Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปี๊บ (น.)                    ภาชนะทำด้วยเหล็กวิลาด รูปสี่เหลี่ยม สำหรับบรรจุสิ่งของ
ปี๊บ (ก.) (ท้องถิ่น)      การแสดงออกถึงความคับข้องใจบางประการ

ปี๊บ ที่เป็นคำนาม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน เพราะใช้ใส่ข้าวใส่น้ำได้ ในอดีตแถวบ้านปอพรานนิยมใช้ปี๊บขนาด 20 ลิตร แทนถังในการตักน้ำบ่อและน้ำบาดาล เนื่องจากบรรจุได้มากและราคาถูกกว่าถัง ประชาชนสามารถหาซื้อปี๊บตามร้านค้าในหมู่บ้านได้ เพราะร้านค้าเหล่านั้นจะซื้อน้ำตาลและน้ำมันก๊าดบรรจุปิ๊บมา พอขายหมดเขาก็จะขายป๊๊บเปล่าให้ในราคาไม่แพงนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับถังสังกะสีหรือแม้แต่ถังพลาสติก) แต่กว่าจะได้ปี๊บมาใช้ก็จะต้องสั่งจองร้านค้าเอาไว้ เพราะน้ำตาลกับน้ำมันก๊าดนั้นกว่าจะขายหมดก็ใช้เวลานานอยู่พอสมควร อีกทั้งเจ้าของร้านก็มีความจำเป็นในการใช้ปี๊บใส่ของเหมือนกับชาวบ้านคนอื่นๆ เหมือนกัน ปี๊บน้ำมันก๊าดจะเป็นที่นิยมกว่า เพราะมีฝาปิดมิดชิด ใส่น้ำได้ดี ส่วนปิ๊บน้ำตาลนั้นไม่มีฝาปิด เวลาเอาไปขนน้ำมันก็จะหกได้ง่าย จึงไม่ค่อยนิยมกันเท่าไหร่ มีปี๊บที่ด้านหนึ่งเป็นกระจกใสด้วย มักเป็นปี๊บใส่ขนมปังกรอบหรือทองม้วน ขนาดไม่ใหญ่นัก (ประมาณ 10 ลิตร) ชาวบ้านอาจจะซื้อปี๊บแบบนี้ไปใช้ใส่ข้าวสารหรือแป้ง ใส่น้ำไม่ได้ เพราะรั่วซึมบริเวณกระจก

ปี๊บใช้งานได้เหมือนถัง แต่ไม่แนะนำให้ใช้เป็นภาชนะสำหรับซักผ้า (ควรหาซื้อกาละมังมาใช้ดีกว่า) เพราะก้นปี๊บนั้นลึกเกินกว่าหนึ่งศอก (ถ้าเป็นเด็กก็สุดแขนเลยทีเดียว) และตัวป๊๊บก็แคบ ซักผ้าในปิ๊บอันตราย เพราะขอบปี๊บค่อนข้างคม อาจจะบาดแขนเอาได้

นอกจากนี้ ปี๊บอาจจะนำมาใช้งานได้อีกหลายอย่าง ในการละเล่นปิดตาตีหม้อนั้น ระยะหลังๆ ใช้ปี๊บแทน เพราะตีแล้วไม่แตก ทั้งยังเกิดเสียงดังดีอีกด้วย และความที่มันดังอย่างนั้นก็ทำให้เกิดสำนวน เตะปี๊บดัง ใช้สำหรับผู้สูงวัยที่ยังมีสมรรถภาพ (ทางเพศ) อยู่

ปัจจุบันก็ยังมีการใช้ประโยชน์จากปี๊บอยู่แพร่หลาย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งมักนิยมบรรจุน้ำตาลที่ทำจากมะพร้าวในปี๊บ เราจึงเรียกว่าน้ำตาลปี๊บเสมอมา หรือขนมปังกรอบนั้นก็เห็นบรรจุปิ๊บอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ปี๊บยังใช้ประโยชน์ในทางวิชาการได้อีกด้วย เพราะนักวิชาการนิยมเอาใช้แสดงออกถึงความอับอายที่ถูกจำกัดเสรีภาพในมหาวิทยาลัย หรือประท้วงผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ไม่รู้กาลเทศะหรือหลักในการบริหาร

อย่างไรก็ตาม ในบางท้องถิ่น เช่น โคราช เรียกภาชนะนั้นว่า ปีบ แต่ในภาษาโคราชนั้น ปี๊บ เป็นคำกริยา คือการเปล่งเสียง ปี๊บ ออกมาดังๆ เพื่อแสดงอารมณ์บางประการในลักษณะเพื่อความสะใจ อาจจะพอใจหรือไม่พอใจก็ได้ บางทีก็เป็นลักษณะอาการที่แสดงออกถึงความคับข้องใจบางประการ ตัวอย่างเช่น โดนแม่ด่า แล้วไม่พอใจอาจจะออกไป ปี๊บ อยู่หน้าบ้านหรือกลางหมู่บ้านเลยก็ได้ บอกให้แม่หรือชาวบ้านทั่วไปรู้ว่าไม่พอใจ เพราะเมื่อเราไม่พอใจพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่นั้น เราจะด่าว่าท่านไม่ได้ เราจึงแสดงออกด้วยการ ปี๊บ ออกมาดังๆ พอให้คลายความอึดอัดใจ ท่านก็จะเข้าใจความรู้สึกของเราได้

ปี๊บนั้นบางครั้งก็อาจจะแสดงถึงความพอใจอย่างยิ่งก็ได้ (แต่ไม่ค่อยเห็นใช้กันในลักษณะนี้มากนัก) ปี๊บนั้นมักจะถูกตีความว่าเป็นลักษณะของความไม่พอใจหรือประท้วงอะไรสักอย่างหนึ่ง มากกว่าจะพึงพอใจ ชาวโคราชนั้นหากพึงพอใจมักจะแสดงด้วยการเปล่งเสียงว่า ฮิ้ว ยาวๆ ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัยนั้นเมื่อก่อนเป็นโรงเรียนชายล้วน กิริยาที่ท่านผู้อำนวยการหรืออาจารย์หลายท่านไม่ชอบถึงขนาดเอามาพูดหน้าเสาธงเลยคือ การที่นักเรียนแสดงความชอบใจขณะที่ครูสอนด้วยการ หัวเราะ ฮ่า... ตามด้วยคำว่า ฮิ้ว ออกมาดังๆ ท่าน ผอ. ที่มีพื้นเพจากภาคกลาง เห็นว่าไม่สุภาพ แต่ถ้าครูอาจารย์เป็นคนแถวนั้นก็จะไม่ว่าอะไร เพราะครูก็ ฮ่า ฮิ้ว อยู่บ่อยๆ เวลาได้เลื่อนขั้น

ดังนั้น ปี๊บหรือปีบ อาจจะใช้ได้ในหลายบริบท หลายกาลเทศะ ค่อนข้างจะมีเสรีภาพ ไม่สู้จะมีผู้ใดขัดขวางการใช้ปี๊บ ไม่ว่าจะใช้ตักน้ำ คลุมหัว หรือเปล่งเสียงปี๊บ ก็ล้วนเป็นเสรีภาพที่ทำได้ทั้งสิ้น พวกที่ห้ามปรามหรือต่อต้านการใช้ปี๊บ ส่วนใหญ่มักเป็นคนไม่มีอารยธรรม หรือมีสติปัญญาที่ตื้นเขินเกินกว่าจะเข้าใจความหมายของปี๊บได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net