Skip to main content
sharethis

ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯ และยุโรปทดลองส่งสารจากสมองสู่สมองแบบข้ามทวีปด้วยการประสานงานเครื่องมือหลายชิ้น เช่นเครื่องมืออ่านคลื่นสมอง ควบคู่ไปกับการถอดรหัสเลขฐานสองและอินเทอร์เน็ต แต่การทดลองยังต้องใช้เครื่องมือเทอะทะและกระบวนการซับซ้อนเกินไป อีกทั้งยังสื่อสารได้เพียงแค่คำง่ายๆ

5 ก.ย. 2557 ทีมนักวิจัยด้านระบบประสาทและวิศวกรรมศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และยุโรป พยายามสร้างเครื่องมือส่งข้อความจากสมองของคนที่อยู่ห่างออกไปข้ามทวีป ซึ่งในการทดลองเป็นการให้คนส่งข้อความจากอินเดียไปยังผู้รับที่ประเทศฝรั่งเศสโดยอาศัยเครื่องมืออ่านคลื่นสมองควบคู่ไปกับอินเทอร์เน็ต

ทีมวิจัยไม่ได้อาศัยเทคโนโลยีใหม่แต่ใช้ระบบซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ระบบประสาทจักรกล (Neurorobotics) ที่พัฒนาในห้องทดลองหลายแห่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ 'ป๊อปปูลาร์ไซเอนซ์' ระบุว่า ด้วยความเทอะทะของเครื่องมือและกระบวนการที่เชื่องช้าทำให้การทดลองนี้ยังไม่ได้ถึงขั้นนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในสังคมได้ภายในเร็ววันนี้

ในการทดลองได้ใช้เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรือ อีอีจี (EEG) ติดบนหนังศีรษะผู้รับการทดลองเพื่อตรวจหาคลื่นไฟฟ้าจากสมองซึ่งจะส่งข้อมูลสมองต่อไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป หลังจากนั้นเครื่องส่งสัญญาณก็จะแปลข้อความที่เธอต้องการส่งให้กลายเป็นรหัสเลขฐานสองแบบ 5 บิต ที่เรียกว่าเบคอนส์ไซเฟอร์เนื่องจากรหัสตัวนี้มีความกระชับมากกว่าเลขฐานสองที่คอมพิวเตอร์ใช้

รหัสเบคอนส์ไซเฟอร์จะส่งกลุ่มตัวอักษร A หรือ B เรียงกัน 5 ตัวแล้วถอดรหัสออกมาเป็นตัวอักษรเดียวเช่น 'AAAAA' คือ 'a' , 'AAAAB' คือ 'b' , 'ABBAA' คือ 'n' ซึ่งในการทดลองใช้ตัวเลข 1 และ 0 แทนตัวอักษร A และ B

เครื่องส่งสัญญาณเข้ารหัสเลขฐานสอง โดยทำตามความคิดของผู้รับการทดลองที่สั่งเคลื่อนวงกลมสีขาวไปยังมุมขวาบนหรือมุมขวาล่างแทนเลข 1 หรือเลข 0 ตามลำดับ จากนั้นจึงส่งสัญญาณเลขฐานสองนี้ผ่านอินเทอร์เน็ต

การส่งรหัสนี้อาศัยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาจากหลายแห่งให้คนสามารถใช้คลื่นสมองบังคับ 'ลูกศร' ในคอมพิวเตอร์หรือแขนหุ่นยนต์ได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เป็นอัมพาต

สำหรับผู้รับสารจะถูกจัดให้นั่งอยู่ในเครื่องกระตุ้นสนามแม่เหล็ก (Transcranial Magnetic Stimulation: TMS) ที่สามารถส่งกระแสแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านกะโหลกศีรษะได้ คลื่นกระตุ้นนี้จะทำให้ผู้รับสารมองเห็นแสงในส่วนการมองเห็นด้านข้าง (peripheral vision) ซึ่งจะไม่ใช่แสงที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยรอบแต่เป็นแสงจากการกระตุ้นแบบที่เรียกว่า 'ฟอสฟีนส์' (Phosphenes)

นอกจากนี้เมื่อเครื่องรับสารได้รับข้อความที่ส่งผ่านจากอินเทอร์เน็ตแล้วจะสั่งการให้แขนหุ่นยนต์ขยับเพื่อเล็งจุดกระตุ้นกะโหลกศีรษะของผู้รับสารในจุดอื่น เพื่อให้ผู้รับสารเห็น 'ฟอสฟีนส์' ในตำแหน่งที่ต่างกัน และผู้รับสารจะเป็นผู้ตีความตำแหน่งของแสงตามรหัสเบคอนส์ไซเฟอร์ด้วยตนเอง

แน่นอนว่าจากกระบวนการที่ซับซ้อนทั้งหมดรวมถึงการถอดรหัสด้วยตนเองที่ทำให้ส่งข้อความตัวอักษรสั้นๆ ได้ ทำให้การส่งสารจากสมองถึงสมองที่จะนำมาใช้ในชีวิตได้จริงยังดูอยู่ห่างไกล แต่ก็เป็นก้าวหนึ่งของการทดลองทางเทคโนโลยี

การทดลองนี้มีการตีพิมพ์ครั้งแรกลงในวารสาร PLOS One ฉบับเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา

 


เรียบเรียงจาก

Scientists Send Messages Directly From One Brain To Another, Popsci, 03-09-2014
http://www.popsci.com/article/science/scientists-send-messages-directly-one-brain-another

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net