Skip to main content
sharethis
 
รศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครงการความรู้ เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน (ปีที่ 3) กล่าวสรุปการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง สยาม-ปาตานี : มิติใหม่ ข้อมูลใหม่ และการจัดระบบความเข้าใจ ภายใต้ชุดโครงการความรู้ดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ที่ห้องแกรนด์ บอลล์รูม บี ชั้น 8 โรงแรมลีการ์เด้นท์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีเนื้อหาน่าสนใจต่อประวัติศาสตร์ “ปาตานี” ดังนี้
 
ประวัติศาสตร์ปาตานี ศูนย์รวมแห่งความทรงจำ
 
“จากการสัมมนาครั้งนี้ ผมได้ข้อสรุปหลายประการ ดังนี้ 
 
ประการแรก ประวัติศาสตร์ปาตานีมีสถานะและมีความสำคัญที่โดดเด่นกว่าพื้นที่อื่นๆ คนในสามจังหวัดชายแดนใต้หรือปาตานีให้ความสำคัญกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของตนเองมากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ 
 
1. ประวัติศาสตร์เป็นอรรถาธิบายและคำตอบของความเป็นตัวตนของคนปาตานีในปัจจุบัน และเป็นอรรถาธิบายก้าวย่างต่อไปในอนาคตอีกด้วย 
 
2. ประวัติศาสตร์ในพื้นที่แห่งนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือที่ทุกฝ่ายนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อการขับเคลื่อนและต่อสู้ โดยเฉพาะการต่อสู้ในทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ประวัติศาสตร์ปาตานีจึงไม่ได้เป็นประวัติศาสตร์ที่ตายแล้ว 
 
3. สำหรับปาตานี ประวัติศาสตร์เป็นจุดศูนย์รวมแห่งความทรงจำ ไม่ว่าจะเป็นในระดับท้องถิ่น ประดับชาติ และระดับนานาชาติ มีการส่งประวัติศาสตร์ของพื้นที่แห่งนี้แพร่หลายไปยังต่างแดนในรูปแบบต่างๆ ปรากฎการณ์เหล่านี้เราจะไปพบในประวัติศาสตร์ของพื้นที่อื่น ตัวอย่างเช่น นครราชสีมา พิษณุโลก ฯลฯ ยกเว้นประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ ที่พอจะเทียบเคียงกันได้
 
มีการเติบโตและแตกตัวออกไป
 
ประการที่สอง สถานะทางความรู้ของประวัติศาสตร์ปาตานี มีการเติบโตและมีการแตกตัวอย่างมีนัยยะสำคัญ เห็นได้จากมีหนังสือและสิ่งพิมพ์มากมายหลากหลาย รวมไปถึงเว็ปไซต์ต่างๆ และเกิดนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้นและนุ่มลึก กระจายออกไปทั่วสถาบันต่างๆ รวมไปถึงสื่อในระดับท้องถิ่น นอกจากนั้นแล้วเรายังค้นพบหลักฐานข้อมูลใหม่ๆ ทั้งจากภายในประเทศเอง และจากภายนอก 
 
สามารถพูดคุยได้อย่างเปิดเผย
 
ที่สำคัญอีกประการ คือ มีการเปิดพื้นที่ในการศึกษา การถกเถียงและการให้ความจริง ซึ่งทำให้เรื่องราวของปาตานีสามารถพูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย ปลอดภัย พื้นที่ที่ถูกปิดก็ถูกเปิดออกสู่เวทีสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบ้านหะยีสุหลงหรือการจัดสัมมนาอย่างวันนี้ นัยยะที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการ่วมมือกันของสถาบันการศึกษาของจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น แสดงให้เห็นถึงการเปิดพื้นที่ที่น่าสนใจ
 
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ทำให้เราได้เห็นว่าเมื่อเราพูดถึงประวัติศาสตร์ปาตานี มันไม่ได้มีเพียงแค่ปาตานีเท่านั้น ลึกลงไปในความเป็นปาตานี เราเห็นตัวตนของท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง มีความหลากหลาย มีความแตกต่างและยังมีความรู้สึกของนักวิชาการในพื้นที่ที่มีความประสงค์ที่จะศึกษา และนำเสนออัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น ฉันเป็นรามัน ฉันเป็นระแงะ ฉันเป็นสายบุรี ฯลฯ
 
ถูกยกระดับขึ้นสู่โตะเจรจา
 
ที่สำคัญก็คือ สถานะของปาตานี เมื่อถูกนำไปตีแผ่ หรืออย่างน้อยที่สุดถูกนำไปพูดคุยบนโต๊ะเจรจา เท่ากับเป็นการยกระดับประวัติศาสตร์จากประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหรือประวัติศาสตร์ชาติไทยให้ขึ้นไปสู่ประวัติศาสตร์ของอาเซียน ซึ่งเป็นการเติบโตของปาตานีควบคู่ไปกับประวัติศาสตร์
 
แต่มีข้อท้าทายทางวิชาการและการผูกขาด
 
ปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวข้างต้น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ นับแต่นี้ต่อไปการศึกษางานประวัติศาสตร์ปาตานี คงไม่อาจจะทำได้ด้วยจิตสำนึก เงื่อนไข ข้ออ้าง หรือเจตนาแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเมื่อมีนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงนักประวัติศาสตรท้องถิ่นเกิดขึ้น การจะนำเสนอประวัติศาสตร์อย่างบิดเบือนเห็นจะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้จะมีการบิดเบือนก็จะไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืนต่อไปได้ระยะยาว เพราะจะถูกท้าทายด้วยการศึกษาค้นคว้าด้วยหลักวิชาการมากขึ้น ดังนั้นการนำเสนอประวัติศาสตร์ปาตานีในอนาคตมีแน้วโน้มที่จะมีการนำเสนอหรือเปิดเผยที่เป็นความจริงมากขึ้น
 
ประการต่อมา เดิมทีประวัติศาสตร์ปาตานีเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกผูกขาด คือถูกผูกขาดโดยภาครัฐ หรือฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับภาครัฐ และต่างฝ่ายต่างคิดว่าประวัติศาสตร์ของตนนั้นถูกต้อง และจะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับการมีอยู่ของประวัติศาสตร์ของฝ่ายตรงข้าม 
 
หัวใจของการศึกษา ความสัมพันธ์ปาตานีกับสยาม
 
ดังนั้นงานของ รศ.ดร.ชุลีพร วิรุณหะ หัวหน้าชุดโครงการความรู้ เรื่อง การประกอบสร้างประวัติศาสตร์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่มีประวัติศาสตร์ของฝ่ายไหนที่ถูกต้องที่สุด และเป็นหลักฐานของตัวเองในการแสดงถึงพลวัตรของประวัติศาสตร์ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสยามกับปาตานีที่เปลี่ยนไปตามสภาวะสังคม จะตัดสินว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิดเสมอไม่ได้
 
ประการที่สำคัญต่อมาก็คือ ประวัติศาสตร์ปาตานีและสยาม ท้ายที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ที่มีตัวแปร มีปัจจัยแวดล้อม และมีผู้ขับเคลื่อนที่หลากหลาย หัวใจของการศึกษาจึงต้องทำความเข้าใจระหว่างปฏิสัมพันธุ์ที่พื้นที่มีต่อภูมิภาคและมีต่อโลก อย่างเช่น โลกยุคอาณานิคมที่มีจักรวรรดินิยมอังกฤษเป็นตัวละครที่สำคัญ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสำคัญของสยามกับปาตานีได้ 
 
ในขณะที่โลกยุคสงครามเย็น ซึ่งตามมาด้วยการรวมตัวของประชาคมอาเซียน ท้ายที่สุดกลายเป็นสภาวะแวดล้อมที่ในไม่ช้าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสยามกับปาตานีในอีกรูปลักษณ์หนึ่งเช่นกัน เพราะฉะนั้นการตระหนักรู้ในบริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละยุค และปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคใหญ่กับภาคย่อยคงจะต้องเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปาตานีแต่นี้เป็นต้นไป
 
ไม่มีงานใดถูกต้องสมบูรณ์และแก้ไขไม่ได้
 
นอกจากนั้นแล้วยังทำให้เราได้รับรู้ว่า จะไม่มีงานประวัติศาสตร์ใดที่ถูกต้องสมบูรณ์และแก้ไขไม่ได้ เราต้องพึงสำนึกอยู่เสมอว่า งานเขียนประวัติศาสตร์แต่ละชิ้นนั้น เป็นการเปิดทางเลือกหนึ่งให้ผู้คนได้อ่าน ได้เรียน และมีทางเลือกที่จะเลือกเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรืออาจเลือกเชื่อเพียงบางส่วน หรืออาจเลือกไม่เชื่อเลยก็ได้ 
 
ความสำคัญและคุณค่าจึงไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้อ่านงานนั้นจะเชื่อหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าได้เกิดการเปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้มีทางเลือกหรือไม่ 
 
ท้ายที่สุดงานประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาเกี่ยวกับความสันพันธ์สยามกับปาตานีที่ภาวะที่การเติบโตและแตกตัว ส่งผลให้งานแต่ละชิ้นพร้อมจะถูกท้าทาย ถูกชำระ ถูกปรับปรุง ถูกต่อยอด และถูกทำใหม่ได้เรื่อยๆ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะต้องทำแต่นี้ต่อไปอย่างมีหลักวิชาการ ไม่ใช่ด้วยเป้าหมายของการเคลื่อนไหวหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ขัดแย้งต่อหลักวิชาการ
 
ให้ทุกฝ่ายมีที่ยืนพร้อมกัน 
 
ความสำคัญที่สุดของการสัมมนาในครั้งนี้ คือจะเป็นการเปิดมิติใหม่ของการศึกษา เปิดจุดเริ่มต้นของการเปิดใจและเปิดโลกทัศน์ของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐ อย่างน้อยที่สุดให้หันมาทำความเข้าใจปัญหา และปรับเปลี่ยนท่าที นโยบาย หรือลดทอนอัตตาของตัวเอง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายนั้นได้มีที่ยืนพร้อมกันไปได้ 
 
งานประวัติศาสตร์ที่เราได้นำเสนอในโอกาสนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป้นกุญแจดอกสำคัญในการปลดล็อคที่เป็นอุปสรรคที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยขวางกั้นความสัมพันธ์ในเชิงสร้างสรรที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนที่สุดถ้างานได้ถูกนำเสนอหรือได้เปิดพื้นที่โดยการศึกษาอย่างมีหลักวิชาการแล้ว ต่อไปในอนาคตงานในแนวนี้จะได้เข้ามาแทนที่ทิศทางงานในรูปแบบเดิม อาจจะเป็นงานที่มีกลิ่นอายของการบิดเบือนประวัติศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายไหนก็ตามที
 
เป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหา
 
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ การทำงานประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์สยามกับปาตานี แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ของปาตานีเอง มีนัยยะที่สำคัญมากกว่าการทำงานประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆ เพราะประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่นๆ กระทำเพื่อที่จะเรียนรู้และเข้าใจในอดีตเป็นหลัก แต่งานประวัติศาสตร์ที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นกลไกหนึ่งในหลายๆ กลไก ที่จะนำพามาซึ่งสันติสุขที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ในอนาคต
 
ถ้ามาถึงจุดหรือจังหวะที่ผู้คนพร้อมที่จะลุกขึ้นถกเถียงหรือพูดกันด้วยความจริง อย่างเปิดเผย กล้าที่จะพูด กล้าที่จะรับฟัง กล้าที่จะยอมรับว่า จะต้องมีพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างมองเห็นว่าจะต้องมีพื้นที่ที่เป็นสีเทา แล้วไม่ยึดว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดนั้น เป็นความถูกต้องและเป็นจริงเดียวที่จะรับรู้ได้ เป็นการเปิดให้มีความหลากหลาย มีการยอมรับ มีการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน
 
ต้องเปิดพื้นที่ทางความคิด
 
ตรงจุดนี้ประวัติศาสตร์จะต้องเปิดพื้นที่ทางความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึกที่เราจะมีต่อตัวเราเอง และมีต่อความสัมพันธ์ของผู้ที่จะมาเกี่ยวข้อง ประวัติศาสตร์ในมิตินี้หรือในแนวนี้ ควรจะเป็นประวัติศาสตร์ที่เข้ามาแทนที่ประวัติศาสตร์ในกระแสหลักหรือกระแสเดิมที่มีอยู่ 
 
แล้วถ้าเป็นไปได้ จะเป็นกลไกที่สำคัญกลไกหนึ่งที่จะนำพามาซึ่งสันติสุขที่ยั่งยืนในภูมิภาคนี้ และนี้น่าจะเป็นคูณูปการสำคัญประการหนึ่งของงานสัมมนาในวันนี้”
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net