Skip to main content
sharethis

แฮ็กเกอร์กลุ่ม "BHG" ลงมือแฮ็กเว็บหนังสือพิมพ์พม่า "อิระวดี" และเรียกร้องให้ขอโทษ หลังลงข่าว "พระวีระตู" ผู้นำกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงในพม่า "969" เยือนศรีลังกาและทำข้อตกลงกับกลุ่ม "พุทธิพละเสนา" โดยพระวีระตูอ้างว่าเพื่อปกป้องภัยจากกลุ่ม "ญิฮาด" - ทั้งนี้การแฮ็กเกิดขึ้นหลังจาก บก.อิระวดี ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ

หน้าแรกของเว็บไซต์อิระวดีภาคภาษาพม่า ทั้งนี้เว็บดังกล่าวถูกแฮ็กในช่วงเช้าวันนี้ (2 ต.ค.) โดยแฮ็กเกอร์กลุ่ม "BHG" ที่ไม่พอใจการนำเสนอข่าว "พระวีระตู" ผู้นำกลุ่ม "969" เยือนศรีลังกา

 

เว็บไซต์ของนิตยสารอิระวดี ถูกบล็อกในช่วงเช้าของวันที่ 2 ต.ค. โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "Blink Hacker Group" หรือ "BHG" โดยอ้างว่านิตยสารอิระวดีต้องขอโทษ ที่ลงบทความเกี่ยวกับการเยือนศรีลังกาของ "พระวีระตู" ทั้งนี้ตามรายงานของเว็บไซต์มิซซิมา

ทั้งนี้เว็บไซต์อิระวดีถูกเปลี่ยนแบนเนอร์เป็นคำว่า "รายงานข่าวมุสลิมและมุสลิมสุดโต่ง" แทนข้อความเดิมคือ "รายงานข่าวในเบอร์ม่าและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

นอกจากนี้ยังเขียนว่า "อิระวดีสนับสนุนพวกญิฮาดและมุสลิมหัวรุนแรง เพื่อปกป้องมุสลิมและอัลเลาะห์ อิรวะดียังใช้สื่อในการโจมตีชาวพุทธและผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม"

ทั้งนี้ข้อความที่มีการแฮ็กดังกล่าวยังเป็นไปเพื่อปกป้องกลุ่ม "พุทธิพละเสนา" ของศรีลังกา ซึ่งมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้ทำข้อตกลงกับกลุ่ม "969" ของพระวีระตู ซึ่งย่อมาจาก "พุทธคุณ 9 ธรรมคุณ 6 สังฆคุณ 9"

โดยวีระตูระบุในข่าวว่าการทำข้อตกลงดังกล่าว "เพื่อปกป้องและป้องกันชาวพุทธโลก ซึ่งถูกคุกคามจากกลุ่มญิฮาด"

แฮกเกอร์กลุ่ม "BHG" ยังวิจารณ์อิระวดี และอ้างว่าการแฮ็กนี้เป็นการใช้ "เสรีภาพในการพูด"  และ "เสรีภาพของการแฮ็ก"

ออง ซอ บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้ง "อิระวดี" ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ ประจำปี 2014 จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนระหว่างประเทศ (ที่มา: Irrawaddy)

อนึ่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ก่อนหน้าที่เว็บไซต์อิระวดี จะถูกแฮ็ก มีรายงานข่าว "ออง ซอ" นักข่าวชาวพม่าผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของนิตยสารอิระวดี เป็นหนึ่งในสี่นักข่าวต่างประเทศ ที่ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติ (International Press Freedom Awards) จากคณะกรรมการปกป้องสื่อมวลชนระหว่างประเทศ (CPJ)

สำหรับรางวัลซึ่งมอบเป็นประจำทุกปีดังกล่าว เป็นรางวัลสำหรับการรายงานข่าวที่กล้าหาญ และส่งเสริมงานของนักข่าวซึ่งเผชิญกับการจองจำ ความรุนแรง และการถูกเซ็นเซอร์ โดยในปีนี้นอกจากบรรณาธิการจากอิระวดีแล้วมีนักข่าวที่ได้รับรางวัลจากอิหร่าน รัสเซีย และแอฟริกาใต้

CPJ ระบุด้วยว่า อิระวดี เหมือนกับสื่อพม่าอื่นๆ "ที่ยังคงถูกกดดันภายใต้รัฐบาลพม่าปัจจุบันนี้"

ผู้อำนวยการ CPJ โจเอล ไซมอน กล่าวว่า ผู้สื่อข่าวทั่วโลกเผชิญหน้ากับความรุนแรงและการกดดันต่อสื่อมวลชน และมีการสังหารอย่างทารุณต่อผู้สื่อข่าวระหว่างวิกฤตซีเรีย "ผู้สื่อข่าวที่ CPJ มอบรางวัลเสรีภาพสื่อมวลชนนานาชาติคือผู้ที่ไม่ย่อท้อและไม่ยอมแพ้ พวกเขาเสี่ยงทุกวิถีทางเพื่อนำข่าวมาให้เรา"

ก่อนหน้านี้ออง ซอ อดีตนักศึกษารุ่น 88 ซึ่งผันตัวมาเป็นผู้ก่อตั้งนิตยสารข่าวพลัดถิ่น "อิระวดี" ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2536 เมื่อปีที่แล้ว เขายังได้รับรางวัล Shorenstein Journalism Award จากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด เมื่อปีก่อนด้วย "สำหรับการที่เขาอุทิศตัวเพื่อสร้างรัฐบาลประชาธิปไตยในพม่า"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net