Skip to main content
sharethis

บทสัมภาษณ์ ‘ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร’ ชีวิต-ตัวตน และประเด็นประวัติศาสตร์ชุมชนสันทรายบ้านเกิดของเขา ในยุคที่หลายคนเรียกกันว่า “กบฏผญาผาบ” ซึ่งถือว่า เขาเป็นลูกหลานและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีชีวิต

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร

'ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร’ หรือนามจริง ‘ไพฑูรย์ ดอกบัวแก้ว’ เขาคือกวี นักเขียนล้านนาที่หลายคนรู้จัก และเคยเป็นนักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มายาวนาน จนมีผลงานหนังสือที่โดดเด่นหลายด้าน ทั้งประวัติศาสตร์ล้านนา,ตั๋วหนังสือเมือง, งานศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ เขามีหนังสือกวีนิพนธ์ออกมาอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง ทั้งไร้ฉันทลักษณ์ และฉันทลักษณ์ กาพย์ กลอน โคลงล้านนา เป็นต้น และงานกวีนิพนธ์ชุด “ริมฝั่งแม่น้ำยม” ของเขาได้รับรางวัลดีเด่น ลูกโลกสีเขียว ปี 2555

แน่นอนว่า ชีวิต ตัวตนของเขา มีหลายอย่างที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์ชุมชนสันทรายบ้านเกิดของเขา ในยุคที่หลายคนเรียกกันว่า “กบฏผญาผาบ” ซึ่งถือว่า เขาเป็นลูกหลานและเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีชีวิต

อยากทราบชีวิตในวัยเด็กของของคุณและอยากเห็นภาพของบ้านเกิด สันทรายในอดีตนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมเรียนจบ ป.4 ที่หมู่บ้านแล้วก็บวชเณร ไปเรียนที่ลำพูน จากนั้นได้กลับมาเรียนต่อมัธยมปลายที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย และมาต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพูดถึงอำเภอสันทรายในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เป็นชุมชนกษตรกรรมโดยแท้ หมากพลู มะพร้าว ผลไม้เยอะมาก แต่เพราะพื้นที่ติดกับอำเภอเมือง ทำให้เชียงใหม่ขยายความเจริญมาทางชานเมือง เมื่อแม่โจ้กลายเป็นมหาวิทยาลัย หมู่บ้านจัดสรรก็ตามมา ตอนนี้เราจะเห็นว่า ท้องทุ่งไม่มีอีกแล้ว วัวควายสูญหายไปหมด

ในฐานะที่เป็นนักวิชาการ เป็นนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ล้านนามานาน อยากให้ช่วยเล่าความสัมพันธ์ระหว่างล้านนากับรัฐส่วนกลางในอดีตในยุคนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมอยากจะเน้นตรงสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งฝรั่งล่าอาณานิคม อังกฤษยึดครองพม่าและเมืองเชียงตุงที่เคยเป็นของไทย แต่ต้องตกอยู่ในอำนาจฝรั่ง รัฐบาลที่กรุงเทพฯ กลัวว่าเชียงใหม่จะหลุดมือไปด้วย จึงพยายามรักษาไว้อย่างเต็มที่ เพราะอังกฤษจ้องตะครุบไว้นานแล้ว สมัยนั้นการแบ่งแยกดินแดนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกรุงเทพฯไม่ต้องการให้ล้านนาแยกเป็นประเทศใหม่ และไม่อยากให้อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ในความเห็นของผมตอนนี้จึงคิดว่า เชียงใหม่อยู่กับกรุงเทพฯนั้นดีแล้ว ถ้าอยู่กับพม่าก็คงเหมือนเชียงตุงในเวลานี้

ทราบมาว่าคุณนั้นก็ถือเป็นลูกหลานพญาผาบคนหนึ่งเหมือนกัน อยากให้ช่วยเล่าความเป็นมาของพญาผาบ ว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร สาเหตุมาจากปัญหาอะไร แล้วปัญหาความขัดแย้ง นำไปสู่อะไรบ้าง?

พญาผาบ เดิมชื่อ ‘เตชะ’บวชแล้วสึกออกมาเป็น หนานเตชะ มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 มียศทางราชการว่า ง ‘ท้าวเตชะ’ เป็นผู้อาสาเจ้าหลวงอินทวิชยนนท์นำทัพไปตีหัวเมืองชายแดน จนได้เลื่อนยศเป็น ‘พญาปราบสงคราม’ แม่ทัพของเชียงใหม่

พญาผาบ  ถือว่าเป็นผู้มีความเก่งกล้าทางด้านการรบและอยู่ยงคงกระพัน  จึงมีผู้นับถือมากมาย นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ปกครองระดับท้องถิ่นในระดับ นายแคว่น หรือกำนัน ทำหน้าที่ปกครองและเก็บภาษีในแขวงจ๊อม ( ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ) และแขวงกอก แขวงคือ ( แม่คือ ) ในเขตอำเภอดอยสะเก็ด  ในขณะนั้นราษฎรถูกขูดรีดภาษีจากส่วนกลาง จึงไปร้องเรียนต่อพญาผาบ และต่อต้านข้าราชการที่ไม่ยุติธรรม จนนำไปสู่ข้อหาว่าก่อการกบฏ เมื่อปี พ.ศ.2432 ที่ ต.หนองจ๊อม    

มูลเหตุของการกบฏมีอยู่ว่า น้อยวงษ์เป็นเจ้าภาษีนายอากร ผูกขาดภาษีหมาก พลู มะพร้าวในเชียงใหม่ อัตราปีละ 41,000 รูปี ( 1 รูปี = 80 สตางค์ ) โดยเป็นอัตราการประมูลที่สูงกว่าเก่าถึง 16,000 รูปี ทำให้น้อยวงษ์ต้องเก็บภาษีอย่างเข้มงวด ในวันที่ 3 กันยายน 2432 ชาวบ้านในตำบลหนองจ๊อม 4 คนไม่มีเงินเสียภาษี จึงขอให้เก็บเป็นหมากแทน แต่น้อยวงษ์ไม่ยอมและจับกุมราษฎรทั้ง 4 คนไปประจานที่บ้านกำนัน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนและพญาผาบไม่พอใจ จึงพากันปล่อยตัวและขับไล่พวกเจ้าภาษีออกจากหมู่บ้าน พร้อมทั้งประกาศห้ามไม่ให้เข้ามาเก็บภาษีอีก

ฝ่ายน้อยวงษ์ขู่ว่าจะขอกำลังทหารไปปราบ ชาวบ้านจึงรวมพลได้ประมาณ 2 พันคน แล้วนิมนต์พระมาทำพิธีทางไสยสาสตร์ดื่มน้ำสาบานที่วัดฟ้ามุ่ย จากนั้นพญาผาบได้ประกาศตนเป็นเจ้า มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและข้าราชการท้องถิ่นมาเป็นพวกหลายคน ทำให้มีกองกำลังมากขึ้น จนกลายเป็นการต่อต้านข้าราชการไทยและรัฐบาล                                                                

ต่อมา พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต ซึ่งเป็นข้าหลวงพิเศษมีคำสั่งลงวันที่ 15 กันยายน ให้พญาผาบมอบตัวภายใน 5 วัน แต่พวกของพญาผาบไม่ยินยอม และวางแผนจะเข้าตีเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 20 กันยายน เพื่อฆ่าราชการไทยและพ่อค้าจีน แต่แผนการล้มเหลวเพราะตอนกลางคืนฝนตกหนัก น้ำปิงท่วม

21 กันยายน  เจ้าอุปราชเจ้าบุรีรัตน์ นำทัพออกมาปราบตามคำสั่งของข้าหลวงพิเศษ จับกุมชาวบ้านได้ส่วนหนึ่ง แต่พญาผาบพาครอบครัวหนีไปอยู่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน  ส่วนหัวหน้าสำคัญ 12 คนถูกประหาร ระดับรอง 15 คนถูกเฆี่ยน คนละ 90 ที ถูกริบทรัพย์สินและจำคุกตลอดชีวิต นอกนั้นให้เฆี่ยนคนละ 30 ที บางส่วนถูกทำทัณฑ์บน

จะเห็นว่าในยุคนั้น นอกจากปัญหาระหว่างคนล้านนากับรัฐกลางแล้ว ยังมีทั้งกลุ่มพ่อค้าจีน นักธุรกิจเข้ามากอบโกยด้วยทำให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง?

ปัญหาใหญ่จริง ๆ ก็คือชาวบ้านถูกขูดรีดภาษี จนทำให้เกิดความไม่พอใจ และลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นกบฏ ส่วนพ่อค้าชาวจีนคงจะแอบร่วมมืออย่างลับๆ ด้วย ชาวบ้านจึงเกิดความแค้น ผมคิดว่าถ้าข้าราชการไม่ชั่วร้ายจริง ๆ ชาวบ้านคงไม่ลุกขึ้นมาก่อการกบฏ เพราะเรื่องทำนองนี้เคยเกิดมาแล้วในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เมื่อพระยากาวิละฆ่าทหารไทย ด้วยสาเหตุที่ว่าชาวบ้านถูกข่มขืน จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต ผมคิดว่าถ้าคนของรัฐไม่เลวจนเกินไป ไม่มีใครอยากหาเรื่องใส่ตัวหรอกครับ เรื่องนี้มันเฉพาะกรณี ซึ่งข้าราชการดี ๆ ก็มีเยอะไป

อยากให้ช่วยเล่าเส้นทางพญาผาบ ในช่วงหนีไปเชียงตุง ว่ากันว่า พญาผาบยังมีความพยายามไปช่วยเหลือชาวบ้านเมืองฝางที่ถูกกดขี่ด้วย?

พญาผาบหนีไปเชียงตุง ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2433 เมื่อได้รับการสนับสนุนจากเจ้าเมืองเชียงตุง จึงยกกองกำลังมายึดเมืองฝาง ซึ่งในขณะนั้นมีหนานอินตะข้อเป็นผู้รักษาการ โดยได้นำชาวบ้านออกไปเชิญพญาผาบเข้ามาในเมือง เพราะราษฎรชาวเมืองฝางก็ได้รับความเดือดร้อนเรื่องภาษีเช่นเดียวกัน หลังจากนั้น พญาผาบปล่อยข่าวลือว่ามีกองกำลังจากหัวเมืองในรัฐฉาน ให้ความร่วมมือเป็นจำนวนมาก ขอให้มิตรสหายเข้ามาร่วมรบด้วย

16 มีนาคม 2433 กองกำลังของพญาผาบ 300 คน ปะทะกองทัพจากเมืองลำปางที่ผานกกิ่ว ในเขตเมืองพร้าว ฝ่ายของพญาผาบแตกพ่าย บุตร 2 คนตายในที่รบ พญาผาบจึงหนีกลับไปเชียงตุง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองโก สันนิษฐานว่าเสียชีวิตในรัฐฉาน

ปัจจุบัน ลูกหลานของพญาผาบในเมืองไทยคนดังๆ เป็นจิตรกรอยู่ที่เมืองน่าน ผมขออนุญาตไม่เปิดเผย กลัวละเมิดสิทธิ์ครับ ส่วนศาลเจ้าของพญาผาบตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสันป่าสักหลวง อ.สันทราย มีประเพณีไหว้สาทุกปีในช่วงวันสงกรานต์

ในความรู้สึกของคุณถือว่า พญาผาบเป็นกบฏไหม ทำไมเขาต้องเป็นกบฎ?

ผมคิดว่า พญาผาบเป็นกบฏ ก็ตรงที่ตั้งตัวเป็นเจ้านี่แหละ ถ้าไม่ยกตัวเองมากจนเกินไปคงไม่เดือดร้อนมากนัก ส่วนเรื่องก่อการกบฏก็มีเหตุผลสมควรอยู่ เพราะใชาวบ้านถูกขูดรีดภาษามากเกินไปนั่นเอง   

แล้วมีบางคนมองว่า การเชิดชูพญาผาบ นั้นเป็นการส่งเสริมในทางที่ผิดๆ ก็แค่คนที่ลุกมาต่อต้านรัฐคนหนึ่งเท่านั้นเอง คุณมองประเด็นนี้อย่างไร?

ก็เป็นสิทธิ์ที่บางคนอาจจะมองต่างมุมได้ แต่ผมคิดว่าถ้าคนของรัฐไม่ดี ไม่มีความยุติธรรม เรามีสิทธิ์จะต่อต้านได้ ต้องแยกประเด็นให้ชัด ถ้าจะล้มล้างการปกครองก็ต้องคุยกันยาวหน่อย คนที่ไม่เห็นด้วยคงไม่เข้าใจประวัติของการกบฏอย่างถ่องแท้ จึงเห็นต่าง การเชิดชูพญาผาบต้องชี้ให้เห็นภาพว่าเป็นการต่อต้านคนเลวบางพวกเท่านั้น มิใช่ต่อต้านรัฐบาลกลาง เรื่องนี้มันหมิ่นเหม่ ง่ายต่อการเบี่ยงเบนประเด็นและใส่ร้ายป้ายสี

คุณมองสังคมบ้านเมืองเราตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง แตกต่างกับประวัติศาสตร์ในอดีตมากน้อยเพียงใด?

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์มันซ้ำรอยนะ แต่จะเป็นรอยร้ายหรือรอยดีนั้นยังไม่ทราบ ต้องรอเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ผมมีเพื่อนทั้งเสื้อเหลือง – เสื้อแดง เจ็บปวดทุกครั้งที่พูดถึงประเด็นการเมือง จนปาร์ตี้บางงาน กินดื่มเพื่อความรื่นรมย์ได้ แต่ห้ามพูดเรื่องนกหวีด บางคนคาดคั้นว่าผมอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ เพราะไม่ใช่นักข่าว จะอยู่ตรงกลางไม่ได้ เป็นคำถามที่ตอบยากมาก และลำบากใจที่จะตอบ เพราะต้องเสียเพื่อนไปอีก1 คนแน่ ๆ เลยตอบเป็นกลางๆ ว่าขอเป็นสีส้มดีกว่า (หัวเราะ)                                    

อันที่จริง ในสมัยโบราณกองทัพของอินเดียมีตำแหน่งพิเศษในการรบ 1 นาย ตำราพิชัยสงครามแปลศัพท์คำนี้ว่า  ‘กวี’  ผมคิดว่าคำนี้น่าจะหมายถึง ‘นักเขียน’ ได้ด้วย เพราะไม่ต้องถือดาบเข่นฆ่าศัตรู แต่มีปากกาไว้บันทึกเหตุการณ์สู้รบ  สำหรับสงครามกลางเมืองที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 ที่ผ่านมา ผมอยากทำหน้าที่ของกวี เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์หน้านี้ไว้ ผมจึงไม่อยากสังกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเต็มตัว เพราะมันทำให้จิตใจบ้าคลั่งได้ง่าย ผมจึงเฝ้ามองอย่างเงียบ ๆ คิดเสียว่ามันเป็นละครบทหนึ่ง ที่จะต้องดำเนินต่อไป ผมมีหน้าที่บันทึก ต้องไม่หวั่นไหว แม้อยากจะหลั่งน้ำตาก็ตาม

ทุกวันนี้ หลังจากลาออกจากนักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มช.แล้ว วันๆ หนึ่ง คุณทำงานอะไรบ้าง?

ทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อยๆ ที่สันทราย ตื่นประมาณตี 5 วันไหนเขียนบทกวียาวก็ตื่นตี 3 – ตี 4 จิบกาแฟ แล้วเขียนต้นฉบับลายมือลงในสมุด เช้าๆ ฟังข่าววิทยุแห่งประเทศไทย อ่านมติชนรายวัน ก่อนเตรียมกับข้าวให้ภรรยา – ลูก จากนั้นจึงพิมพ์บทกวีไว้ในเครื่องคอม ฯ พริ้นท์แต่ละบทเก็บสะสมไว้ในแฟ้มงาน สลับกับนำเสื้อกางเกงเข้าเครื่องซักผ้า พักเที่ยงแล้วทบทวนจินตนาการ เขียนบทกวีต่ออีก 1 ชิ้น พอบ่าย 5 โมงเย็น ก็เดินไปที่ร้านเหล้าตองชื่อ ลุงปันหนังควายจี่ เสวนากับชมรมเมรัยรมณีย์ จนหนึ่งทุ่ม ก็เดินกลับมาพิมพ์บทกวีที่เขียนเมื่อตอนบ่าย  จิบยาดอง กินข้าว แล้วเข้านอนประมาณ 5 ทุ่ม แบบนี้ทุกวัน

แล้วไม่ออกเดินทางไปข้างนอกบ้างเลยหรือ?                                                                             

ก็ออกไปบ้าง วันไหนมีนัดพิเศษ ขับรถเข้าเมืองไปฟังเพลงที่ร้านสุดสะแนน คุยเรื่องเบา ๆ กับอ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น จนร้านปิด ล้มตัวลงนอนในห้องโถงชั้นล่างของบ้านอรุณรุ่ง สัตย์สวี  ถ้าขับรถกลับตอนดึกโดนจับแน่  9 โมงเช้าถอนสมอ 1 เป๊ก  ประมาณ 10 โมง ก็ขับรถกลับบ้าน พักผ่อนแล้วเขียนกวีต่อ
 

ในฐานะกวี ตอนนี้คุณเขียนบทกวีเกี่ยวกับอะไรบ้าง?                                                                 

ผมกำลังเขียนกวีนิพนธ์ 3 เล่ม เรื่องแรก ‘รักที่ริมฝั่งฟ้าสาละวิน’  เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชนเผ่ากะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ ทำให้ต้องเดินทางไปแม่สะเรียง - วัดจันทร์  เพื่อค้นคว้าข้อมูล ไปลงพื้นที่ป่าสนไปพบนักเขียน ปกาเกอะญอ นามว่า ‘โถ่เรบอ’ เจ้าของเรื่องสั้น ‘เชวาตัวสุดท้าย’  เรื่องที่สอง ‘แม่น้ำโขง ณ เชียงของ’ ว่าด้วยความเป็นไปของสายน้ำและผู้คน จึงต้องเดินทางไปแสวงหาฟองเบียร์ในแขวงบ่อแก้ว สปป. ลาว โดยมีครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เป็นที่ปรึกษา ส่วนเรื่องที่สามผมตั้งชื่อว่า ‘ไทยฆ่าสยาม’ เป็นโศกนาฏกรรมของกบฏนกหวีดและคนเสื้อแดง ซึ่งยังไม่รู้ว่าเรื่องไหนจะเสร็จก่อน

ทุกวันนี้คุณมีแนวทางในการดำเนินชีวิตในบั้นปลายนี้อย่างไรบ้าง ทราบมาว่า อยากออกเดินทางไปนั่งเขียนหนังสือสงบๆ อยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่ง?

ใช่ครับ แนวทางในการใช้ชีวิตก็คือ กินง่าย อยู่ง่าย ถ้าไม่นั่งเขียนบทกวีที่บ้านก็ออกเดินทาง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล หาประสบการณ์ใหม่ ๆ ทุกวันนี้ผมจะลงพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำคือ แม่โขงกับสาละวิน ไปดูวิถีชีวิตชาวบ้าน ช่วยเพื่อนๆ กลุ่ม NGOs ทำกิจกรรม ก็อยากเขียนหนังสือให้ได้ปีละ 1 เล่ม ชีวิตบั้นปลายต้องการปลีกวิเวกไปเป็นนักพรต ปลูกกระท่อมเล็กๆ อยู่ริมฝั่งน้ำ ช่วยงานกลุ่มนักอนุรักษ์เท่าที่จะทำได้ เป็นช่วงคืนกำไรให้ชาวบ้าน อยู่เฉย ๆ อกแตกตายแน่ๆ ครับ (หัวเราะ)                                    

ส่วนสถานที่ปลูกกระท่อมไม้ไผ่ริมฝั่งน้ำ ครูศักดิ์จะสร้างให้ที่เชียงของ เมืองเชียงราย อาจจะได้มาเป็นภารโรงปัดกวาดสถานที่ในโฮงเฮียนแม่น้ำของ นั่งดูสายนทีแล้วจินตนาการมันบรรเจิดเพริดพรายจริงๆ ตอนนี้ผมเขียนหนังสือกึ่งวิชาการอีกเรื่องคือ ‘นิราศดอยเกิ้ง’ แปลจากเอกสารโบราณ กวีล้านนาเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อ 306 ปีที่แล้ว  ก็ตั้งใจว่าถ้าหนังสือเป็นเล่มเมื่อไหร่ จะเปิดตัวที่ริมฝั่งโขงเมืองเชียงของ ในคืนพระจันทร์แจ่มฟ้า.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net