ฟัง สนช.ประชุมสภา ฟังชาวนาเล่าเรื่องหนี้

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจหรือน่าเศร้าใจอะไรหากผมจะบอกว่า ตัวเลขหนี้สินเฉลี่ยของประชากรในประเทศไทย เมื่อสิ้นปี 2556 จะอยู่ที่ 163,087 บาทต่อครัวเรือน เป็นตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รวบรวมเอาไว้ครับ อย่างที่ผมพูดไป คงไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอะไรสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำในระดับกลางๆ หรือสำหรับเราๆ ท่านๆ ผู้มีอันจะกิน สักวันหนึ่งคงพอมีทางที่จะยกหนี้ก้อนนี้ (สำหรับผู้มีหนี้ติดตัว) ออกไปให้หมดได้

แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงก็คือ มันคงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจเอามากๆ สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่สมดุลกับจ่าย หรือพูดให้ง่ายๆ ก็คือผู้ที่ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” นั่นเอง ในจำนวนของผู้ที่มักจะชักหน้าไม่ถึงหลังก็คือ ผู้มีอาชีพเกษตรกรรมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องการเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทวงหนี้ หรือชื่อเต็มว่า “ร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรม พ.ศ. ...” ในที่ประชุมวิปสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) ออกไปอีกนั้น สาเหตุเนื่องจากว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีปัญหาทางข้อกฎหมายหลายประการ จนท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติให้เลื่อนการพิจารณา(เพื่อให้รับหลักการ) ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน

ผมมานั่งนึกๆ ดูว่า ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านสภา และถูกนำมาปฏิบัติใช้จริง มันจะใช้ได้จริงๆ หรือไม่ ที่สำคัญก็คือ มันจะเกิดประโยชน์กับใครบ้างสำหรับ 3 ตัวละครหลัก คือ เจ้าหนี้ คนทวงหนี้ และลูกหนี้ ??? โดยเฉพาะเกษตรกร หรือโดยเฉพาะชาวนา หรือโดยเฉพาะชาวนาภาคกลางส่วนใหญ่ที่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนทำการผลิตทุกๆ ฤดูกาลทำนา

จากที่ผมพิจารณาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจากปี 2539 ถึงปี 2556 พบว่า ตัวเลขหนี้สินเฉลี่ยของประชากร จ.ชัยนาท มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตัวเลขปีล่าสุดประชากรมีหนี้สินเฉลี่ยอยู่ที่ 264,144 บาทต่อครัวเรือนต่อปี ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกันกับตัวเลขหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนของกลุ่มตัวอย่างงานศึกษาที่ผมกำลังศึกษาอยู่ในเขตพื้นที่ จ.ชัยนาท เช่นกันครับ

ก่อนจะไปว่ากันเรื่องหนี้สิน ผมขอเริ่มจากเรื่องรายได้ต่อครัวเรือนก่อนนะครับ ผลการศึกษาพบว่ารายได้ของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ครอบครัวละ 281,125 บาทต่อปี ขณะที่รายจ่ายอยู่ที่ครอบครัวละ 314,257 บาทต่อปี นี่คือตัวอย่างเชิงประจักษ์ที่รายได้ไม่สมดุลกับรายจ่าย และเมื่อนำตัวเลขรายได้มาลบด้วยตัวเลขรายจ่าย คุณพอนึกภาพออกไหมครับว่าอะไรคือคำตอบ ผมคงไม่ต้องอธิบายต่อว่า หนี้สินที่เพิ่มขึ้นทุกปีนั้น เกิดจากอะไร

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องหนี้สินครับ ตามที่ผมได้บอกไปว่า ตัวเลขหนี้สินของประชากร จ.ชัยนาท กับตัวเลขหนี้สินของกลุ่มตัวอย่างงานศึกษาใกล้เคียงกัน แตกต่างกันไม่มากครับ จากงานศึกษากลุ่มตัวอย่างพบว่า ณ ปัจจุบัน หนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 237,986 บาทต่อปี ตัวเลขนี้น้อยกว่าตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (264,144 บาทต่อปี) อยู่ 26,158 บาท

แต่สิ่งที่ผมพบยังมีมากกว่านั้นครับ ตัวเลขหนี้สินต่อปีของกลุ่มตัวอย่างที่ผมเพิ่งบอกไปนั้น เป็นเพียงตัวเลขเงินต้น ซึ่งหมายถึงเฉพาะตัวเลขของเงินที่กู้ยืมมาตั้งแต่ตอนแรก แต่ยังไม่ได้รวมดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมครับ

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องน่าตกใจแถมยังน่าเศร้าใจไม่น้อยที่ว่า เมื่อเอาตัวเลขเงินต้นบวกกับตัวเลขดอกเบี้ยที่เกิดจากการกู้ยืมพบว่า ตัวเลขหนี้สินต่อครัวเรือนจาก 237,986 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นมาเป็น 314,863 บาทต่อครัวเรือนต่อปีเลยทีเดียว

สถาบันเงินกู้ที่สำคัญเป็นลำดับต้นๆ เลยก็คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสถาบันการเงินที่ถือเป็นแหล่งพึ่งพิงสำหรับเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเลยทีเดียวครับ กลุ่มตัวอย่างนี้ก็เช่นกัน ยอดเงินที่กู้จาก ธกส. เป็นยอดเงินที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับแหล่งเงินกู้แหล่งอื่นๆ ประมาณเกือบๆ 1 ใน 3 ครับ

มาถึงตรงนี้ คุณลองคิดช่วยผมหน่อยครับว่าหาก พ.ร.บ.ทวงหนี้ ถูกประกาศใช้จริงๆ ตัวละคร 3 ตัว คือ เจ้าหนี้ คนทวงหนี้ และลูกหนี้  ใครจะได้รับประโยชน์ หรือใครจะเสียประโยชน์ เช่น ในบางมาตราที่ระบุว่า ให้ทวงหนี้ได้ในวันทำการปกติระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. และในวันหยุดราชการระหว่างเวลา 08.00-18.00 น หรือใน มาตรา 14 ที่ระบุว่า ผู้ติดตามหนี้ต้องไม่ปฏิบัติหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่เป็นการล่วงละเมิด ข่มขู่ การใช้วาจาที่ทำให้เกิดความเสียหาย การกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นการล่วงละเมิด และการคุกคาม หรือใน มาตรา 15 ที่ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ติดตามหนี้ ใช้วาจา ข้อมูลหรือข้อความที่เป็นเท็จ หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่เกี่ยวข้องกับการติดตามทวงถามหนี้ เป็นต้น

คุณคิดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เจ้าหนี้ยึดถือหรือปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน เจ้าหนี้ที่เคยใช้มาตรการทวงหนี้อันไม่เหมาะสมจะเลิกไปไหม ธ.ก.ส. หรือเจ้าหนี้รายอื่นๆ จะมีวิธีการทวงหนี้กับลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกรที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นกว่าเดิมภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ไหม ผมอยากถามเลยไปถึงว่า แล้วหากเงินต้นกับดอกเบี้ยพอกพูนจนเกษตรกรยากเกินจะใช้คืนแล้ว จะมีทางออกอย่างไร แต่คงจะออกนอกเรื่องไปไกลเกินครับ ...ไว้ให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เดินหน้าไปอย่างไร มีโอกาสคงได้มาเล่าสู่กันฟัง

ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ : landactionthai.org
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท