Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปัญหาเกิดจากการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดงานเสวนา”ห้องเรียนประชาธิปไตย” ซึ่งบทที่หนึ่งจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2557” โดยมีวิทยากร คือ ปิยบุตร แสงกนกคุณ และ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ แต่เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา นักศึกษากลุ่มเดิมก็ได้จัดห้องเรียนประชาธิปไตยบทที่ 2 เรื่อง “การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ" ที่ ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก็ได้กลายเป็นเรื่องขัดแย้งกับคณะทหารที่ปกครองบ้านเมือง และนำมาสู่การสร้างจารีตเผด็จการแบบใหม่ในทางการเมืองไทย

ตามกำหนดการเสวนา วิทยากรที่ได้รับเชิญมาเสวนาได้แก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ จันจิรา สมบัติพูนศิริ  ภาณุ ตรัยเวช และ ประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นผู้ดำเนินรายการ แต่ก่อนการเสวนา ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 กันยายน จาก พ.อ.พัลลภ เฟื่องฟู ผู้บังคับการกองบังคับการควบคุม กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 ถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อขอความร่วมมือในการงดจัดเสวนา โดย พ.อ.พัลลภอธิบายว่า กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 2 เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบความสงบเรียบร้อยในจังหวัดปทุนธานี ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เห็นว่า การจัดงานนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาของชาติ อีกทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความแตกแยกและความเห็นต่างทางทัศนคติทางการเมืองเกิดขึ้นมาอีก จึงขอให้ทางมหาวิทยาลัยประสานกับผู้จัด งดการจัดงานเสวนานี้

อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้จัดงานยืนยันว่าจะจัดกิจกรรมดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ความรู้ประชาชนและนักศึกษาทั่วไป ดังนั้น ในเวลาบ่ายของวันที่ 18 กันยายน มหาวิทยาลัยจึงได้ทำการปิดห้อง 206 อาคารบรรยายรวม เพื่อไม่ให้นักศึกษาใช้เด็ดขาด นักศึกษาที่จัดกิจกรรม จึงย้ายสถานที่มาจัดกันงานเสวนาที่บริเวณโถง บร.1 ด้านล่างอาคารของห้องเรียนดังกล่าว ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งนักศึกษาอย่างมาก

ขณะที่การเสวนาดำเนินไปได้ 40 นาที เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจจากสถานีตำรวจคลองหลวง ได้เข้ามาระงับการเสวนา และเชิญตัวนักวิชาการ 4 คน คือ ประจักษ์ ก้องกีรติ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เชาวฤทธิ์ เชาวแสงรัตน์ จันจิรา พูนสมบัติสิริ กับนักศึกษาผู้จัดกิจกรรม 3 คน คือ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  วรวุฒิ บุตรมาตร และ รัฐพล ศุภโสพล ไปสอบสวน อาจารย์และนักศึกษาทั้ง 7 คนถูกคุมตัวอยู่จนถึงเวลา 20.00 น. จึงได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

หลังจากนั้น สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมทั้งหลาย นักศึกษาธรรมศาสตร์มีสิทธิและเสรีภาพในการจัด โดยที่ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องถึงอธิการบดี ทำเพียงขออนุญาตใช้สถานที่จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ในขณะนี้ อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเขตมหาวิทาลัยก็ไม่ได้รับการยกเว้น นักศึกษาก็ต้องรู้ตัวว่า จัดเสวนาวิชาการหัวข้อใด จะเจอกับอะไร

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะ คสช. ได้ยืนยันว่า คณะทหารยังไม่ไฟเขียวให้จัดเวทีเสวนาการเมือง เพราะสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง และย้ำว่า "ผมยอมรับว่า ผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นประชาธิปไตย ก็ขอว่าตอนนี้อย่าเพิ่งวิจารณ์การเมือง จัดเวทีพูดอะไรเรื่องการเมือง" ดังนั้น ถ้าหากทำเรื่องขอมาว่า จะพูดเรื่อง การเมือง เลือกตั้ง ประชาธิปไตย หรือ วิจารณ์รัฐบาล ขณะนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะต้องสร้างบรรยากาศไปสู่การลดความขัดแย้ง

ปรากฏว่าในวันที่ 21 กันยายน นักวิชาการ 60 คน จาก 16 มหาวิทยาลัย ได้ออกจดหมายเปิดผนึกประณามกรณีที่ทหารและตำรวจบังคับให้ยุติการเสวนาในมหาวิทยาลัย และควบคุมตัวนักศึกษารวมทั้งวิทยากร ไปที่สถานีตำรวจภูธรว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการคุกคามนักศึกษาและนักวิชาการถึงในพื้นที่มหาวิทยาลัย เป็นการริดรอนเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน จึงเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง และแถลงการณ์ของนักวิชาการ ได้อธิบายว่า ข้ออ้างที่ว่ากฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่นั้น เป็นเพียงการประกาศว่าทหารและตำรวจมีอำนาจจะคุกคามได้ แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้อำนาจคุกคามนั้นชอบธรรม

แถลงการณ์อธิบายว่าที่ว่างานเสวนาวิชาการนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงนั้น ก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น การจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าจะการเมืองในประเทศหรือการเมืองต่างประเทศ เป็นเรื่องปกติอย่างยิ่ง และที่ผ่านมาก็ไม่เคยปรากฏเลยว่างานเสวนาวิชาการลักษณะนี้กระทบต่อความมั่นคง ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ แถลงการณ์จึงเรียกร้องให้ คณะ คสช. หยุดใช้อำนาจคุกคามนักวิชาการและนักศึกษา และหยุดคุกคามเสรีภาพในทางวิชาการ และว่า หากสิทธิพื้นฐานอย่างสิทธิในการแลกเปลี่ยนทางปัญญาในสถานศึกษายังไม่ได้รับการเคารพ ก็ย่อมไม่มีทางหวังได้เลยว่าประเทศไทยภายหลังการปฏิรูปของ คสช. จะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิพื้นฐานของประชาชน

จากนั้น เหตุการณ์ลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาค 3 ได้แถลงว่า ได้ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะมีการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ความสุขและความปรองดองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557” ในวันที่ 25 กันยายน ก็จะขอให้งดเสีย ซึ่งเป็นไปตามกฎอัยการศึกเพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ

คงต้องอธิบายว่า การดำเนินการของคณะเผด็จการทหารที่เข้าไปแทรกแซงการจัดงานวิชาการในมหาวิทยาลัยนี้ ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสมัยเผด็จการในอดีต รัฐบาลทหารและคณะผู้ยึดอำนาจ มักจะไม่เข้าไประงับการเสวนาทางวิชาการในมหาวิทยาลัย และจับกุมวิทยากรไปสถานีตำรวจ เพราะถือเสมอว่า พื้นที่วิชาการในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่เสรีภาพ ที่นักศึกษาจะมีสิทธิแลกเปลี่ยนทางการเมือง แม้ว่าจะเป็นความคิดที่ไม่ตรงกับฝ่ายอำนาจรัฐก็ตาม เช่น หลังสมัยรัฐประหาร 2490 ฝ่ายนักศึกษาจัดการบรรยายเรื่อง”สังคมนิยม”ด้วยซ้ำ รัฐบาลก็ไม่ได้แทรกแซง สมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ที่เป็นเผด็จการ นักศึกษาก็จัดงานเรื่องรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย และจัดการเลือกตั้งในมหาวิทยาลัย การจับกุมนักศึกษาที่จะนำไปสู่กรณี 14 ตุลา ก็เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลเห็นว่า นักศึกษามาเคลื่อนไหวนอกมหาวิทยาลัย ต่อมา แม้กระทั่งสมัยรัฐประหาร พ.ศ.2534 และ รัฐประหาร พ.ศ.2549 การเสวนาทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าในแนวคิดไหน หรือจะต่อต้านรัฐประหารอย่างไร ก็ยังทำได้เสมอ ไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน

จึงต้องขอนำเสนอว่า การคุกคามเสรีภาพทางวิชาการครั้งนี้ เป็นความผิดพลาดของฝ่าย คสช. ทั้งที่การรัฐประหาร ล้มล้างประชาธิปไตย และลิดรอนสิทธิของประชาชน ก็ได้ทำให้ประเทศไทยทั้งหมดกลายเป็น”ห้องเรียนเผด็จการ”สำหรับประชาชนไปแล้ว การบริหารงานใดถ้าจะให้งานก้าวหน้าได้ดี ต้องมีคนวิจารณ์ทักท้วงเพื่อให้เกิดการปรับปรุงได้ ถ้าหากจะควบคุมความคิดกันเช่นนี้ สังคมไทยก็จะก้าวไปสู่สังคมมืดบอดอับปัญญามากขึ้น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีกับฝ่ายใด

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 481 วันที่ 27 กันยายน 2557
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net