Skip to main content
sharethis
 
เสนอ คสช.ออกกฎคุมห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานพี่เลี้ยงเด็กไทย
 
อยุธยา  6 ส.ค.-กุมารแพทย์เป็นห่วงพ่อ แม่ยุคใหม่ที่จ้างแรงงานต่างด้าวมาช่วยเลี้ยงลูกหรือมาทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กเล็ก จะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นอัตลักษณ์ความเป็นคนไทยในเด็กรุ่นใหม่ แนะ คสช.ออกกฎคุมห้ามแรงงานต่างด้าวทำงานพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อสงวนอาชีพพี่เลี้ยงเด็กไว้เฉพาะแรงงานคนไทย
 
พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา และผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแพทย์ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวประจำศูนย์ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ แสดงความเป็นห่วงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในกลุ่มอาชีพพี่เลี้ยงเด็ก หรือคนรับใช้ในบ้านแต่มาทำหน้าที่เลี้ยงเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ ซึ่งส่วนใหญ่นายจ้างชาวไทยมักนิยมจ้างแรงงานต่างด้าวมาเลี้ยงลูก แทนการเลี้ยงดูของพ่อ แม่ หรือปู่ ย่า ตา ยาย เหมือนในอดีต  เนื่องจาก พ่อ แม่ยุคใหม่ไม่มีเวลา เพราะต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ประกอบกับครอบครัวไทยในปัจจุบันเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ใช่ครอบครัวใหญ่อย่างในอดีตที่มีปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ร่วมบ้านเดียวกัน
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว พ่อแม่ยุคใหม่ที่มีกำลังทรัพย์พอจึงหาคนมารับจ้างเลี้ยงเด็ก พร้อมเฝ้าบ้าน และทำงานบ้านด้วย เรียกได้ว่า จ้าง 1 แต่ได้ถึง 3 คือเลี้ยงลูก เฝ้าบ้าน และช่วยทำงานบ้านบ้าง ซึ่งแต่ก่อนมักจะจ้างพี่เลี้ยงคนไทย เช่น คนจากภาคอีสาน หรือภาคเหนือ มาเป็นคนดูแลลูก ซึ่งก็จะพบว่าลูกมีพฤติกรรมบางอย่างติดมาจากพี่เลี้ยง เช่น ลูกของพ่อ แม่คนภาคกลาง แต่ฟังและพูดภาษาอีสานได้ หรือกินข้าวเหนียวเป็น ซึ่งตรงจุดนี้ไม่ถือว่าเป็นอันตราย เพราะไม่ว่าจะคนภาคอีสานหรือภาคใด ก็ล้วนแต่เป็นคนไทย ซึ่งมีนิสัยและอัตลักษณ์ของชนชาติเป็นคนไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องความมีน้ำใจ โอบอ้อมอารี ซึ่งการได้คนชนบทมาเลี้ยงลูกคนกรุง  ถือเป็นการส่งเสริมนิสัยบางอย่างที่คนกรุงขาดหายไป แต่ปัจจุบันพบว่าการหาพี่เลี้ยงคนไทยมาเลี้ยงลูกทำได้ยากขึ้น อาจเป็นเพราะต้องเสียค่าจ้างหรือเงินเดือนสูง ทำให้พ่อ แม่ยุคใหม่หันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมาเป็นพี่เลี้ยงลูกของตนเอง เพราะหาได้ง่ายกว่าและค่าแรงถูกกว่า แต่แรงงานต่างด้าวบางชาติกลับสร้างปัญหา บางรายก่อคดีทำร้ายนายจ้างหรือขโมยทรัพย์สินแล้วหลบหนีไป พ่อ แม่ยุคใหม่ จึงหันไปจ้างแรงงานชาวลาว ซึ่งมีอุปนิสัยนุ่มนวลคล้ายคนไทย แต่ต่อมาระยะหลังแรงงานชาวลาวก็ไม่ค่อยนิยมเข้ามาทำงานประเภทนี้เท่าใดนัก เพราะประเทศลาวเองมีความต้องการกำลังคนในการพัฒนาประเทศเช่นกัน  ปัจจุบันคนไทยจึงนิยมจ้างชาวเวียดนามมาทำงานบ้าน และช่วยเลี้ยงลูก
 
พญ.ดวงพร กล่าวต่อว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวไม่ว่าจากประเทศใดมาเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ถือว่าเป็นความเสี่ยงต่อสภาพสังคมไทยในอนาคตอันใกล้นี้  เพราะว่าเด็กแรกเกิดจนถึง 5 ขวบ สมองจะมีพัฒนาการ และจดจำสิ่งแรกแบบฝังลึกในจิตใต้สำนึก กล่าวคือ สมองเด็กและพัฒนาการต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย สติปัญญา ลักษณะนิสัย จะเป็นแบบการสัมผัสและเรียนรู้จริงจากการกระทำซ้ำ หากได้พี่เลี้ยงเด็กเป็นแรงงานต่างด้าวและอยู่กับลูกเราทุกวัน พฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชนชาติพี่เลี้ยงหรือลักษณะนิสัยของพี่เลี้ยง ก็จะถูกถ่ายทอดไปที่ลูกของเรา ซึ่งต้องยอมรับว่าอัตลักษณ์ของชนชาตินั้นมีความไม่เหมือนกันอยู่มาก  ถือเป็นลักษณะเฉพาะของชนชาติ
 
“ดังนั้น หากครอบครัวไทยยุคใหม่ให้แรงงานต่างด้าวเลี้ยงลูกแทน อัตลักษณ์ความเป็นคนไทยในเด็กรุ่นใหม่ ทั้งเรื่องนิสัย พฤติกรรม ภาษา สำนึก ชุดความคิด ก็จะแปรสภาพไปตามพี่เลี้ยงที่เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งอยากย้ำว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นสิ่งที่ต้องพึ่งระวัง  และควรหาทางป้องกัน” พญ.ดวงพร กล่าว
 
ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ กล่าวว่า อยากฝากให้ทุกฝ่ายหรือ คสช.ตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้ และหากทำได้อยากเสนอว่า ควรสงวนอาชีพพี่เลี้ยงเด็กไว้ให้เฉพาะแรงงานคนไทย และควรหันมาส่งเสริมให้แรงงานชาวไทยกลับมาทำอาชีพนี้ ส่วนพ่อ แม่คนรุ่นใหม่ควรตะหนักถึงบุตรหลานของตนเอง และควรรับผิดชอบต่อลูกและสังคม และต้องยอมรับในค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นจากการจ้างแรงงานไทยมาทำหน้าที่พี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย ต้องให้เวลาบุตรหลานให้มากขึ้น ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเวลาหรือมีงานรัดตัว จนไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลานของตนเอง และผลักให้เป็นหน้าที่ของพี่เลี้ยงเท่านั้น การเลี้ยงดูลูกเป็นงานหนัก แต่คนในครอบครัวต้องช่วยกัน
 
(สำนักข่าวไทย, 6-8-2557)
 
คสช.อนุมัติงบกลางเพิ่มค่าครองชีพ-งบอพยพแรงงานไทยในลิเบีย
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคสช.ครั้งที่ 9/2557 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.เป็นประธานว่า ที่ประชุม คสช.อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 งบกลาง สำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รายการเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวของข้าราชการตุลาการ และดาโต๊ะยุติธรรม ระดับผู้พิพากษาชั้น 3-5 และผู้พิพากษาอาวุโส โดยทางสำนักงบประมาณเห็นควรให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนการใช้จ่ายประมาณปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท ที่เหลือ 200 ล้านบาทให้จ่ายจากงบกลางปี 2557
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมคสช.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอให้กองทัพอากาศก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ปี 2557-2560 ในโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ขนาดกลางสำหรับค้นหาและช่วยชีวิตในพื้นที่การรบระยะที่ 2 จำนวน 2 เครื่อง วงเงินงบประมาณ 2,148.96 ล้านบาท โดยปัจจุบันกองทัพอากาศมีเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในภารกิจการค้นหาช่วยชีวิตรวม 28 เครื่อง แบ่งเป็น US 14 จำนวน 17 เครื่องมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 40 ปี และเบล 412 SPEP จำนวน 11 เครื่อง แต่มีเพียง 3 เครื่องที่นำมาใช้ในภารกิจโดยตรงและมีสมรรถนะจำกัด
 
และอนุมัติงบประมาณงบกลางประจำปี 2557 รายการเงินสำรองจ่ายฉุกเฉินโดยจำเป็นในการช่วยเหลือคนไทยในประเทศลิเบีย จำนวนเงิน 224.6458 ล้านบาท ทั้งนี้หัวหน้าคสช.ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานหามาตราการเยียวยาและดูแลการจ้างงาน รวมถึงความต้องการที่แรงงานต้องการกลับไปทำงานที่ประเทศลิเบียอีกครั้ง
 
ร.อ.นพ.ยงยุทธ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคสช.เห็นชอบให้มีการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สนับสนุนการให้บริการจัดทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว โดยจะให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่าย งบประมาณปี 57 ภายใต้แผนงานการรองรับเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จากรายการค่าใช้จ่ายพัฒนาเมืองเศรษฐกิจชายแดน ในกรอบวงเงินไม่เกิน 145 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ย้ำในที่ประชุมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ดำรงธรรม ให้มีการแจ้งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาทุกกระทรวงทบวงกรม ให้ความสำคัญในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะประเด็นความสามารถในการตอบข้อซักถามของประชาชน และต้องมีความรู้ความเข้าใจหลายๆเรื่อง ซึ่งศูนย์ฯดังกล่าวถือเป็นศูนย์ที่ช่วยเหลือและให้ข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับความคืบหน้าของภาครัฐให้ประชาชนรับทราบ
 
ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบล่านั้น พล.อ.ประยุทธ์สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ต้องคุมเข้มในเรื่องนี้ พร้อมทั้งสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนักมากเกินไป
 
นอกจากนี้ได้เน้นย้ำเรื่องฝน และภัยแล้ง ซึ่งจากรายงานฝนสะสมของปี 2557 มีจำนวนน้อยกว่าปีที่แล้ว รวมทั้งปริมาณน้ำในเขื่อนก็ต่ำกว่าปีที่แล้ว และได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูเรื่องการใช้น้ำ และเรื่องการเกษตรกรรม ส่วนกรณีน้ำท่วมในภาคอีสานนั้น ก็ทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ได้พระราชทานความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนพร้อมสั่งการให้ทุกเหล่าทัพ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.)ให้เตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที
 
(ryt9.com, 6-8-2557)
 
พนักงาน มหาวิทยาลัยโวยถูกรัฐลืมขึ้นเงินเดือนตามมติ ครม.ปี 42 
 
วันที่ 6 สิงหาคม 2557 รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา กล่าวถึงความคาดหวังกระแสการขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนี้ ฝ่ายกิจการพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ลืมปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษาคือกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนกว่า 1.3 แสนคน จาก 1.7 แสนคนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั้งหมด
 
จึงอยากให้แก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เพราะปัญหานี้เรื้อรังมานานกว่า 15 ปีแล้ว ตั้งแต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบ โดย ครม. มีมติให้ได้รับเงินเดือนในอัตรา 1.5-1.7 เท่าของฐานราชการปัจจุบัน เพื่อทดแทนสิทธิราชการเดิมที่สูญเสียไปทั้งหมด
 
“การเพิ่มเงินเดือน ข้าราชการถือเป็นสิ่งที่สมควรทำ แต่ต้องไม่ลืมทั้งระบบที่ผูกพันระบบราชการเดิมอยู่ โดยพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นกลุ่มที่ถูกลืมเป็นอันดับแรก และเป็นปัญหาเดิม ซ้ำซาก ที่ศูนย์ประสานงานฯ ต้องตามเรียกร้องขอให้แก้ไขมาโดยตลอด จึงอยากถือโอกาสนี้ให้ฝ่ายกิจการพิเศษของ คสช. ศึกษาข้อมูลและแก้ไขปัญหานี้ไปพร้อมกัน ทั้งนี้หากยังได้รับการเพิกเฉย จะส่งตัวแทนขอเข้าพบ คสช. เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงให้ทราบ เป็นการดำเนินการตามสิทธิ์ที่ผูกพันไว้เท่านั้น ไม่ใช่การเรียกร้องเกินกรอบแต่อย่างไร” รศ. ดร. วีรชัย กล่าว
 
(สปริงก์นิวส์, 6-8-2557)
 
คลัง เสนอรบ.ใหม่ แจก 5.5 หมื่นล้านต่อปี ช่วยคนจนที่ทำงาน 18 ล้านคน 
 
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2557 นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า ทาง สศค. เตรียมเสนอผลงานการวิจัยแนวคิดการจ่ายภาษีให้คนจน โดยเตรียมเสนอให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีรายละเอียดสำคัญ คือ จะจ่ายเงินในลักษณะภาษีให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 8 หมื่นบาทต่อปี ตามขั้นบันไดของรายได้ คือ หากรายได้ปีละ 3 หมื่นบาทต่อปีจะได้รับเงินจากรัฐมากที่สุดปีละ 6 พันบาท  ถ้ารายได้ 2 หมื่นบาทต่อปี ได้รับ 4 พันบาท แต่หากรายได้ 4 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับรายได้ 4,800 บาท เป็นต้น ซึ่งการจ่ายเงินดังกล่าวเพื่อให้คนขยันทำงาน ไม่ใช่รอแต่เงินประชานิยมจากภาครัฐ ซึ่งคนที่ต้องการเงินดังกล่าวต้องมาขึ้นทะเบียนภาษีกับกรมสรรพากร และกรมจ่ายให้หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดย สศค.เรียกงานวิจัยนี้ว่า "เงินโอน แก้จน คนขยัน"
 
โดยจากฐานข้อมูลของ สศค. ประเทศไทยมีคนจนทั่วประเทศที่มีรายได้ประมาณ 2,500 บาทต่อเดือน หรือปีละ 3 หมื่นล้านบาท ประมาณ 8.4 ล้านคน และคนที่มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 8 หมื่นบาทรวมกันประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น 27.5% ของประชากรทั้งหมดถ้ารัฐใช้นโยบายนี้ใช้เงินประมาณ 5.56 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผู้ที่ได้รับเงินโอนทั้งหมดประมาณ 18 ล้านคน และจะทำให้มีคนในจำนวนนี้ 1.6 ล้านคนหลุดพื้นเส้นความยากจน
 
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแนวทางดังกล่าวไปในโครงสร้างภาษีที่เสนอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีต่อคสช. และอยู่ที่คสช.จะพิจารณาว่าจะนำมาใช้หรือไม่ 
 
(มติชน, 7-8-2557)
 
คสรท.ร้อง “ประยุทธ์” นายจ้างเบี้ยว เสนอชง กม.ให้ลูกจ้างไม่ถูกเอาเปรียบ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงกลาโหม วันนี้ (7 ส.ค.) มีตัวแทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) 100 คน นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท. นายยงยุทธ เมนตะเภา และน.ส.เรืองรุ่ง วิเชียรพงศ์ ประธานสหภาพแรงงาน เอส เอส แอล (ประเทศไทย) เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณด้านหน้ากระทรวงกลาโหม เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและละเมิดสิทธิคนงาน โดยมี พล.ต.เดชา ปุญญบาล เลขานุการคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
       
จากนั้นทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทน จำนวน 33 คนเข้าหารือและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหากับ พ.อ.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ โดยทางกลุ่มฯ ได้เน้นย้ำเรื่องสิทธิของลูกจ้างซึ่งต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายไม่ให้ลูกจ้างถูกเอารัดเอาเปรียบ ขณะเดียวกันยืนยันว่าจะไม่ออกมาชุมนุมบนถนนเพื่อกดดัน เพียงแต่เรียกร้องในสิ่งที่กลุ่มฯ ต้องการ
       
ด้าน พ.อ.ทรงกลดกล่าวว่า จะเร่งดำเนินการนำเรื่องให้หัวหน้า คสช.ได้รับทราบ พร้อมกับแนะนำให้ทางกลุ่มฯ เขียนสภาพปัญหาข้อเรียกร้องผ่านแบบฟอร์มแนวทางการปฏิรูปประเทศ และขอเชิญชวนให้กลุ่มฯ มาร่วมงานปฏิรูปประเทศ ใน 9 ส.ค.นี้ ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิตด้วย
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 7-8-2557)
 
ก.แรงงานเตรียมตำแหน่งงาน รองรับแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากลิเบีย
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการจัดหางาน ได้รวบรวมข้อมูลแรงงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศลิเบียเพื่อหาทางเยียวยา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแรงงาน โดยเบื้องต้นจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้แรงงานทุกคนที่กลับมา รายละ 15,000 บาท จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ คาดว่าเงินดังกล่าวจะบรรเทาความเดือดร้อนได้ประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้นหากแรงงานประสงค์จะทำงานสร้างรายได้ กรมการจัดหางานก็เตรียมตำแหน่งงานว่างในสาขาช่างฝีมือ จำนวน 2,800 อัตรา ไว้รองรับ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเป็นระบบ เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ แรงงานที่ต้องการกลับไปทำงานที่ประเทศลิเบียก็สามารถดำเนินการได้ ส่วนที่ต้องการจะทำงานที่ประเทศไทยต่อก็พร้อมช่วยดำเนินการ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 7-8-2557)
 
ทั่วประเทศขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้ว 4.81 แสนคน
 
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ หรือ วันสต็อปเซอร์วิส ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว โดยนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ผิดกฎหมาย ให้นำแรงงานไปขึ้นทะเบียนเพื่อเข้าสู่กระบวนการที่ถูกต้องได้แล้ว ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2558 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 6 ส.ค. 2557 มีนายจ้างพาแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนแล้ว 481,950 คน และผู้ติดตามอีก 29,232 คน
        
ส่วนการขึ้นทะเบียนแรงงานกัมพูชาที่เดินทางกลับประเทศ เพราะมีการเข้าใจผิด และต้องเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังเปิดดำเนินการอยู่จำนวน 2 ศูนย์ ใน จ.จันทบุรี และสระแก้ว ส่วน จ.ตราด และสุรินทร์ ขณะนี้ปิดดำเนินการแล้ว โดยทั้ง 2 ศูนย์จะเปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2557 และมียอดรวม 53,774 คน.
 
(ไทยรัฐ, 7-8-2557)
 
ห่วงลูกจ้างหลังปรับเงินเดือน ขรก.
 
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการนั้น ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เตรียมข้อมูลเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่อัตราเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ซึ่งในส่วนของข้าราชการที่อยู่ในระบบไม่มีปัญหาสามารถจัดงบกลางให้ได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ กลุ่มลูกจ้างที่ต้องจ้างด้วยเงินนอกงบประมาณ หากมีการปรับเงินเดือนหรือค่าครองชีพต้องพิจารณาว่าจะจัดงบฯส่วนไหนมาให้ อย่างไรก็ตาม ต้องดูนโยบาย คสช.ก่อนว่าจะปรับกี่เปอร์เซ็นต์และกลุ่มใดบ้าง ส่วนกรณีที่มีกลุ่มพนักงานราชการยื่นหนังสือถึง คสช. ขอให้บรรจุเป็นข้าราชการนั้น สพฐ.ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์
 
ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด เช่น เป็นพนักงานราชการมาแล้วกี่ปีถึงจะมีสิทธิ์บรรจุ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายกลุ่มเรียกร้อง คสช.คงดูว่าประเด็นใดเป็นปัญหา หากสำคัญก็คงจะส่งเรื่องมาให้ สพฐ. พิจารณา
 
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า สอศ.มีลูกจ้างประจำอยู่ประมาณ 2,391 คน ซึ่งอาจมีคนที่เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท แต่หาก คสช.มีนโยบายที่ปรับค่าครองชีพหรือเงินเดือนโดยปกติก็จะมีการจัดสรรงบประมาณมาให้อยู่แล้วจึงไม่น่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มลูกจ้างชั่วคราวของ สอศ. ที่เป็นการจ้างจากเงินเหมาจ่ายรายเดือนและรายชั่วโมง ที่ได้รับเงินเดือนเพียง 9,000 บาท ซึ่งมีอยู่ประมาณ 16,000 กว่าคน สอศ.จะเสนอเรื่องเพื่อขอหารือไปยัง คสช.ว่าจะมีมาตรการใดมาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้บ้าง เพราะถือเป็นบุคลากรสำคัญและทำงานอยู่ในสถานศึกษาอาชีวศึกษามานานมาก จึงต้องขอให้หาทางช่วยเหลือต่อไป
 
(ไทยรัฐ, 8-8-2557)
 
สพฐ.ชงข้อมูลปรับเงินเดือนครูอัตราจ้าง
 
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรม การการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่จะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมข้อมูลไว้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่อัตราเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการสังกัด สพฐ.ที่อยู่ในระบบจะไม่มีปัญหาสามารถจัดงบกลางให้ได้ แต่เนื่องจาก สพฐ.มีกลุ่มลูกจ้างที่ต้องจ้างด้วยเงินนอกงบประ มาณ หากมีการปรับเงินเดือนหรือค่าครองชีพให้ ทาง สพฐ.จะต้องเตรียมข้อมูลส่วนนี้ไว้ให้สำนักงบประมาณพิจารณาด้วย ว่าจะสามารถจัดงบประ มาณส่วนไหนมาให้ได้
 
(ไทยโพสต์, 8-8-2557)
 
สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผย เดือนกรกฏาคม 2557 มีผู้ว่างงานกว่า 3 แสน 7 หมื่นคน โดยภาคใต้มีจำนวนผู้ว่างงานมากที่สุดในประเทศ
 
นาย วิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากผลสำรวจภาวะการทำงานทั่วประเทศในเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา พบว่า มีงานทำประมาณ 38 ล้านคน และว่างงานกว่า 3 แสน 7 หมื่นคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1 แสน 6 หมื่นคน แต่กลับมีผู้ว่างงานลดลงจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเกือบ 7 หมื่นคน โดยจำนวนผู้ว่างงานจะอยู่ในภาคใต้มากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน
 
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ที่มีงานทำแล้วยังมีเวลาว่างที่มากพอ และพร้อมที่จะทำงานเพิ่มขึ้น เพื่อต้องการเพิ่มรายได้ราย สามารถดูรายละเอียดข้อมูลและผลสำรวจอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ www.nso.go.th
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 8-8-2557)
 
บรรจุข้าราชการใหม่ ก.สาธารณสุข 7,547 ตำแหน่ง ให้ทันเลื่อนขั้นเงินเดือน 1 ต.ค.57
 
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมรับฟังหลักเกณฑ์การจัดสรรและคัดเลือกลูกจ้างชั่วคราวบรรจุเป็นข้าราชการใหม่ รอบที่ 2 ในปี 2557 จำนวน 7,547 ตำแหน่ง เพื่อดำเนินการบรรจุในวันที่ 29 สิงหาคม 2557 พร้อมกันทั่วประเทศ และมีความโปร่งใส เป็นธรรมทุกวิชาชีพ โดยนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพเป็นข้าราชการ รอบที่ 2 ในปี 2557 จำนวน 7,547 อัตรา ว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งจัดระบบการบรรจุลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนด คือภายในวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ซึ่งจะช่วยให้ข้าราชการใหม่นี้ได้รับสิทธิ์ในการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้สูงขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 
 
ทั้งนี้ การพิจารณาบรรจุข้าราชการจะพิจารณาหลายปัจจัยเช่น สัดส่วนแต่ละวิชาชีพ การกระจายอัตราข้าราชการไปพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรร จำนวนปีที่เป็นลูกจ้าง เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประชุมให้ได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้าเพื่อดำเนินการบรรจุ 4 หลักเกณฑ์ใหญ่ก็คือ 1.ความขาดแคลน 2.อัตรากำลังตามภาระงานที่ควรจะเป็น 3.แผนการจัดบริการที่จำเป็น 4.การบริการปฐมภูมิตามจำนวนประชากรที่รับผิดชอบ
 
ขณะเดียวกัน ในเดือนตุลาคมนี้ จะนำอัตราว่างจากการเกษียณอายุราชการ 1,000 กว่าอัตรา มาพิจารณาจัดสรรบรรจุลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม 
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 8-8-2557)
 
แรงงานไทยในลิเบียกลับไทยแล้ว 462 คน
 
สุวรรณภูมิ 11 ส.ค.-แรงงานไทยในลิเบียกลับมาเพิ่มอีก 25 คน รวมมีแรงงานไทยกลับมาแล้ว 462 คน นักศึกษา 11 คน และประชาชน 4 คน
 
เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. แรงงานไทยในประเทศลิเบียจำนวน 25 คน เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ด้วยเที่ยวบิน EK 384 โดยมีนายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน มาต้อนรับดูแลแรงงาน
 
นายโอภาส บัวประเสริฐ แรงงานไทยชาว จ.สุโขทัย อายุ 43 ปี กล่าวว่า เดินทางไปทำงานเป็นช่างซ่อมเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ประเทศลิเบีย 1 ปี 7 เดือน ขณะนี้เหลือสัญญาจ้างอีก 5-6 เดือน ซึ่งจะต้องหารือกับบริษัทจัดหางานในส่วนเวลาที่เหลืออีกครั้ง พร้อมยืนยันจะไม่เดินทางกลับไปทำงานในประเทศลิเบียหรือไปทำงานในต่างประเทศอีก เนื่องจากยังหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนี้จะไปสมัครงานเป็นช่างก่อสร้างในประเทศไทย โดยต้องการรายได้เดือนละ 20,000 บาท เพื่อให้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว หากหางานไม่ได้ก็อาจจะไปเช่าที่ดินทำนาแทน
 
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม มีแรงงานไทยเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว 462 คน นักศึกษา 11 คน และประชาชนทั่วไป 4 คน
 
(สำนักข่าวไทย, 11-8-2557)
 
วอน คสช. จัดงบขยายมุมนมแม่ในโรงงาน และเด็กเล็กในพื้นที่ที่แรงงานหญิงหนาแน่น ชี้ช่วยลดค่านมผง
 
น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงการดูแลแรงงานหญิงซึ่งมีภาระในการเลี้ยงดูลูก ว่า ปัจจุบันมีแรงงานหญิงที่มีลูกเด็กเล็กบางส่วนต้องไปฝากลูกไว้ให้ญาติในต่างจังหวัดเลี้ยง เพราะต้องทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่มีเวลาดูแลลูก ทำให้แม่ไม่ได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิดจึงขาดความรักผูกพันและความอบอุ่นในครอบครัว เมื่อลูกป่วยก็ต้องลางานกลับต่างจังหวัดเพื่อไปดูแล หากลาบ่อยครั้งก็จะทำให้ถูกให้ออกจากงานได้
       
รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า อยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลใหม่มีนโยบายส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัวของแรงงานโดยประกาศนโยบายและจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงอื่นๆ เพื่อขยายการจัดตั้งมุมนมแม่และศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการในพื้นที่ที่มีแรงงานหญิงหนาแน่น เช่น จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม รวมทั้งตามกระทรวงต่างๆ เพื่อให้แรงงานและข้าราชการหญิงได้มีโอกาสดูแลลูกอย่างใกล้ชิดและไม่ต้องกังวลเรื่องลูก สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการซื้อนมผงผสมที่มีราคาแต่มีคุณประโยชน์สู้นมแม่ไม่ได้ นอกจากนี้ ศูนย์เด็กเล็กแต่ละแห่งควรมีครูพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลเด็กเล็กเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย สติปัญญา และอารมณ์ที่สมวัยเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพของประเทศ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-8-2557)
 
เสนอแผนจัดตั้งกองทุนเงินออมภาคบังคับให้ คสช.พิจารณา เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการทุกแห่ง ใส่เงินออมสมทบแก่ลูกจ้างไว้ใช้ยามเกษียณ
 
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการออมภาคบังคับ เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการ ใส่เงินออมสมทบแก่ลูกจ้างตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งวิธีการนี้ จะต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินออมภาคบังคับแห่งชาติ หรือ กบช. โดยหากศึกษาแล้วเสร็จ สศค.จะได้เสนอร่างกฎหมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาต่อไป
 
“ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง จะใส่เงินสมทบแก่ลูกจ้าง ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ดำเนินการแบบสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างที่ร่วมใส่เงินสมทบด้วย ได้มีเงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยเงินที่สมทบจะมอบให้มีการบริหารโดยบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ยังไม่ได้ดำเนินการใส่เงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง และที่ผ่านมา สศค.ได้มีการประชุม ในหลักการกับสมาคมต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยที่จะสนับสนุนให้เกิดการออมในลักษณะนี้แล้ว”
 
ทั้งนี้ เรื่องการออมภาคบังคับผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ สศค. ได้ศึกษามานาน แต่ยังไม่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาล ซึ่ง สศค.เห็นว่า ควรผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะถือเป็นเงินออมของลูกจ้างที่จะนำไปใช้ในยามเกษียณ โดยเงินออมนี้จะช่วยสนับสนุนมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
 
นายกฤษฎา กล่าวว่า แม้ส่วนใหญ่ผู้ที่ต้องร่วมมือในแนวทางดังกล่าว จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีจำนวนพนักงานไม่มาก ทำให้เงินออมที่จะนำไปให้กองทุนต่างๆ บริหารมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับการบริหารจัดการกองทุน เพราะอาจใช้วิธีการรวมบริษัทขนาดเล็กหลายๆ แห่งไว้ด้วยกันในกองเดียว เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำเงินกองทุนไปบริหารก็ได้
 
สำหรับความคืบหน้าของการเปิดให้แรงงานนอกระบบ ใส่เงินออมเข้าในกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) ขณะนี้ คสช.ได้เห็นชอบที่จะให้ สศค.เดินหน้าเปิดรับสมาชิก หลังจากที่รัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ได้มีการผลักดันให้มีการเปิดรับสมาชิก แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ ปี 2555 แต่ให้แรงงานนอกระบบไปออมผ่านกองทุนประกันสังคม ซึ่งเปิดให้แรงงานนอกระบบออมผ่านกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งรัฐจะใส่เงินสมทบให้และมีสิทธิประโยชน์ด้านเงินทดแทนกรณีป่วย ชราภาพและตาย
 
“ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบ ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกการออมผ่านมาตรา 40 ของประกันสังคมอยู่จำนวนหนึ่ง หาก สศค.จะเปิดรับสมาชิกเข้า กอช. ก็ต้องพิจารณาในกรณีที่จะมีการรับโอนสมาชิกจากการออมดังกล่าวหรือไม่อย่างไร และให้สิทธิประโยชน์ที่เท่าเทียมกันหรือไม่อย่างไร รวมถึงกรณีการชดเชยให้สมาชิก กรณีที่รัฐบาลไม่สามารถเปิดให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตามกฎหมายได้และ สศค. จะเร่งจัดวางระบบการรับสมาชิก การจัดจ้างบุคลากร และ ผู้บริหาร เพื่อเข้ามาดำเนินการด้วย"
 
(ไทยรัฐ, 11-8-2557)
 
เล็งให้สิทธิ์เงินเหตุพิเศษครูเสี่ยงภัย-กันดาร
 
นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ในมาตรา 33 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามระเบียบที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งปัจจุบัน ก.ค.ศ.ได้กำหนดให้เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ 2 กลุ่ม คือ นิติกร ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ ระดับชำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน ชำนาญพิเศษ 4,000 บาทต่อเดือน และครูการศึกษาพิเศษ (สอนคนพิการ) ได้รับ 2,500 บาทต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมา ก.ค.ศ.ได้มีการหารือร่วมกันว่า ปัจจุบันเรามีครูและผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนมากที่มีความตั้งใจและเสียสละทำงานอย่างหนัก แต่ยังไม่ค่อยได้รับการดูแล โดยเฉพาะกลุ่มครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกล เสี่ยงภัย หรือบางแห่งที่ขาดแคลนครูอย่างหนัก ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเหล่านี้จะต้องรับหน้าที่มากขึ้น จึงคิดว่าน่าจะให้ครูและผู้บริหารกลุ่มนี้ได้มีโอกาสรับเงินเพิ่มพิเศษเช่นเดียวกับนิติกรและครูการศึกษาพิเศษด้วย
 
นางศิริพรกล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มอบหมายให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้องไปจัดประชุมระดมความคิดเห็น โดยเชิญครู ผู้บริหารสถานศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบนดอย รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ มาประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สะท้อนปัญหา รวมทั้งลงไปศึกษาข้อมูลเชิงลึก เช่น การไปดูสภาพจริง สอบถามความเห็นทุกภาคส่วน เป็นต้น โดยขณะนี้คณะทำงานกำลังอยู่ระหว่างการยกร่างระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการครูและผู้บริหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ยากลำบากและมีลักษณะพิเศษ เบื้องต้นจะกำหนดรายละเอียดว่าครูและผู้บริหารที่จะได้รับเงินเพิ่มพิเศษตามเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติเช่นไร ส่วนเงินเพิ่มพิเศษจะเป็นจำนวนเท่าไรนั้น อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ครู ผู้บริหาร เมื่อจัดทำรายละเอียดร่างดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติเห็นชอบ และต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบจึงจะมีผลบังคับใช้
 
(ไทยโพสต์, 11-8-2557)
 
สธ. ยืนยันผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่ใช่ 4 ราย บาดเจ็บ 24 คน เหตุตึกถล่ม
 
(12 ส.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางเข้าไปยังบริเวณจุดเกิดเหตุอาคารคอนโดมิเนียม “"ยูเพลส” ขนาด 6 ชั้น ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมาทั้งหมด เพื่อติดตามการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตที่ยังติดอยู่ภายในซากอาคาร โดยได้รับข้อมูลเมื่อเวลา 10.00 น. มีคนงานก่อสร้างทั้งหมด 33 คน เป็นคนไทย 24 ราย และต่างด้าว 9 ราย โดยช่วยเหลือผู้บาดเจ็บออกมาได้แล้ว 24 ราย เสียชีวิต 3 ราย ทีมแพทย์ฉุกเฉินได้นำส่งรักษาที่ รพ.ธัญบุรี และ รพ.คลองหลวง ส่วนใหญ่กลับบ้านได้แล้ว เหลือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 5 รายอยู่ที่ รพ.ปทุมธานี 2 ราย รพ.วิภาราม 1 ราย รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 1 ราย และ รพ.คลองหลวง 1 ราย
       
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตล่าสุดคือ 1 ใน 2 ผู้รอดชีวิตที่ได้ยินเสียงในซากตึก โดยทีมแพทย์ตัดสินใจว่าจะผ่าตัดขาที่ถูกคานทับและนำตัวออกมา แต่สุดท้ายได้เสียชีวิตก่อนเมื่อเวลา 09.45 น. โดยยังยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย ไม่ใช่ 4 ราย เนื่องจากเมื่อวันเกิดเหตุพบศพเพียง 2 ราย คือแม่ลูกอ่อนเท่านั้น ไม่มีศพรายที่ 3 สำหรับผู้รอดชีวิตอีก 1 ราย ได้สื่อสารกลับมาว่ามีผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารรอบข้างอีกประมาณ 6 ราย แต่ไม่ทราบว่าเสียชีวิตแล้วหรือไม่ จึงได้เตรียมทีมแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน พร้อมเครื่องมือผ่าตัดและเครื่องหายใจ เพื่อรองรับการช่วยเหลืออีกประมาณ 6 ทีม จาก รพ.ปทุมธานี รพ.ลาดหลุมแก้ว รพ.ประชาธิปัตย์ รพ.ธัญบุรี รพ.คลองหลวง และ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หากทีมกู้ภัย ซึ่งขณะนี้บัญชาการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีสามารถเคลื่อนย้ายทั้ง 7 คนออกมาได้ นอกจากนี้ สธ.ได้นำรถพยาบาลฉุกเฉินขนาดใหญ่ จาก รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งสามารถตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยบนรถ มี 6 เตียงมาช่วยดูแลรักษาพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ประสานทีมแพทย์ฉุกเฉินจาก จ.พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี มาเสริมทีมจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ
       
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยผู้ประสบภัยอาคารถล่ม จ.ปทุมธานี สั่งการกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยทหาร และฝ่ายพลเรือน รวมถึงมูลนิธิอาสาสมัครต่างๆ เร่งค้นหาผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในซากอาคาร และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิดตามหลักมนุษยธรรม
       
นางกรรณิการ์ พฤกษชาติ ประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ขณะนี้แรงงานที่บาดเจ็บ 16 คน ซึ่งรักษาตัวที่ รพ.ธัญบุรี ได้เดินทางกลับบ้านแล้ว 13 คน เนื่องจากบาดเจ็บเล็กน้อย ส่วนอีก 3 คน ยังพักรักษาตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังมีแรงงานที่บาดเจ็บสาหัสต้องผ่าตัดและรักษาตัวที่ รพ.ปทุมธานี 2 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่าแรงงานไทยและต่างด้าวได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคมหรือไม่ หากมีการขึ้นทะเบียนไว้จะช่วยเหลือตามสิทธิที่ควรได้รับโดย สปส. จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แรงงานที่บาดเจ็บตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 300,000 บาท ส่วนกรณีเสียชีวิต จ่ายค่าทำศพ 30,000 บาท โดยทายาทได้ค่าชดเชย ร้อยละ 60 ของค่าจ้างงวดสุดท้ายเป็นเวลา 8 ปี และกรณีนี้บาดเจ็บขณะปฏิบัติทำงาน จะเข้าสู่กองทุนเงินทดแทนดูแล สำหรับคนที่เป็นผู้ประกันตน แต่ไม่ทำงาน และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วย สปส. จ่ายค่าทำศพ รายละ 40,000 บาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-8-2557)
 
คร.ยันนักเตะไม่แพร่เชื้ออีโบลา
 
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีแรงงานชาวพม่าป่วยและเสียชีวิต หลังย้ายเข้ามาอาศัยในหมู่บ้าน ม.3 ต.บ่อแสน อ.ทับปุด จ.พังงา ว่า ชายชาวพม่าที่เสียชีวิตไม่มีประวัติเดินทางหรือข้องเกี่ยวกับ 3 ประเทศแอฟริกา ที่กำลังมีการระบาดอยู่ในขณะนี้ จึงไม่มีทางติดเชื้ออีโบลาแน่อน แต่เกิดจากโรคติดเชื้อบางอย่าง สำหรับชาวแอฟริกันจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดพบว่า ยังคงมีการเดินทางเข้าออกประเทศไทยทุกวัน กว่า 10 ราย แต่จากการติดตามตรวจสอบทุกรายในระยะเวลา 21 วัน พบว่ายังสบายดี ซึ่งกรม มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง
 
"ส่วนกรณีนักฟุตบอลที่เดินทางมาจาก 3 ประเทศที่มีการระบาดเชื้ออีโบลา เพื่อเข้าร่วมทีมสโมสรฟุตบอลในประเทศไทย ในการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีกที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ ขอชี้แจงว่า เหล่านักฟุตบอลเดินทางเข้ามาประเทศไทยหลายเดือนแล้ว ไม่มีโอกาสสัมผัสเชื้ออีโบลา และพ้นระยะการฟักตัวของโรคไปนาน จึงไม่ใช่กลุ่มที่จะนำเชื้ออีโบลาเข้ามาแพร่ระบาดแต่อย่างใด ขออย่าเป็นกังวล" รองอธิบดี คร.กล่าว
 
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ส่งยา "ซีแมป" ซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองรักษาโรคอีโบลา เพื่อไปช่วยบาทหลวงชาวสเปนที่ติดเชื้อถือว่าเป็นความหวังใหม่ในการรักษา เพราะขณะนี้ทราบว่า แพทย์ชาวสหรัฐที่ติดเชื้อก็ได้ใช้ยาตัวนี้ในการรักษา และอาการเริ่มดีขึ้นบ้าง
 
ด้านนพ.ไพศาล เกื้ออรุณ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) พังงา กล่าวว่า ชายชาวพม่าที่เสียชีวิตเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการเพาะเชื้ออยู่ว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดใด และจะมีการสอบสวนโรคต่อไปด้วยว่าชายชาวพม่ามีการติดเชื้อดังกล่าวได้อย่างไร คาดจะได้ข้อมูลที่แน่ชัดภายในวันที่ 13 ส.ค. และจะเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน
 
(ข่าวสด, 12-8-2557)
 
กลุ่มผู้ป่วยไตเล็งร้อง คสช.เคาะเหมาจ่ายบัตรทองเพิ่ม
 
น.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักสุขภาพ กล่าวว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2558 เสนอขอเพิ่มจาก 2,895 บาทต่อคนต่อปี เป็น 3,060 บาทต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้น 165 บาทต่อคนต่อปี เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและเป็นค่าแรงของผู้ให้บริการ และเป็นการคิดงบบนฐานของความเป็นจริงของการใช้บริการของประชาชน มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ รัฐจำเป็นต้องลงทุนเรื่องสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสุขภาพดี จะได้สร้างรายได้ เสียภาษีให้รัฐได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กลุ่มคนรักหลักประกันและองค์กรพันธมิตรจะเดินหน้าเรียกร้องให้ คสช.และ สนช.ต้องไม่แช่แข็งงบประมาณ
 
ด้านนายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่าจากงบประมาณที่ถูกแช่แข็ง โดยจัดสรรงบให้ผู้ป่วยรายใหม่ไว้เพียง 419 คน จากประมาณการผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 10,000 ราย นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยโรคไตจะเสียชีวิตมากขึ้น
 
"ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยที่มีสมาชิกมากกว่า 40,000 คนจะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไปอธิบายให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าใจว่า ต้องเพิ่มงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวให้ได้อย่างน้อยเท่ากับที่ สปสช.ขอไปคือ 3,060 บาท ไม่เช่นนั้น ผู้ป่วยรายเก่าจะถูกลดการดูแลรักษาเพื่อจัดให้กับผู้ป่วยใหม่ ขณะที่ผู้ป่วยใหม่ก็จะไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ สุดท้ายจากที่ผู้ป่วยโรคไตยังพอมีชีวิตในการเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศได้ จะทยอยเสียชีวิตลง"
 
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลกให้เป็นนวัตกรรมของโลกในการดูแลสุขภาพประชาชนที่ดีและมีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและยังแก้ไขปัญหาความยากจน ดังนั้น เราต้องปกป้องสิ่งที่ดีเหล่านี้ที่ช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย ต้องดำรงสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม โดยไม่ให้มีการร่วมจ่าย ณ จุดรักษา ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และต้องเสนอให้มีระบบภาษีใหม่ๆ ที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลสุขภาพประชาชน อาทิ ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก และภาษีจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วเริ่มดำเนินการแล้ว
 
จากการที่สำนักงบประมาณเสนอ คสช.ให้คงค่าเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นปีที่ 3 นั้นเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ เพราะในค่าเหมาจ่ายรายหัวนั้นมีเงินเดือนข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ คสช.จะขึ้น 8% และยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้ออีกไม่ต่ำกว่า 3% แต่เมื่อค่าเหมาจ่ายรายหัวถูกแช่แข็งเช่นนี้ เท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพจะขาดงบประมาณรายหัว (Net shortfall) 483 บาทต่อหัว คือประมาณ 23,184 ล้านบาท ซึ่งจะยอมให้ขาดงบประมาณเช่นนี้ไม่ได้ นพ.วิโรจน์กล่าว
 
(ไทยรัฐ, 12-8-2557)
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net