จาตุรนต์ ฉายแสง: 8 ปี รัฐประหาร 2549 'เสียของ' หรือ 'ไม่เสียของ'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การรัฐประหารเมื่อปี 2549 มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากการรัฐประหารครั้งอื่นๆ อยู่อย่างหนึ่งคือ เป็นการรัฐประหารที่ไม่มีผลเด็ดขาดไปทางใดทางหนึ่ง คือ ไม่ใช่รัฐประหารแล้วผู้ทำรัฐประหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปหลายๆ ปี และก็ไม่ใช่รัฐประหารที่อยู่ได้สั้นๆ แล้วถูกต่อต้านคัดค้านจนต้องม้วนเสื่อถอยไป และยอมให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากๆ แต่เป็นการรัฐประหารที่คาราคาซัง ฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายที่ไม่สนับสนุนอยู่ในสภาพเหมือนชักเย่อยื้อกันไปยื้อกันมา ไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่งเป็นเวลานาน

การรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน จึงเป็นการรัฐประหารที่มีการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบต่อเนื่องมากที่สุด ทั้งในเวลาที่มีการพูดถึงการเมืองไทย และในโอกาสครบรอบปีทุกๆ ปี

ในการประเมินผลกระทบจากการรัฐประหารปี 49 นั้น สามารถดูจากข้ออ้างในการทำรัฐประหาร และสิ่งที่คณะรัฐประหารต้องการจะทำเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะพบว่าในแต่ละปีที่ผ่านมา การวิเคราะห์ประเมินผลของการรัฐประหารปี 49 จะได้ข้อสรุปที่คงเส้นคงวามาตลอด การมาประเมินกันในปีนี้ ข้อสรุปนอกจากจะสอดคล้องกับข้อสรุปในปีก่อนๆ แล้ว ยังน่าจะเป็นการตอกย้ำทำให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ข้ออ้างในการทำรัฐประหารที่สำคัญมีอยู่ 4 ข้อ

ข้ออ้างข้อที่ 1 เรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่น เราจะพบว่า ถึงแม้คณะรัฐประหารจะใช้ คตส. ซึ่งเป็นเครื่องมือในกระบวนการที่ไม่ปรกติเข้าตรวจสอบ แต่ก็สามารถดำเนินคดีลงโทษบุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารได้น้อยมาก ส่วนระบบในการป้องกันปราบปรามการทุจริตที่สร้างขึ้นหลังการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่ไม่เป็นกลาง และเลือกปฏิบัติอย่างโจ่งแจ้ง แต่ก็สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้น้อยมากเช่นกัน ทั้งยังไม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายต่างๆ ในสังคมด้วย

ข้ออ้างข้อที่ 2 เรื่องมีการหมิ่นเหม่ต่อสถาบันฯ หลังรัฐประหารแล้วไม่มีการดำเนินคดีที่เป็นที่ยุติได้ว่า บุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารกระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแม้แต่รายเดียว มีแต่ผู้ที่กล่าวหาคนในรัฐบาลถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท และถูกศาลตัดสินว่าหมิ่นประมาทจริง ก่อนการรัฐประหาร มีกรณีที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มาก แต่หลังการรัฐประหารเรื่อยมามีการกล่าวหาและดำเนินคดีในข้อหาล้มเจ้าบ้าง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพบ้างมากกว่าก่อนการรัฐประหารหลายสิบเท่า

ข้ออ้างข้อที่ 3 การบริหารแผ่นดินแทรกแซงองค์กรอิสระ หลังการรัฐประหารกลับมีองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระเลยแม้แต่น้อย หากเป็นองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งหรือเห็นชอบโดยคณะรัฐประหารที่ทำหน้าที่ต่อเนื่องกันมา โดยปราศจากความเป็นกลาง เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นที่ยอมรับ จนมีคำถามในภายหลังว่าองค์กรไหนมีความจำเป็นและคุ้มค่าที่จะดำรงอยู่มากน้อยเพียงใด

ข้ออ้างข้อที่ 4 ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม หลังรัฐประหารความขัดแย้งแตกแยกกลับยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ ทั้งจากเรื่องเดิมที่ว่าใครควรเป็นรัฐบาล และเรื่องกฎกติกาของบ้านเมือง ระบบยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ฯลฯ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีอยู่ในทุกระดับของสังคม และขยายวงออกไปอย่างกว้างขวาง ยิ่งกว่าก่อนการรัฐประหารปี 49 จนกระทั่งกลายเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารในครั้งล่าสุด ซึ่งก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ และยังอาจเพิ่มประเด็นที่สังคมมีความเห็นแตกต่างกันมากขึ้นอีกด้วย

สำหรับสิ่งที่คณะรัฐประหารปี 49 ต้องการทำเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ได้ตรงกับข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ ก็คือ การทำตามบันไดสี่ขั้น ซึ่งต้องการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ คือ การทำลายพรรคไทยรักไทย ทำทุกอย่างเพื่อป้องกันขัดขวางไม่ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสายทักษิณ ไทยรักไทย กลับมาเป็นรัฐบาล และเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล สร้างรัฐธรรมนูญที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะไม่สามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง และผู้มีอำนาจแท้จริงตามรัฐธรรมนูญจะสามารถหักล้างมติมหาชนจากการเลือกตั้งได้โดยง่าย

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นไปตามแผนบันไดสี่ขั้น เพราะประชาชนไม่เออออด้วย การใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญหักล้างมติมหาชนจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อประชาชนพยายามแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถทำได้ กระบวนการปกป้องรัฐธรรมนูญ และการจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้พัฒนาเกินเลยไป จนกลายเป็นการสร้างระบบที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลงไปอีก เกิดเป็นความเสียหายต่อระบบยุติธรรม และเมื่อใช้วิธีการทุกอย่างที่สามารถทำได้ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 50 แล้วก็ยังไม่เป็นผล การรัฐประหารก็เกิดขึ้นในที่สุด

มีการพูดกันมากว่า การรัฐประหารเมื่อปี 49 นั้นเป็นการ "เสียของ" เรื่องนี้ก็แล้วแต่มุมมองที่แตกต่างกันไป

จะบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ไม่ประสบความสำเร็จตามข้ออ้าง 4 ข้อ จึงถือว่าล้มเหลวและเสียของคงไม่ได้ เพราะข้ออ้างทั้ง 4 ข้อ จริงๆ แล้วก็เป็นเพียง "ข้ออ้าง" ที่เป็นสูตรสำเร็จ ที่มักใช้กันเสมอๆ เวลาที่จะมีรัฐประหาร เมื่อรัฐประหารแล้ว ก็หาได้พยายามทำอะไรจริงจังตามข้ออ้างแต่อย่างใดไม่

ถ้าดูจากสิ่งที่คณะรัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน หมายมั่นปั้นมือจะทำให้สำเร็จแล้วไม่สำเร็จ ก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญอยู่ที่การฝืนความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับพัฒนาการทางการเมือง ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร

คงไม่มีใครบอกได้ว่า ถ้าพลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน กับพวกเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกันเสียเอง และใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่าที่ทำไปแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร คณะรัฐประหารจะประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ หรืออาจจะล้มเหลวยิ่งกว่าที่ผ่านมาก็เป็นได้

ปัญหายังอยู่ที่คำว่า "เสียของ" เราจะมองอย่างไร คำว่า "เสียของ" หมายความว่าอย่างไร

บางคนอาจมองว่า การที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถกวาดล้างคุณทักษิณกับพวกให้สิ้นซากไปจากการเมืองไทย และล้มเหลวที่ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองการปกครองที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร 

แต่นั่นเป็นการ "เสียของ" จริงหรือ ถ้า "เสียของ" ใครเสียของ

หากคณะรัฐประหารทำสำเร็จในการกำจัดคุณทักษิณกับพวกให้หมดไป อาจต้องเกิดจากการทำลายระบบการเมืองการปกครองและระบบยุติธรรมให้ย่อยยับลงไปยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้ สังคมไทยอาจตกอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งและความรุนแรงยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้วก็ได้มิใช่หรือ

ถ้าคณะรัฐประหารปี 49 ทำสำเร็จในการสร้างระบบที่มีหลักประกันว่า ประชาชนจะต้องไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรยิ่งกว่าที่เกิดขึ้นมาแล้ว ใครคือผู้เสียประโยชน์ มิใช่ประชาชนทั้งประเทศหรือ?

ถ้าบอกว่าการรัฐประหารปี 49 ล้มเหลวที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้ ก็คงจะต้องดูให้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการรัฐประหารนั้น ไม่ใช่มุ่งแก้ความขัดแย้งมาแต่ต้น ในความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นได้ซ้ำเติมให้ความขัดแย้งยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นไปอีกเสียมากกว่า ว่าไปแล้วการรัฐประหารปี 49 เองนั่นแหละ คือต้นเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ความขัดแย้งบานปลาย และโดยธรรมชาติแล้วการรัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้นไม่มีทางที่ช่วยแก้ความขัดแย้งในสังคมไทยได้เลย เมื่อประกอบกับเจตนารมณ์ของคณะรัฐประหารที่เต็มไปด้วยมโนทุจริตด้วยแล้ว การรัฐประหารปี 49 จึงทำให้ความขัดแย้งยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้น

ถ้าจะสรุปว่า การรัฐประหารเป็นการ "เสียของ" ที่ทำอะไรหลายอย่างไม่สำเร็จ ก็อาจมองได้ แต่ถ้าคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศกันแล้ว ที่ "เสียของ" ไปก็ดีแล้ว ถ้า"ไม่เสียของ"สิ จะเสียหายมากกว่าที่เสียหายกันไปแล้วอีกมากนัก

หากใครจะคิดทำให้การรัฐประหารครั้งหนึ่งๆ "ไม่เสียของ" คงต้องคิดให้ดีเสียก่อนว่าคำว่า "เสียของ" หรือ "ไม่เสียของ" นั้นมีความหมายอย่างไรกันแน่.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท