การเมืองเรื่อง Cyborg : คำประกาศจาก Donna Haraway ใน “A Cyborg’s Manifesto”

“ A Cyborg’s Manifesto”บทความอายุ 31ปี ของ Donna Haraway ที่ยังคงทันสมัยอยู่ในโลกปัจจุบัน ถูกหยิบมาอ่านใหม่ โดยทวีลักษณ์ พลราชมจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในโครงการ‘หญิงอ่านเขียน เขียนอ่านหญิง ครั้งที่ 8’จัดโดยหลักสูตรสตรีศึกษา ฯ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทวีลักษณ์เริ่มต้นด้วยการแนะนำว่า Haraway นักสตรีนิยมสายสังคมนิยม ผู้มีภูมิหลังเป็นนักชีววิทยาและนักปรัชญา เขียนบทความนี้ขึ้นตั้งแต่ปี 1983 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และข้อมูลข่าวสาร บทความนี้ถูกนำไปตีพิมพ์ซ้ำในหนังสือของเธอเองชื่อ Simians, Cyborgs and Women ในปี 1991 กลุ่มเป้าหมายที่ Harawayอยากจะสนทนาด้วย  น่าจะเป็นฝ่ายซ้าย และนักสตรีนิยม  โดยเฉพาะนักสตรีนิยมที่รับเอาหน่วยวิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์มาใช้มองปัญหาผู้หญิง งานของ Haraway ได้พูดเรื่องจารีต การวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ชายหญิงแบบตะวันตก ที่มีลักษณะการมองแบบคู่ตรงข้าม  อย่างไรก็ตาม  ส่วนใหญ่งานชิ้นนี้ ถูกนำไปใช้กันในหลายแวดวง นอกเหนือจากแวดวงสตรีนิยมเอง

ใน “A Cyborg’s Manifesto” Haraway พูดถึง เส้นแบ่งบางอย่างระหว่างธรรมชาติ (natural) กับ วัฒนธรรม (cultural) ซึ่งถูกทำลายลงในยุคของข้อมูลข่าวสาร และเธอยังพยายามชี้ให้เห็นถึง รอยต่อของการก้าวไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลกับผู้คนมากขึ้น รวมถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารในสงครามสมัยใหม่  แต่อย่างไรก็ตาม ทวีลักษณ์ กล่าวว่า การที่จะเข้าถึง งานของ Haraway ได้นั้น จะต้องมีพื้นฐานด้านสตรีนิยมพอสมควร โดยเฉพาะแนวคิดสตรีนิยม สายประจักษ์นิยม และสายมาร์กซิสต์

เมื่อเข้าสู่ประเด็น Cyborg [ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำว่า Cyber] คำถามคือ Cyborg คืออะไร ? ในขั้นเบื้องต้น อาจจะทำความเข้าใจได้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาในลักษณะลูกผสม (Hybrid) คือ เป็นการ ‘ผสาน’ ระหว่าง mechanismกับ organism ที่เป็นเรื่องของร่างกาย การตัดแต่งพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากระบบมนุษย์ไปอย่างมาก เทคโนโลยีต่างๆได้เข้ามาแทรกแซงในระบบร่างกายของมนุษย์ หรือที่เรียกอีกว่าเทคโนโลยีชีววิทยาบางอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ในตัวมนุษย์นั้นเองยกตัวอย่างเช่น เด็กหลอดแก้ว การทำศัลยกรรม เป็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโลกไซเบอร์

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นที่ Haraway เขียนไว้ ตั้งแต่ปี 1983 หรือ 30 ปี ก่อนทุกวันนี้ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จึงอาจกล่าวได้ว่า งานเขียนชิ้นนี้ เป็นงานเขียนแนววิพากษ์ที่ร่วมสมัยมาก แต่ปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่ Haraway ได้พูดถึงไว้ อย่างเช่น การต่อสู้ที่อิสราเอลยิงระเบิดไปที่ฉนวนกาซ่า อาวุธต่างๆ มีขนาดเล็กลง และถูกควบคุมด้วยระบบโครงข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งยังสามารถแทรกแซงมนุษย์ได้ในทุกมิติ  ตัวอย่างข้างต้นย้ำเน้น ให้เห็นว่า ตัวมนุษย์เองไม่สามารถที่จะแยก ออกจากเทคโนโลยี ยิ่งโลกเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเท่าไร ความล้ำหน้าและการครอบงำของเทคโนโลยีบนตัวมนุษย์ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น  และบางสิ่งก็เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ Haraway ต้องการขี้ให้เห็นในหัวข้อนี้ก็คือ เส้นแบ่งระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ไม่มีอีกต่อไปแล้ว

แนวคิดนี้ท้าทาย ให้ผู้หญิงปฏิเสธประวัติศาสตร์ความเป็นชายและแทนที่ด้วย “การเขียนความจริงของร่างกายของพวกเธอ” ("write the truth of their bodies") ผ่านมรรควิธี อย่างเช่น อัตชีวประวัติ และการสวมบทบาท ปฏิบัติการนี้เรียกว่า "feminine writing" หรือ  "l'ecriture feminine" Haraway ได้ขยายอิทธิพลของการเขียนแบบนี้ ไปสู่จิตวิญญาณ การเขียนของผู้หญิง โดยการใช้ความไม่ต่อเนื่อง ภาษาที่เป็นการสวมบทบาทและอัตชีวประวัติที่จะบรรยายความจริงของร่างกายใหม่ นั่นคือ cyborg

ในส่วนที่ 2 Haraway ได้พูดถึงเรื่องของอัตลักษณ์ที่เป็นแกนกลางในการศึกษาของสตรีนิยม ทั้งในประเด็น Identity และ affinity และได้วิพากษ์แนวคิดมาร์ซิสต์ที่ไม่ได้พูดถึงมิติของผู้หญิงมากเท่าที่ควร ด้วยมัวแต่หมกหมุ่นอยู่แต่กับเรื่องของชนชั้น  แต่แท้ที่จริงแล้ว การกดขี่ที่มีมานานคือการกดขี่ระหว่างเพศอย่างไรก็ตาม Haraway ก็ไม่เห็นด้วยกับสตรีนิยมสาย radical ที่อธิบายการกดขี่ทางเพศแบบหยุดนิ่งตายตัว และถูกครอบงำโดยแนวคิดสตรีนิยมแบบตะวันตก

นอกจากนี้ Haraway ยังชี้ว่า ความเป็นผู้หญิงไม่ได้มีอีกต่อไป ดังจะเห็นได้จาก การละเมิดของสาวประเภทสองที่ทำได้เหมือนผู้หญิงมาก จนทำให้เห็นว่าความเป็นหญิงนั้นสามารถออกแบบสร้างขึ้นมาเองได้หมด ดังนั้นจึงทำให้ความเป็นหญิงถูกตั้งคำถามรวมถึงการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่เป็นแก่นกลางของการเมืองสตรีนิยมก็ถูกตั้งคำถามเช่นเดียวกัน

ในประเด็นการเมืองเรื่อง cyborg หรือ  Cyborg Politics Haraway ขยายความว่า ผู้หญิงที่ถูกกดขี่ในแต่ละบริบท จะมีการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่มีร่วมกันได้อย่างหนึ่งคือจิตสำนึกของการต่อต้าน(oppositional consciousness)ที่มีอยู่ในตัวทุกคน ซึ่งเป็นการค่อยๆ เกิด และไม่ได้มีมาก่อนหน้านี้ แต่มาจากบริบททางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม Haraway ได้ยกตัวอย่างให้เห็นผ่านการวิเคราะห์คำว่า “ผู้หญิงผิวสี” (women of colour) ซึ่งเธอมองว่า มันมีความเป็นไปได้ของการผูกสมัครทางการเมือง(Affinity Politics) ดังเช่นที่ นักคิดสตรีนิยม Chela Sandoval ได้อ้างถึงคำว่า Chicana ที่โต้แย้งว่า ไม่มีอะไรของผู้หญิงผิวสี ที่เป็นแก่นแท้ เธอใช้คำว่า จิตสำนึกของการต่อต้าน (oppositional consciousness) เพื่ออภิปรายให้เห็นว่าคำว่า "women of color" เกิดขึ้นในแวดวงสตรีนิยม มาจากบริบทการต่อสู้ของสตรีนิยมที่วิพากษ์เครือข่ายอำนาจ การครอบงำทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ตะวันตก และแม้แต่ในหมู่คนผิวดำ การต่อสู้ของคนผิวดำที่เกิดขึ้นก็มาจากบริบทแบบอเมริกา Haraway ใช้จิตสำนึกของการต่อต้านเพื่อจะประกอบเป็น a cyborg politics เพราะที่มากกว่าการเป็นอัตลักษณ์ คือ การเน้นถึงความผูกสมัครทางการเมือง ซึ่งเป็นผลมาจาก “ความเป็นอื่น ความแตกต่างและความจำเพาะ” ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์ของแต่ละที่

ในส่วนที่ 3 Haraway พูดถึงการควบคุมของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร และแสดงให้เห็นถึงร่างกายของมนุษย์ ที่เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาควบคุมทั้งหมด

ต่อจากนั้น ส่วนที่ 4 เป็นการพูดถึงการกดขี่รูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ผ่านงานต่างๆ ที่ผู้หญิง และเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ Haraway ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ขาดไปในการวิเคราะห์เกี่ยวกับแรงงานผู้หญิง ก็คือ เรื่องโครงสร้างการจ้างงาน เช่น ผู้หญิงและเด็ก จะต้องทำชิ้นส่วนงาน ที่มีความละเอียด หรือสิ่งของเล็กๆ ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่ต้องนำมาประกอบกับชิ้นส่วนอื่น ระบบงานดังกล่าวนี้ ทำให้พื้นที่ส่วนตัวหายไป นอกจากจะถูกใช้แรงงานทั้งวันแล้ว ยังต้องเอากลับมาทำที่บ้าน จึงทำให้ผู้หญิงถูกกดขี่มากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น งานเย็บผ้าที่สามารถนำกลับมาทำที่บ้าน  งานเหล่านี้ได้สร้างความยากจนให้กับเด็กและผู้หญิง ผู้หญิงต้องกลายเป็นคนหาเงินหลักให้กับครอบครัวส่วนผู้ชายก็ถูกลดการจ้างงานลง และที่สำคัญคือ ผู้หญิงโลกที่สามต้องเข้าสู่ระบบแรงงานมากขึ้น กลายเป็นว่าเมื่อผู้หญิงเข้าสู่ระบบทุนนิยม ทำให้ผู้หญิงห่างไกลจากการเป็นเจ้าของที่ดิน ห่างไกลจากการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตของตัวเอง เพราะผู้หญิงต้องนำแรงงานของตัวเองไปใช้ผลิตในระบบทุนนิยมเสียหมด และภายใต้บริบทเช่นนี้การแบ่งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิงได้จางลง และผู้หญิงกลายเป็นแรงงานทั้งในบ้านและนอกบ้านเพื่อหาเงินมากขึ้น

ส่วนที่ 5 ได้กล่าวถึงพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะที่ไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้

ส่วนที่ 6 เป็นบทสรุปซึ่ง Haraway ได้นำงานของผู้หญิงผิวสีต่างๆ มานำเสนอ และ เน้นย้ำว่าเราไม่สามารถกลับไปสู่จุดกำเนิดดั้งเดิมของความเป็นผู้หญิงได้อีก Haraway กังวลเกี่ยวกับการเกิด “Goddess Feminism” ในการเคลื่อนไหว ที่นักคิดสตรีนิยมอเมริกันพยายามปฏิเสธสิ่งที่เป็นเทคโนโลยีและการกลับไปสู่ธรรมชาติของผู้หญิง Haraway มองการเคลื่อนไหวนี้เป็นปฏิกิริยาโต้กลับ (อนุรักษ์นิยม) มากกว่าความก้าวหน้าทางการเมืองของสตรีนิยม

เข้าสู่ช่วงเปิดประเด็นแลกเปลี่ยน
Reading group ที่หลักสูตรสตรีฯ จัดขึ้นนี้ จะจัดเตรียมเอกสารไว้ให้ผู้เข้าร่วมขอรับได้ทาง online เพื่อเตรียมตัวอ่านมาก่อน แล้วนำประเด็นที่สนใจมาถกเถียงกับวิทยากร และผู้เข้าร่วมท่านอื่นๆ

ผู้เข้าร่วมท่านแรก ได้เปิดประเด็นขึ้นมาว่า ตอนเริ่มอ่าน ไม่ได้มีภูมิหลังทางสังคม จึงไม่ทราบว่า เขาเขียนในบริบทอะไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคืองานนี้ได้จับเรื่องของเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสาร อินเตอร์เน็ตที่ทำให้พื้นที่สาธารณะกับพื้นที่ส่วนตัวไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งทวิลักษณ์ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ถ้ายกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ  ตอนที่เรากำลังนั่งเล่นอินเตอร์เนตสามารถที่จะคุยกับคนได้ทั่วโลก การนั่งแสดงความคิดเห็นผ่านพื้นที่ทางโลกอินเตอร์เนตนั้น เป็นที่น่าสงสัยว่า ในช่วงนั้นพื้นที่ที่เราอยู่จะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัวกันแน่

ผู้เข้าร่วมท่านต่อมา ได้หยิบเรื่องของการเปรียบเทียบผู้หญิงให้เหมือน cyborg จากที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเมื่อเข้ามาฟังการบรรยายในครั้งนี้ได้เห็นภาพที่ชัดเจน และไกลกว่าที่ตนได้คิดไว้ หลังจากนั้นทวีลักษณ์จึงได้เพิ่มเติมข้อมูลจากบทความว่า การที่ Haraway บอกว่าทุกอย่างมันไม่สามารถกลับไปสู่อะไรที่เป็น origin หรือแก่นแท้ดั้งเดิมได้เลย ซึ่งมีคนฉุกคิดว่าถ้าเป็นแบบนั้นแสดงว่าประสบการณ์ของผู้หญิงก็ไม่มีความหมาย เพราะ Haraway ได้พูดถึงว่าทุกอย่าง กลายเป็นเรื่องเล่าไปเสียหมด แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ก็ยังมีเรื่องเล่าของมันเอง กระบวนการต่างๆ ที่อธิบายเรื่องทางวิทยาศาสตร์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องเล่า อย่างเช่น การอธิบายกระบวนการผสมอสุจิเข้ารังไข่ ระหว่างที่เรากำลังอธิบายเรื่องแบบนี้อยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเล่าอยู่เช่นกัน  ผู้เข้าร่วมท่านเดิมจึงเสริมต่อไปว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจหากพูดถึงเรื่องอสุจิเข้ารังไข่ ซึ่งให้ความรู้สึกว่าการผลิตลูก หรือ สืบพันธุ์นั้นทำให้ผู้หญิงกลายเป็นแรงงานได้หรือไม่ ทวีลักษณ์จึงขยายความต่อว่า จากแต่เดิมมดลูกคือปัจจัยการผลิตแต่แท้ที่จริงแล้วผู้หญิงไม่ได้ครอบครองปัจจัยการผลิตดังกล่าวแล้ว เพราะเทคโนโลยีอาจมีการทำให้ท้องนอกมดลูกได้ก็มี จะเห็นได้ว่าโลกใบนี้มันถูกละเมิดไปหมดแล้ว

ต่อมา ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์จากคณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขอให้ขยายความประเด็น identity และ affinity ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทวีลักษณ์ได้อธิบายว่า ในบริบททางการเมือง ถ้าพูดถึง identity คือต้องเป็นทุกมิติชีวิต ทั้งส่วนตัวและสาธารณะเราจึงจะเข้าไปร่วมในการต่อสู้ แต่affinity คือ ความเป็นทางการเมืองไม่ต้องผูกพันกับทุกมิติในชีวิตของเราก็ได้เป็นการประสาน เป็นการร่วมมือในบางประเด็น บางจุดที่เราสนใจ หรือ มีความรู้สึกร่วมไปด้วย เช่น หากพูดถึงประเด็นเกย์ เราไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเกย์แต่เราก็มีความรู้สึกร่วมเข้าไปได้ อย่างไรก็ตาม Haraway เสนอเรื่องของจิตสำนึกของการต่อต้าน (oppositional consciousness)อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น จิตสำนึกของการต่อต้านนี้คือ ความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งในการต่อสู้ที่ทุกคนมีร่วมกันได้  หลังจากนั้นอาจารย์ชนิดาจึงสรุปว่า แสดงว่าเขาพยายามขยายพื้นที่การต่อสู้ของนักสตรีนิยมที่ก่อนหน้านี้บอกว่าไม่จำเป็นต้องมีจุดร่วมด้วยกัน ประสบการณ์ที่แตกต่างกันก็สามารถมาต่อสู้ได้ ทว่า Haraway ได้บอกว่ามันสามารถมีจุดร่วมกันได้ คือ จิตสำนึกของการต่อต้าน ที่สามารถมีร่วมกันภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แต่ละพื้นที่

ผู้สนใจอีกท่านหนึ่งได้ตั้งประเด็นจากคำพูดของ Haraway เองว่า Haraway เลือกที่จะเป็น Cyborg แต่ไม่เป็น Goddess แสดงให้เห็นว่างานของ Haraway นั้น ได้ย้อนกลับไปโต้เถียงกับสิ่งที่มีมาก่อนหน้านี้นานมาก เพราะ Goddess เป็นคำตั้งแต่สมัยที่มีมนุษย์ในยุคแรกๆ เลย ที่ผู้ชายมักจะคิดว่าผู้หญิงเป็น Goddess และผู้หญิงเองก็ชอบด้วยที่ผู้ชายคิดแบบนั้น แต่คำว่า Goddess นี้เองที่จำกัดกรอบให้กับผู้หญิง เพราะว่าการที่เป็น Goddessนั้นก็จะมีแค่เฉพาะเรื่องๆ ไป อย่างเช่น Goddess versus แม่, Goddess versus เมีย แต่ Cyborg นั้นจะจับทุกอย่างเข้ามาร่วมกัน Haraway เองอาจท้าท้ายพวกเฟมินิสต์  ก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ และอีกประเด็นที่น่าสำคัญ คือเรื่องของตำนานหลายๆอย่าง อย่างเช่น กำเนิด อดัมกับอีฟ ส่วนใหญ่แล้วจะมีการกลับไปสู่จุดจบ อย่างเช่น วันล้างโลก แต่ Haraway ได้บอกว่า เราไม่สามารถกลับไปสู่อะไรที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมได้ และตั้งคำถามต่อการย้อนกลับไปสู่สิ่งที่เป็นดั้งเดิมได้ว่ามันมีจริงหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อความเชื่อที่มีมาแต่ก่อนอย่างมาก

นอกจากนี้ยังพูดถึงเรื่อง Cyborg ที่ว่าการเป็น Cyborg นั้นเราสามารถที่จับตัดมดลูกออกไปได้ บางที Haraway อาจไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ามีมนุษย์อยู่จริง ทวีลักษณ์จึงเสนอว่า มันแสดงให้เห็นถึงการไม่สามารถกลับไปสู่ธรรมชาติที่ดั้งเดิมได้อีกแล้ว แม้แต่ความเป็นธรรมชาติ ป่าเขาต่างๆ ที่เราเห็นเมล็ดพันธุ์ต่างๆที่ไม่สามารถหาความเป็นดั้งเดิม เช่น การตัดแต่งพันธุ์กรรมที่เกิดในพืช เป็นต้น และแนะนำต่อว่า หากจะอ่านงานของ Haraway ให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องหาตัวอย่างต่างๆ มาคิดตาม นอกจากนี้แล้ว ทวีลักษณ์ได้เสริมต่อว่า งานของ Harawayจะพูดถึงมาร์กซิสต์ สตรีนิยมสายสุดขั้ว และ socialist ซึ่งทั้งสามแนวคิดนี้ต่างมีรากเหง้าเดียวกันที่พยายามทำให้จิตสำนึกของความเป็นผู้หญิงมีจุดเดียวกันและเอามาพูดเพื่อเป็นการวิเคราะห์ในแนวคิดของตัวเอง อย่างเช่น พวกมาร์กซิสต์ที่จะพูดเรื่องของมิติแรงงานอย่างเดียวแต่ไม่ได้ดูถึงความสัมพันธ์ทางเพศ ทั้งนี้ Harawayยังได้ขุดวิธีการอธิบายของชุดแนวคิดของแต่ละแนวคิดว่ามันสร้างแนวคิดของตัวเองได้อย่างไร

ต่อจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นของ Cyborg เพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้ว Cyborg ไม่มีเพศ แสดงว่า Cyborg เองนั้นได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งเพศ และไม่รู้สึกว่าตัวเองขาดจากรากเหง้า ซึ่งอาจเรียก Cyborg ได้ว่าเป็น Post Gender ด้วยซ้ำ และมันก็ไม่ชอบอะไรที่เต็มๆ ไม่แคร์กับความเป็น unity ทวีลักษณ์ จึงเสริมว่าสิ่งสำคัญของ Cyborg คือ ต้องการวิพากษ์จารีตของการแบ่งขั้วตรงข้าม เพราะเฟมินิสต์ [กระแสหลัก] นั้นจะสนใจแต่มิติบางลักษณะ ดังนั้น Haraway จึงต้องการก้าวข้ามการแบ่งขั้วตรงข้ามนั้นเอง

ก่อนจบการเสวนา ทวีลักษณ์ได้สรุปว่า Cyborg ที่นิยามมีอยู่ 4 ประเด็นคือ Cybernetic organism, A hybrid of machine and organism, A creature of lived social reality และ Creature of fiction อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หากจะอ่าน Haraway ให้เข้าใจ การจับประเด็นเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่เพียงพอ เราต้องตามอ่านนักคิดแต่ละคน และหนังสือต่างๆ ที่ Haraway ได้นำมาอ้างอิงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ และเห็นภาพได้ชัดเจน  การเสวนาได้จบลงด้วยคำถามของผู้เข้าร่วมที่สงสัยว่าทำไมทวีลักษณ์ ถึงสนใจเรื่องนี้ ซึ่งเธอได้ตอบว่า เพราะได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “ญาณวิทยากับสตรีนิยม” * จึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะไม่แตะต้องงานของ Haraway ทวีลักษณ์ได้เริ่มจากบทความของ Haraway ที่พูดถึงประสบการณ์ของผู้หญิงที่ก้าวข้ามแก่นแท้ ของความเป็นหญิงได้อย่างไร

ท้ายที่สุด ภายหลังจากการเสวนา ผู้เขียน รู้สึกอยากกลับไปอ่านงานของ Haraway อีกรอบหนึ่ง เพราะถือได้ว่าเป็นงาน ที่วิพากษ์ร่วมสมัย ทุกวันนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้เข้ากับสังคมปัจจุบันได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกชอบและและอยากทำความรู้จักก็คือ Cyborg นั่นเอง

* ผู้สนใจติดต่อขอ Download วิทยานิพนธ์ เรื่อง “งานเขียนของผู้หญิงโลกที่สามกับการตั้งคำถามญาณวิทยาสตรีนิยม” ได้ที่ wgssp_readinggroup@hotmail.com

 

 

หมายเหตุ: ผกามาศ เลียงธนะฤกษ์ เป็นนักศึกษาฝึกงาน @The MA in Women, Gender and Sexuality Studies, Thammasat University

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท