Skip to main content
sharethis

บริษัทเหมืองแร่แคนาดาภายใต้บรรษัทยักษ์ใหญ่จากออสเตรเลียฟ้องเรียกค่าชดเชยจากรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ที่ไม่อนุญาตให้พวกเขาเข้าไปทำเหมืองแร่เพราะเกรงว่าจะสร้างมลพิษและกระทบต่อสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่


11 ก.ย. 2557 ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วศาลยุติธรรมในธนาคารโลก ที่วอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐฯ กำลังพิจารณาตัดสินเรื่องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ไม่ยอมให้บริษัทเหมืองแร่ต่างชาติเข้าไปตั้งเหมืองแร่ในพื้นที่เพราะต้องการปกป้องแหล่งน้ำในประเทศ

คดีความในประเด็นนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลเอลซัลวาดอร์กับบริษัทเหมืองแร่จากแคนาดาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบรรษัทจากออสเตรเลีย โดยทางบรรษัทระบุว่าการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญแม้ว่าราคาทองคำจะต่ำลงมากกว่าหนึ่งในสามนับตั้งแต่ปี 2554 ก็ตาม

เว็บไซต์ Foreign Policy In Focus ระบุว่าคดีนี้แสดงให้เห็นความน่าหวาดหวั่นถ้าหากฝ่ายบรรษัทเป็นฝ่ายชนะ ประเทศเล็กๆ จะต้องยอมให้บรรษัทเข้าไปทำเหมืองแร่หรือมิเช่นนั้นก็ต้องจ่ายเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อเป็นค่าชดเชย

ก่อนหน้านี้นักข่าวของ Foreign Policy In Focus เข้าไปเยือนพื้นที่ที่มีแผนการทำเหมืองแร่ของบริษัทแปซิฟิกริม โดยวิดาลินา โมราเลส ผู้อาศัยในพื้นที่กล่าวว่าในตอนแรกเธอคิดว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่จะช่วยให้ผู้คนมีงานทำเพื่อยกระดับจากความยากจนได้ แต่หลังจากที่เธอไปชมการทำเหมืองแร่ที่ประเทศฮอนดูรัสก็เห็นสภาพแม่น้ำที่ถูกปนเปื้อนด้วยมลพิษ และผู้คนในพื้นที่เป็นโรคผิวหนัง อีกทั้งยังมีความขัดแย้งทางสังคมระหว่างคนทำงานเหมืองกับคนในพื้นที่

โมราเลสและคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่เริ่มเป็นห่วงเกี่ยวกับมลพิษจากสารไซยาไนด์ในแถบลุ่มน้ำริโอเลมปาที่มาจากการทำเหมืองแร่ โดยลุ่มน้ำดังกล่าวเป็นลุ่มน้ำใหญ่ที่มีความสำคัญหล่อเลี้ยงประชากรชาวเอลซัลวาดอร์มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

หลังจากนั้นคนในเอลซัลวาดอร์จึงมีสโลแกน "รักชีวิต ไม่เอาเหมืองแร่" (yes to life and no to mining) เจ้าของที่ดินร้อยละ 90 ในประเทศปฏิเสธที่จะขายที่ดินให้กับบริษัทแปซิฟิกริมซึ่งต้องการซื้อที่ดินเพื่อให้ได้ใบอนุญาตการทำเหมืองแร่ในเอลซัลวาดอร์ แต่ก็มีคนในพื้นที่อย่างน้อย 4 รายที่ต่อต้านเหมืองแร่ถูกสังหารในสภาพที่น่าสงสัยในช่วงที่ความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่หนักขึ้น แต่การสังหารกลับยิ่งทำให้การต่อต้านเหมืองแร่เพิ่มมากขึ้น

ในด้านการตรวจสอบตามกระบวนการประชาธิปไตย รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ยอมรับฟังประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศตนโดยการปฏิเสธให้อนุญาตบรรษัทเหมืองแร่ด้วยเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่มากเกินไป ซึ่งถือเป็นการปฏิเสธจากประธานาธิบดีเอลซัลวาดอร์เป็นสมัยที่ 3 แล้ว

แต่จากกฎหมายการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ทำให้บรรษัทสามารถสั่งฟ้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ถ้าหากการกระทำของรัฐบาลเป็นอุปสรรคต่อการทำกำไรในอนาคตโดยมีการฟ้องร้องผ่านศาลยุติธรรมซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จักชื่อ "ศูนย์นานาชาติเพื่อการแแก้ไขข้อพิพาทด้านการลงทุน" (International Centre for Settlement of Investment Disputes) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธนาคารโลกในสหรัฐฯ

ในคดีนี้บริษัทแปซิฟิกริมฟ้องร้องรัฐบาลเอลซัลวาดอร์เป็นเงิน 300 ล้านดอลลาร์แม้ว่าทางบริษัทจะไม่เคยได้รับใบอนุญาตหรือมีการปฏิบัติงานในพื้นที่ มีแค่การลงพื้นที่สำรวจการทำเหมือง

Foreign Policy In Focus ระบุว่าคดีที่จะมีการตัดสินในวันที่ 15 ก.ย. นี้ เป็นคดีที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินตามขั้นตอนกฎหมายและไม่มีการเปิดเผยกระบวนการพิจารณาคดีต่อสาธารณะ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้นักกฎหมายผู้ทำงานในศาลยุติธรรมดังกล่าวได้วิจารณ์ข้อตกลงการลงทุนว่าได้ให้อำนาจกับบรรษัทจำนวนมากจนเปรียบได้กับ "อาวุธทำลายล้างทางกฎหมาย"


เรียบเรียงจาก

Meet the Company Suing El Salvador for the Right to Poison Its Water, Foreign Policy In Focus, 03-09-2014
http://fpif.org/meet-company-suing-el-salvador-right-poison-water/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net