สมาคมนักข่าววิทยุ-โทรทัศน์ ร้อง กสทช. ระงับใช้ร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่ม หวั่นถูกแทรกแซงเสรีภาพ

สมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย ร้อง กสทช. ระงับใช้ร่างประกาศส่งเสริมการรวมกลุ่ม ชี้เนื้อหาไม่ชัด หวั่นถูกแทรกแซงเสรีภาพ เสนอรอ "ปฏิรูปสื่อ" ก่อน

25 ก.ย.2557 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ทำจดหมายเปิดผนึกถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ขอให้ระงับการประกาศใช้ (ร่าง) เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

โดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุว่า เนื้อหาของร่างประกาศดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และอาจนำไปสู่การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อได้ พร้อมเสนอ กสทช. ระงับการประกาศใช้ร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อรอให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดำเนินการการปฏิรูปประเทศให้เกิดความชัดเจน รวมไปถึงการปฏิรูปสื่อ เมื่อถึงเวลานั้นจึงสมควรที่จะนำร่างประกาศนี้มาพิจารณาดำเนินการว่าจะประกาศใช้หรือไม่

จดหมายเปิดผนึกจากสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
ถึง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

เรื่อง ขอให้ระงับการประกาศใช้ (ร่าง) เรื่องมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์

เรียน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้จัดเวทีระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อย ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ณ ห้องคริสตอล 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพฯ นั้น ทางคณะกรรมการบริหารสมาคมข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้พิจารณาร่างฉบับดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว มีมติร่วมกันว่า ยังไม่สมควรที่จะมีการประกาศใช้ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. เนื่องจากในร่างประกาศดังกล่าว ยังมีเนื้อหาหลายส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และอาจนำไปสู่การแทรกแซงเสรีภาพของสื่อได้

2. การปรับแก้เนื้อหาข้อความ ในข้อ 11.7 ที่ระบุ “ในกรณีองค์กรวิชาชีพเพิกเฉยไม่สามารถดำเนินการกำกับดูแลกันเองได้ ตามที่มีการร้องเรียน หรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 40 คณะกรรมการอาจนำเรื่องร้องเรียนมาพิจารณาตามที่เห็นสมควร" ซึ่งถือว่าเป็นการแทรกแซงด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในการกำกับดูแลกันเอง

3. การที่จะมีการประกาศใช้ร่างประกาศดังกล่าวเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญการปกครอง ฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งระบุว่า สื่อสารมวลชนเป็นหนึ่งในกระบวนที่ต้องถูกปฏิรูป ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญประกาศหนึ่งของแนวทางการปฏิรูปประเทศ “การกำกับดูแลกันเอง” อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง จึงถือว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง จำเป็นต้องระดมความเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อนำเสนอผ่านไปยังผู้แทนด้านสื่อสารมวลชน ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปฯ ซึ่งจะมีความเป็นสาธารณะและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่จะมีส่วนร่วมเข้ามากำกับดูแลในกิจการด้านสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์

4. ร่างประกาศดังกล่าว อาจมิชอบด้วย “อำนาจหน้าที่ของ กสทช.” เนื่องจากมาตรา 39 ของพระราช
บัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์พ.ศ. 2551 มิได้กำหนดให้ อำนาจหน้าที่ กสทช. ออกประกาศ “ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด” แต่ กสทช. สามารถทำได้เพียงสนับสนุนด้วย “การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา 52 ” และถึงแม้ว่า มาตรา 27(18) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จะกำหนดให้อำนาจหน้าที่ กสทช. ในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาตฯ แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้อำนาจคณะกรรมการในการประกาศกำหนด ขณะที่มาตรา 27 (24) ให้อำนาจในการ “ออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งอันเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.” แต่มาตรา 39 ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ก็มิได้ให้อำนาจ กสทช.ไว้ ทั้งยังระบุแนวทางให้กับ กสทช. ในวรรคท้ายว่า “องค์กรตามวรรคหนึ่งที่มีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม คณะกรรมการอาจให้การส่งเสริมจากกองทุนตามมาตรา 52 ก็ได้”

ดังนั้น เพื่อมิให้ร่างประกาศดังกล่าว ขัดหรือแย้งกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช. และเพื่อให้สอดคล้องต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราว พ.ศ. 2557 ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงเห็นสมควรที่จะให้ทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติระงับการประกาศใช้ร่างประกาศฉบับนี้ออกไปก่อน เพื่อรอให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ ดำเนินการการปฏิรูปประเทศให้เกิดความชัดเจน รวมไปถึงการปฏิรูปสื่อ เมื่อถึงเวลานั้นจึงสมควรที่จะนำร่างประกาศนี้มาพิจารณาดำเนินการว่าจะประกาศใช้หรือไม่

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท