คอสตาริกาโมเดล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ผมเจอ Kristina Dommers หรือ “คริสตินา” ชาวซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย ที่ลาสเวกัส ตอนนั้นเธอมาจากสาธารณรัฐคอสตาริกา ลาตินอเมริกา

ที่ลาสเวกัส เป็นช่วงพักผ่อนของเธอและครอบครัว

นอกจากจินตนาการบรรยากาศแคริบเบียนในเพลง  Margaritaville ของ Jimmy Buffett  บริเวณโรงแรมและคาสิโนฟลามิงโก บนแยกถนนฟลามิงโกตัดกับลาสเวกัสบูเลอวาร์ดแล้ว กลิ่นอายชายหาดแดนลาตินที่สวยงามก็พอจินตนาการเอาจากเพลงของ Jimmy ได้บ้าง

คอสตาริกา เป็นประเทศในฝันของอเมริกันหลายคน ทั้งเพื่อพักผ่อนชั่วคราว และเพื่อการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในระยะยาวตามแบบที่คาดหวังกันว่า จะได้รับความสุขตามสมควร ตามแต่เหตุผลของแต่ละคน คริสติน่า และครอบครัวของเธอเลือกไปใช้ชีวิตที่นั่นมาได้หลายปีแล้ว จนวันหนึ่งเธอมีโอกาสแชร์ประสบการณ์ในคอสตาริกาให้ผมฟัง

เมือง Playa Potrero ที่เธอชอบนั่นอยู่ในจังหวัด Guanacaste  และเพราะหลงใหลเสน่ห์ความเป็นคอสตาริกา โดยเฉพาะเรื่องการสงวนไว้ซึ่งความเป็นธรรมชาติของที่นั่น ทำให้เธอยังไม่มีแผนที่จะกลับอเมริกา 

เธอเล่าว่า ประเทศคอสตาริกามีพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้ถึงราว 25 เปอร์เซ็นต์ และมีท่าว่าจะทำการคุ้มครองป่าไม้ได้เป็นอย่างดี  ส่วนอีกหนึ่งบรรยากาศของคอสตาริกา คือ บรรยากาศทะเล ก็ถือว่า คอสตาริกา เป็นหนึ่งในบรรดาประเทศทะเลแคริบเบียนซึ่งเป็นที่โปรดปรานของนักท่องเที่ยวอเมริกัน นอกเหนือจากประเทศที่เป็นหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียนแล้ว นักท่องเที่ยวอเมริกันเลือกที่จะไปเที่ยวคอสตาริกา  สมกับฉายาของประเทศนี้ “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอเมริกากลาง

ความสบายใจที่มีต่อการเดินทางไปคอสตาริกาถูกบรรจุไว้ในความคิดของคนอเมริกันจำนวนไม่น้อย จากสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง ได้แก่ การเดินทางไปที่นั่นใช้เวลาไม่นาน เช่น จากลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียไปเมืองหลวง ซานโฮเซ่  ใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จากไมอามี ฟลอริดา ไปซานโฮเซ่ ใช้เวลาแค่ราว 3 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเทียบกับการเดินทางไปเที่ยวในภูมิภาคอื่นที่ไกลกว่า คอสตาริกา มีความได้เปรียบในเรื่องระยะทางที่ใกล้กว่า พร้อมกับวัฒนธรรมอเมริกันที่เป็นที่คุ้นชินกันดีอยู่แล้วในประเทศลาตินแห่งนี้ อเมริกันที่เดินทางไปเยือนไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย

เช่นเดียวกับคริสติน่า อเมริกันจำนวนหนึ่งตัดสินใจลงหลักปักฐานที่นั่น ซึ่งหากยังอยู่ในวัยทำงาน ส่วนใหญ่ก็จะสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจอเมริกัน เช่น ธุรกิจโรงแรม  ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจออกแบบตกแต่งอาคารสถานที่ท่องเที่ยว  หรือธุรกิจภาคบริการอื่นๆ ที่กลุ่มธุรกิจอเมริกันเข้าไปลงทุน

ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจที่เกิดจากความมั่นคงทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของนักลงทุนอเมริกัน  และดูเหมือนคอสตาริกาจะเป็นประเทศเดียวที่มีลักษณะด้านการเมืองการปกครอง แตกต่างจากประเทศลาตินอเมริกาโดยทั่วไป ซึ่งมีเค้าโครงอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ทางการเมืองอันลือชื่อในเรื่องรัฐประหาร  ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารในประเทศด้วยคนชาติเดียวกันเอง หรือการสนับสนุนการรัฐประหารโดยชาติมหาอำนาจสำคัญอย่างอเมริกาเอง

ในยุคสงครามเย็นถือได้ว่า รัฐบาลอเมริกันมีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนการทำรัฐประหารในหลายประเทศลาตินอเมริกา อย่างเช่น ในนิการากัว ในฮอนดูรัส  เป็นต้น

การที่คอสตาริกาซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนิการากัวกับปานามา กลับทำให้ประเทศนี้มีลักษณะที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน จากในศตวรรษที่ 16 ที่คอสตาริกาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการเป็นเมืองอาณานิคมของอาณาจักรสเปน จนถึงสมัยได้รับอิสรภาพในศตวรรษที่ 18  คอสตาริกาจึงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง

จุดสำคัญของประเทศคอสตาริกาก็คือ  เป็นประเทศที่ไร้ซึ่งทหารหรือกองทัพ (nations without a standing army) ซึ่งเป็นผลมาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของคอสตาริกาเองตั้งแต่ปี 1949  

ตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา คอสตาริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะไม่เคยมีการทำรัฐประหาร จึงเป็นประเทศแบบอย่างประชาธิปไตยที่รัฐบาลอเมริกันมักหยิบยกเป็นแบบอย่าง (model) ในการพยายามสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยลงในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เป็นนัยว่า ประชาธิปไตยสามารถดำรงอยู่ได้แม้แต่ในดินแดนที่มีวัฒนธรรมการรัฐประหารซ้ำซากอย่างประเทศในอเมริกากลาง

คอสตาริกายังเป็นประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index – HDI) อยู่ในในเกณฑ์ดี โดยในปี 2012 อยู่ในลำดับที่ 62 จากทุกประเทศทั่วโลก ขณะที่ก่อนหน้านั้นในปี 2010 คอสตาริกา เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานด้านแผนงานพัฒนาขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) ว่า มีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สูงกว่าอีกหลายประเทศที่ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในเกณฑ์เดียวกัน

ในปี 2011 หน่วยงาน UNDP ได้จัดให้คอสตาริกา เป็นประเทศที่มีผลงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนอย่างยอดเยี่ยม และในปี 2012 คอสตาริกา เป็นประเทศที่มีดัชนีผลงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือ EPI อยู่ในอันดับ 5 ของโลก เช่นเดียวกันกับในปี 2009  องค์กร “มูลนิธิเศรษฐกิจใหม่” (New Economics Foundation – NEF) ได้ให้คอสตาริกาเป็นประเทศเขียวที่สุดในโลก และในปี  2012 เช่นกัน รัฐบาลคอสตาริกาได้ผ่านกฎหมายห้ามล่าสัตว์เพื่อสันทนาการอย่างสมบูรณ์และถาวร ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าว เป็นการออกกฎหมายก่อนประเทศใดๆ ในทวีปอเมริกาเสียด้วยซ้ำ

ไม่นับพวกรีไทร์แล้วจำนวนหนึ่ง อเมริกันไม่น้อยพาครอบครัวไปอาศัยและทำงานที่คอสตาริกา คริสติน่าให้เหตุผลถึงสาเหตุการที่ครอบครัวคือ ลูกและสามีของเธอไปอยู่ที่ประเทศแห่งนี้ว่า เป็นเพราะสภาพแวดล้อมของประเทศดีต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งกายและใจ อย่างน้อยในเรื่องการศึกษาของเด็กๆ นอกเหนือจากโรงเรียนนานาชาติแล้ว การสอนด้วยตัวเองของเธอที่บ้านก็มีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางด้านความรู้ของลูกๆ

ชุมชนในคอสตาริกา มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ  พวกลูกผสมท้องถิ่นเดิมผสมผิวขาว (castizos/ mestizos)  มีประมาณ  80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือก็หลากหลายเชื้อสาย เช่น  คนผิวสี คนท้องถิ่นเดิม คนเชื้อสายเอเชีย  เป็นต้น ในช่วงหลังปรากฏว่า  มีอเมริกันย้ายเข้าไปปักหลักทำมาหากินและรีไทร์ในคอสตาริกามากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี 2008 ถึง 2010

ส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศได้ไวกว่าประเทศเพื่อนบ้านอื่น เพราะคนคอสตาริกาอยู่ในครรลองของประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมากว่าครึ่งศตวรรษ รัฐบาลอเมริกันให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรร่วมกับคอสตาริกามายาวนาน ไม่มีการแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศนี้ ส่วนหนึ่งเพราะประชาธิปไตยเข้มแข็ง อีกส่วนหนึ่งเพราะคอสตาริกาเป็นพันธมิตรของอเมริกันในด้านความมั่นคง แม้จะไม่มีกองกำลังทหารในประเทศนี้อยู่ก็ตาม ซึ่งการไม่มีกองกำลังทหารดังกล่าว กลายเป็นจุดถ่วงดุลความมั่นคงในภูมิภาคลาตินอเมริกาในเวลาต่อมา

นอกเหนือไปจากนี้ คอสตาริกายังเป็นสมาชิกองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States) องค์กรสิทธิมนุษยชน  (Inter - American Court of Human Rights) ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งการเป็นสมาชิก ICC ทำให้คอสตาริกาได้รับการคุ้มครองจากประชาคมโลกโดยปริยาย แม้ว่าจะไม่มีข้อตกลงแบบทวิภาคีด้านการทหารระหว่างรัฐบาลคอสตาริกากับรัฐบาลอเมริกันก็ตาม การออกมายืนเดี่ยวในภูมิภาคหรือในโลก เป็นรัฐไร้ทหาร จึงเท่ากับเป็นความกล้าหาญของประชาชนคอสตาริกาอย่างหนึ่ง และด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้การรัฐประหารไม่เกิดขึ้นในประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม ในแง่ความมั่นคง คอสตาริกาเสมือนตกอยู่ภายใต้การคุ้มครองจากสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องคงอิทธิพลในปานามาเพื่อใช้คลองปานามาในการขนส่งสินค้าเศรษฐกิจ คอสตาริกาเองได้รับอานิสงส์จากการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐบาลอเมริกันข้อนี้ทางอ้อม เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านของปานามา ซึ่งในฐานะพันธมิตรของอเมริกา หากเกิดอะไรขึ้นในแง่ความมั่นคง เช่น ถูกรุกรานจากต่างชาติ กองทัพอเมริกันพร้อมเข้าไปช่วยเหลือ แม้ไม่มีสนธิสัญญาทางการทหารก็ตาม ส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกันเอง

การไม่มีกองทัพ ทำให้รัฐบาลคอสตาริกาใช้เงินงบประมาณในแต่ละปีเพื่อการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ ปัญหาความยากจนของคนได้มากขึ้น จนได้รับการวางอันดับให้เป็นประเทศที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และหลายประเทศทั่วโลกที่เคยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจแบบเดียวกันมาก่อน

อีกเรื่องที่ผมเพิ่งเข้าไปดูข้อมูล คือ เรื่องการนับถือศาสนาของคนคอสตาริกา น่าแปลกว่า แม้คนคอสตาริกาส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันแคทอลิก แต่ในส่วนของศาสนาพุทธกลับเติบโตในดินแดนแห่งนี้อย่างน่าสนใจเช่นกัน

ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยคอสตาริกาในปี 2007 ปรากฏว่า มีผู้นับถือพุทธศาสนาประมาณ 100,000 คน หรือราว 2 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ผ่านไปหลายปีเชื่อว่าเวลานี้ ศาสนิกของพุทธศาสนาคงขยายตัวมากกว่านี้

พอนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ผมก็ไพล่ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ ของเมืองไทยขึ้นมาจับจิตทีเดียวเลยล่ะครับ.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท