POS PATANI: แนะนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (IHL) ให้กับปาตานี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลมาจากต้นฉบับภาษามลายูในชื่อ “PataniPerkenalkan IHL” ซึ่งโพสต์โดย PosPatani เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2557

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศหรือInternational Humanitarian Law (IHL) หรือที่รู้จักกันว่าเป็นกฎหมายของสภาวะขัดกันด้วยกำลังอาวุธIHL เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายเพื่อมนุษยชนสากลที่ประกอบด้วยอนุสัญญาเจนีวา 4 ฉบับ และอนุสัญญากรุงเฮก โดยบรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ(UN)ต่างลงนามรับรองในกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อจำกัดแนวทางปฏิบัติของของกองทัพของบรรดาประเทศสมาชิกให้มีความเท่าเทียมกันกับกองทัพที่ไม่ได้เป็นของรัฐ (องค์กรของประชาชนที่ถุกยึดครอง) ในสถานการณ์ที่มีความขัดกันด้วยอาวุธ แนวทางปฏิบัติและหลักจริยธรรมของกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศจะต้องถือปฏิบัติโดยฝ่ายต่างๆ เมื่อยามที่ก่อสงครามขึ้น สำหรับในประเทศที่ปราศจากความขัดแย้งหรือประเทศที่ปรารถนาความสงบสุข ปัจเจกชนที่ไม่ข้องเกี่ยวกับความขัดกันด้วยอาวุธ รวมทั้งนักเคลื่อนในองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ควรรณรงค์เผยแพร่เกี่ยวกับกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศให้แก่สาธารณชนอย่างทั่วถึงด้วยวิธีการที่เปิดเผย เพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวปฏิบัติและกรอบจริยธรรมของกองทัพที่สามารถกระทำและไม่สามารถกระทำบางอย่างในท่ามกลางสภาวะที่มีความขัดกันด้วยอาวุธความพยายามเพื่อมนุษยธรรมดังกล่าวนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ นั้นก็เพราะว่า “นักรบนั้นไม่ได้เป็นนักฆ่า”

กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศแบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ 1) กฎหมายกรุงเฮก (The Hague Laws) คือกฎหมายที่ว่าด้วยข้อห้ามในการใช้อาวุธและกรอบจริยธรรมในการทำสงคราม และ 2) กฎหมายกรุงเจนีวา (The Geneva Laws) คือกฎหมายที่ว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อและพลรบในสงคราม

กฎหมายกรุงเฮกนั้นครอบคลุมเนื้อหาของข้อกฎมายที่ว่าด้วยวิธีการในการทำสงคราม โดยได้รับการยกร่างขึ้นมาในการประชุม ณ กรุงเฮกเมื่อปี 1899 และ 1907ส่วนกฎหมายกรุงเจนีวาเน้นหนักในด้านการให้ความคุ้มครอง ความเคารพ และพันธกิจในด้านมนุษยธรรมแก่ปัจเจกชนที่เป็นพลเรือนทุกคนที่ไม่ถืออาวุธหรือไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ ในสถานการณ์สงคราม พวกเขาเหล่านั้นคือพลเรือน อนุสัญญาทั้งสี่ฉบับมีความสัมบูรณ์มากยิ่งขึ้นจากการที่มีพิธีสารเพิ่มเติมอีกสองฉบับที่มีการลงนามในปี1977

การขัดกันด้วยกำลังอาวุธที่ปาตานี (นราธิวาส ยะลาปัตตานี และสงขลา) ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ก็อยู่ภายใต้หลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศเช่นกัน เพราะว่าการขัดกันด้วยกำลังอาวุธที่เกิดขึ้นจาก "ประเด็นปัญหาของอาณานิคม" มีผู้คนมากกว่า 6,800 คนที่เสียชีวิต และอีกกว่า 10,000 คนที่ได้รับบาดเจ็บ นับตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา (2004-2014) ความเป็นจริงในเรื่องนี้ ทางการกรุงเทพฯ ได้กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยว่าความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธที่ปาตานีนั้นมีระดับของการรวมตัวของประชาชนชาวมลายูปาตานีที่ลุกขึ้นต่อต้านจนยากที่จะควบคุมอยู่ 3 ระดับได้แก่1) ระดับนำ (บรรดาพรรคหรือขบวนการต่างๆ) 2) ระดับกองกำลังอาร์เคเค (หน่วยจรยุทธ์ขนาดเล็ก) และ 3) ระดับมวลชน (นักกิจกรรมเคลื่อนไหว) สมมติฐานจากทางกรุงเทพฯ ดังกล่าวนี้คงมีพื้นฐานมาจากข้อมูลที่ได้รับจากผู้ต้องสงสัยที่ถูกจับกุมตัว การสืบหาข้อมูลในทางลับและการศึกษาวิจัยที่ได้ดำเนินการมากว่าสิบปีในห้วงของความขัดแย้งที่ผ่านมา

ชาวมลายูปาตานีในยุคนี้คือผู้กำหนดชะตากรรมของชนชาติปาตานีในอนาคต บทบาทและความรับผิดชอบที่ได้รับการส่งต่อจากบรรพบุรุษของพวกเขานั้นฝังรากลึกเป็นความปรารถนาทางการเมือง นั่นคือ “ปาตานีเอกราช” ที่จำต้องสร้างความหนักแน่นไว้ตลอดไป เนื่องจากว่าบทบาทและพันธกิจดังกล่าวนั้นเปรียบเสมือนแก่นรากและกระจกสะท้อนชนชาติที่มีอิสระเสรี

"รัฐบาลสยามไทยจำต้องยอมรับความจริงที่ว่าปาตานีมิเคยตกเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย ความพยายามของรัฐไทยที่จะกลืนกลายวัฒนธรรมของคนมลายูปาตานีด้วยวิถีทางการเมืองนั้นไม่เคยประสบความสำเร็จแต่อย่างใด นับตั้งแต่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสยามประเทศ (1902) ภูมิภาคดังกล่าวก็ตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ไม่สงบและไร้ซึ่งเสถียรภาพมาโดยตลอด การก่อความรุนแรงและการเข่นฆ่าเกิดขึ้นแทบทุกวี่วันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด (Prof Dato' NikAnuarNik Mahmud, 2010)

"ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรายวันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยทุกวันนี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาใจกลางของความขัดแย้งนั้นที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข เปรียบดั่งใจกลางของสาเหตุที่มาของความขัดแย้งที่ก่อผลให้เกิดความขัดแย้งซึ่งมักก่อตัวขึ้นในสังคมมลายูของสามจังหวัดอยู่เป็นช่วงๆ ประเด็นใจกลางในที่นี้หมายถึงนโยบายหรือแนวทางการปกครองของรัฐบาลไทยเองที่เป็นสาเหตุหลักของความขัดแย้งขยายตัว"(CheMohd Aziz Yaacob, 2011)

ผู้เขียนเข้าใจว่าขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีเองคงรับรู้ถึงเรื่องหลักจริยธรรมและแนวทางปฏิบัติของกองกำลังติดอาวุธพอๆ กับกองทัพไทยตามเนื้อหาที่บัญญัติไว้ในหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ นักต่อสู้เพื่อปาตานีคนหนึ่งที่ขอสงวนนามกล่าวกับผู้เขียนในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาชนชาวปาตานีว่า ดูเหมือนจะเป็นเรื่องลำบากยากเย็นในการที่เราจะรณรงค์ให้มีการใช้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเปิดเผยพวกเราต่างทราบดีว่ากำลังเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้บรรยากาศของอาณานิคมที่กีดกันในเชิงเชื้อชาติ ทว่าด้วยเพราะความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบที่มีต่อประชาชน เราเองก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามที่ได้ระบุไว้ในพิธีสารเพิ่มเติมตามอนุสัญญาเจนีวาเทั้งสามฉบับ ดังต่อไปนี้ คือ1)บรรดาผู้นำฝ่ายกองกำลังติดอาวุธประชาชนปาตานีได้ดำเนินการและกำลังดำเนินการในเรื่องการให้ความรู้ในด้านหลักกฎหมายมนุษยธรรมให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา 2) กองกำลังติดอาวุธประชาชนปาตานีที่อยู่ภายใต้องค์กรได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติและหลักจริยธรรมของกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการปฏิบัติการณ์แต่ละครั้งต่อจากนี้3) นักต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีกำลังดำเนินการและจะทำการนำเสนอหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศและอนุสัญญาฉบับเพิ่มเติมปี 1977 มาตราที่1 วรรค 1 และ 2ตามลำดับต่อไป เขากล่าว

ด้วยแรงแห่งศรัทธาและความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่จะนำพาเราสู่หนทางแห่งความโปรดปรานของพระองค์ หวังว่าเราทุกคนคงจะได้สัมผัสอรรถรสแห่งความงดงาม ความสงบ ความสันติ ความปลอดภัย และความเป็นอิสรภาพของปาตานีที่ยั่งยืนตราบนิรันดร์

ขอขอบคุณ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท