ผมดี - ผมเลว : ความงามในอุดมคติและมรดกของประวัติศาสตร์การค้าทาส

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในบทความชื่อ Bad Hair Uprooted: The Untold Story of Black Follicles[1] ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซท์ ForHarriet.com  ซึ่งเป็นชุมชนออนไลน์สำหรับผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกัน ให้ได้มีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของตนเองที่เกี่ยวกับความงาม และความซับซ้อนของการเป็นผู้หญิงผิวสี  จุดเริ่มต้นของบทความชิ้นดังกล่าว เกิดจากความสงสัยถึงสาเหตุที่ผู้หญิงเชื้อสายแอฟริกันจำนวนมาก รวมถึงคุณมิเรียล (Mireille Liong-A-Kong) เจ้าของบทความซึ่งมีเชื้อสายแอฟริกา สัญชาติสุรินัม[2]  จึงไม่สามารถเลิกยืดผมได้ แม้ว่าผมของพวกเธอจะเสียแล้วเสียอีกก็ตาม

ทั้งนี้ จากผลวิจัยด้านโรคผิวหนัง ของศูนย์การแพทย์มิลตัน เอส. เฮอร์ชี่ ในสหรัฐอเมริกาฯ ผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกัน จำนวนกว่า 73% ต้องทนทุกข์กับอาการผมเสีย ผมร่วง จนถึงกับหัวล้าน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการใช้สารเคมีเพื่อยืดผม แต่นั้นก็ไม่สามารถหยุดพวกเธอจากการยืดผมได้

เมื่อค้นกลับไปในประวัติศาสตร์ คุณมิเรียล  พบว่า การยืดผมของผู้หญิงแอฟริกันมีความเกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้งกับประวัติศาสตร์การค้าทาสในช่วงศตวรรษที่ 17-18 กล่าวคือ ในวัฒนธรรมของแอฟริกันนั้นจะให้ความสำคัญกับผมและทรงผมเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนสิ่งที่ใช้บ่งบอกตัวตนของบุคคลว่า มีสถานภาพทางสังคมเช่นไร สังกัดอยู่เผ่าไหน หรือแม้แต่ใช้สำหรับดึงดูดความสนใจจากเพศตรงข้าม แต่เมื่อคนแอฟริกันถูกชาวยุโรปจับไปเป็นทาส ความภาคภูมิใจในทรงผม และเส้นผมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของตนก็ถูกทำลายลง เพราะทาสจะถูกจับโกนผม หรือไม่ก็ต้องปกปิดเส้นผมของตนเองไว้ภายใต้หมวกหรือผ้าคลุมผมระหว่างการใช้แรงงานในไร่

เส้นผมหยิกหยองตามธรรมชาติกลายมาเป็นเรื่องน่าอับอายในดินแดนใหม่ เพราะแสดงถึงชีวิตที่ยากลำบากของการเป็นทาสของชาวแอฟริกัน ขณะที่เส้นผมทรงหรือม้วนเป็นเกลียวสลวยของลูกผสม ที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างผิวขาวและทาสหญิง กลับกลายมาเป็นที่น่าปรารถนาแทน ซึ่งอิทธิพลของการมีผมสลวยก็ส่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับความปรารถนาที่อยากจะมีสีผิวที่ขาวขึ้น

ประเด็นผมหยิกหยองของคนเชื้อสายแอฟริกันไปเกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เมื่อเกิดกรณีที่ เด็กหญิงเชื้อสายแอฟริกันในเนเธอร์แลนด์ถูกไล่ออกจากโรงเรียนบัลเลต์ เพราะว่าผมของเธอไม่สามารถเกล้าเป็นมวยผมได้เหมือนกับเด็กๆ คนอื่น แม่ของเด็กหญิงจึงฟ้องร้องต่อศาลด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า โรงเรียนเลือกกีดกันทางเชื้อชาติ ซึ่งศาลก็มีคำสั่งตัดสินให้ครอบครัวเด็กชนะ และได้กลับเข้าไปเรียนบัลเลต์อีกครั้ง[3] จากการสืบค้นเพิ่มเติม พบว่า มีนักบัลเลต์เชื้อสายแอฟริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังจำนวนไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่น Misty Copeland แต่พวกเธอเหล่านั้นก็ผ่านการยืดผมให้ตรงเช่นกัน

เมื่อครั้งที่ ผู้เขียนอาศัยอยู่ในประเทศเวเนซูเอล่านั้น เมืองอยู่เป็นเมืองที่มีคนผิวสีเชื้อสายแอฟริกันอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่ขนถ่ายทาสผิวดำ เพื่อกระจายไปทำงานยังไร่อ้อยที่อยู่ใกล้เคียง ประกอบกับครอบครัวทางฝั่งแม่อุปถัมภ์ก็เป็นคนผิวสี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกและเห็นได้อย่างชัดเจนนับตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไปถึง คือ ความชื่นชมเส้นผมยาวตรงแบบคนเอเชีย โดยจะเรียกแทนเส้นผมเส้นเล็กที่ยืดตรงว่า “Pelo bueno” (เปโล ลิโซ) ซึ่งแปลว่า “ผมดี” และเรียกแทนเส้นผมของตนที่เส้นใหญ่และหยิกว่า “Pelo malo” (เปโล มาโล) ซึ่งแปลว่า “ผมเลว” และหากเข้าหรือสัญจรไปตามร้านทำผมในแทบจะทุกที่ของเวเนซูเอล่าก็มักจะพบเห็น กว่าครึ่งของหญิงสาวกำลังรับบริการยืดผม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเทศกาลหรือเมื่อมีงานสำคัญ เช่น เทศกาลปีใหม่ คริสต์มาส เส้นผมที่ยาวสลวยเป็นเสมือนอาภรณ์อย่างสุดท้ายที่สาวๆ หลายคนปรารถนาจะสวมใส่ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของแม่ผู้เขียนซึ่งจะเริ่มจากเตรียมผม ด้วยการม้วนและคลุมตาข่ายเก็บผมไว้อย่างดี และใช้ครีมบำรุงผมนานาชนิดล่วงหน้า และเมื่อถึงวันงานก็จะให้ช่างทำผมจัดการยืดและจัดทรงให้สวยงามตามแต่ที่ต้องการ เส้นผมที่ผ่านการยืดจะอยู่ได้นานขึ้นอยู่กับยี่ห้อของน้ำยาที่ใช้และลักษณะของเส้นผม แต่ผลเสียของการใช้น้ำยายืดผมต่อเนื่องกันเป็นเวลานานและเข้มข้น ก็ส่งผลเสียให้ผมของแม่ผู้เขียนแข็งกระด้างและร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก จนปัจจุบันต้องใช้เส้นผมสังเคราะห์มาเป็นตัวช่วย เพื่อสร้างความหนาและความยาวแทนเส้นผมตามธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในอดีตที่เครื่องมือยืดผมไฟฟ้ายังไม่เป็นที่รู้จัก เด็กผู้หญิงจะได้รับอนุญาตให้ยืดผม เมื่อมีอายุครบ 15 ปี ซึ่งในวัฒนธรรมของชาวอเมริกาใต้ วันเกิดอายุครบ 15 ปีถือเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่แสดงถึงการก้าวข้ามจากสถานภาพของเด็กหญิงไปสู่ความเป็นสาว และไม่เพียงแต่หญิงสาวที่มีเชื้อสายแอฟริกันเท่านั้นที่นิยมยืดผม หญิงสาวที่มีสายเลือดผสม ซึ่งมีสีผิวสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเกือบขาวค่อนไปทางชาวยุโรปจำนวนมากก็นิยมยืดผมตรงด้วยเช่นเดียวกัน

ความคลั่งไคล้ในเส้นผมที่ยืดตรงสลวย ยังสะท้อนให้เห็นได้ในละครทางโทรทัศน์ ที่เรียกกันว่า Telenovela ตัวละครหญิงฝ่ายดีมักจะถูกนำเสนอด้วยภาพของหญิงสาวที่ผ่านการยืดเส้นผมให้ตรงแล้ว ส่วนตัวละครหญิงฝ่ายไม่ดีนั้นหลายเรื่องก็มักจะนำเสนอผ่านภาพของผู้หญิงที่มีเส้นผมดัดหยิก นอกจากนี้ การมีเส้นผมหยิกยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทนการเป็นคนนอก (outsider) ในหนังของผู้กำกับชาวเวเนซูเอล่าที่มีชื่อว่า “Pelo malo”[4] ซึ่งเล่าเรื่องของเด็กชายอายุ 10 ขวบที่หลงใหลในผมตรงสลวย จนทำให้ผู้เป็นแม่ที่เป็นแรงงานหาเช้ากินค่ำเกิดความกังวลว่า ลูกของตนจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ  ซึ่งในประเทศคาทอลิกที่เคร่งครัดอย่างเวเนซูเอล่า พฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศยังคงไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไรนัก  ขณะที่ในสารคดีชุด “Pelo bueno, Pelo malo”[5] ที่สร้างโดยผู้สร้างชาวโดมินิกัน ซึ่งไปสัมภาษณ์เก็บข้อมูลหญิงสาวเชื้อสายแอฟริกันและลูกผสม ทำให้เห็นว่าเส้นผมดีและเส้นผมเลวยังเชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจและการยอมรับของคนในสังคม คนที่มีผมตรงสลวยจะได้งานที่ดีกว่า แสดงถึงสถานภาพที่ดี เพราะมีเวลาและเงินเพียงพอสำหรับเข้าร้านทำผม และมีเสน่ห์ดึงดูดกว่าผู้หญิงที่มีผมหยิกตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามที่จะสร้างค่านิยมแบบใหม่ ให้คนเชื้อสายแอฟริกันรู้สึกภาคภูมิใจในเส้นผมตามธรรมชาติของตนเองมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูน Sesame Street[6] ที่นำเสนอเพลงที่ชื่อว่า “I love my hair”[7] เพื่อสอนให้เด็กๆ ที่มีเชื้อสายแอฟริกันให้รู้สึกดีกับเส้นผมของตนเอง รวมถึงให้เด็กๆ เรียนรู้ถึงความแตกต่างของเส้นผมของแต่ละชาติพันธุ์

การนำเสนอประเด็น ผมดี-ผมเลว อาจเป็นเรื่องดูไกลตัวจากเราคนไทย ที่ส่วนใหญ่มีเส้นผมยาวตรงแตกต่างจากเส้นผมของคนเชื้อสายแอฟริกัน แต่ในอีกแง่หนึ่งประเด็นดังกล่าวก็ช่วยเปิดมุมมองถึงความงามในอุดมคติ ที่มีรากฐานมาจากยุคอาณานิคมที่ยังส่งทอดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ควบคู่กับพัฒนาการความหมายของ “เส้นผม” ผ่านกลไกทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของคนในภูมิภาคอื่นๆ ที่แตกต่างออกไป

* ภาพจาก http://caribbeandigital.net/fondomicro-pone-a-circular-libro-pelo-malo-pelo-bueno-con-auspicios-de-fondesa/ ปกหนังสือชื่อผมดี - ผมเลว การศึกษาทางมานุษยวิทยา กรณีศึกษาร้านทำผม ในประเทศโดมินิกัน รีพับลิค

 

 



[2] ประเทศสุรินัม ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ อดีตเคยเป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์

[4] ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนต์นานาชาติ ที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา เมื่อปีที่ผ่านมา

[6] เป็นรายการโทรทัศน์ชื่อดังสำหรับเด็กของสหรัฐอเมริกา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท