#lastwords โครงการรวบรวมคำพูดก่อนตายของผู้ถูกสังหารอย่างไม่เป็นธรรมในสหรัฐฯ

จากกรณีไมเคิล บราวน์ ชายหนุ่มผิวสี ที่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตโดยที่เขาไม่มีอาวุธจนเกิดการประท้วงล่าสุดในสหรัฐฯ ทำให้ชิริน บากี ชาวอิหร่านที่อยู่ในสหรัฐฯ ทำภาพคำพูดสุดท้ายก่อนตายของบราวน์และเหยื่อที่ถูกเหมารวมด้านสีผิวรายอื่นๆ ซึ่งชวนให้รู้สึกสะเทือนใจ

19 ส.ค. 2557 เว็บไซต์ i100 ของสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนต์รายงานว่า ชิริน บากี นักข่าวและนักสร้างภาพยนตร์สารคดีชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ มีโครงการรวบรวมและเผยแพร่คำพูดสุดท้ายของเหยื่อที่ถูกสังหารจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจในสหรัฐฯ หรือการเหมารวมด้านสีผิวเพื่อสร้างความตระหนักและแสดงความรู้สึกร่วมกับเหยื่อและคนในสังคมที่เธอใกล้ชิด

บากีกล่าวว่าเธอได้ติดตามกรณีการสังหารชายหนุ่มผิวสีที่ชื่อไมเคิล บราวน์ ในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี รวมถึงเรื่องการต่อสู้กับการใช้ความรุนแรงของตำรวจซึ่งเรื่องเหล่านี้ทำให้เธอนึกถึงประสบการณ์ที่เคยเจอกับตัวเองในอิหร่าน

"ในตอนนั้นเองฉันมีความรู้สึกร่วมไปกับมัน และได้สร้างรูปภาพชุดเพื่อสร้างความตระหนักและแสดงความรู้สึกร่วมกับเหยื่อและคนในชุมชนที่ฉันใกล้ชิดอย่างชาวตะวันออกกลางและชาวเอเชียใต้" บากีกล่าว

รูปภาพที่บากีสร้างขึ้นมีตัวหนังสือสีขาวบนพื้นหลังสีดำเป็นข้อความระบุถึงคำพูดสุดท้ายของผู้ที่ถูกสังหาร มีรูปเชิงสัญญะตามข้อมูลและชื่อของพวกเขา พร้อมแฮชแท็กที่เขียนว่า #lastwords เช่นคำพูดของไมเคิล บราวน์ ที่บอกว่า "ผมไม่มีปืน หยุดยิงผม" (I don't have a gun. Stop shooting.)

กรณีของไมเคิล บราวน์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2557 บราวน์ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาวุธและไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมถูกตำรวจเมืองเฟอร์กูสันสงสัยว่าก่อการโจรกรรมไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ถูกตำรวจที่ชื่อว่าดาร์เรน วิลสัน ยิงปืนใส่อย่างน้อย 6 นัด จนเสียชีวิต เรื่องนี้จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจจนมีการประท้วงในเฟอร์กูสันซึ่งยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความไม่พอใจเนื่องจากผู้คนคิดว่าเป็นเรื่องในเชิงการเหมารวมทางเชื้อชาติหรือสีผิวด้วย

สำหรับรูปของบากีในบางกรณีไม่ใช่ความรุนแรงจากตำรวจแต่เป็นความรุนแรงที่มีต้นเหตุมาจากการเหมารวมทางเชื้อชาติ เช่น กรณีของเทรย์วอน มาร์ติน เด็กหนุ่มผิวสีอายุ 17 ปีซึ่งถูกหนึ่งในสมาชิกผู้เฝ้าระวังชุมชนยิงเสียชีวิตขณะเดินกลับจากไปซื้อของเมื่อปี 2555 คำพูดสุดท้ายของเขาคือ "คุณตามผมมาทำไม" ซึ่งหมายถึงจอร์จ ซัมเมอร์แมน ผู้เฝ้าระวังชุมชนที่เป็นคนยิงเขา

ยังมีกรณีที่น่าเศร้าอื่นๆ เช่นกรณีของ จอห์น ครอวฟอร์ด อายุ 22 ปี ที่หยิบปืนของเล่นในห้างสรรพสินค้าวอลล์มาร์ทมาเล่นแต่กลับถูกยิงเสียชีวิตเพราะถูกเข้าใจผิดว่าเขากำลังถือปืนจริง ประโยคสุดท้ายที่เขาพูดคือ "มันไม่ใช่ของจริง" หรือกรณีของอามาดู ดิอัลโล ผู้ทำงานค้าขายเพื่อเก็บเงินส่งตัวเองเรียนที่โทรศัพท์คุยกับแม่ในประโยคสุดท้ายก่อนถูกยิงเสียชีวิตว่า "แม่ ผมกำลังจะเข้าวิทยาลัย"

บากีกล่าวผ่านทวิตเตอร์ของเธอว่าก่อนหน้านี้เธอเคยประสบกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจในประเทศอิหร่านมาก่อนและการต่อสู้กับความรุนแรงในสหรัฐฯ ก็เป็นเรื่องสะเทือนใจสำหรับเธอ

 

เรียบเรียงจาก

These are the #lastwords of Michael Brown and others killed by police, i100, 18-08-2014
http://i100.independent.co.uk/article/these-are-the-lastwords-of-michael-brown-and-others-killed-by-police--gJgXy68QXx

How the legacy of Amadou Diallo lives on in New York's immigrant community, PRI, 05-08-2014
http://www.pri.org/stories/2014-02-05/how-legacy-amadou-diallo-lives-new-yorks-immigrant-community

Key witness recounts Trayvon Martin's final phone call, CNN, 27-08-2014
http://edition.cnn.com/2013/06/26/justice/zimmerman-trial/

Shirin Barghi's Twitter Account
https://twitter.com/shebe86

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Shooting_of_Michael_Brown

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท