Skip to main content
sharethis

บรูซ ไรเนอร์ หนึ่งในผู้ร่วมรักษาคนทำงานด้านมนุษยธรรม 2 คนที่ได้รับเชื้ออีโบลาจากแอฟริกาเปิดเผยว่า ไม่ใช่อิทธิปาฏิหาริย์หรือวัคซีนมหัศจรรย์ใดๆ ที่ช่วยฟื้นฟูคนไข้ทั้ง 2 คน แต่เป็นเรื่องการดูแลประคับประคองคนไข้อย่างจริงจัง ระบบจัดการความสะอาดที่ดีและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในประเทศที่อีโบลาแพร่ระบาดหนัก

30 ส.ค. 2557 ก่อนหน้านี้เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวของคนทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมชาวอเมริกัน 2 คนคือเคนท์ แบรนท์ลีย์ และแนนซี ไรท์โบล ติดเชื้ออีโบลาขณะทำงานในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกก่อนที่ต่อมาได้ออกจากโรงพยาบาลเนื่องจาก "ได้รับการฟื้นฟูแล้ว" จากความช่วยเหลือของหน่วยงานโรคติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอมอรี ในรัฐแอตแลนตา

แม้ว่าก่อนหน้านี้คนไข้ทั้งสองคนจะถูกอ้างผ่านสื่อหลายแห่งว่าพวกเขาได้ "ขอบคุณพระเจ้า" ที่ช่วยให้พวกเขารอดชีวิตจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ทางเว็บไซต์ Scientific American สัมภาษณ์บรูซ ไรเนอร์ ผู้อำนวยการหน่วยงานโรคติดต่อโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเอมอรี เพื่อสอบถามว่าชาวอเมริกัน 2 คน หายจากโรคได้อย่างไร และจะมีวิธีการนำมาใช้กับผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้อย่างไร

ไรเนอร์ เปิดเผยในบทสัมภาษณ์ว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนฟื้นฟูจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา ร่างกายพวกเขาจะพัฒนาจนมีภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสในสายพันธุ์ที่พวกเขาติดเชื้ออย่างเข้มแข็ง ทำให้แบรนท์ลีย์และไรท์โบลมีโอกาสน้อยมากในการติดเชื้ออีโบลาสายพันธุ์เดิมอีก อย่างไรก็ตามเชื้ออีโบลามีอยู่ 5 สายพันธุ์ การมีภูมิคุ้มกันข้ามสายพันธุ์นั้นไม่เข้มแข็งเท่าใด โดยพวกเขายังอยู่ในช่วงศึกษาแบรนท์ลีย์และไรท์โบลอยู่

เมื่อถามว่าทางโรงพยาบาลเอมอรีได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการดูแลคนไข้ทั้ง 2 คน ที่จะสามารถนำไปใช้ได้กับคนไข้ในแอฟริกาตะวันตก ไรเนอร์ตอบว่าประเทศแถบแอฟริกาตะวันตกยังคงขาดแคลนเครื่องมือหลายอย่าง เช่น เครื่องมือตรวจวัดเซลล์เม็ดเลือดที่เป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจคนไข้ในโรงพยาบาลของพวกเขา เครื่องมือตรวจวัดทางการแพทย์สำคัญต่อคนไข้ที่ติดเชื้ออีโบลาเนื่องจากพวกเขาจะมีภาวะอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายผิดปกติเนื่องจากการสูญเสียน้ำในร่างกาย ทำให้ต้องคอยตรวจเช็กร่างกายคนไข้อยู่เสมอ

ไรเนอร์เปิดเผยอีกว่าคนไข้ชาวตะวันตกทั้ง 2 คนมีอาการบวมน้ำ คือการที่มีของเหลวจำนวนมากอยู่ในเนื้อเยื่อของพวกเขา โรคจากไวรัสอีโบลาจะสร้างความเสียหายต่อตับ ทำให้ตับไม่สามารถผลิตโปรตีนได้มากเท่าเดิม ทำให้โปรตีนในเลือดมีน้อยมากและมีของเหลวรั่วไหลออกไปยังเนื้อเยื่อ ทำให้พวกเขาเรียนรู้อย่างหนึ่งว่าควรให้ความสนใจในเรื่องการขาดโปรตีนและเสริมโปรตีนให้กับคนไข้

ไรเนอร์กล่าวถึงเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วควรให้ความช่วยเหลือในด้านเครื่องมือรักษาคนไข้และช่วยเหลือด้านการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ ซึ่งไรเนอร์คาดว่าภายในอีก 5 ปี ข้างหน้าพวกเขาจะมีเครื่องมือทางการแพทย์ไว้ใช้

ขณะเดียวกันไรเนอร์เปิดเผยอีกว่าพวกเขากำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานรวมถึงกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการรักษาผู้ป่วยและเป็นคู่มือแนวทางเพื่อแจกจ่ายต่อประเทศอื่นๆ เนื่องจากนั่นเป็นเป้าหมายของคณะทำงานในเอมอรี

ในบทสัมภาษณ์ไรเนอร์บอกว่ากรณีคนทำงานด้านสุขภาวะทั้ง 2 คนเหมือนกับกรณีที่คนไข้ถูกส่งต่อไปให้แพทย์คนอื่น เนื่องจากพวกเขาไม่มีเครื่องมือที่สามารถตรวจวัดได้

ในเรื่องที่องค์การอนามัยโลกเคยกล่าวว่าผู้ป่วยอาจจะกลับมาติดเชื้อได้ในอีกหลายเดือนถัดมาหลังจากฟื้นตัวแล้ว ไรเนอร์กล่าวขยายความในเรื่องนี้ว่า แม้ผู้ป่วยหลายคนจะฟื้นตัวจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลาแล้ว เชื้อก็อาจจะยังคงปล่อยส่วนที่เป็นสารนิวเคลียร์พันธุกรรม (nuclear material) ที่ช่วยแพร่กระจายไวรัสไว้ตามของเหลวพวกน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอดของสตรี รวมถึงอาจจะอยู่ในปัสสาวะด้วย ซึ่งไรเนอร์แนะนำว่าผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูไม่ควรมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันภายใน 3 เดือนหลังจากนั้น

เกี่ยวกับขั้นตอนการดูแลรักษาคนทำงานด้านสุขภาวะทั้ง 2 คน ไรเนอร์เปิดเผยว่าพวกเขาใช้พยาบาล 21 คน และแพทย์ 5 คน รวมถึงมีคนช่วยเหลืออีกจำนวนมากที่คอยดูแลเครื่องมือที่ต้องทำการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงทุกครั้งหลังนำออกจากห้องที่ดูแลผู้ป่วย รวมถึงต้องจ้างวานบริษัทที่เชื่อถือได้ในการจัดการกับของเหลือทิ้งทางการแพทย์ให้แน่ใจว่าไม่มีเชื้ออีโบลาเหลืออยู่ในนั้นแล้ว

ในบทสัมภาษณ์ถามว่ามีการนำเลือดของคนไข้ที่ได้รับการฟื้นฟูแล้วมาใช้กับแบรนท์ลีย์ ซึ่งวิธีการนี้มีบทบาทอย่างไรบ้าง แต่ไรเนอร์บอกว่าวิธีการนี้ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีส่วนทำให้คนไข้ฟื้นฟูอาการได้หรือไม่ และวิธีการนี้ก็ไม่ใช่การรักษาที่เป็นมาตรฐานในสหรัฐอเมริกา

ในแง่การตรวจวินิจฉัยโรค ไรเนอร์เปิดเผยว่าในสหรัฐฯ จะใช้วิธีการหลักๆ ที่เรียกว่า "ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส" (Polymerase chain reaction) คือการนำเลือดของผู้ป่วยใส่ลงในเครื่องตรวจเพื่อหาว่ามีสารนิวเคลียร์พันธุกรรมจากเชื้ออีโบลาอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ (CDC) มักจะใช้วิธีการนี้กับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด นอกจากนี้ยังมีการตั้งห้องทดลองของ CDC ทั้งในประเทศและตามที่ต่างๆ ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งเรื่องนี้ไรเนอร์บอกว่าเป็นวิธีการที่ไม่ยากนัก

ไรเนอร์ชี้อีกว่าโรคจากเชื้อไวรัสอีโบลาไม่มีการรักษาให้หายได้ ผู้รอดชีวิตต้องอาศัยการดูแลประคับประคอง ด้วยการเสริมของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ที่คนไข้สูญเสียไป การเติมเกล็ดเลือดในกรณีที่มีเกล็ดเลือดต่ำหรือมีเลือดออก การให้โปรตีนเสริมซึ่งคนไข้บางรายจะขาดโปรตีน ในประเทศพัฒนาแล้วมีเครื่องมือในการประคับประคองเหล่านี้มากกว่าในแอฟริกาตะวันตก

นอกจากนี้ยีงมีกรณีของยาที่ชื่อ ZMapp ซึ่งเป็นยาที่ยังอยู่ในขั้นทดลองซึ่งมีการพยายามนำมาใช้รักษาโรคจากเชื้ออีโบลา แต่ก็ยังมีคนเสียชีวิตหลังจากได้รับยานี้อยู่ ไรเนอร์กล่าวว่ายาในขั้นทดลองนี้ยังบอกไม่ได้ว่านำมาใช้ได้จริงหรือไม่ ตัวยาอาจจะส่งผลดีแต่อาการคนไข้อยู่ในระยะที่เกินกว่ายาจะช่วยเหลือได้ หรือตัวยาเองอาจจะยังไม่ได้ผล ซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

"ในอดีต ผู้คนคิดว่าพวกเขาต้องการอะไรสักอย่างเพื่อการ 'รักษาให้หาย' แต่กลายเป็นว่าตัวที่จะช่วยรักษาพวกนั้นกลับลดความสามารถในการรอดชีวิตของคนไข้เสียเอง เราควรเน้นในเรื่องการดูแลผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วนจริงจังและความสามารถในการจัดการความผิดปกติจากกระบวนการภายในร่างกายแทนที่จะใช้วัคซีนมหัศจรรย์หรือของที่อาจจะเพิ่มหรือลดอัตราการอยู่รอดก็ได้" ไรเนอร์กล่าว

เมื่อถามว่ามีการพยายามทดลองทางการแพทย์อื่นๆ นอกเหนือจากยา ZMapp ในประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ พวกเขามีการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือมีผู้คอยดูแลควบคุมในเรื่องนี้อย่างไร ไรเนอร์ตอบว่าเขาไม่ทราบว่าจะมีองค์กรหรือหน่วยงานจำเพาะหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ประสานงานในจุดนี้ แต่ก็คาดเดาว่าผู้ผลิตและค้นคว้าเรื่องยาคงทราบดีว่ากลุ่มอื่นๆ ทำอะไรอยู่และมีการเปรียบเทียบกับการค้นคว้าของตนเองเพราะรู้สึกว่ามันจะเป็นประโยชน์ถ้าพวกเขาทำงานร่วมกัน

คณะกรรมการฝ่ายจรรยาบรรณขององค์การอนามัยโลกเคยกล่าวไว้ว่าการให้ยาทดลองเพื่อรักษาผู้ป่วยอีโบลาเป็นเรื่องในเชิงจรรยาบรรณแต่ก็ไม่มีการระบุชี้ชัดว่าคนกลุ่มไหนควรได้รับยาก่อนกันหรือควรมีการแจกจ่ายวัคซีนในลักษณะใด ในแง่นี้ไรเนอร์กล่าวว่าจริงอยู่ที่ควรคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณแต่ก็ต้องมีความระมัดระวังสูง เนื่องจากเรายังไม่ทราบชัดเจนว่ายาชนิดใดใช้ได้ผลจริง และอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าในการที่ยังไม่แจกจ่ายยาออกไป

สิ่งที่ทางคณะทำงานของไรเนอร์ได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับอีโบลาอีกเรื่องหนึ่งคือ ประชาชนยังมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับเชื้อไวรัสอีโบลาอยู่น้อยและมีความกังวลต่อเรื่องที่คนไข้จะถูกส่งตัวออกนอกแอฟริกาไปรักษาในประเทศอื่นๆ เนื่องจากคิดว่าโรคนี้มีความร้ายแรงสูงมากดูจากอัตราการเสียชีวิต แต่ในความเป็นจริงแล้วไรเนอร์กล่าวว่าอัตราการเสียชีวิตสูงเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาและมีการระบาดของโรคเนื่องจากทรัพยากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ

"พวกเรารู้สึกอยู่เสมอว่าโอกาสการอยู่รอดของคนไข้จะเพิ่มขึ้นมากเมื่อได้รับการดูแลอาการในประเทศที่พัฒนาแล้ว" ไรเนอร์กล่าว

นอกจากนี้ในบทสัมภาษณ์ยังระบุอีกว่าผู้ติดเชื้ออีโบลาที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้วมีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นน้อยมาก โดยคณะทำงาน 26 คน ของพวกเขาไม่มีใครได้รับเชื้อจากการรักษาคนไข้เลย

ไรเนอร์กล่าวถึงการป้องกันการติดต่อจากการรักษาว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องสวมเครื่องป้องกันมากเท่าคณะทำงานในแอฟริกาซึ่งต้องสวมเครื่องป้องกันทั้วตัว พวกเขาแค่ป้องกันไม่ให้เลือดหรือของเสียจากร่างกายผู้ป่วยถูกตัวพวกเขา ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณของของเหลวด้วย

"พวกเราสามารถจัดการให้มีโอกาสติดต่อของเชื้อน้อยมาก ไม่ใช่ว่าพวกเรานำเชื้อโรคเข้ามาในฝั่งอเมริกา" ไรเนอร์กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Ebola Doctor Reveals How Infected Americans Were Cured, Scientific American, 27-08-2014
http://www.scientificamerican.com/article/ebola-doctor-reveals-how-infected-americans-were-cured/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net