Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

Steven Rosenbaum คอลัมนิสต์ของ Forbes บอกดังๆ ผ่านคอลัมน์ของเขาว่า “ทีวีตายแล้ว” บทความเขาชื่อ “Why the television is dead.” ขณะที่ก่อนหน้านี้ราวๆ 5-6 ปีก่อนหน้านี้ ผมได้ยินเพื่อนจากแม็คคลีน (เวอร์จิเนีย) คนหนึ่งพูดเรื่องเดียวกันนี้  เขาบอกว่าทำเนียบขาวกำลังโปรแกรมเรื่องการสื่อสารกับสื่อมวลชนใหม่โดยระบบเทคโนโลยีการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ เพราะเห็นว่าวิธีการสื่อสารสมัยใหม่สามารถสื่อสารกับมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการสื่อสารผ่านสื่อมวลชนอาชีพ โดยเฉพาะสื่อมวลชนอาชีพที่หมายถึงสื่อโทรทัศน์ หรือทีวี ที่มีอิทธิพลมายาวนาน

จุดอ่อนและจุดแข็งของสื่อทีวี คือ เป็นสื่อแบบการสื่อสารทางเดียว ซึ่งการเป็นสื่อแบบดังกล่าวทำให้ไม่สามารถสื่อสารแบบสองทางได้ แต่การไม่สามารถสื่อสารแบบสองทางได้ก็ทำให้ทีวีได้อยู่แบบไม่ต้องกังวลผลสะท้อนกลับของผู้รับชม

แต่ในยุคดิจิตัลนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ การผลิตซอฟท์แวร์ประยุกต์หรือแอพลิเคชั่นหลายอย่างขึ้นมา นับว่าเป็นการท้าทายต่อธุรกิจทีวีทั้งสิ้น อย่างเช่น ยูทูบ (youtube)  หรือเว็บไซต์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ 

ไม่แต่เท่านั้นระบบออนไลน์ในปัจจุบันได้ทำให้แทบทุกคนและแทบทุกองค์กรสามารถผลิตสื่อเป็นของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่ง (ผ่าน) สื่ออาชีพอีกต่อไป เช่น การผลิตวีดีโอข่าวสารข้อมูลแล้วใส่ไว้ในโปรแกรมประยุกต์ขององค์กรของตนเอง หรือจะฝากไว้กับยูทูบก็ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าว เป็นการลดการพึ่งพาทีวีทั่วไปลงอย่างสิ้นเชิง พร้อมคำถามว่า “ทำไมคุณจะต้องไปพึ่งสื่อทีวีอีก”ในเมื่อคุณสามารถผลิตสื่อของคุณเองได้

ที่สำคัญการผลิตสื่อเองโดยไม่ผ่านทีวีทั่วไปเหล่านี้ ตอบสนองรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสื่อยุคใหม่ที่ลักษณะเป็นการสื่อสารแบบไร้พรมแดน สื่อสมัยใหม่เป็นช่องทางที่ทำให้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ ถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ด้วยการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ที่เข้าสู่ยุค “การเจาะเฉพาะกลุ่ม”เพราะข้อมูลข่าวสารทุกวันนี้มีมากมายมหาศาลจนทะลักล้น  ไม่มีใครมานั่งรอดูรายการที่ตนเองสนใจในขณะที่มีรายการอื่นคั่นอยู่ พัฒนาของการนำเสนอของสื่อสมัยใหม่จึงเน้นเป้าหมายการสื่อสารถึงกลุ่มคน กลุ่มองค์กร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น วิธีการนำเสนอของทีวีทั่วไปจึงพร่าเลือน

นอกจากนี้การสื่อสารสมัยใหม่ยังเป็นการสื่อสารมวลชนแบบการสื่อสารในแนวนอน ซึ่งเป็นรูปแบบของการสื่อสารด้วยความเท่าเทียมกัน ปราศจากเงื่อนไขด้านสถานภาพบุคคล เวลาที่ทำการสื่อสารกันจะไร้ซึ่งตำแหน่ง ชนชั้น ไม่ใช่การสื่อสารแบบเจ้านายกับลูกน้อง หรือต้องผ่านระเบียบขั้นตอน ซึ่งการสื่อสารมวลชนรูปแบบดังกล่าวยังเป็นรูปแบบการสื่อสารของทีวีอยู่ในปัจจุบัน

ที่สำคัญการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่เป็นการสื่อสารมวลชนแบบสองทาง  เป็นรูปแบบการสนทนา ตอบปัญหาหรือโต้ตอบกันไปมาในช่วงเวลานั้นๆ เพราะฉะนั้นใครหรือรัฐบาลใด คิดว่าจะสื่อสารทางเดียวให้คนอื่นฟังตนเพียงอย่างเดียว นับเป็นความคิดที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ และจะประสบกับความล้มเหลวในการสื่อสาร ซึ่งในแง่นี้วัฒนธรรมการสื่อสารแบบทางเดียวของทีวีกำลังจะตกยุค ทำให้การสื่อสารผ่านทีวีมีคนสนใจน้อยลง เหมือนสื่อหนังสือพิมพ์ (กระดาษ) ที่แปลงกายเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ออนไลน์กันแทบจะหมดแล้ว หรือนึกไม่ออกแล้วว่าสื่อหนังสือพิมพ์แบบไหนที่ไม่ผันตัวเองเข้าหาระบบออนไลน์

ทีวีในอเมริกา เป็นนกรู้ในเรื่องนี้ พวกเขาได้ปรับตัวเองด้วยการพาช่องทีวีไปสู่ระบบออนไลน์กันทุกเจ้า หลายรายลงทุนพัฒนาซอฟท์แวร์ของตนเองเพื่อให้ผลิตรายการในรูปแบบจำเพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น คอข่าวการเมืองก็สามารถคลิกเพื่อฟังการสัมภาษณ์บุคคลทางการเมืองที่ตนเองสนใจได้ทันที ดังนั้น ในตอนนี้จึงเสมือนยุคเปลี่ยนผ่านระหว่างทีวีแบบเดิมที่มีเครื่องรับตามบ้านกับทีวีอินเทอร์เน็ตที่มีเครื่องรับ คือ คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

จึงเห็นได้ว่าระบบทีวีแบบเดิมๆ มีช่องในการทำมาหากินแคบลงทุกที ขณะที่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น ทั้งเครื่องอุปกรณ์และค่าจ้างพนักงานในองค์กร

สื่อสมัยใหม่ อย่างระบบออนไลน์โดยผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ยังตอบสนองต่อสังคมมนุษย์ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ความไร้กาลเวลาและสถานที่ กล่าวคือ มนุษย์บนโลกนี้มีกิจกรรมตลอด 24 ชั่วโมง และเคลื่อนมาย้ายไปในทุกๆ ที่ โลกสมัยใหม่ไม่เคยมีกลางวันหรือกลางคืน  วิธีการสื่อสารสมัยใหม่ “หลังยุคทีวี” จึงเป็นวิธีการสื่อสารมวลชนที่ไร้ทั้งพื้นที่และเวลาไปด้วย  เป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารมวลชนในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งผู้รับสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้ทุกสถานที่ที่มีคลื่นสัญญาณและตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ ไม่ว่าวิธีการสื่อสารยุคไหน ล้วนแต่มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น เป็นการสื่อสารมวลชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านธุรกิจหรือมีผลประโยชน์เชิงธุรกิจไม่ว่าจะอ้างว่าตนเองทำหน้าที่สื่อของรัฐหรือขององค์กรไม่หวังผลกำไร หรือแม้จะเป็นการสื่อสารมวลชนด้านศาสนาก็ตาม ทั้งหมดมีมีต้นทุนทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นสื่อทีวีหรือสื่อออนไลน์สมัยใหม่ซึ่งมีลักษณะเป็นมัลติมีเดีย

Wilbur Schramm ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านสื่อสารอเมริกัน กล่าวไว้ใน How communication works. ว่า ช่องทางการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่ช่วยให้สารที่สื่อออกไปถึงกลุ่มคนต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น ผู้รับข้อมูลข่าวสารไม่ต้องตีความมาก  เพราะเป็นการสื่อแบบตรงๆ เหมือนพุดคุกันธรรมดา เพียงแต่เปลี่ยนจากการพูดคุยแบบธรรมดาๆ นั้นเป็นการพูดคุย (สื่อสาร) กับคนจำนวนมาก โดยนัยนี้วิธีการสื่อสารมวลชนในโลกปัจจุบันจึงมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างและรวดเร็วกว่าการสื่อสารในยุคเก่า ซึ่งผมขอตีความตาม Steven Rosenbaum ด้วยว่า ทีวีก็อยู่ในยุคเก่านั้นด้วย

ในหนังสือของ Ann N. Crigler และ Klaus Bruhn Jensen ชื่อ Discourses on politic: talking about public issues in the United States and Denmark ชี้ว่าการสื่อสารแบบใหม่จึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปในด้านต่างๆ เช่น การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนาและวัฒนธรรม  เครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทำความหมายของพื้นที่สาธารณะ (public sphere) เปลี่ยนไป จากแต่เดิมเป็นการสื่อสารพื้นที่นอกบ้านและในบ้าน กลายเป็นทุกคนถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสาธารณะ (public figure) ไปโดยปริยาย อิทธิพลของการสื่อสารมวลชนสมัยใหม่จึงมีมาก การรับข้อมูลข่าวสารเป็นประจำบ่อยๆ ส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของคนๆ นั้น โดยไม่รู้สึกตัว

ขณะเดียวกันสื่อสมัยยังรองรับต่อกระแสเสรีประชาธิปไตยที่มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อกลางแบบสองทาง มวลชนทั่วโลกสามารถสื่อสารถึงกันไปมาอย่างสะดวกและรวดเร็ว กระจกและตะเกียงส่องหาความจริงไม่ต้องไปหาที่ไหน แต่หาได้จากเสียงสะท้อนผ่านบุคคลหรือกลุ่มต่างๆ ที่อยู่บนระบบออนไลน์นั้นโดยตรง

สำหรับทีวีในอเมริกา จึงเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนตนเองอย่างขนานใหญ่ เหมือนที่สื่อสิ่งพิมพ์ได้เปลี่ยนตัวเองไปก่อนหน้านี้

Steven Rosenbaum บอกว่า สื่อทีวีแบบใหม่ที่เรียกว่า T/V = television /video หรือทีวีภาคออนไลน์หรือกำลังมาแรง ถึงขนาดมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการใช้เงินเพื่อการลงทุนเพิ่มจากจำนวน 4.14  พันล้านดอลลาร์ในปีนี้เป็น 8.04 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016

ในอเมริกาเวลานี้ ถ้าสังเกตจะเห็นป้ายโฆษณาตัวเองของช่องทีวีต่างๆ ขึ้นอยู่ทั่วไปมากขึ้น ทั้งแถวฟรีเวย์สำคัญๆ และตามเมืองใหญ่ เพราะทีวีก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีการแข่งขันสูง การสื่อสารโดยทีวีรูปแบบเดิม เช่น ผ่านดาวเทียม หรือเคเบิล กำลังอยู่ในภาวะร่วงโรยถดถอย ขณะที่ T/V รูปแบบใหม่กำลังมาแรง.
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net