Skip to main content
sharethis

กันยายนนี้ครบรอบ 1 ปี คนงานตัดเย็บเสื้อผ้าของ บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ลุกขึ้นทวงถามสิทธิ - แกนนำสหภาพฯ ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 'คนงาน-สหภาพแรงงาน' ยังคงถูก 'กดดัน' อยู่ตลอดเวลา และกระบวนการในศาลแรงงานที่ 'ล่าช้า' ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของคนงาน

 

ไทม์ไลน์: 1 ปี กับการเดินบนเส้นทาง "เรียกร้องและปกป้องสิทธิ" ของคนงาน จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

 

อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ นอกเหนือจากจะเป็นอำเภอที่ขึ้นชื่อด้านการท่องเที่ยวลำดับต้นๆ แล้ว อ.สันกำแพง ก็ยังมีแรงงานหัตถกรรม-งานฝีมือ ที่ดึงดูดให้ผู้ประกอบการมาตั้งโรงงานอย่างมากมาย ทั้งผู้ลงทุนชาวไทยและชาวต่างชาติ

โดยโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ใน อ.สันกำแพง ก็มีอาทิเช่น การทำร่ม, การแกะสลัก, เครื่องเงิน, เครื่องปั้นดินเผา, อัญมณี และการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป รวมทั้งหมดประมาณ 170 แห่ง ซึ่งข่าวคราวความขัดแย้งในอุตสาหกรรมละแวกนี้แทบจะไม่ค่อยมีให้เห็น

แต่เมื่อปีที่แล้ว สิ่งที่ถูกซ่อนไว้ใต้พรมแห่งความเงียบสงบก็ถูกเปิดเผยออกมา

เมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2556 พนักงานในบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ตั้งที่ ม.3 ต.แช่ช้าง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มากกว่า 300 คน ได้ทำการประท้วงภายในโรงงาน เนื่องจากไม่พอใจที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของคนงาน โดยคนงานระบุว่าทางบริษัทได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง จากพนักงานประจำจ้างรายเดือน (จ่ายเงินรายวัน) มาเป็นรายชิ้น, การปรับลดสวัสดิการและรายได้จากการทำงานอื่นๆ ของพนักงาน ซึ่งได้สร้างความยากลำบากในการทำงานให้กับคนงาน

รวมทั้งการที่บริษัทฯ ได้ลดขั้นตอนการผลิตให้คนงานฝ่ายผลิตตรวจสอบผลงานกันเอง หากพบชิ้นงานเสียจะต้องทำการชดใช้เงินเอง ทำให้คนงานเกิดความกดดันและขาดความสามัคคีกันขึ้น

… เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มนำมาสู่การก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกของ อ.สันกำแพง และเป็นแห่งที่ 5 ของ จ.เชียงใหม่

 

จากผู้ผลิตสินค้า 'แฟร์เทรด' สู่ 'ความขัดแย้ง' ในโรงงาน

บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ตั้งอยู่ที่ 121 หมู่ 3 ตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นบริษัทผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์หลักคือ Pure Handknit และ Neon Buddha ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นอกจากนี้คนงานยังระบุว่าโรงงานของบริษัทฯ ยังรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ อีก (จากการสืบค้นโดย New York Times ระบุเมื่อปี 2556 ว่าบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ผลิตเสื้อผ้าที่ขายในสถาบันสมิธโซเนียนอีกด้วย)

บริษัทฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2541 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท 5 แสนบาท และได้เพิ่มทุนจดทะเบียนครั้งล่าสุด ในปี พ.ศ. 2554 ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 24 ล้านบาท ส่วนข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2549 ด้วยทุนจดทะเบียน 24 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนตามสัญชาติเป็นสัญชาติฮ่องกง 100% หมวดการผลิตเครื่องแต่งกาย วัตถุประสงค์ ผลิตและส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในปี 2554 มีหนี้สินรวมและส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 401,472,876.82 บาท กำไรสุทธิจากการดำเนินกิจการ 2,399,422.37 บาท

โดยเฉพาะแบรนด์ Neon Buddha ซึ่งมีสโลแกนว่า " Neon Buddha เริ่มจากความคิดการผลิตเสื้อผ้าเพื่อวิถีชีวิตที่หลากหลายทั้ง ชุดสำหรับการเดินทาง ชุดอยู่กับบ้านชุดทำงาน ชุดโยคะ และชุดของคุณ ทุกชุดออกแบบในประเทศแคนาดา โดย ชานอน พาสเซโร และ จัดการผลิตโดยทีมผู้หญิง 500 คน ในจังหวัดเชียงใหม่ ของประเทศไทย เสื้อผ้าของเรา เป็น ผ้าฝ้ายที่ซักก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ทีมงานและสิ่งแวดล้อมช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เรา ออกแบบและผลิตสินค้า ที่ใส่สบาย ในทุกเวลา ทำให้เรารู้สึกถึงการเป็นสมาชิกของชุมชนโลก เราบริจาค 1 % ของทุกการขายสินค้าทุกชิ้น ให้ กับโครงการต่างๆ เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากขึ้น"

 

นำสมัยและยั่งยืน: บริษัท Pure & Co. โดดเด่นทั้งสองด้าน
Style and Sustainability—Pure & Co. Excels at Both
By Joan Delaney On April 19, 2011

บริษัท Pure & Co. ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐออนแทริโอ เป็นบริษัทแม่ของเครือเสื้อผ้าแฟชั่นยี่ห้อ Neon Buddha และ Pure HANDKNIT บริษัทนี้ยึดถือแนวคิดของการค้าที่เป็นธรรมและความยั่งยืนอย่างจริงจังมาก

เสื้อผ้าแต่ละชิ้นในเครือบริษัท Pure & Co. ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านค้าปลีกชั้นนำทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือ เป็นผลงานตัดเย็บของช่างถักสตรี 4,500 คนในประเทศไทย ซึ่งสามารถมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็ได้ทำงานที่พวกเขารักและสืบทอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิม

คนงานหญิงเหล่านี้ได้รับสิทธิประโยชน์แบบตะวันตก เช่น การดูแลสุขภาพ ซึ่งรวมทั้งวันลาคลอดที่ได้รับค่าจ้าง การเดินทางไปที่ทำงาน ที่พักอาศัยในบริเวณโรงงาน และการศึกษาต่อเนื่องที่บริษัทรับภาระค่าใช้จ่ายให้ เช่น ชั้นเรียนภาษาอังกฤษที่เปิดสอนฟรีแก่คนทำงานทุกคน รวมทั้งครอบครัวและเพื่อนฝูง

“มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับพวกเธอ เพราะพวกเธอสามารถมีรายได้ดี ในขณะเดียวกันก็ได้ใช้ชีวิตตามวิถีที่ต้องการ ฝ่ายเราก็ได้ประโยชน์จากงานฝีมืออันสวยงามที่พวกเธอสืบทอดมาหลายศตวรรษและส่งต่อผลงานเหล่านี้มาสู่อเมริกาเหนือ” ลีน บาสเก็ตต์ รองประธานบริษัทฝ่ายขายและการตลาดกล่าว

ทั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท Pure & Co. ในแคนาดาและโรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ที่ประเทศไทย ต่างใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการทำน้ำร้อน ขยะกระดาษ กล่อง พลาสติก แก้วและโลหะทั้งหมดมีการนำไปรีไซเคิล และด้ายที่เหลือจะนำไปบริจาคให้เอ็นจีโอและกลุ่มผู้หญิงหลายกลุ่มที่นำไปใช้ในโครงการสร้างรายได้

ในเดือนนี้ (เมษายน 2554) บริษัทเตรียมการที่จะเปิดโรงย้อมผ้าที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเชียงใหม่ โรงงานนี้จะมีโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งแปรรูปของเสียทางการเกษตรให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้า รวมทั้งใช้เทคนิคการย้อมผ้าที่เรียกว่า Cold Pad Batch ซึ่งใช้น้ำแค่หนึ่งในสิบและพลังงานแค่หนึ่งในสี่เมื่อเทียบกับวิธีการย้อมผ้าฝ้ายดั้งเดิม

“โรงงานนี้ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร” บาสเก็ตต์กล่าว “โรงงานผลิตไฟฟ้าเองและใช้ของเสียทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง น้ำที่ระบายออกจากโรงงานเมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วจะมีความสะอาดในระดับที่บริโภคได้”

นอกเหนือจากช่างถักแล้ว โรงย้อมผ้าและโรงงานต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่จะจ้างคนงานเพิ่มอีก 500 คน

ดีไซเนอร์ แชนนอน พาซาโรอาศัยอยู่ในเมืองเซนต์แคเธอรีนส์ รัฐออนแทริโอ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัท Pure & Co. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ของบริษัท พาซาโรทำงานออกแบบให้ทั้งไลน์เสื้อผ้าของ Neon Buddha และ Pure HANDKNIT

คอลเล็กชั่นของ Pure HANDKNIT นำเสนอเสื้อสเว็ตเตอร์ คาร์ดิแกน ปอนโช หมวกและผ้าคลุมที่มีเอกลักษณ์ เช่น รุ่น Original Button Wrap ซึ่งสามารถสวมใส่ได้ถึงห้าแบบด้วยกัน กระดุมทำจากเปลือกหอย เซรามิค กะลามะพร้าวและดีบุกเจาะลายด้วยมือ โดยใช้แตกต่างกันไปในแต่ละแบบเสื้อผ้าซึ่งตัดเย็บจากผ้าฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์

คอลเล็กชั่นของ Neon Buddha มีทั้งเสื้อแจ๊กเก็ต กางเกง กระโปรง ชุดกระโปรงและเสื้อ ตัดเย็บจากผ้าเจอร์ซี่และงานถักแบบต่างๆ

“ทุกแบบมีงานถักเป็นองค์ประกอบหลัก” บาสเก็ตต์กล่าว “ด้ายที่ใช้ผลิตเสื้อผ้าของ Pure HANDKNIT ทำจากฝ้ายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราผสมไลคราในไลน์เสื้อผ้าของ Neon Buddha ด้วย เพราะไลคราช่วยเพิ่มความเหนียวทนทานให้ฝ้าย”

เพื่อปฏิบัติตามความเชื่อว่า “หว่านผลเช่นไรก็ได้ผลเช่นนั้น” บริษัทจึงบริจาคเงินร้อยละ 1 ของสินค้าทุกชิ้นที่ขายได้ให้แก่องค์กร Canadian University Service Overseas—CUSO องค์กรนี้นำเงินบริจาคไปช่วยเหลือการกุศลต่าง ๆ เช่น การบรรเทาทุกข์ทั่วโลก นอกจากนี้ยังบริจาคให้องค์กร Mirror Foundation ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานส่งเสริมสิทธิของชาวเขาในประเทศไทย

“เราไม่ได้เริ่มต้นด้วยการอยากทำธุรกิจที่มีจริยธรรม เราเริ่มต้นด้วยการอยากทำเสื้อผ้าที่โดดเด่น” บาสเก็ตต์กล่าว “เราคิดว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกสุดคือการผลิตสินค้าที่ผู้หญิงจะรัก ดังนั้น เราไม่เคยละเลยเรื่องนี้เลย แต่เราคิดว่าวิธีการที่เราทำธุรกิจก็สำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน”

จากบทความประชาสัมพันธ์ Neon Buddha และ Pure HANDKNIT ใน Epoch Times  เมื่อปี 2554 (แปลโดยภัควดี วีระภาสพงษ์)

 

คนงานเก่าแก่ของบริษัทฯ ระบุว่าเริ่มแรกทีเดียว บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด นั้นเป็นบริษัทฯ ที่มีสวัสดิการให้กับพนักงานอย่างดีเลยทีเดียว รวมทั้งมีการสอนภาษาอังกฤษให้คนงาน ซึ่งน้อยบริษัทนักที่จะให้การศึกษากับคนงานเช่นนี้

แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อบริษัทพยายามลดต้นทุนและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานคนงาน หลังจากการลงทุนใน “โรงงานผลิตไฟฟ้าที่ใช้ของเสียทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิง” นั้นไม่สามารถดำเนินการได้

ซึ่งผลจากการลดต้นทุนด้านแรงงานหลังการลงทุนที่ผิดพลาดนั้น ก็ตามมาด้วยการประท้วงของคนงานในท้ายที่สุด

 

การทดสอบ 'คนงานและสหภาพแรงงาน' อยู่ตลอดเวลา

แม้การจัดตั้ง “สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์” ของคนงานในบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ยังห่างไกลจากคำว่าชัยชนะ แต่กระนั้นสหภาพแรงงานถือว่าเป็นองค์กรสำคัญที่สุดที่ช่วยปกป้องสิทธิให้แก่คนงาน

สหภาพแรงงานระบุว่ายังคงมีแรงกดดันจากฝ่ายบริหารมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงาน 4 คน ตั้งแต่ต้นปี 2557 เป็นต้นมา

ล่าสุดเมื่อกลางเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมาฝ่ายบริหารของบริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้แจ้งแก่คนงานแผนก QC และแผนกพับผ้าใส่ถุงให้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานจากเดิมที่คนงานทั้ง 2 แผนกนี้นั่งทำงานเปลี่ยนมาเป็นให้ยืนทำงาน โดยอ้างว่า “ทั่วโลกก็ต้องยืนทำงานกันทั้งนั้น” จากนั้นสหภาพแรงงานจึงได้ทำจดหมายร้องเรียนสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.เชียงใหม่ และทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบยังโรงงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2557 ที่ผ่านมา

การดำเนินการด้านแรงงานสัมพันธ์นั้น ทางสหภาพแรงงานเองก็ได้มีความพยายามทำหนังสือขอพูดคุยกับบริษัทฯ มาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับความสนใจจากฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ที่จะพูดคุยกับสหภาพแรงงานมากนัก ส่วนใหญ่แล้วทางบริษัทฯ ได้ขอเลื่อนมาตลอดเช่นกัน จนในครั้งล่าสุดต้องให้สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นตัวกลางในการพูดคุย

แม้บริษัทฯ จะยอมพูดคุยด้วย แต่หลังจากนั้นบริษัทฯ ก็ยังทำเหมือนเดิมโดยมีความพยายามที่จะให้ลูกจ้างเซ็นต์สัญญาจ้างงานใหม่และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในเรื่องของเวลาเข้าทำงาน ซึ่งคนงานไม่ยอม บริษัทฯ ก็ใช้วิธีการโยกย้ายหน้าที่การงาน และการออกไปเตือนเป็นการกดดันคนงาน เป็นต้น

 

ความยุติธรรมที่ล่าช้า คดีค้างในชั้นศาล และแกนนำสหภาพยังอยู่นอกโรงงาน

ในด้านคดีความต่างๆ นั้น ก็พบว่ายังคงมีความล่าช้าเนื่องจากนายจ้างยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของ ครส. และศาล รวมทั้งกระบวนการที่ใช้ระยะเวลานาน (มาก) ตามธรรมเนียม "ปกติ" ของศาลแรงงานไทย

จากที่คนงานและสหภาพแรงงานได้มีการดำเนินการยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่, คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) และดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งกรณีเลิกจ้างคนงาน 10 คนก่อนมีสหภาพแรงงาน ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดเชียงใหม่และ ครส. มีคำสั่งให้บริษัทฯ จ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม แต่ ณ ปัจจุบันนั้น บริษัทฯ อุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อศาลแรงงาน ซึ่งศาลพิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายเฉพาะคำสั่งของเจ้าหน้าที่สวัสดิการฯ ไม่เกี่ยวกับคำสั่งของ ครส. เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 และบริษัทฯ ยังได้ยื่นอุทธรณ์ขึ้นสู่ศาลฎีกาอีกเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557

ส่วนกรณีกรรมการสหภาพแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ได้ยื่นคำร้องต่อ ครส. ซึ่ง ครส.มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2557 ให้บริษัทฯ รับกรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 4 คนกลับเข้าทำงานนั้น ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งของเจ้าหน้าที่ ครส. และการนัดพิจารณาก็ยังถูกเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด กรรมการสหภาพแรงงานทั้ง 4 คนจึงยังไม่ได้กลับเข้าไปทำงานในโรงงาน

นอกจากนี้ยังมีคดีความที่ค้างอยู่ในศาลอีกหลายคดี ไม่ว่าจะเป็นการพักงานคนงานอย่างไม่เป็นธรรม, กรณีฟ้องเรื่องโบนัส, กรณีฟ้องเรื่องกองทุนชื่นชม, กรณีการฟ้องร้องเรื่องจ่ายเงินแก่พนักงานรายเดือนย้อนหลัง และอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด เนื่องจากบริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลเกือบทั้งสิ้น

1 ใน 4 แกนนำสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันที่ถูกเลิกจ้างมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ซึ่งปัจจุบันออกมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไประบุว่าระยะเวลาที่ยาวนานในทางศาลและการอุทธรณ์ของบริษัทฯ ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับพวกเขาในตอนนี้

“กระบวนการทางศาลที่ยังไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร สภาพเศรษฐกิจก็บีบคั้น ต้องหาเลี้ยงชีพหาเลี้ยงครอบครัว คงหยุดทำงานหาเงินรอศาลสั่งในขั้นท้ายสุดคงไม่ได้ แต่ก็หยุดทวงสิทธิของเราก็ไม่ได้เช่นกัน” แกนนำสหภาพแรงงานที่ผันตัวเองมาทำอาชีพรับจ้างทั่วไปรายนี้กล่าวทิ้งท้าย.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net