Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 

แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นรัฐโลกียะ (secular state)  คือ ไม่มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการกับการปกครองของประเทศ และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาที่เรียกว่า The separation of church and state หรือกฎหมายที่กำหนดให้การปกครองหรือการกระทำใดๆ ของรัฐแยกออกจากระบบของศาสนาทั้งปวงก็ตาม หากข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่พบเห็นโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงรัฐกับศาสนา ก็คือ โดยพฤติกรรมของมนุษย์ซึ่งเป็นพลเมืองของรัฐแล้ว กลับไม่สามารถหย่าขาดต่อความเกี่ยวข้องกับศาสนาได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายเสรีนิยมก็ตาม

พูดง่ายๆ ในสหรัฐอเมริกานั้น ทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมเครต ยังมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับศาสนาอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของนักการเมืองซึ่งหวังคะแนนเสียงในเลือกตั้งในระดับต่างๆ  ในเชิงของการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี  คือ การเป็นคนดีมีศีลธรรมในสายตาของประชาชน ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าศีลธรรมยังเป็นที่ปรารถนาของชาวโลกไม่ว่าจะมีกฎหมายบังคับหรือไม่บังคับให้ต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางศีลธรรมหรือไม่ก็ตาม

เราจึงเห็นภาพผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีหรือตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา เข้าโบสถ์กันเป็นว่าเล่นในช่วงของการหาเสียง แสดงให้เห็นถึงว่านักการเมืองอเมริกันแคร์ต่อภาพลักษณ์ทางด้านศีลธรรมที่ประชาชนจะเกิดความรู้สึกมากเพียงใด

ด้วยเงื่อนไขเหล่านี้ เป็นเหตุให้อดีตประธานาธิบดีอเมริกัน บิล คลินตัน ถึงกับสารภาพเสมือนคำให้การต่อเท็จจริงในแง่การปฏิบัติหรือพฤติกรรมทางด้านศาสนาของเขาในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาเองว่า เรื่องยากอย่างหนึ่งที่เขายังทำไม่ได้ คือ ทำใจให้ยอมรับนับถือพระผู้เป็นเจ้าด้วยใจสัตย์ซื่อ หรือการยอมยกใจให้กับพระผู้เป็นเจ้า

หมายความว่า  แม้คลินตันเข้าโบสถ์หรือแสดงอาการว่ายอมรับนับถือพระผู้เป็นเจ้ามาตลอดชีวิตของเขาก็ตาม แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็ยังเป็นคนละส่วนกับการยอมรับนับถือศาสนาที่เกิดจาก “ภายใน (ใจ)” อย่างแท้จริง หากเป็นเพียงการแสดงที่แนบเนียนอย่างหนึ่ง เพื่อวัตถุประสงค์อย่างน้อยสองประการ

ประการหนึ่ง คือ เพื่อเป็นการกำราบดัดตนให้อ่อนน้อมลง ยอมต่อศาสนาซึ่งถือเป็นตัวแทนของศีลธรรม และประการที่สอง คือ การแสดงให้เห็นว่ายังเป็นผู้ใส่ใจต่อความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ที่ให้การยอมรับนับถือศีลธรรม

ดูเหมือนเรื่องนี้อเมริกันชนให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตนของนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใด ในระดับ “เคร่งเครียด” หลายครั้งที่ประเด็นทางศีลธรรมกลายเป็นปัญหาสำคัญ ชี้เป็นชี้ตายต่อความเป็นอยู่หรืออนาคตของบุคคลเหล่านั้น  ดังกรณีเรื่องส่วนตัวของคลินตันและนักการเมืองและผู้มีชื่อเสียงอเมริกันหลายคนที่ต้อง “เสียคน” จากเรื่องความประพฤติทางด้านศีลธรรม

ดังนั้นแม้เรื่องศีลธรรมที่เชื่อมโยงกับศาสนาจะไม่ถูกหยิบยกมาเป็นเกณฑ์หรือเครื่องมือในการตัดสินบุคคลต่างๆ โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะแต่ในสหรัฐอเมริกา แต่ “ศีลธรรมสากล”  ที่เกิดจากสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ถูกนำมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบุคคลเหล่านี้อยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งสำหรับศีลธรรมสากลนั้นหากว่าไปแล้วก็มีรากเหง้ามาจากศาสนาอยู่มากทีเดียว แม้จะมองได้ว่าศีลธรรมสากลเป็นเรื่องของสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์โดยทั่วไปก็ตาม

การที่ศีลธรรมถูกมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นของสังคม แต่ผู้คนตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกลไกทุนนิยมที่แผ่ซ่านไปโลก (รวมถึงประเทศไทย) ทำให้ศีลธรรมถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบุคคลหรือองค์กรผู้ทรงศีลธรรม ซึ่งในสหรัฐอเมริกาสมารถพบได้ตั้งแต่บรรดานักการเมือง และบุคคลสาธารณะ ที่หันมาสร้างความเป็นปูชนียบุคคลทางศีลธรรมกัน รวมถึงองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็เป็นไปด้วย ดังเช่น การเกิดขึ้นวัตกรรม CSR หรือ corporate social responsibility – “เราแคร์และรับผิดชอบต่อสังคม” ที่ปกปิดความต้องการผลกำไรไว้เบื้องหลัง ต่างก็อิงอยู่กับการสร้างศีลธรรมขึ้นมาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรทั้งสิ้น

จนในปัจจุบันเกิดเป็น “ระบบการวางกลยุทธ์ทางศีลธรรม”  (strategic morality) ขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก มิใช่เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงสามารถแบ่งระบบศีลธรรมออกเป็นสองรูปแบบ

รูปแบบแรก คือ ศีลธรรมที่เกิดจากสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ ซึ่งอาจมีแรงกระตุ้นมาจากศาสนาหรือไม่ก็ได้
รูปแบบที่สอง คือ ศีลธรรมที่เกิดจากการสร้างภาพลักษณ์ทางศีลธรรม หรือศีลธรรมตามกระแส (สังคม) หรือศีลธรรมภาคบังคับที่เกิดจากกระแสสังคม หรือการปฏิบัติทางศีลธรรมที่มุ่งเอาใจสังคมเป็นหลัก

ในสหรัฐอเมริกาการแบ่งระบบศีลธรรมออกเป็นสองรูปแบบค่อนข้างเห็นได้ชัด แต่ในประเทศที่ศาสนาและศีลธรรมอยู่ในระบบรัฐ หรือเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐ อาจไม่สามารถแบ่งได้ชัดเจน เพราะรัฐ ซึ่งเปรียบเสมือนองค์ขนาดใหญ่องค์กรหนึ่งได้นำศีลธรรมมาเป็นเครื่องมือในการกำกับพลเมืองซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งนอกเหนือไปจากระบบกฎหมายที่ใช้อยู่แล้ว จึงกลายเป็นว่าในรัฐนั้นมีทั้งกฎหมายและศีลธรรมแบบรัฐ(ทางการ) คอยกำกับอยู่ทั้งสองทาง

อย่างน้อยการกำกับด้วยระบบศีลธรรมดังกล่าวก็แสดงออกในรูปแบบการพยายามเอาระบบศีลธรรมเข้าไปอยู่ในระบบอำนาจรัฐ เช่น การสร้างเกณฑ์หรือบรรทัดฐานของการประเมินความดีความชั่วของพลเมืองที่อยู่นอกเหนือไปจากระบบกฎหมายขึ้นมา (ในกรณีของประเทศไทยคงพอเทียบได้กับเรื่อง “สมุดพกความดี” หรือ “หน้าที่พลเมือง”) ซึ่งเป็นการสร้างระบบการแข่งขันกันมีศีลธรรมขึ้นมา ทั้งที่เรื่องทางด้านศีลธรรมควรมาจากภายในโดยน้ำใสใจจริง เป็นเหตุให้เกิดศีลธรรมเสแสร้ง และค่านิยมใหม่ๆ ทางด้านศีลธรรมแบบทื่อๆ ขึ้นมา เช่น การงดเหล้าเข้าพรรษาหรือเมาไม่ขับ การนุ่งขาวห่มขาวสามวันเจ็ดวัน การสะสมหนังสือธรรมะ หรือการพูดถึงพระนักเทศน์ชื่อดัง แสดงถึงการเป็นคนดี เป็นต้น 

สิ่งที่เกิดขึ้นระบบศีลธรรมในปัจจุบัน คือกระบวนการทางด้านศีลธรรมได้ย้ายจากการสร้างและสั่งสมภายใน มาเป็นกระบวนการสร้างและสั่งสมภายนอกหรือการสร้างรูปแบบเชิงภาพลักษณ์แทนมากขึ้น ซึ่งว่าไปแล้วรูปแบบภายนอกดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากระบบทุนในสหรัฐอเมริกาไม่น้อย ดังการแข่งกันแสวงหาที่สัปปายะเพื่อปฏิบัติธรรมพร้อมกับการนำพระสงฆ์ไปเป็นสัญลักษณ์ในสถานที่สัปปายะนั้นๆ ตามรูปแบบของแต่ละคนของผู้มีอันจะกินทั้งหลาย

ข้อดีของการสร้างรูปแบบภายนอกทางด้านศีลธรรมในสหรัฐอเมริกา คือ มีแยกแยะอย่างชัดเจนระหว่างศีลธรรมที่ถูกผลิตขึ้นโดยเอกชน (เพราะรัฐไม่มีหน้าที่ผลิตศีลธรรม) กับศีลธรรมสามัญสำนึกหรือศีลธรรมสากลโดยทั่วไป เอกชนใดจะผลิตศีลธรรมขึ้นมาก็เป็นเรื่องของเอกชนรายนั้นๆ และเป็นเรื่องไม่แปลกแต่อย่างใดที่จะมีเอกชนที่ทำงานด้านการสร้างภาพทางด้านศีลธรรมทั้งในเชิงปัจเจกและ CSR

ที่สำคัญ คือ ระบบศีลธรรมแบบสร้างขึ้นมาได้กลายเป็นที่ยอมรับกันในจารีตอเมริกัน ถึงแม้จะรู้ว่าศีลธรรมที่ถูกสร้างขึ้น (เช่น จากบริษัทผู้ออกแบบด้านศีลธรรม) ซึ่งก็คือศีลธรรมชนิดที่ไม่ได้มาจากใจหรือเสแสร้งนั่นเอง แต่ระบบอเมริกันก็ถือว่ายังเป็นเรื่องที่มีเกียรติในการที่มีภาพลักษณ์เป็นผู้มีศีลธรรมให้เห็นอยู่บ้าง ยิ่งกับผู้นำประเทศด้วยแล้วคนอเมริกันคาดหวังในเรื่องการเป็นผู้มีศีลธรรมไว้มาก และถือเป็นจริงจังเคร่งครัด ที่ผ่านมามีผู้นำและนักการเมืองอเมริกันต้องตกม้าตายจากเรื่องอื้อฉาวจากความไร้ศีลธรรม เช่น ศีลธรรมด้านเพศหรืออื่นๆ จำนวนไม่น้อย ขนาดไม่มีกฎหมายบังคับเรื่องศีลธรรม

จึงกลายเป็นว่า ศีลธรรมสำหรับคนอเมริกัน เป็นเรื่องของจารีต เป็นศีลธรรมสากลที่เกิดจากสามัญสำนึก แม้ส่วนหนึ่งจะมีฐานมาจากความเชื่อทางศาสนาหรือความคิดอนุรักษ์นิยมก็ตาม  ชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันเองไม่ได้มีเสรีภาพด้านศีลธรรม เป็นแต่เพียงศีลธรรมแบบไม่เป็นทางการ

ขณะที่จากประวัติศาสตร์อเมริกันก็ได้แสดงให้เห็นว่า อเมริกันตั้งแง่รังเกียจศีลธรรมแบบทางการเพียงใด โดยมองว่ามาตรฐานทางด้านศีลธรรมควรเป็น “สำนึกร่วม” มากการกำหนดมาตรฐานศีลธรรมโดยรัฐ

เพราะศีลธรรมแบบทางการหรือแบบรัฐเป็นตัวการทำลายและกลบบัง “สำนึกร่วมทางศีลธรรม”ที่เป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่สำคัญยิ่ง

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net