Skip to main content
sharethis
กลุ่มบิทเซเลมซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ติดตามการละเมิดสิทธิของทางการอิสราเอลถูกสั่งแบนไม่ให้พลเรือนอาสาสมัครหนุ่มสาวเข้าร่วมองค์กร รวมถึงยังถูกข่มขู่คุกคามหลังจากที่พวกเขาออกตัวต้านการใช้กำลังทำสงครามในฉนวนกาซาล่าสุด
 
16 ส.ค. 2557 ทางการอิสราเอลสั่งห้ามไม่ให้วัยรุ่นหนุ่มสาวของประเทศเข้าร่วมกลุ่มสิทธิมนุษยชนบิทเซเลม (B'Tselem) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านสงครามในกาซาและไม่เห็นด้วยกับการตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในเขตเวสต์แบงค์
 
ตั้งแต่เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา กลุ่มบิทเซเลมถูกบันทึกชื่อขึ้นบัญชีดำ โดยเจ้าหน้าที่ทางการให้สัมภาษณ์กล่าวหาว่าพวกเขา "กระทำสิ่งที่ไม่สมควรในยามสงครามด้วยการต่อต้านรัฐอิสราเอลและกองทัพอิสราเอล"
 
ฮาไก เอล อัด ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มบิทเซเลมกล่าวว่าการดำเนินการล่าสุดของทางการอิสราเอลเป็นหนึ่งในการข่มขวัญและคุกคาม ซึ่งกลุ่มของพวกเขาต้องเผชิญเสมอมา เนื่องจากพวกเขาต่อต้านสงครามในกาซาครั้งล่าสุดอย่างเปิดเผย
 
ก่อนหน้านี้กลุ่มบิทเซเลมพยายามเรียกร้องให้สถานีโทรทัศน์ของรัฐมีการกล่าวถึงเด็กชาวปาเลสไตน์ในช่วงที่มีปฏิบัติการทางทหารล่าสุดของอิสราเอลแต่ก็ถูกปฏิเสธและศาลสูงของอิสราเอลก็ปฏิเสธเมื่อมีการพยายามอุทธรณ์เช่นกัน
 
ฮาไก เอล อัดเปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาองค์กรของพวกเขาถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักที่สุดโดยมีทั้งการขู่ฆ่า การพยายามทำร้ายคณะทำงาน และการจัดตั้งกลุ่มในอินเทอร์เน็ตเพื่อต่อต้านองค์กรพวกเขา
 
 ฮาไก เอล อัด กล่าวอีกว่าในสังคมอิสราเอลก็ประสบปัญหาการคุกคามโดยกลุ่มชาวยิวขวาจัดและกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในช่วงเดือนที่ผ่านมา เช่นเหตุการณ์โจมตีการเดินขบวนเรียกร้องสันติภาพในเทลอะวีวและเยรูซาเลม อีกทั้งยังมีกระแสการเหยียดเชื้อชาติชาวอาหรับในอิสราเอล
 
"จนถึงตอนนี้ชาวอาหรับในเยรูซาเลมต่างกลัวว่าจะมีการใช้กำลังของกลุ่มอันธพาลทำร้ายพวกเขาตามท้องถนน เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ฮาไก เอล อัดกล่าว
 
กลุ่มบิทเซเลมเคยเรียกร้องให้อูริ ออร์แบช รัฐมนตรีอิสราเอล ผู้เป็นสมาชิกพรรคชาตินิยมจัดและนายกรัฐมนตรีเบนยามิน เนทันยาฮู ยกเลิกการตัดสินใจใช้กำลังในสงครามล่าสุด
 
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่กลุ่มบิทเซเลมสามารถรับอาสาสมัครพลเรือนประจำชาติเข้าไปทำงานได้โดยที่อาสาสมัครนั้นไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารเข้าสู่กองทัพอิสราเอล ฮาไก เอล อัดไม่ได้ประเมินว่าการสั่งห้ามพลเรือนเข้าทำงานเป็นอาสาสมัครแทนเกณฑ์ทหารได้จะกระทบต่อพวกเขาอย่างไร แต่พวกเขาก็ยังจะต่อสู้เพื่อคัดค้านการตัดสินใจของทางการ โดยทางการระบุว่าในตอนนี้กลุ่มบิทเซเลมมีคนทำงานในฐานะอาสาสมัครพลเรือนประจำชาติเพียงคนเดียว
 
"อิสราเอลกำลังอยู่ท่ามกลางความยากลำบากทางการทหารและการทูตในโครงการต่อต้านการก่อการร้าย องค์กรที่ทำงานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องทางการได้ก่ออาชญากรรมสงครามควรทำงานด้วยงบประมาณตัวเองอยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณรัฐหรือหรืออาสาสมัครพลเรือนประจำชาติ" อัดกล่าว
 
ในอิสราเอลพลเรือนต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 3 ปีเมื่ออายุ 18 ปี แต่มีคนหนุ่มสาวไม่มากที่เข้าร่วมกับกองทัพอิสราเอล อย่างไรก็ตามรัฐบาลอิสราเอลได้ให้ทางเลือกแก่ประชาชนแทนการเกณพ์ทหารสำหรับชาวยิวออโธดอกซ์ ชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับ รวมถึงผู้ไม่ฝักใฝ่สงคราม โดยหนึ่งในทางเลือกนั้นคือการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพลเรือนประจำชาติ
 
กลุ่มบิทเซเลมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 จากการรวมกลุ่มของนักวิชาการ นักกฎหมาย นักข่าว และ ส.ส. เพื่อบันทึกข้อมูลและให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภายใต้การยึดครองของทางการอิสราเอล และพยายามเปลี่ยนแปลงนโยบายให้มีการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของคนในพื้นที่
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Israel bans national service with rights group B'Tselem in Gaza row, The Guardian, 15-08-2014

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net