Skip to main content
sharethis

สารปรอทเป็นสารพิษจากอุตสาหกรรมตัวหนึ่งที่เป็นอันตราย มันเป็นสารพิษทำลายประสาทที่ส่งผลต่อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ ทำให้นักศึกษาจากรัฐเวอร์จิเนีย ทดลองด้วยการอัดเสียงนกร้องเพื่อเปรียบเทียบเสียงของนกที่รับสารพิษและไม่ได้รับสารพิษ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลกระทบที่เกิดกับมนุษย์

31 ส.ค. 2557 เคลลี่ ฮัลลิงเจอร์ ใช้ไมโครโฟนบันทึกเสียงร้องของนกหลายชนิดตามแนวแม่น้ำเซาธ์ริเวอร์ รัฐเวอร์จิเนีย ในสหรัฐอเมริกา เธอกำลังทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นในวิทยาลัยและอาจารย์วิชานิเวศวิทยาของเธอ แดน คริสตอล เพื่อค้นคว้าว่าสารปรอทที่ปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมส่งผลต่อเสียงของนกหรือไม่

ฮัลลิงเจอร์อัดเสียงนกไปตามแม่น้ำที่บางจุดก็มีมลภาวะ บางจุดปราศจากมลภาวะ เมื่อเธอนำกลับมาวิเคราะห์เสียงของนกในคอมพิวเตอร์ก็พบว่าเหล่านกกระจิบและนกกระจอกตามแหล่งที่มีมลภาวะร้องเพลงด้วยเสียงที่สั้นลง มีระดับเสียงต่ำลง และฟังดูเรียบๆ

เป็นที่รู้กันดีว่าสารปรอทเป็นสารพิษที่สามารถทำลายสมองของมนุษย์ได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์ทำให้นกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจนสังหารลูกของตนเอง แต่จากการวิจัยในครั้งนี้ก็ทำให้พบว่าเสียงนกร้องเปลี่ยนไปด้วย

สารปรอทจากอุตสาหกรรมมาจากการเผาถ่านหิน มีงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้เปิดเผยว่าสารปรอทในชั้นบรรยากาศมีเพิ่มมากขึ้น 4 เท่า นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมของมนุษย์ อีกทั้งจำนวนสารปรอทจำพวกเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ก็มีเพิ่มมากขึ้นในสัตว์

สารเมธิลเมอร์คิวรีมีผลต่อเด็กในครรภ์ผ่านทางการที่มารดาทานอาหารที่มีสารตกค้างเหล่านี้ สารนี้ส่งผลให้เด็นในครรภ์มีปัญหาด้านการพูด การพัฒนาด้านภาษา ด้านการเรียนรู้ และด้านความจำ ทำให้การศึกษาผลของสารปรอทต่อนกเหล่านี้อาจจะช่วยให้ศึกษาเปรียบเทียบกับผลที่เกิดกับสมองของมนุษย์ได้ด้วย

ฟิลลิปเป แกรนด์จีน จากนักวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเปิดเผยว่า เมธิลเมอร์คิวรีส่งผลต่อระบบการเคลื่อนไหวและการควบคุมการพูดในมนุษย์ ซึ่งอาจจะส่งผลแบบเดียวกันในนก ซึ่งคริสตอลก็เปิดเผยว่านกที่ได้รับสารปรอทดูเหมือนจะมีปัญหาด้านการเรียนรู้เช่นกัน

นิล บาสุ นักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแม็คกิลกล่าวว่า จำนวนนกร้องเพลงทั่วโลกกำลังลดลง ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากสารปรอทและสารเคมีอื่นๆ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้จำนวนประชากรนกเหล่านี้ลดลง

เสียงเพลงของนกมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของพวกมัน ทั้งเรื่องการปกป้องอาณาเขตและการหาคู่ผสมพันธุ์ นกบางจำพวกเช่นนกกระจิบและนกกระจอกเรียนรู้การร้องเพลงจากพ่อของพวกมันเพื่อฝึกการใช้ความจำ การเลียนแบบ และการพัฒนาสมอง เช่นเดียวกับการฝึกพูดของคน นอกจากนี้นกแต่ละชนิดยังมีจังหวะและความเร็วของเพลงในแบบของตัวเอง นกบางชนิดยังมีระดับเสียงร้องต่างกันตั้งแต่เสียงสูงระดับโซปราโนของนกซีดาร์แว็กซ์วิงค์เล็ก ไปจนถึงเสียงทุ่มต่ำของนกกาเหว่า

เสียงของนกยังมีระดับสเกลโน้ตที่ต่างกันเช่นนกบางชนิดจะร้องเสียงโน้ตเดียว แต่นกบางชนิดก็มีเสียงเหมือนขลุ่ย อย่างไรก็ตามหูของมนุษย์พบว่าเพลงของนกมีความซับซ้อนเกินไปจนต้องมีการใข้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยถอดเสียงของนก

นอกจากคริสตอลและฮัลลิงเจอร์แล้วก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบว่านกที่ได้รับสารปนเปื้อนโลหะหนักจะร้องเพลงในช่วงพระอาทิตย์ขึ้นน้อยลงเมื่อเทียบกับนกในที่ที่ไม่ค่อยมีมลภาวะ และในบางแห่งก็มีการร้องเพลงผิดเพี้ยนไป

จากการศึกษาของฮัลลิงเจอร์พบว่า นกกระจิบและนกกระจอกที่ร้องเพลงเพี้ยนเป็นผลมาจากความผิดปกติของสมองทำให้พวกมันไม่สามารถเรียนรู้เสียงเพลงได้ตามปกติ ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่สารปรอทเป็นสารพิษทำลายประสาทที่ส่งผลต่อพัฒนาการสมองมนุษย์

เรื่องนี้ถูกนำไปศึกษาต่อในห้องทดลองกับนกซีบราฟินช์ โดยให้บางส่วนได้รับอาหารที่ปนเปื้อนสารปรอทและอีกส่วนหนึ่งได้รับอาหารที่ไม่มีการปนเปื้อน จากนั้นจึงมีการเปรียบเทียบเสียงร้องระหว่างสองกลุ่มตัวอย่างและมีการเผยแพร่เสียงร้องผ่านทางเว็บไซต์ soundcloud


เสียงของนกที่ไม่ได้รับสารปนเปื้อน


เสียงของนกที่ได้รับสารปนเปื้อน


ผลการทดลองพบว่านกที่ได้รับสารปนเปื้อนจะมีเสียงร้องที่ต่ำกว่าและมีความซับซ้อนน้อยกว่า โดยนกที่ไม่ได้รับสารปนเปื้อนจะร้องเพลงได้ด้วยเสียงสูงระดับ 8 กิโลเฮิรตซ์ ส่วนนกที่ได้รับสารพิษร้องได้สูงสุด 6 กิโลเฮิรตซ์ นกที่กินอาหารมีสารปรอทยาวนานเป็นเวลา 1 ปีจะไม่สามารถบินได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนความเครียดทำให้นกมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออันตรายลดลง และยังยับยั้งภูมิต้านทานของนกอีกด้วย

นอกจากนี้สารปรอทยังส่งผลกระทบที่น่ากลัวอย่างอื่นกับนก เบอร์กิต เบราน์ นักพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมจากแคนาดากล่าวว่าตัวอ่อนของนกที่ได้รับสารปรอทจะเกิดมาโดยไม่มีดวงตา มีลักษณะปากแปลกออกไป หรือความผิดปกติอื่น และนกบางชนิด เช่น นกเหยี่ยว และนกกระยาง ก็มีความบอบบางต่อสารปรอทมาก

"สารปรอทจัดเป็นสารพิษทำลายประสาทที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและส่งผลทางกายภาพหลายอย่างต่อสัตว์มีกระดูกสันหลัง และเราก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าผลกระทบเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างไร เราจึงควรใช้ความระมัดระวังมากว่าเราจะจัดการกับสารพิษปนเปื้อนเหล่านี้อย่างไรในสังคม" เดวิด อีเวอร์ส จากศูนย์วิจัยเพื่อตวามหลากหลายทางชีวภาพในรัฐเมน สหรัฐฯ กล่าว

 


เรียบเรียงจาก

Heavy metal songs: Contaminated songbirds sing the wrong tunes, Environmental Health News, 28-08-2014
http://www.environmentalhealthnews.org/ehs/news/2014/aug/wingedwarnings4heavy-metal-songs

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net