วงจรอุบาทว์การรับน้อง ว่าด้วยการเมืองเชิงวัฒนธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เป็นอีกครั้งที่เยาวชนไทยต้องเสียชีวิตจากการเข้าร่วมกิจกรรมการรับน้อง จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาอีกครั้งเป็นเสมือนคลื่นลูกใหม่ที่ซัดเข้าหาฝั่ง ก่อนที่คลื่นลูกนั้นจะหายไปตามพลวัตรแล้วชายฝั่งก็หลงลืมคลื่นของการรับน้องที่ซัดเข้ามา อย่างไรก็ดี โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามขึ้นมาต่อระบบการรับน้องประชุมเชียร์ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้รุ่นน้องต้องเข้ารับน้องแบบยอมพลีกายถวายหัว ชนิดที่ว่าไม่กลัวเจ็บกลัวตาย หากจะหาคำตอบของคำถามนี้เราคงต้องย้อนกลับไปมองว่าตัวรุ่นพี่ที่ทำการรับน้องนั้นมี อำนาจพิเศษ ไรอยู่ในมือ

จากที่ผมได้ลองใคร่ครวญถึงระบบการรับน้องในมหาวิทยาลัยของตัวเอง พร้อมๆกับการนั่งมองประเพณีอันไร้แก่นสารนี้อย่างใกล้ชิดในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็พบได้ว่าตัวรุ่นพี่นั้นคือกลุ่มอำนาจหนึ่งที่ถือต้นทุนทางวัฒนธรรมเอาไว้ ในทีแรกผมเองอยากจะเรียกโครงข่ายอำนาจนี้ว่าเป็น “กลุ่มทุน”มากกว่า “กลุ่มอำนาจ” หากทว่าเมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วก็พบว่ากลุ่มรุ่นพี่มีความเป็นกลุ่มอำนาจมากกว่าจะเป็นกลุ่มทุนด้วยเหตุผลดังนี้

1.รุ่นพี่ไม่มีการถือครองปัจจัยการผลิต แม้รุ่นพี่จะมีเงื่อนไขการขูดรีดทรัพย์สินรุ่นน้องปี 1 ผ่านการหลอกขายเสื้อมหาวิทยาลัย เสื้อคณะ เสื้อสาขา หรือเรียกเก็บเงินค่ากิจกรรมการรับน้อง แต่กลุ่มรุ่นพี่นั้นมิได้ถือครองปัจจัยการผลิต หากแต่เป็นกลุ่มอำนาจในมหาวิทยาลัยที่สามารถสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทุนนอกมหาวิทยาลัยได้

2.ถึงแม้รุ่นพี่จะมีการถือครองสินค้า [เช่นเสื้อคณะ/สาขา และสัญลักษณ์คณะ/สาขา] แต่ก็มิได้ใช้สินค้าในการสร้างกำไรเพื่อการลงทุนใหม่ แต่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าเพื่อขูดรีดผ่านการบังคับขาย และนำกำไรนั้นมาใช้ผลิตซ้ำกิจกรรมรับน้องอีกต่อหนึ่ง

จากเหตุผลหลักข้างต้นผมจึงขอนิยามว่าเครือข่ายของกลุ่มรุ่นพี่ที่ทำการรับน้องนั้นมีลักษณะเป็นกลุ่มอำนาจมากกว่าจะเป็นกลุ่มทุน เมื่อถึงตรงนี้ผมจะขออธิบายต่อว่าถ้าเช่นนั้นแล้วตัวรุ่นพี่มีความชอบธรรมหรืออำนาจอะไรในการจัดกิจกรรมรับน้องเพื่อกดขี่และขูดรีดรุ่นน้องผ่านการทำกิจกรรมที่ไร้แก่นสารนี้

1.การรับน้องและรุ่นพี่เป็นกลุ่มอำนาจทางจารีต หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นชนชั้นนำตามจารีตของมหาวิทยาลัย เมื่อแรกก้าวเข้ามาในมหาวิทยาลัยจนกระทั่งเข้าร่วมการรับน้อง นักศึกษาปี 1 จะถูกสอนและบังคับให้สยบยอมต่อระบบอาวุโสที่นับกันตามชั้นปีที่ศึกษา ที่ถูกอ้างว่าเป็นธรรมเนียม/วัฒนธรรม/จารีต ที่สืบต่อกันมา

2.จากที่กล่าวไว้ในข้อ 1. ลำพังเพียงเหตุผลข้างต้นไม่อาจจะทำให้การรับน้องคงอยู่ได้ เพราะหากรุ่นน้องไม่เข้าร่วมระบบก็จะล่มลงไปเอง ดังนั้นสิ่งที่เอื้อให้การรับน้องดำรงอยู่ได้นั้นคือการผูกขาดมหาวิทยาลัย คณะ และสาขาไว้กับการรับน้อง ด้วยระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยที่วางแผนการเรียนการสอนเอาไว้เป็นกรอบให้นักศึกษาต้องลงทะเบียนเรียนร่วมกับเพื่อนในสาขา และคณะของตนเองเท่านั้น [หากลงทะเบียนเรียนข้ามไปเรียนร่วมกับคณะอื่นจะมีความยุ่งยากกว่าการลงเรียนตามแผนการเรียนที่มหาวิทยาลัยจัดวาง] ด้วยกรอบที่ว่านี้นักศึกษาปี 1 จึงถูกขีดกรอบว่าตำแหน่งแห่งที่ในสังคมมหาวิทยาลัยของเขาจะต้องอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆในสาขา และคณะของตนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สถานที่ที่ผูกขาดการหาเพื่อนร่วมสาขาและคณะเอาไว้ก็คือการรับน้อง ที่จะแยกกระทำกันในรายสาขา และคณะของตน ทั้งนี้หากมีนักศึกษาปี 1 คนใดลุกขึ้นต่อต้านหรือไม่เข้าร่วมการรับน้อง ก็จะถูกกระบวนการกดดันทางสังคมผลักให้กลายไปเป็นคนชายขอบของสังคมมหาวิทยาลัย

3.พื้นฐานของปัจเจคบุคคลในสังคมมหาวิทยาลัยเป็นกลุ่มสถาบันนิยม [Institutionalism]ซึ่งต้องการเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือต้องการยึดโยงตนเองเข้ากับสถาบันที่สังกัด ผ่านวัตถุที่จะแสดงให้เห็นว่าปัจเจคบุคคลนั้นยังมีตัวตนอยู่และผูกโยงอยู่กับมหาวิทยาลัย [แม้ว่าจะมีตัวตนผ่านวัตถุที่เหมือนๆกับคนอื่นก็ตาม]สิ่งที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ก็คือการรับน้องประชุมเชียร์ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดการขายวัตถุประโลมจิตใจเช่น สัญลักษณ์เอก เสื้อคณะ เสื้อมหาวิทยาลัย

จากปัจจัยสามข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้เอื้อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการรับน้องประชุมเชียร์อยู่ตลอดเวลา กลุ่มอำนาจของรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยทำงานกันอย่างแข็งขันตั้งแต่ก่อนเปิดเรียนเพื่อผลิตซ้ำต้นทุนทางจารีต และสะสมต้นทุนทางจารีตตลอดการรับน้องผ่านพิธีกรรม และความเชื่อที่ห้ามตั้งคำถาม ปัจจัยหลากหลายเหล่านี้ทั้งความเชื่อทางศาสนาผี การครอบงำปัจเจคบุคคล การสถาปนาอำนาจทางจารีต จนกระทั่งผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจได้ผูกโยงเข้าด้วยกันเป็นเครือข่ายที่ช่วยกันผลิตซ้ำและสนับสนุนการรับน้องเรื่อยมา

สุดท้ายนี้ผมขอแสดงความเสียใจต่อญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการรับน้องในปีนี้ด้วยความเศร้าใจอย่างที่สุด และขอตั้งคำถามต่อสังคมไทยว่าจะต้องมีคนรุ่นใหม่อีกกี่คนกันหรือที่ต้องบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการรับน้อง จะต้องมีอีกกี่หยาดน้ำตาจากหัวอกคนเป็นพ่อแม่ที่ต้องสูญเสียลูกไปในการรับน้อง เราจึงจะรู้สึกว่าต้องยำเลิกประเพณีอันล้าหลัง และป่าเถื่อนนี้เสียที

 

เพิ่มเติม : ข่าวเหยื่อรับน้องโหด หัวหิน - http://www.komchadluek.net/detail/20140901/191226.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท