Skip to main content
sharethis

แคมเปญส่ง จ.ม.ถึงแม่และคนสำคัญ สร้างความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศ เตรียมผลิตเป็นหนังสือเล่มประวัติศาสตร์หญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอมดี้ ทรานส์แมน

30 ก.ย.2557 โครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี ร่วมกับมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง แถลงข่าวเปิดตัวโครง “จดหมายถึงแม่และคนสำคัญ” ชวนหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอมดี้ ทรานส์แมน เขียนจดหมายถึงแม่และคนสำคัญ เสริมสร้างความเข้าใจและการยอมรับของพ่อแม่และครอบครัว เตรียมรวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ หวังให้เป็นหนังสือรวมเล่มเรื่องราวหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอมดี้ ทรานส์แมนเล่มประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี กล่าวว่าการจัดทำโครงการหนังสือ “จดหมายถึงแม่และคนสำคัญ” เพื่อเปิดให้หญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอมดี้ ทรานส์แมนได้บอกเล่าถึงชีวิต ประสบการณ์ ความคิด ความรู้สึก การดิ้นรนและการต่อสู้ที่จะเลือกเป็นตนเอง ซึ่งการเขียนจดหมายจะช่วยให้แต่ละคนได้กลับไปทบทวนและใคร่ครวญถึงสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ปกปิดไว้ที่ทำให้ต้องทุกข์ใจ ความคิดและความรู้สึกของคนรอบข้างที่ส่งผลสะเทือนในหลากหลายอารมณ์ แล้วถ่ายทอดสื่อสารออกมาแบ่งปันกันเพื่อปลดปล่อยตนเอง สร้างความเข้าใจใหม่ๆ ให้แก่ครอบครัวที่จะนำไปสู่การยอมรับ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตหญิงรักหญิง ชายรักชาย กะเทย ทอมดี้ ทรานส์แมน

“จากการดำเนินงานมาระยะหนึ่งของโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี ได้รับข้อความทางอีเมลและทางสื่อสังคมออนไลน์มากมายที่ส่งข้อความเข้ามาปรึกษาปัญหาที่พ่อแม่ไม่เข้าใจตัวตนและวิถีทางเพศของลูก บางรายประกาศตัดความเป็นพ่อแม่ลูกกัน และสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะความเชื่อที่ฝังหัวว่ามนุษย์เกิดมามีเพียงสองเพศ และความรักระหว่างหญิงกับชายเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกต้องเท่านั้น สิ่งที่ไม่เป็นไปตามกรอบทางเพศนี้เป็นสิ่งผิดปกติ ซึ่งสร้างความทุกข์ให้แก่คนที่มีวิถีเพศและตัวตนที่ต่างไปจากกรอบแคบๆ ที่สังคมกำหนด” ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารีกล่าว

พริษฐ์ ชมชื่น แกนนำโครงการจัดตั้งมูลนิธิอัญจารี ถ่ายทอดประสบการณ์ว่าไม่อยากเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่เด็กแล้ว และคิดว่าตัวเองเป็นเด็กผู้ชายมาโดยตลอด จนถูกทักว่าเป็นทอม จึงรู้ว่าถูกมองอย่างไร

“สิ่งที่ทำร้ายเรามาก คือ ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราเป็นคืออะไร สิ่งที่เรารู้จากการบอกเล่าของสังคม มีแต่บอกว่าสิ่งที่เราเป็น เป็นเรื่องไม่ดี ไม่สมควร น่ารังเกียจ ซึ่งมันขัดกับความต้องการของเรา ทำให้เรารู้สึกแย่ จนถึงขั้นกลายเป็นเด็กเงียบขรึม ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร โตขึ้นก็เริ่ม เงียบเหงา ซึมเศร้า พอแอบชอบเพื่อนผู้หญิงก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่กล้าบอกเพื่อน กลัวเพื่อนจะไม่ยอมรับ คิดว่าคงไม่มีใครยอมรับความสัมพันธ์เบบนี้  ได้แต่อิจฉาเพื่อนผู้ชายคนอื่นที่มาจีบ ทำไมเขาถึงแสดงออกได้ แต่เราทำไม่ได้ เพื่อนบางคนก็บอกว่าเธออย่าเป็นทอมนะไม่ดี ทำให้เราไม่กล้าแสดงออกมากขึ้นไปอีก” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์เล่าต่อว่า จุดหักเหที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตและเริ่มยอมรับตัวเองคือตอนที่ทำงานแล้ว สามารถพึ่งพาตนเองได้ ช่วงเดียวกับที่ได้รู้จักกับกลุ่มอัญจารี เจอเพื่อนที่มีอัตลักษณ์และตัวตนทางเพศที่มีความหลากหลาย ทำให้ได้เรียนรู้ สังเกตและค้นหาตัวเอง จนเรียกตัวเองว่าทรานส์เมน ซึ่งคือผู้หญิงข้ามไปเป็นผู้ชาย ที่สำคัญคือผู้หญิงที่คบเป็นแฟนยอมรับในตัวตน แม่เข้าใจและเปิดใจยอมรับตัวตนได้มากขึ้น ทำให้รู้สึกมั่นใจที่จะแสดงออกและไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง

สำหรับช่องทางในการส่งจดหมายเข้าร่วมในโครงการที่ ตู้ปณ.11 ปณศ. สามเสนใน กรุงเทพฯ 10400 หรือทางอีเมล lettertomom2014@gmail.com และทางเฟซบุ๊ก facebook.com/lettertomother จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net