ประวัติศาสตร์ลิขสิทธิ์ (19): การขึ้นครองยุโรปของลิขสิทธิ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


Original artist: Joseph Ferdinand Keppler (1838-1894)
Restoration: Adam Cuerden

ตลอดศตวรรษที่ 18 ลิขสิทธิ์นั้นถือว่าเป็นแนวคิดแปลกๆ ของพวกอังกฤษมาโดยตลอด โดยทั่วไปไม่มีใครในยุโรปยอมรับว่าลิขสิทธิ์มีลักษณะ “สากล” ครั้งหนึ่งที่สภาไอร์แลนด์มีสมาชิกสภาเสนอให้พิจารณากฎหมายลิขสิทธิ์ ผลคือสมาชิกสภาคนอื่นก็ตอบโต้อย่างรุนแรงกระทั่งตราหน้าผู้เสนอกฎหมายว่า “ทรยศต่อชาติ” ที่เอาแนวทางกฎหมายของอังกฤษมาใช้ [1] ซึ่งนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ไม่เลวนักของทัศนคติโดยทั่วไปของชาวยุโรปต่อกฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษ ซึ่งที่ตลกคือว่าอันที่จริงตลอดศตวรรษที่ 18 แม้แต่พ่อค้าหนังสือในอังกฤษก็ไม่ได้ใส่ใจกฎหมายลิขสิทธิ์นักดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

นี่เป็นสิ่งที่แตกต่างไปในศตวรรษที่ 19 ที่รัฐใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตกทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซีย ก็ล้วนมีกฎหมายลิขสิทธิ์บางรูปแบบกันหมดแล้ว และความคิดที่ว่าจะทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์มีขอบเขตคุ้มครองทั้งโลกก็ดูจะมีความเป็นไปได้มากขึ้น และก้าวแรกๆ ของความเป็นไปได้นั้นก็คือสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศอันเป็นสิ่งที่รัฐอย่างปรัสเซียมีความเชี่ยวชาญ เพราะได้ผ่านประสบการณ์การไล่ทำสนธิสัญญากับรัฐเล็กรัฐน้อยที่ใช้ภาษาเยอรมันมานักต่อนัก

คำถามคือทำไมรัฐทั้งสามถึงต้องการจะขยายการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์งานของประเทศตนไปในประเทศอื่นๆ? นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจเพราะดั้งเดิม เราจะแทบไม่พบแรงจูงใจใดๆ ที่ประเทศเหล่านี้จะต้องมาขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของตนเลย เพราะตลาดหนังสือของทั้งสามรัฐ เป็นตลาดหนังสือที่แตกต่างกันอันมีภาษาที่ใช้ในรัฐซึ่งต่างกันเป็นพรมแดนสำคัญ

กล่าวคือ ดั้งเดิมในศตวรรษที่ 18 มันไม่มีประโยชน์นักที่อังกฤษจะไปคุ้มครองลิขสิทธิ์ในปรัสเซีย เพราะแม้แต่คนปรัสเซียที่ “มีการศึกษา” โดยทั่วไปก็ไม่ได้อ่านหนังสือภาษาอังกฤษกันเป็นล่ำเป็นสันแบบที่พ่อค้าหนังสือปรัสเซียจะพิมพ์หนังสืออังกฤษมาขายได้ และก็เช่นเดียวกันก็ไม่มีประโยชน์ที่ฝรั่งเศสจะคุ้มครองลิขสิทธิ์หนังสือของตนในอังกฤษ เพราะคนอังกฤษในช่วงนั้นก็ไม่ได้อ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสกันมากมายขนาดที่จะพิมพ์หนังสือภาษาฝรั่งเศสขายในอังกฤษได้ง่ายๆ

พูดง่ายๆ คือพลเมืองทั้งสามรัฐไม่ใช่ผู้ “ละเมิดลิขสิทธิ์” ของกันและกันอยู่แล้วแม้จะไม่ได้มีกฎหมายรับรองสถานะของ “ลิขสิทธิ์” ให้เลยพ้นพรมแดนของรัฐ อย่างไรก็ดีอันที่จริงทั้งสามรัฐก็ล้วนมีรัฐใกล้เคียงอันมีบทบาทในการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” หนังสือของตนอยู่แล้ว อังกฤษมีสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตหนังสือเถื่อนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสมีสวิตเซอร์แลนด์เป็นแหล่งผลิตหนังสือเถื่อนภาษาฝรั่งเศส ส่วนปรัสเซียมีออสเตรียและบรรดารัฐทางใต้เป็นแหล่งผลิตหนังสือเถื่อนภาษาเยอรมัน ดังนั้นการจัดการกับ “การละเมิดลิขสิทธิ์” ของรัฐพวกนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่กว่าการไปไล่ยืนยันลิขสิทธิ์ในรัฐที่ไม่ได้มีการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” อย่างแพร่หลาย ซึ่งการจัดการไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ต่างกันไป

การจัดการกับบรรดาผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้น่าจะเป็นความพึงพอใจของบรรดาพ่อค้าหนังสือในสามรัฐแล้ว แต่ทำไมยังมีแรงจูงใจในการทำสนธิสัญญากับรัฐที่ไม่ใช่ตลาดใหญ่ของหนังสือด้วยซ้ำอีก? เหตุผลดูจะต้องแยกกันเป็นคู่สัญญาไป ซึ่งอันที่จริงนี่ก็ดูจะไม่ใช่ความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วยซ้ำ แต่ฝ่ายที่รับข้อเสนอก็ดูจะยินยอมไปในนามของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจ ซึ่งการยินยอมคุ้มครองลิขสิทธิ์ของพลเมืองอีกรัฐก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างปัญหาอะไร

ความพยายามแรกที่จะทำให้อังกฤษทำสนธิสัญญากับรัฐอื่นเกิดจาก Tauchnitz  สำนักพิมพ์จากโลกภาษาเยอรมัน สินค้าหลักของสำนักพิมพ์ Tauchnitz คือหนังสือรวมงานของนักเขียนจากอังกฤษและอเมริกา ซึ่งทาง Tauchnitz ก็จะใช้กระดาษราคาถูกและพิมพ์เป็นปริมาณมากๆ มาขายตลาดในภาคพื้นทวีปโดยเฉพาะ

แน่นอนว่าตอนที่ทาง Tauchnitz เริ่มธุรกิจ ทาง Tauchnitz ก็สามารถจะเอางานของนักเขียนอังกฤษมาตีพิมพ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและจ่ายค่าลิขสิทธิ์กับใครทั้งนั้นอย่างไม่ผิดกฎหมายของประเทศใดทั้งสิ้น แต่สิ่งที่ทาง Tauchnitz ทำก็คือการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเหล่านักเขียนโดยจ่าย “สินน้ำใจ” ให้นักเขียนเมื่อทางสำนักพิมพ์ได้พิมพ์งานเขียน ซึ่งนี่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของจารีตการจ่ายสินน้ำใจให้นักเขียนที่แพร่หลายในโลกภาษาเยอรมันตั้งแต่ไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์ใดๆ ก็ได้

เมื่อตลาดขยายตัว ก็มีสำนักพิมพ์อื่นๆ พิมพ์หนังสือมาแย่งตลาดกับ Tauchnitz ทาง Tauchnitz ก็เลยต้องหาทางผูกขาดตลาดไว้และวิธีเดียวที่เป็นไปได้ที่จะทำให้ทางสำนักพิมพ์ผูกขาดสิทธิในการตีพิมพ์งานของนักเขียนอังกฤษในโลกภาษาเยอรมันก็คือการทำให้อังกฤษและปรัสเซียยอมรับลิขสิทธิ์ของกันและกันให้ได้ นี่ทำให้ Tauchnitz เอาประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์ขึ้นไปสู่โต๊ะเจรจาในอังกฤษที่การประชุม Association for the Protection of British Literature ในอังกฤษ

อย่างไรก็ดีการประชุมครั้งนี้ล้มเหลวเพราะนักเขียนและสำนักพิมพ์อังกฤษมีความกังขาในแนวทางนี้ เพราะการยอมให้อังกฤษลงนามยอมรับลิขสิทธิ์ของปรัสเซีย ก็หมายถึงการที่สำนักพิมพ์อังกฤษจะหมดสิทธิส่งออกหนังสือไปตีตลาดหนังสือภาษาอังกฤษในโลกภาษาเยอรมันด้วย กล่าวง่ายๆ คือ สำนักพิมพ์อังกฤษยังมอง Tauchnitz เป็นคู่แข่ง และนักเขียนจำนวนมากก็เข้าข้างสำนักพิมพ์อังกฤษ

แม้ว่าการเจรจาครั้งนี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์และนักเขียนที่เข้าร่วม แต่มันก็ได้ทำให้ประเด็นเรื่องสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศได้กลายมาเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับการสานต่อในการเจรจาอีกหลายต่อหลายครั้งที่ขยายอาณาบริเวณไปเรื่อยๆ จนในปี 1845 รัฐที่เป็นคู่เจรจาสนธิสัญญาลิขสิทธิ์กับอังกฤษก็มี ฝรั่งเศส เบลเยียม และปรัสเซีย ซึ่งในปี 1846 ปรัสเซียก็เป็นรัฐแรกในโลกที่ลงนามยอมรับลิขสิทธิ์ของอังกฤษ [2]

การยอมรับข้อเสนอของอังกฤษของปรัสเซียดูจะเป็นไปเพื่อช่วยให้พ่อค้าหนังสือในปรัสเซียและโลกภาษาเยอรมันเองสามารถผูกขาดหนังสือจากอังกฤษได้อย่างชอบธรรม นี่น่าจะเป็นเหตุผลให้ปรัสเซียไม่ต่อรองมาก แต่นี่ไม่ใช่เงื่อนไขที่ฝรั่งเศสจะยอมรับได้ กล่าวคือฝรั่งเศสไม่ยอมลงนามรับรองลิขสิทธิ์อังกฤษภายใต้เงื่อนไขเดียวกับปรัสเซียเพราะเห็นว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษมีขอบเขตการคุ้มครองที่แคบเกินไป

ฝรั่งเศสลือชื่อมาตั้งแต่เริ่มมีกฎหมายลิขสิทธิ์แล้วว่ามีขอบเขตการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่กว้างมาก (แม้ว่าจะเป็นกฎหมายที่ผ่านมาอย่างบังเอิญในความชุลมุนของการปฏิวัติ) และในฝรั่งเศสก็มีความเชื่อกันทั่วไปว่าลิขสิทธิ์มีลักษณะเป็นสิทธิธรรมชาติที่ผูกกับประพันธกร ซึ่งต่างจากอังกฤษที่มองว่าลิขสิทธิ์เป็นสิทธิทางเศรษฐกิจที่รัฐมอบให้พลเมืองได้ในเงื่อนใขที่ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อรัฐ

ในกรอบแบบนี้จึงไม่แปลกนักที่ฝรั่งเศสมองสิ่งที่ทุกวันนี้เรียกกันในภาษากฎหมายลิขสิทธิ์ว่า “งานดัดแปลง” ว่าเป็นสมบัติอันชอบธรรมของประพันธกรด้วย ซึ่งประเด็นที่ฝรั่งเศสกังวลเป็นพิเศษจนทำให้ไม่ยอมเซ็นยอมรับลิขสิทธิ์อังกฤษก็คือ “งานแปล” เพราะภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของอังกฤษ (และเอาจริงๆ ปรัสเซียก็ด้วย) ในตอนนั้น ยังไม่มีการยอมรับว่า “สิทธิในการแปลงาน” เป็นส่วนหนึ่งของลิขสิทธิ์ กล่าวคือถึงอังกฤษจะเซ็นรองรับลิขสิทธิ์ของฝรั่งเศส การรองรับลิขสิทธิ์ก็เป็นการรองรับลิขสิทธิ์เพียงแค่งานภาษาฝรั่งเศสที่มาขึ้นทะเบียนที่ลอนดอนเท่านั้น (การคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้กฎหมายอังกฤษตอนนั้นต้อง “จดลิขสิทธิ์”) ถ้างานภาษาฝรั่งเศสนั้นถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ “เจ้าของลิขสิทธิ์” จากฝรั่งเศสก็ทำอะไรไม่ได้เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษไม่ครอบคลุมถึงงานแปล และงานที่ถูกแปลนั้นหากถูกนำมาขึ้นทะเบียน งานมันก็จะกลายเป็นลิขสิทธิ์ของผู้แปลหรือสำนักพิมพ์ไป (ตามแต่จะตกลงกัน)

การไม่ยอมให้ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานแปลเป็นสิ่งที่เข้าใจได้บนฐานของกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษที่มีพื้นฐานหลักการเป็นกฎหมายสนับสนุนการเรียนรู้มาแต่แรกแล้ว [3] เพราะอย่างน้อยๆ เงื่อนไขนี้ก็ทำให้งานของคนอังกฤษที่เขียนเป็นภาษาอื่นๆ สามารถถูกนำมาแปลเผยแพร่ได้อย่างอิสระ แต่สำหรับฝรั่งเศสกฎหมายลิขสิทธิ์มันไม่ใช่กฎหมายสนับสนุนการเรียนรู้เท่ากับที่เป็นกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ มาตรการการส่งเสริมการเรียนรู้ของอังกฤษซึ่งเปิดให้มีการแปลงานอย่างอิสระจึงเป็นการส่งเสริมละเมิดเสียมากกว่าในมุมของฝรั่งเศส และผู้ที่กังวลเป็นพิเศษก็คือบรรดานักเขียนบทละครฝรั่งเศสซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักทางศิลปวัฒนธรรมขณะนั้น เพราะถ้าอังกฤษไม่ทำการแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครองงานแปล การทำสนธิสัญญาลิขสิทธิ์กับอังกฤษก็แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อพวกเขา

ในท้ายที่สุดฝรั่งเศสก็ยินยอมเซ็นสนธิสัญญากับอังกฤษในปี 1851 ภายใต้คำมั่นสัญญาของอังกฤษที่จะแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองงานแปลด้วย และกฎหมายดังกล่าวก็ปรากฎมาในปี 1852 ซึ่งอังกฤษก็ระบุชัดเจนว่างานภาษาต่างประเทศจากประเทศคู่สัญญาต้องมีการพิมพ์ยืนยันสิทธิในการแปลในส่วนหน้าของปก (ภายหลังหลักการนี้พัฒนาไปเป็นการเขียน “all rights reserved” ในหน้าแรกๆ ของหนังสือที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคปัจจุบัน) แล้วนำมาขึ้นทะเบียนพร้อมมอบให้ห้องสมุดต่างๆ ตามเงื่อนไขของกฎหมายลิขสิทธิ์อังกฤษภายในเวลา 3 เดือนนับจากตีพิมพ์ครั้งแรก และการแปลบางส่วนจะต้องทำภายใน 1 ปีหรือการแปลทุกส่วนจะต้องทำภายใน 3 ปีนับจากขึ้นทะเบียน [4] ซึ่งแม้ความจุกจิกเหล่านี้ไม่มีในกฎหมายของฝรั่งเศสที่การคุ้มครองเป็นไปโดยอัตโนมัติและเริ่มตั้งแต่การสร้างงาน แต่นี่ก็นับเป็นก้าวสำคัญในการคุ้มครองของทางฝั่งอังกฤษที่ทางฝรั่งเศสยอมรับได้

การยอมรับลิขสิทธิ์ของกันและกันของอังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซียในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ลิขสิทธิ์เริ่มมีลักษณะเป็น “มาตรฐานสากล” ที่ต่อมารัฐเหล่านี้ (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) ก็เป็นแกนหลักสำคัญในการจัดการประชุมนานาชาติด้านลิขสิทธิ์ที่ทำให้เกิด อนุสัญญาเบิร์น (Berne Convention) ในเวลาต่อมา อนุสัญญาเบิร์นเป็นข้อตกลงนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานขั้นต่ำร่วมกันของกฎหมายลิขสิทธิ์ในประเทศภาคี และข้อตกลงนี้ให้ลิขสิทธิ์ของพลเมืองในประเทศที่ลงนามในอนุสัญญานี้สามารถบังคับใช้ในประเทศภาคีทั้งหมดของอนุสัญญา

