แถลงนโยบายรัฐบาล 'นายกฯ ประยุทธ์' ยืนยันพัฒนาประเทศครอบคลุมทุกมิติ

"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อ สนช.กำหนดนโยบาย  11 ด้าน บนพื้นฐาน 4 เรื่อง ยึดแนวพระราชดำริ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง-แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ-ความต้องการของประชาชน-ไม่หวังคะแนนนิยม
 
12 ก.ย. 2557 สำนักข่าวไทยรายงานว่าการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (12 ก.ย.) เริ่มเวลา 10.00 น. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม เพื่อการแถลงนโยบายต่อ สนช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำทีมคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายว่า การเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้มีเงื่อนไขและเวลาที่แตกต่างจากรัฐบาลในอดีต  
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดโรดแมปในการทำงานไว้แล้วตั้งแต่ระยะแรก คือ การสร้างความปรองดอง ทำประเทศให้อยู่ในความสงบ จากนั้นเข้าสู่ระยะที่ 2 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนกระทั่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน และขณะนี้ คสช.ลดบทบาทลงมาเป็นเพียงที่ปรึกษา ไม่ได้ก้าวกายการบริหารราชการแผ่นดิน และสิ่งที่ตามมาคือการจัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้มีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเงื่อนไขและภารกิจเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะยังคงยึดมั่นดำเนินการต่อไป
 
“อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะไม่นำเงื่อนไขเรื่องเวลามาเป็นข้อจำกัด แต่จะบริหารประเทศเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้จัดขึ้นจากพรรคการเมือง จึงไม่มีนโยบายของพรรคที่จะใช้หาเสียง หรือหวังคะแนนประชานิยมมาเป็นฐานทางการเมือง ดังนั้นจึงไม่ต้องวิตกว่าจะนำประเทศไปผูกพันจนเสียวินัยการคลัง หรือเกิดภาระในอนาคต และด้วยความที่มีความเป็นเอกภาพทางนโยบาย จึงไม่ต้องวิตกว่าการทำงานในแต่ละกระทรวงจะไม่บูรณาการสอดคล้อง หรือพายเรือคนละที สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นพลังอำนาจเกื้อหนุนให้รัฐบาลทำงานยากในเวลาอันสั้นได้อย่างราบรื่น” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้มีเงื่อนไขที่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดไว้ให้มีการปฏิรูป และส่งเสริมความสามัคคีของคนในชาติ จึงต้องมีการวางแผนในการทำงาน โดยเรื่องใดที่จำเป็นเร่งด่วนจะดำเนินการก่อน จึงได้กำหนดนโยบายไว้ 11 ด้าน บนพื้นฐาน 4 เรื่องที่จะใช้เป็นแนวทาง คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยึดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยึดความต้องการของประชาชน ซึ่งได้รับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 80,000 เรื่อง
 
“คิดว่านโยบายที่ทำมาครั้งนี้น่าจะครอบคลุมปัญหาได้ทุกมิติ แต่ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเวลา และผลความสำเร็จ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกัน เพราะขณะนี้ประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเร่งฟื้นจากความบอบช้ำ ทั้งความขัดแย้ง และปัญหาเศรษฐกิจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับนโยบาย 11 ด้าน ประกอบด้วย 1.การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยจะใช้มาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมจิตวิทยา และมาตรการทางระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศดำเนินการต่อผู้คะนองปาก ย่ามใจ หรือประสงค์ร้าย มุ่งสั่นคลอนสถาบัน รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันและส่งเสริมโครงการในพระราชดำริ
 
เตรียมพร้อมความมั่นคงรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 2.การรักษาความมั่นคงของประเทศ ระยะเร่งด่วนจะเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในกิจการ 5 ด้าน คือ การบริหารจัดการชายแดน สร้างความมั่นคงทางทะเล แก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ สร้างความไว้ใจกับประเทศเพื่อนบ้านและเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางการทหารร่วมกัน    เร่งแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้ที่เห็นต่าง และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพและระบบป้องกันประเทศ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ
 
เร่งลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 3.การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในระยะเฉพาะหน้า เร่งสร้างโอกาส อาชีพ และรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน ยกระดับคุณภาพแรงงาน และป้องกันการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ ในระยะต่อไปจะพัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคม ระบบการออม และสวัสดิการชุมชน เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เตรียมความพร้อมสู่สังคมหลากหลายจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จัดระเบียบสังคม สร้างมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลแก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนทั่วไปตามค่านิยมหลัก 12 ประการตามนโยบายของ คสช. และแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน
 
เร่งปฏิรูปการศึกษา ฟื้นฟูเผยแพร่มรดกทางวัฒนธรรม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 4.การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จัดให้มีการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้ โดยให้ความสำคัญ ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาทางเลือกไปพร้อม ๆ กัน ในระยะเฉพาะหน้าจะปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการศึกษาให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้เรียน และลักษณะพื้นที่การศึกษา และปรับปรุง บูรณาการระบบการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จัดระบบการสนับสนุนให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปมีสิทธิ์เลือกรับบริการการศึกษา ทั้งระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียน โดยจะจัดให้มีคูปองการศึกษา  
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ให้องค์กรภาคประชาสังคม เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน มีส่วนร่วมจัดการการศึกษา พัฒนาคนทุกช่วงวัย ส่งเสริมอาชีวศึกษา พัฒนาครูให้มีคุณภาพและมีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทำนุบำรุงและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ๆ อนุรักษ์และฟื้นฟูเผยแพร่มรดกทางวัฒธรรม สนับสนุนการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกที่ดี
 
เตรียมปรับความเท่าเทียมหลักประกันสุขภาพ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 5.การยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน วางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพไม่ให้มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพบริการในแต่ละระบบ บูรณาการข้อมูลในแต่ละระบบ พัฒนาระบบบริการสุขภาพ เน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วย ให้เอกชนสามารถมีส่วนร่วม เพื่อจัดสรรบริการสาธารณสุขโดยรัฐเป็นผู้กำกับดูแล ส่งเสริมการร่วมลงทุน และใช้ทรัพยากรและบุคลากรร่วมกัน โดยมีข้อตกลงที่รัดกุมและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเฝ้าระวังโรคระบาด   ป้องกัน แก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุในจราจร ส่งเสริมการกีฬา ประสานการทำงานภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาด้านการแพทย์ และจริยธรรมของการอุ้มบุญ และพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์
 
ฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ จัดเก็บภาษีมรดก ภาษีที่ดิน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 6.การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ระยะเร่งด่วน เร่งผลักดันการใช้งบประมาณปี 2557 ให้ทันก่อนสิ้นปี สานต่อนโยบายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจของ คสช. กระตุ้นการลงทุนด้วยการเร่งพิจารณาโครงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ และนำโครงการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภทที่มีผลตอบแทนดี เช่น โครงการขนส่งมวลชนใน กทม.มาจัดทำเป็นโครงการลงทุนร่วมกับเอกชน ดูแลเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่าง ๆ และใช้กลไกการตลาดดูแลราคาสินค้าการเกษตร ลดอุปสรรคในการส่งออก เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และชักจูงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศไทย   
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในระยะต่อไป ประสานนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แก้ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน และแก้ปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลจะเร่งจัดสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กให้ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกให้มากที่สุด ปฏิรูปโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้ได้อย่างครบถ้วน ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีการค้า และขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเลิกการยกเว้นภาษีที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้มีฐานการเงินดี
 
พัฒนาโครงสร้างระบบขนส่งคมนาคม
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริหารจัดการหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 700,000 ล้านบาท โดยจะหาแหล่งเงินระยะยาวมาสะสางหนี้ทั้งหมด ในระยะยาว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งคมนาคมทางบก โดยเริ่มโครงการรถไฟขนส่งในกรุงเทพฯ และรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพมหานครกับเมืองบริวาร  ด้านคมนาคมทางอากาศ จะปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 และท่าอากาศยานดอนเมือง ด้านการคมนาคมทางน้ำ พัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ เร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการในสาขาขนส่ง  พัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้   
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้านการเกษตร จะดำเนินการ 2 เรื่องคือ ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการ และสนับสนุนให้สหกรณ์เพิ่มบทบาทในฐานะผู้ซื้อพืชผล เพื่อให้สหกรณ์เป็นผู้ค้าขายสินค้าเกษตรรายใหญ่รายหนึ่ง ด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถของ SME ให้เข้มเข็งและแข่งขันได้ รวมถึงเข้าถึงแหล่งทุนและบริการทางการเงิน และส่งเสริมภาคเศรษฐกิจดิจิตอล
 
ส่งเสริมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  7.ส่งเสริมบทบาทและใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน เร่งส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนในภูมิภาค พัฒนาศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทุกระดับ พัฒนาแรงงานของภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พัฒนาเชื่อมโยงด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ภายในอนุภูมิภาคและภูมิภาคอาเซียน ต่อเชื่อมเส้นทางการคมนาคมขนส่ง จากฐานการผลิตในชุมชน สู่แหล่งแปรรูปและเชื่อมโยงกับอาเซียน และพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ
 
หนุนงานวิจัยพัฒนาให้ทัดเทียมต่างชาติ
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 8.การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และพัฒนาและนวัตกรรม สนับสนุนการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาประเทศให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ประชาชาติ และมีสัดส่วนรัฐต่อเอกชน 30:70 เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและทัดเทียมกับประเทศอื่น
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เร่งเสริมสร้างสังคมนวัตกรรม โดยส่งเสริมระบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปฏิรูประบบการให้สิ่งจูงใจระเบียบ และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำงานวิจัยไปต่อยอด ส่งเสริมให้การลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัยและพัฒนาและนวัตกรรมของไทยตามความเหมาะสม ปรับปรุงและจัดเตรียมให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการวิจัย และการพัฒนาและด้านนวัตกรรม
 
อนุรักษ์ทรัพยากร คุมมลพิษ เตรียมแก้ปัญหา “มาบตาพุด”
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 9.การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ระยะเฉพาะหน้า เร่งปกป้องและฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยกรป่าไม้และสัตว์ป่า ส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ในระยะต่อไปพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ดิน แก้ไขการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยยึดแนวพระราชดำริที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้เป็นเอกภาพ เร่งรัดการควบคุมมลพิษ ทั้งทางอากาศ ขยะ และน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตและการบริโภค ในระดับพื้นที่จะเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
 
เน้นแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 10.ส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ปรับปรุงระบบราชการทบทวนการจัดโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนหรือลักลั่น ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติราชการให้ทันสมัย ในระยะแรกกระจายอำนาจเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้รวดเร็ว ประหยัด และสะดวก ทั้งจะวางมาตรการทางกฎหมาย กำหนดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ขั้นตอนที่แน่นอน ระยะเวลาดำเนินการที่รวดเร็ว ระบบอุทธรณ์ที่เป็นธรรม มิให้เจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงประวิงเวลา หรือใช้อำนาจโดยมิชอบก่อให้เกิดการทุจริต
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยกระดับสมรรถนะของหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพ  เสริมสร้างระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย ใช้มาตรการทางกฎหมาย การปลูกฝังค่านิยมคุณธรรม จริยธรรม และจิตสำนึกในการรักษาศักดิ์ศรีในความเป็นข้าราชการและความซื่อสัตย์สุจริต ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือเปิดช่องทุจริต เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การอนุญาต อนุมัติ และขอรับบริการจากรัฐ ปรับปรุงและจัดให้มีกฎหมาย เพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วนแห่งชาติ และส่งเสริมและสนับสนุนภาคีองค์การภาคเอกชน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่อง เพื่อระวัง ตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือต่อต้านการทุจริต และวางมาตรการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ
 
พร้อมแก้กฎหมายฟอกเงินปราบ “มาเฟีย-ข้าราชการโกง”
 
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ในระยะเฉพาะหน้า เร่งปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ เป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน เพิ่มศักยภาพหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความเห็นทางกฎหมาย และจัดทำกฎหมายให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ในระยะต่อไปจะจัดตั้งองค์กรปฏิรูปกระบวนยุติธรรมที่ปราศจากการแทรกแซงของรัฐ  นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและความรู้ทางนิติวิทยาศาสตร์มาใช้ เร่งดำเนินทุกขั้นตอนให้รวดเร็วและเป็นธรรม ปรับปรุงการช่วยเหลือทางกฎหมาย และนำมาตรการทางภาษีและป้องกันการฟอกเงินมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทุจริตและประพฤติมิชอบ
 
“รัฐบาลจะสนับสนุนการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้รวดเร็ว เรียบร้อย และเป็นอิสระ ส่วนการส่งเสริมความสามัคคี รัฐบาลเชื่อว่าวิธีสานเสวนา และเปิดใจให้ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำของสังคม น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ผมจะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการในวันที่ 17 กันยายนนี้ เพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารราชการตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เพื่อให้การดำเนินการต่าง ๆ สำเร็จภายใน 1 ปี ตามที่วางกรอบได้” นายกรัฐมนตรี กล่าวและปิดท้ายด้วยสโลแกนใหม่ ที่เพิ่งคิดได้ว่า “จริงจัง จริงใจ และยั่งยืน”
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงนโยบาย นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่ จ.สุโขทัย เพื่อตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่รัฐมนตรีต่าง ๆ ทยอยเดินทางเข้าทำงานตามกระทรวงเป็นวันแรกเช่นกัน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท