประชาชนธรรมดา ตลอดจนชาวจีนในอินโดนีเซียถูกสังหารไปไม่น้อยกว่า 5 แสนคน Oppenheimer ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้พบกับ Anwar Congo ในเมืองเมดาน ตอนเหนือของเกาะสุมาตรา และพูดคุยถึงโครงการสร้างภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารคอมมิวนิสต์ในระหว่างปี 1965-66 Anwar สนใจเป็นอย่างมาก และเสนอตนเป็นตัวแสดงเอกของภาพยนตร์เสียเอง พร้อมทั้งเป็นผู้ให้ข้อมูลและร่วมออกแบบในการจำลองเหตุการณ์การฆ่า การเผาทำลายล้างหมู่บ้านที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ รวบรวมผู้คนมาร่วมแสดงในเหตุการณ์จำลองทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนพาทีมผู้ถ่ายทำไปพบปะกับบรรดาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ Medan Pos ผู้ว่าราชการของเกาะสุมาตราตอนเหนือ และผู้นำของ Pemuda Pancasila ขบวนการประชาชนที่จัดตั้งโดยทหาร (paramilitary) ที่มีสมาชิกหลายแสนคนทั่วประเทศและยังคงมีอิทธิพลอย่างมากจวบจนทุกวันนี้

ประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้ล่าสังหาร เริ่มต้นที่ดาดฟ้าของตึกแถวที่เคยเป็นที่ทำการของกลุ่มอันธพาล (Gangsters) ในยุค 60s ที่ซึ่ง Anwar แสดงเทคนิควิธีการทรมานและฆ่าผู้คนในแบบต่างๆให้แก่ทีมผู้ถ่ายทำ จากวิธีการที่ Anwar กล่าวว่าก่อให้เกิดรอยเลือดเปรอะเปื้อนมากเกินไปยากต่อการล้างเก็บกวาดทำความสะอาด ไปสู่การใช้เส้นลวดที่สะดวกและง่ายต่อการจัดการกว่า ซึ่งเขาให้ความเห็นในเวลาต่อมาว่า บางเทคนิควิธี เขาจำมาจากหนังฮอลลีวูดที่ดูในยุคนั้น ในชั่วชีวิตของ Anwar เขาน่าจะสังหารผู้คนไปไม่น้อยกว่าพันคนด้วยวิธีการต่างๆกัน และตามใบสั่งที่มีมา ในฐานะที่เป็นหัวหน้ากลุ่มอันธพาลที่ทรงอำนาจ เขาทำงานใกล้ชิดกับทั้งทหาร ผู้นำทางการ และกลุ่ม Pancasila ที่มีกองกำลังเป็นของตนเองในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ กองกำลังดังกล่าวยังถูกใช้โดยผู้มีอำนาจทางการเมื่อต้องการยึดเอาที่ดินหรือทรัพยากรของผู้คนเพื่อประโยชน์ของตนเองด้วยการขับไล่หรือโยนข้อหาคอมมิวนิสต์ให้และสังหารเสีย เหยื่อของเขา เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ บางคนเป็นพวกนำความคิดเรื่องความเป็นธรรมไปเผยแพร่แก่ชาวนา บางคนเป็นปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านภาพยนตร์อเมริกันที่เชื่อว่ามอมเมาผู้คนด้วยหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น

สำหรับ Anwar ที่มีอาชีพหลักเป็นอันธพาลคุมโรงหนังและหลงใหลในหนังฮีโร่ปราบผู้ร้ายของฮอลลีวูดแล้ว คอมมิวนิสต์เหล่านั้นไม่เพียงแต่ขัดผลประโยชน์ของธุรกิจโรงหนังของเครือข่ายของเขา แต่ยังบ่อนทำลายจินตนาการของความเป็นฮีโร่ของพวกเขาอย่างไม่น่าให้อภัยอีกด้วย ในการให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ของสุมาตราหลังจากข่าวการถ่ายทำภาพยนตร์แพร่กระจายออกไปถึงสื่อมวลชน Anwar ได้ตอบคำถามพิธีกรรายการว่า ความหมายของอันธพาล (gangsters) ที่จริงแล้วคือ free man มนุษย์ผู้เป็นอิสระ และเพลงประจำของพวกเขาคือ Born Free --ผู้ที่เกิดมาโดยไม่มีพันธะใดๆ และดังนั้นจึงมีเสรีภาพที่จะกระทำการใดๆก็ได้ตามเจตจำนงเสรีของตน ความคิดที่ได้รับการ endorse จากผู้นำกลุ่ม Pancasila ซึ่งเห็นว่ากลุ่มของพวกตน ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แต่มีอิสระ (และอำนาจนอกรัฐ) ที่จะทำงานด้วยอิทธิพลและอำนาจเถื่อนในการคุ้มครองรัฐของตนให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์



The Act of Killing เป็นบันทึกของความทรงจำของผู้ชนะและผู้มีอำนาจ ที่บอกเล่าถึงการฆ่าอย่างภาคภูมิใจ ทั้งนี้หลังปลดระวางจากการเป็นอันธพาล Anwar และพวกพ้องของเขาได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ร่ำรวย มีเกียรติ และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของชาติในการกวาดล้างคอมมิวนิสต์ และดังนั้นจึงได้สร้างคุณูปการอย่างยิ่งให้กับประเทศ สำหรับฝ่ายที่กุมอำนาจแล้ว การฆ่าถือว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ดังที่ผู้นำกลุ่ม Pancasila ในสุมาตราได้ประกาศในรายการโทรทัศน์เดียวกันว่า คนรุ่นใหม่ของอินโดนีเซียพึงสำนึกไว้ว่า นี่คือประวัติศาสตร์ (การฆ่าคอมมิวนิสต์)ทีจะต้องจดจำไว้ เพราะแม้แต่พระเจ้าก็ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เกลียดคอมมิวนิสต์ การฆ่าของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ถูกเฉลิมฉลองในชาติ และถูกพูดถึงราวกับเป็นเรื่องสามัญธรรมดา ไม่ต่างไปจากการกำจัดปลวกร้ายที่เข้ามากัดกินและสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน

แม้ว่าสารคดีชิ้นนี้จะได้รับการวิจารณ์อย่างมากว่าขาดการให้บริบททางประวัติศาสตร์ที่ลึกพอโดยที่ตัวละครสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการกวาดล้างคอมมิวนิสต์คือ กองทัพ กลับไม่ได้ถูกกล่าวถึงมากนัก Oppenheimer ได้ชี้แจงว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้สำหรับเขาแล้ว ไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นบันทึกความทรงจำทางประวัติศาสตร์ซึ่งมีนักเขียนและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยได้ทำไว้อย่างดีก่อนหน้านี้แล้ว แต่สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการนำเอาบทบรรยายทางประวัติศาสตร์มาทำให้เป็นการแสดง อะไรจะเกิดขึ้น หากนำเหตุการณ์การสังหารโหดในประวัติศาสตร์มาจำลองเป็นการแสดง โดยที่ผู้แสดงคือผู้ที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นั้นๆเอง การย้อนเหตุการณ์ในอดีตผ่านภาพจำลองบรรยากาศ บทสนทนา การทรมาน บีบบังคับในนาทีของการเอาชีวิต ความหวาดกลัว และการไล่ล่าสังหาร หรือกระทั่งการให้ผู้สังหารเป็นเหยื่อเสียเอง จะสร้างผลสะเทือนอย่างไรต่อผู้ที่เป็นผู้ลงมือสังหาร ต่อความเชื่อในประวัติศาสตร์ของผู้ชนะและความคิดว่าด้วยความถูกต้องที่ตนเองยึดถือมาตลอดสามทศวรรษ และต่อมโนธรรมสำนึกในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา

สิ่งที่น่าสนใจคือ เราจะเห็นปฏิกิริยาที่แตกต่างกันออกไป ในผู้คนที่สารคดีชิ้นนี้ได้ดึงมามีส่วนร่วมด้วย Ibrahim Sinik เจ้าของหนังสือพิมพ์ Medan Pos สื่อที่รับใช้ทหารอย่างซื่อสัตย์มาจนปัจจุบัน ตอบอย่างไม่ยี่หระว่า “ไม่ว่าพวกคอมมิวนิสต์จะพูดอะไร เราก็บิดมันเสีย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับหนังสือพิมพ์คือ การบดขยี้พวกคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซาก แพร่กระจายความรู้สึกเกลียดชังคอมมิวนิสต์ไปยังสาธารณะชนให้มากที่สุด” Sinik เห็นว่าคนอย่างเขาสำคัญเกินกว่าที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับการฆ่าโดยตรง เพราะเพียงแค่ขยิบตา บรรดาลูกน้องก็ย่อมรู้ว่าจะจัดการกับคนพวกนั้นอย่างไร

สำหรับ Adie เพื่อนสนิทแต่วัยเยาว์ของ Anwar ที่สังหารคนมานับไม่ถ้วน รวมทั้งพ่อของแฟนสาวที่เป็นชาวจีน ได้เตือน Anwar และพรรคพวกให้ระมัดระวังและไตร่ตรองเสียใหม่ เมื่อภาพยนตร์ถ่ายทำไปได้ถึงตอนกลางของเรื่อง Adie ตระหนักดีว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ หากได้รับการเผยแพร่ออกไป จะส่งผลอย่างสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ซึ่งอาจมีอันตรายต่อประวัติศาสตร์ต้นฉบับของความเป็นวีรบุรุษ และผู้ร้ายคอมมิวนิสต์ที่พวกเขาได้ร่วมกันสร้างขึ้น ดังที่เขากล่าวกับ Anwar ว่า คนก็จะรู้กันหมดว่า คอมมิวนิสต์ไม่ได้เลวอย่างที่คิด พวกเราต่างหากที่เป็นคนเลว Adie ไม่ได้รู้สึกผิดกับสิ่งที่ตนเองกระทำในอดีต ในทางตรงกันข้าม เขาเชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่า ความถูกผิด ขึ้นกับว่า ใครเป็นผู้ชนะ ประวัติศาสตร์ย่อมถูกเขียนและกำหนดโดยผู้ที่ได้รับชัยชนะ เขาไม่เคยฝันร้าย และเห็นว่า Anwar นั้นมีจิตใจที่อ่อนแอเกินไป จึงฝันร้ายอยู่เสมอ และแนะนำให้ Anwar ไปพบจิตแพทย์เสียบ้าง

แต่สำหรับ Anwar แล้ว การแสดงได้สร้างผลกระทบต่อจิตใจของเขาอย่างลึกซึ้ง และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการมองตนเอง และเสียใจต่อสิ่งที่ตนได้กระทำลงไปในอดีต อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์จะมาจากการที่ Anwar ตระหนักในสิ่งที่ตนเองได้กระทำและเสียใจกับมันจริง หรือจะเป็นเพราะการที่เขาเป็นนักแสดงที่เก่งกาจ และรู้ว่าควรจะแสดงออกในตอนจบอย่างไรก็ตามที ภาพยนตร์ได้พยายามแสดงให้เห็นว่า ท้ายที่สุดแล้ว อาชญากรรมที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นอย่างเป็นขบวนการและฝังอยู่ในโครงสร้างอำนาจอย่างเป็นระบบ ต่างก็ถูกกระทำและดำเนินไปโดยมนุษย์ปุถุชนธรรมดาทั้งสิ้น

แม้ว่า Oppenheimer จะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า การทำให้ตอนท้ายของภาพยนตร์จบลงอย่างมีความหวังนั้น เป็นการลดทอนประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของอินโดนีเซียลงเพื่อปลอบประโลมผู้ชมหนังฮอลลีวูด ท่ามกลางความ noir ของหนังที่ดำเนินมาตลอดทั้งเรื่อง Oppenheimer ได้ยืนยันว่า สิ่งที่เขาพยายามทำกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม สิ่งที่เขาพยายามบอกกับผู้ชมคือ การที่การฆ่าดำเนินไปโดยปุถุชนธรรมดา ไม่ใช่โดยใครที่ชั่วหรือเลวโดยกำเนิดหรือโดยกมลสันดานดังที่มักเชื่อกันต่างหากที่เป็นเรื่องควรตระหนักและเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะผู้คนเหล่านั้น ย่อมอาจเป็นใครก็ได้ และทั้งอาจใกล้กับตัวเราเกินกว่าจะคาดคิด

แน่นอนที่ว่า ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ ได้รับการวิพากษ์อย่างหนักหน่วงจากนักวิชาการด้านอินโดนีเซียศึกษา จากหลากหลายแง่มุมด้วยกัน ทั้งนี้ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวการเข่นฆ่าคอมมิวนิสต์จากมุมมองของผู้ฆ่า โดยที่ผู้ฆ่าเป็นตัวเอกของเรื่อง ย่อมล่อแหลมต่อการตอกย้ำประวัติศาสตร์วีรบุรุษในฐานะผู้ฆ่าเพื่อชาติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ต้นฉบับที่ยืนพื้นของประเทศอยู่แล้ว คำถามสำคัญจึงได้แก่ ใครกันคือ “ผู้ชม” ที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อความถึง สำหรับโลกตะวันตกแล้ว มุมมองของการฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ถูกประทับตราว่าชอบธรรม ซ้ำยังได้รับการยกย่องจากรัฐและสาธารณะชน ย่อมสร้างความตื่นตระหนกสุดขีดต่อผู้ชม ชวนให้ตั้งคำถามว่าสังคมประเภทไหนกันที่สามารถเฉลิมฉลองอาชญากรรมสังหารมนุษย์เช่นนี้ได้อย่างหน้าชื่นตาบาน แต่ปฏิกิริยาเหล่านั้นจะมีผลอะไรสักกี่มากน้อยต่อการเขียนหรือบอกเล่าประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย?

สำหรับชาวอินโดนีเซีย ผู้ที่ดูเหมือนจะเดือดร้อนจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวมากที่สุดน่าจะได้แก่รัฐบาลอินโดนีเซีย ที่ภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกต้องเสียหายเพียงเพราะพวกลูกน้องปากสว่างไม่กี่คน นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนหนึ่งแม้จะเห็นว่าภาพยนตร์นั้นสร้างจาก “ความจริง” ของผู้ก่ออาชญากรรม แต่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้มีการพูดถึงบาดแผลของสังคมที่ถูกกดโดยรัฐและสื่อของรัฐมาตลอดสามทศวรรษ แม้จะไม่ใช่จากปากคำของเหยื่อของผู้ถูกสังหารก็ตามที ภาพยนตร์ได้ช่วยเปิดให้เห็นมิติภายในของพวกอาชญากรของรัฐอัน absurd, insane และโหดเหี้ยม และแขนขาของรัฐบาลทหารเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยก็ยังคงครองอำนาจอยู่ในประเทศขณะนี้ นักกิจกรรมบางท่านเห็นว่าภาพยนตร์น่าจะมีประโยชน์ต่อการนำเรื่องกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและแสวงหาความเป็นธรรมให้กับผู้ที่สูญเสียกลับมาสู่การพูดคุยในสังคมอินโดนีเซียอีกครั้ง

ภาพยนตร์เรื่องนี้ นับว่าเหมาะสำหรับเดือนตุลาและการรำลึกถึงความเงียบและการสูญเสียของบ้านเราเป็นอย่างยิ่ง เพราะเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย อาชญากรรมโดยรัฐและแขนขาของรัฐที่กระทำภายใต้สโลแกนเดียวกันของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ดำเนินมาเป็นเวลาไม่ได้น้อยไปกว่าอินโดนีเซียเลย และเช่นเดียวกันกับอินโดนีเซีย ประวัติศาสตร์ของการเข่นฆ่า สูญเสียของสามัญชนในหลายทศวรรษที่ผ่านมาของไทย ไม่เคยที่จะสามารถถูกจดจำในพื้นที่สาธารณะ ในสื่อ ในแบบเรียน หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ ในขณะที่อาชญากรของประเทศนั่งเป็นวีรบุรุษผู้เสียสละและได้รับการยกย่องเชิดชูจากประเทศชาติ ความสำคัญของภาพยนตร์ประเภทนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่ความถูกผิดครบถ้วนของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่น่าจะอยู่ที่การได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับประวัติศาสตร์ที่ถูกกดทับ ได้กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองออกมาต่อสาธารณะอย่างไม่เกรงกลัวอะไรต่างหาก

 


หมายเหตุ: สารคดีภาคต่อเรื่องนี้โดยผู้กำกับคนเดียวกัน น่าจะมีกำหนดการออกฉายในปีหน้า มีชื่อว่า The Look of Silence ซึ่งนัยว่าคราวนี้ จะเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ระหว่าง 1965-1966

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net