อนุสัญญาเบิร์นเป็นผลผลิตของการประชุมเพื่อหาข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยลิขสิทธิ์สืบเนื่องจากการริเริ่มเจรจากันของอังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซียที่ได้เล่ามาแล้ว ซึ่งหลังจากทั้งสามยอมรับลิขสิทธิ์ของกันและกัน หลายต่อหลายประเทศเข้าร่วมในการประชุมย่อยๆ จนมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อร่างข้อตกลงมาตรฐานระหว่างชาติขึ้นที่เมืองเบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1883 (อันเป็นปีที่ Karl Marx ตายพอดี) และการประชุมพร้อมการปรับแก้เงื่อนไขต่างๆ ก็มีมาอย่างต่อเนื่องจนมีการลงนามกันรอบแรกในปี 1886 ซึ่งรายนามของประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาก็ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี (ซึ่งตอนนั้นรวมประเทศแล้ว) อิตาลี สเปน เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ เฮติ ไลบีเรีย และตูนิส [5]

กล่าวง่ายๆ คือในปี 1886 ลิขสิทธิ์ก็ได้กลายมาเป็นสิ่งที่มีผลบังคับใช้ระดับนานาชาติไปแล้ว เพราะอย่างน้อยๆ ประเทศมหาอำนาจในยุโรปตะวันตกทั้งหมด (รวมไปจนถึงอาณานิคมของประเทศเหล่านี้) ก็ยอมรับลิขสิทธิ์ของกันและกันแล้ว (แม้ว่าขอบเขตการคุ้มครองจะต่างกันก็ตามที)

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องสังเกตก็คือประเทศมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งในโลกตะวันตกที่ได้รับคำเชิญมาประชุมแต่ไม่ส่งผู้แทนมา และท้ายที่สุดก็ไม่ได้ร่วมลงนามก็คือสหรัฐอเมริกา ข้อเท็จจริงที่อาจจะสร้างความแปลกใจก็คือกว่าอเมริกาจะลงนามอนุสัญญาเบิร์นเวลาก็ได้ผ่านมาร้อยกว่าปีในปี 1989 เข้าไปแล้ว (แม้ว่าระหว่างนั้นอเมริกาจะลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านลิขสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่องกับประเทศต่างๆ เป็นรายประเทศก็ตามที)

ทำไมประเทศที่ต่อต้านมาตรฐานลิขสิทธิ์ของยุโรปมาตลอดศตวรรษที่ 19 จึงกลับกลายเป็นประเทศที่พยายามจะทำให้โลกทั้งใบมีกฎหมายลิขสิทธิ์มาตรฐานเดียวในปลายศตวรรษที่ 20? (และต่อเนื่องมาศตวรรษที่ 21) คำตอบน่าจะอยู่ในพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมของอเมริกาเองที่มันคู่ขนานไปกับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาที่ขยายตัวไปคู่กับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพราะตัวตั้งตัวตีในการผลักดันกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาให้เป็นมาตรฐานโลกก็คืออุตสาหกรรมบันทึกเสียงและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 และเอาจริงๆ ทั้งสองอุตสาหกรรมยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้ด้วยซ้ำตอนช่วงกลางศตวรรษที่ 20 นี่เป็นเรื่องยืดยาวอันผูกพันกับประวัติศาสตร์เทคโนโลยีด้วยซึ่งอาจต้องใช้เนื้อที่ขนาดหนังสือเล่มเล็กๆ สักเล่มเพื่อที่จะสาธยายอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราน่าจะพิจารณาในที่นี้ก่อนก็คือพัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ของอเมริกาและพัฒนาการของอุตสาหกรรมหนังสือในอเมริกา

 

อ้างอิง
[1]  Adrian Johns, Piracy: The Intellectual Property Wars From Gutenberg to Gates, (Chicago: University of Chicago Press, 2009), p. 174
[2]  Catherine Seville, The Internationalisation of Copyright Law: Books, Buccaneers and the Black Flag in the Nineteenth Century, (Cambridge: Cambridge University Press, 2006) pp. 50-51
[3]  Ronan Deazley, On the Origin of the Right to Copy: Charting the Movement of Copyright Law in Eighteenth-Century Britain (1695–1775), (Hart Publishing: Oxford, 2004) 
[4]  Catherine Seville, ibid, p. 51
[5]  Catherine Seville, ibid, p. 25
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท