มีเดียคาเฟ่: สนทนาเรื่องเพศสภาพในสื่ออาเซียน

จากที่เคยถูกปิดกั้นพื้นที่การแสดงออก ปัจจุบันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่ในการแสดงออกในแวดวงภาพยนตร์มากขึ้น มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ เปิดเวทีมีเดียคาเฟ่-สื่อสนทนา “เรียนรู้เรื่องผู้หญิง และเพศสภาพในสื่ออาเซียน” เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม กล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการแสดงออกของผู้หญิง หรือกลุ่มผู้ที่มีหลากหลายทางเพศในภูมิภาคอาเซียน ตั้งแต่ปี 2533-2543 เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่เวียดนามและสิงคโปร์ มีการรวมกลุ่มของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เห็นถึงการยอมรับในสังคมมากขึ้น

มรกตวงศ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการรวมกลุ่มในประเทศสิงคโปร์ รัฐบาลสิงคโปร์ได้มีการแบนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ Homosexuality สามเล่ม โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่า เนื้อหาในหนังสือไม่เหมาะสมกับเยาวชน จึงมีการรวมกลุ่มแสดงออกของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้รัฐบาลยกระดับหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือที่เนื้อหาเหมาะสมกับผู้ใหญ่

อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ กล่าวว่า ด้านประเทศเวียดนาม ค่านิยมในภาพยนตร์ของผู้หญิงสมัยสงครามเวียดนามก่อนปี พ.ศ 2518 ผู้หญิงเวียดนามถูกมองว่าเป็นแกนหลักของครอบครัว ที่ต้องคอยหาเสบียงมาให้ผู้ชายที่ออกไปรบ ในช่วงสงครามเวียดนาม มีการพบว่าเริ่มมีการขายบริการทางเพศของผู้ชาย จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มชายรักชายในเวียดนาม รับอิทธิพลมาจากกลุ่มทหารจีไอที่มาจากตะวันตก ต่อมา หลังปี พ.ศ 2543 - ปัจจุบันประเทศเวียดนามได้เริ่มมีการเปิดประเทศ มีการเสพข้อมูลได้ง่ายขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนความคิดจึงมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มชายรักชาย และมีการจัดตั้งกลุ่มเกย์ เพื่อรวมตัวกันมากขึ้นในปัจจุบัน

มรกตวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศสิงคโปร์และเวียดนาม การแสดงออกของกลุ่มเพศที่สาม จะถูกมองว่าขัดต่อข้อลัทธิขงจื้อ จึงทำให้ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แต่ในอนาคตกลุ่มเพศที่สาม น่าจะมีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น

ชนม์ธิดา อุ้ยกุล กลุ่มฟิล์มกาวัน กล่าวว่า  ในประเทศอินโดนีเซีย ประชาชนนับถืออิสลามเป็นศาสนาหลัก ทำให้การแสดงออกทางความคิดของผู้หญิงถูกลิดรอน เนื้อหาในภาพยนตร์มักปลูกฝังเรื่องคุณค่าของพรหมจรรย์ พื้นที่ในการแสดงออกของกลุ่มหญิงรักหญิงอยู่ในข้อจำกัด  แต่ภายหลังรัฐบาลซูฮาร์โตหมดอำนาจ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในวงการภาพยนตร์ เนื้อหาในภาพยนตร์มีการสะท้อนเรื่องราวในสังคมมากขึ้น มีการส่งเสริมประชาธิปไตยแทรกซึมในเนื้อหาหนังมากขึ้น ทำให้การแสดงออกของกลุ่มเพศที่สามถูกนำเสนอมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีพื้นที่การแสดงออกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่มีกลุ่มคนที่แสดงออกชัดเจนในพื้นที่สาธารณะ

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต  รองผู้อำนวยการ หอภาพยนตร์  กล่าวว่า ปี 2543 ถึงปัจจุบันภาพยนตร์มีอิสระในด้านเนื้อหามากขึ้น หนังนอกกระแสเริ่มได้รับความสนใจ การแสดงออกจากกลุ่มเพศที่สามเริ่มมีบทบาทมากขึ้น จะเห็นได้ว่าเริ่มมีหนัง เกย์         เลสเบี้ยน จากหลายประเทศ ให้คนที่สนใจได้เลือกชม ทำให้เห็นการตื่นตัวของหนังอิสระมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ชลิดา กล่าวต่อว่า แม้มีภาพยนตร์หลายเรื่องที่เกี่ยวกับกลุ่มหญิงรักหญิง แต่ชื่อของผู้กำกับกลับเป็นผู้ชาย จึงมีการตั้งคำถามว่า การที่ผู้ชายมากำกับหนังหญิงรักหญิง แนวคิดของผู้กำกับมีความสนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับหญิงรักหญิงมากเพียงใด

ชลิดา ทิ้งท้ายด้วยว่า การทำภาพยนตร์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่ภาพยนตร์สามารถเป็นกระจกสะท้อนสังคมได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท