Skip to main content
sharethis

ชี้ดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะถูกยกเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศและพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ขัดต่ออนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ

25 ก.ย.2557 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ในวันศุกร์ที่ 26 ก.ย.นี้เวลา 11.00 น.สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนพร้อมด้วยตัวแทนชาวชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ประมาณ 52 คน จะเดินทางไปยังศาลปกครองกลางเพื่อยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว ถือว่าเป็นไปตามตามสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค ที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพราะ กฟผ.และกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขหรือประกาศเกี่ยวกับการดำเนินการใน “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ตามมติคณะรัฐมนตรี และพื้นที่อนุรักษ์ คือ “พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม”  ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก โดยเฉพาะเป็นแหล่งอาศัยและหากินของพะยูน ซึ่งเป็นสัตว์สงวนตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ดังนั้นการออกมาปกป้องพื้นที่ทางทะเล ชายหาด และป่าชายเลน ให้ปลอดพ้นจากจากมลพิษถ่านหิน จึงเป็นความชอบธรรมที่จะสามารถกระทำได้ ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ

เขาระบุว่า กฟผ.มีแผนที่จะดำเนิน “โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหิน” ขึ้น โดยในเดือนธันวาคม 2556 กฟผ.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ไปศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ลงวันที่ 20 มิถุนายน2555) ขณะเดียวกันจัดให้มีการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระเบียบปฏิบัติของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง (ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552) โดยบริษัทที่ปรึกษา ได้จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(public Scoping)(ค.1) ในเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

เขาระบุว่า ในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองครั้งนี้ จะมีคำขอท้ายคำฟ้อง ดังนี้

1) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เพราะมีหลายเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยการปฏิบัติตามขั้นตอน วิธีการ หรือหลักเกณฑ์ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหลายประการ ได้เฉพาะการนำเสนอรายละเอียดของโครงการที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของโครงการในเนื้อหาสาระที่จำเป็นที่จะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ

2) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการและเงื่อนไขของการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระหว่างประเทศและพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และอนุสัญญาความหลากหลายทางชีวภาพ และพิธีสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3) ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด(E-HIA) จนกว่าจะปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอน วิธีการที่กฎหมายกำหนด

4) ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งยุติการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในคราวการประชุม ค.3 ในวันที่ 28 กันยายน 2557 นี้ไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด  นายศรีสุวรรณกล่าวในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net