ปากคำวัฒน์ วรรลยางกูร: คสชคือ.เศษสวะตกค้างหลังสงครามเย็น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

วัฒน์ วรรลยางกูร กวี นักเขียน เจ้าของรางวัลศรีบูรพา ผู้ที่ยังคงเดินอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ให้สัมภาษณ์ จอม เพชรประดับ ใน เวปไซด์ Thai Voice Media ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งแรก หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช เข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

จากนั้นเพียง 2 วัน คสช. ได้ออกประกาศให้ วัฒน์ วรรลยางกูร ไปรายงานตัวคือในวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 แต่เขาปฎิเสธ พร้อมกับการตัดสินใจครั้งสำคัญอีกครั้งในชีวิต ด้วยการหันหลังให้กับประเทศไทย เดินเชิดหน้าสู่เส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเป็นประชาธิปไตยอีกครั้งซ่องสุมกำลังความคิด สู้กับเผด็จการทหารที่ยึดครองประเทศไทย เหมือนที่เคยได้ต่อสู้มาแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาประเมินแนวคิด การแช่แข็งประเทศไทย โดยการทำรัฐประหารว่า เป็นเพียงเรื่องตลกเท่านั้น
“คุณจะแช่แข็งประเทศไทยในขณะที่โลกเปลี่ยนไปมากมายขนาดนี้แล้ว จะทำได้อย่างไร แต่ในที่สุดเขาก็ทำจนได้ แผนนี้เขาดำเนินการมาเป็นปีแล้ว โดยเริ่มจากการสร้างสถานการณ์ให้มันวุ่นวายในสภาก่อน แล้วก็ออกมานอกสภา ปิดถนนอย่างไม่มีเหตุผล เพื่อให้คนรู้สึกอึดอัด เพื่อจะได้มีพระเอกขี่ม้าขาวออกมานั่นก็คือ คสช. ทุกอย่างเป็นพล็อตที่วางไว้แล้ว”

“เราเป็นนักเขียนนิยาย เราอ่านพล็อตเรื่องนี้ได้ ซึ่งความวุ่นวายทั้งหมด ก็พวกเขานั่นแหละสร้างขึ้นมา สมคบคิดกันขึ้นมา พวกเราไม่ได้สร้างความวุ่นวาย เราเพียงแต่ใช้สิทธิตามกฎพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ในโลกที่มีอารยะเท่านั้นเอง เราไม่ได้ทำอะไรที่มันวุ่นวาย เราไม่เคยไปด่าใครอย่างไม่มีข้อมูลอย่างไม่มีเหตุผล และเราก็ไม่มีเจตนาที่เลวร้ายต่อบ้านเมืองต่อสังคม”
เขาไม่แปลกใจที่ คสช.เรียกเขาให้ไปรายงานตัวเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาเตรียมตัว และเตรียมใจเอาไว้แล้วว่า ถ้ารัฐประหารเกิดขึ้นอีกครั้ง ก็จะไม่อยู่ให้หมดสิ้นเสรีภาพเหมือนที่ผ่านมาอีก

ในฐานะที่เป็นนักเขียน อิสรภาพในการแสดงออก เป็นเรื่องสำคัญ “คนอื่นเขาก็รู้เหมือนเรา แต่เขาพูดไม่ได้เพราะสถานะ การงาน ธุรกิจ บีบบังคับ แต่เราเป็นศิลปินอิสระเราทำได้ ไม่มีอะไรจะเสียเพราะมันเสียไปหมดแล้ว คอลัมน์ที่เคยเขียนในเครือเนชั่น ผู้จัดการ พ็อกเก็ตบุ๊คที่เคยพิมพ์กับอัมรินทร์ก็หมด ไม่มีอะไรจะเสีย เราก็เหมือนชนชั้นกรรมาชีพก็เลยทำได้ ไม่ใช่กล้าอะไรมากหรอก ก็ดีเหมือนกัน ยุติชีวิตแบบนี้”

วัฒน์ วรรลยางกูร ให้เหตุผลของการหันหลังให้กับประเทศไทยอีกครั้ง เพื่อมุ่งหน้าสู่ฐานที่มั่น สะสมกำลังทางความคิด และอยู่กับเสรีภาพที่ควรมี ย่อมมีความหมายมากกว่าสำหรับนักเขียนอย่างเขา แม้วัยจะต่างกันเมื่อเทียบกับการเข้าป่าในครั้งแรก
“แม้จะต้องอยู่แบบกึ่ง ๆ ใต้ดิน แต่ก็พอใจที่เรามีเสรีภาพ มันเป็นความรู้สึกเหมือนตอนเข้าป่า เรามีเสรีภาพที่จะเขียนกลอน แต่งเพลง หรือพูดการเมือง ได้ตามที่เราต้องการจะพูดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันต่างกันว่าตอนเข้าป่าหลัง 6 ตุลา 19 นั้น เราเป็นเด็กวัยรุ่น แรงมันยังเยอะ ตอนนี้มันเป็นวัยปลายแล้ว แต่แรงก็ยังพอมี”

แต่สิ่งที่เขายังเป็นห่วงอยู่ข้างหลังคือ ความรู้สึกมวลมิตร เพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ ที่ยังคงมีจิตใจฮึกเฮิมจะต่อสู้ต่อไป ถึงกระนั้นก็ตาม การดื้อเงียบ ด้วยการไม่ไปรายงานตัว ก็เท่ากับเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับรัฎฐาธิปัตย์เถื่อนของ คสช.“คสช.ไม่มีสิทธิ์ที่จะเรียกตัวพวกเราไปรายงานตัว เขาเป็นโจรที่เข้ามาปล้นบ้านเรา เราเป็นเจ้าของบ้าน เรามีแต่มือเปล่า เขาจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเราให้ไปรายงานตัว และเขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาให้อภัยเราด้วยเพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไร”

“เหมือนตอน 6 ตุลา เขานิรโทษกรรม นักศึกษาไม่ได้ทำอะไรผิด นักศึกษาถูกฆ่า ถูกจับแขวนคอ ถูกยิงตาย ถูกลากศพไปกลางสนามฟุตบอล และพอเหตุการณ์ผ่าน ไอ้พวกโจร ไอ้พวกฆาตกรก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่านักศึกษาไม่มีความผิดให้กลับมาเรียนหนังสือ ก็จะผิดอะไรล่ะ เราถูกฆ่า เรามีความผิดที่ถูกฆ่าใช่มั้ย นี่ก็เหมือนกันเรามีความผิดที่ถูกปล้นเหรอ ปล้นเอาอำนาจอธิปไตยของเราไป ซึ่งเป็นเรื่องหลักการที่ยอมไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ยอมไม่ได้”

วัฒน์ วรรลยางกูร วิเคราะห์ถึงขบวนประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หลังเกิดรัฐประหารว่า มีแต่ความสับสน ระส่ำระสาย เพราะไม่มีการเตรียมการอะไรมาก่อน และหวังว่า นับจากนี้ไป จะต้องจัดสร้างสายสัมพันธ์ให้เป็นระบบระเบียบให้ขบวนมากขึ้น เพื่อจะได้เดินหน้าต่อไป เขาเชื่อว่า เกมการต่อสู้นับจากนี้ไปน่าจะยาว

“บอกกับตัวเองว่าต้องรักษาสุขภาพร่างกายและสุขภาพของความคิดไว้ให้ดี ป่วยไม่ได้ และก็ท้อไม่ได้”

วัฒน์ มองการต่อสู้ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ว่า หลายคนไม่อยากไปชุมนุมแต่ก็อยากไปช่วยให้คนเยอะ ๆ เพราะฉะนั้นการต่อสู้ช่วงต่อไปของคนเสื้อแดงก็จะเข้าสู่โหมดของการต่อสู้กึ่งใต้ดิน ต้องมีการประสานจัดตั้งกันเป็นงานกึ่งลับมากขึ้นและการต่อสู้แบบนี้ก็จะมีต่อไปเพราะเป็นวัฒนาการทางสังคมของประเทศไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“ผมเชื่อว่าคนไทยที่รักประชาธิปไตย ยังต้องต่อสู้ต่อไป และการต่อสู้จะเป็นรูปแบบมากขึ้น และเมื่อการต่อสู้มันลงใต้ดินแล้ว คุณก็สามารถอภิปรายการเมืองได้โดยไม่ต้องมาอึกอัก ไม่จำเป็นต้องไปโชว์ให้เขารู้แล้วว่ามีมวลชนกี่คน ซึ่งโดยความเป็นจริงมีกลุ่มนักต่อสู้ที่เขาทำงานแบบนี้มาหลายปีแล้ว”

การเป็นนักกวี นักเขียนเจ้าของรางวัลศรีบูรพา มีโอกาสที่จะสร้างงาน สร้างตัวเองได้อย่างมาก แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในเมืองไทยอีกครั้ง ความคิด เป้าหมายชีวิตของวัฒน์ วรรลยางกูร เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

“พอเกิดรัฐประหารปุ๊บ สำนักพิมพ์ที่ผมเคยเขียนประจำ เขาขอร้องให้เปลี่ยนนามปากกา เปลี่ยนแนวเขียนผมก็มานั่ง..จะเปลี่ยนแนวเขียนยังไงวะ ตอนนี้กูมีแต่ความคิดมันระอุไปหมด จะให้ไปเขียนแบบสายลมแสงแดด มันทำไม่ได้น่ะ ใจมันทำไม่ได้ ก็เลยบอกเขาว่าขอหยุดเขียนไปก่อนแล้วกันจนกว่าจะทำใจได้ ผมเขียนประจำอยู่สามที่ก็เลิกหมด”

เจ้าของรางวัลศรีบูรพา ย้ำเหตุผลของการ ไม่คิดที่จะหันหลังกลับประเทศไทยเพื่อเผชิญกับความจริงอันเจ็บปวดอีกครั้ง “ไม่อยากกลับนะ ผมเบื่อสภาพสังคมที่มันตอแหล ตื่นเช้ามาเปิดทีวีก็เจอแต่เรื่องตอแหลอะไรอย่างนี้ คนชั่วได้รับการสดุดีว่าเป็นคนดี คนดีถูกย่ำยี ผม มันเบื่อ มันเอียนเต็มที มันไม่ไหวแล้ว แล้วเราเจอเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว อายุ 3 ขวบ ก็เจอ จอมพล.สฤษดิ์ ทำรัฐประหารแล้ว แล้วการรัฐประหารครั้งนี้มันเป็นโมเดลเดียวกับยุคสฤษดิ์เลย คือการแช่แข็งประเทศไทย”
แต่ความแตกต่างการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในครั้งนี้ วัฒน์ วรรลยางกูร เห็นว่า ให้น้ำหนักไปที่เรื่อง ม. 112 เป็นเรื่องสำคัญที่สุด “ เรื่องอื่นเขาไม่สนใจเท่าไหร่หรอก ผมอ่านหนังสือประวัติเหมาเจอตุงอยู่ เพื่อนนำมาให้เล่มเบ้อเริ่มเลย มันมีเรื่องเกาหลี ผมก็เลยเห็นว่าเกาหลีเหนือกับประเทศไทยมันเป็นมรดกตกค้างของสงครามเย็น ซึ่งมันจะใช้วิธีการ propaganda ยกย่องลัทธิบูชาตัวบุคคล ซึ่งทั้งฝ่ายโลกคอมมิวนิสต์ก็ทำจาก สตาลิน เป็นต้นมา โลกฝ่ายอเมริกาก็ทำ และอเมริกานี่แหละทำอย่างหนักในประเทศไทย”

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มันเป็นมรดก เออ ไม่ใช่ เป็นเศษสวะตกค้างจากยุคสงครามเย็น โดยวิธีการที่อเมริกามาทำไว้ให้บวกกับผลประโยชน์ของฝ่ายศักดินาไทย ซึ่งพวกนี้มันเป็นเรื่องที่ล้าสมัยมาก ประเทศไทยกับเกาหลีเหลือเนี่ยคล้ายกันมากนะตอนนี้”

“แต่คนไทยต่างจากคนเกาหลีเหนือ เพราะเราได้ลิ้มรสของประชาธิปไตยที่กินได้มาแล้วหลายปี อยู่ๆ คุณจะมาไม่ให้เราได้รับสิ่งเหล่านี้มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งต่างจากเกาหลีเหนือ ที่ยังไม่เคยได้ลิ้มรสสิ่งเหล่านี้มาก่อน”

วัฒน์ วรรลยางกูร วิเคราะห์ การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยว่า การต่อสู้ในระบบสภาน่าจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จะต้องคงรักษาการต่อสู้นอกสภาเอาไว้ด้วยและเมื่อถึงการเลือกตั้งแล้วก็ต้องมีทั้งที่รูปแบบที่มันเปิดเผยอยู่บนดิน และรูปแบบที่ไม่เปิดเผยอยู่ใต้ดินก็ต้องคงไว้ ไม่อย่างนั้นพอเขาปราบอีกก็เสียหายอีก

“ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารแล้วนะ ผมก็คุยกับคนที่อยู่ในวงการการเมืองมานาน เขาก็เตือนว่าอย่าไปคิดว่าเขาไม่กล้าทำ เพราะว่าเขาสามารถล็อคเป้าแกนนำได้หมด และตอนนี้ถึงขั้นลงไปล็อคเป้าระดับท้องถิ่นที่เขากำลังทำอยู่ด้วย ฝ่าย คสช.เขาทำการบ้านมามาก เขาเก็บข้อมูลมานาน และข้อมูลทั้งหลายก็เน้นที่เรื่องล้มเจ้าเป็นหลัก”

“การรัฐประหารครั้งนี้มันมีขึ้นเพื่อกำจัดคนที่เขาเรียกว่าขบวนการล้มเจ้าอันนี้ชัดเจนมาก และก็พอเข้าไปคุกตอนที่จะออกจากคุก เขาก็จะใช้วิธีซื้อใจ อยากไปทำอะไรก็ทำ แต่ขออย่างเดียวอย่าเขียนเรื่องวิพากษ์ศักดินาเท่านั้น อยากทำหนังมั้ย เอาเงินไปห้าแสน ซึ่งคราวนี้เขาก็ทำเรียกไปรายงานตัวแล้วก็ บางคนก็อาจได้ทุนไปทำนั่นทำนี่ หรือถ้าเป็นนักเลือกตั้งก็จะได้งบไปหาเสียงอะไรประมาณนั้น”

และแม้ว่าจะมีการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ แต่ วัฒน์ วรรลยางกูร ยังเชื่อว่า รัฐบาลที่มาจากการกำกับ ควบคุม โดย คสช. ก็ทำอะไรไม่ได้มาก“ผมถึงบอกว่า มันน่าเบื่อไง ผมไม่อยากอยู่ใกล้กับบรรยากาศอย่างนั้น ถ้ามีป่าก็จะเข้าป่า ไม่มีป่าก็จะไปอยู่ที่ที่ห่างไกลจากเรื่องน่าเบื่อเหล่านั้น ก็จะไม่ยอมให้ตลอดชีวิตของกูต้องอยู่ใต้อำนาจป่าเถื่อนเหล่านี้ตลอดไปหรอก ไม่มีวันได้ลืมหูลืมตา ไม่มีวันได้สัมผัสประชาธิปไตย ไม่มีวันมีเสรีภาพอย่างแท้จริงอย่างอารยะประเทศเขา”

“เราจะแก่ตายอยู่กับไอ้สภาพสังคมล้าหลัง ป่าเถื่อนอย่างนี้หรือ เราก็ไม่มีทางอื่นอีกแล้วหรือ ดังนั้นก็ต้องช่วยกันผลักดันต่อสู้ต่อไปตามช่องทางที่เรามี เท่าที่เรี่ยวแรงเราจะทำได้”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท