‘สิทธิ’ อันพึงมี ‘เซ็กซี่’ ในที่ทำงาน? และย้อนมองประเด็นล่วงละเมิดทางเพศ

จากประเด็นฉาวสาวแบ้งค์แต่งตัวเซ็กซี่ พบในโลกตะวันตกการเลิกจ้างจากประเด็นนี้ยังมีให้เห็นอยู่เนืองๆ และยังเป็นข้อถกเถียงเรื่องสิทธิสตรีและการเลือกปฏิบัติ ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม

ภาพอื้อฉาว พนักงานธนาคารสาวที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

อีกหนึ่งประเด็นร้อนในแวดวงคนทำงานออฟฟิศช่วงที่ผ่านมาก็คือการเผยแพร่ภาพพนักงานหญิงของธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งในอิริยาบถต่างๆ อันมีความ “เซ็กซี่” พอสมควรระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ลงในโลกออนไลน์และได้มีการแชร์รูปภาพและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ซึ่งท้ายสุด “ธนาคารไทยพานิชย์” ได้ออกมายอมรับว่าเป็นต้นสังกัดของพนักงานหญิงเหล่านั้น และได้ชี้แจงผ่านสื่อออนไลน์ด้วยว่าทางธนาคารได้ตักเตือนพนักงาน พร้อมทั้งลงโทษทางวินัยตามระเบียบธนาคาร โดยได้กำชับพนักงานทุกคนให้แต่งกายและประพฤติตนให้เหมาะสมเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของธนาคาร เรียบร้อยแล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องเพศในที่ทำงานนั้น พบว่ามีเรื่องเกี่ยวข้องที่น่าสนใจ เช่น การเลิกจ้างด้วยข้ออ้างว่าพนักงานหญิงมีความดึงดูดทางเพศมากเกินไป ซึ่งยังได้ก้าวข้ามไปเป็นข้อถกเถียงเรื่องสิทธิสตรี, การเลือกปฏิบัติ และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยตัวอย่างในต่างประเทศก็เคยมีกรณีที่น่าสนใจอาทิเช่น

กรณี Debrahlee Lorenzana กับ Citibank

Debrahlee Lorenzana

ด้วยส่วนสูงห้าฟุตหกนิ้ว น้ำหนัก 125 ปอนด์ กอปรกับดวงตาอันอ่อนโยน และความสมบูรณ์ของเธอทุกสัดส่วนแทบที่จะไร้ตำหนิ ว่ากันว่าความสวยของเธอเป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่าง J.Lo กับ Jessica Simpson และ Audrey Hepburn ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ Debrahlee Lorenzana ร้อนแรงเกินไปสำหรับ Citibank!

ในปี ค.ศ.2009 Lorenzana ถูกต้นสังกัดอย่าง Citibank ย้ายงานโดยหัวหน้าสาขาแจ้งกับเธอว่าเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ รวมถึงรูปร่างของเธอ เบี่ยงเบนความสนใจมากเกินไป ทำให้พนักงานชายไม่มีสมาธิในการทำงานและได้ตัดสินใจย้ายสาขาก่อนที่จะถูกเลิกจ้างในเวลาต่อมาโดยให้เหตุผลการเลิกจ้างว่าเธอทำยอดไม่เข้าเป้า ซึ่ง Lorenzana ได้ระบุว่าการย้ายสาขาทำให้เธอไม่สะดวกในการเดินทางและการออกไปพบลูกค้า ส่งผลทำให้เธอไม่สามารถทำยอดขั้นต่ำได้ตามที่บริษัทกำหนดได้ จากนั้นเธอจึงได้ฟ้องกลับ Citigroup ว่าเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ในปี ค.ศ.2010  

ครั้งหนึ่งหลังจากที่ถูกตักเตือนเรื่องเครื่องแต่งกาย เธอได้กล่าวว่า "อย่างนั้นให้ฉันสวมถุงกระดาษมาทำงานเลยดีไหม จะได้ไม่มีเรื่อง" และแม้เธอจะเคยกล่าวไว้ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งในสารคดีว่าด้วยเรื่องการทำศัลยกรรมพลาสติกเมื่อราวปี ค.ศ.2003 ว่าต้องการที่จะทำศัลยกรรมก็เพราะอยากขึ้นปกเป็นนางแบบของ Playboy แต่หลังจากนั้นเธอกลับเลี่ยงข้อเสนอของ Playboy โดยกล่าวว่า

"ฉันไม่ได้ต้องการจะดัง ฉันพยายามอยู่ห่างๆ จากเรื่องนั้น ฉันเพียงต้องการเป็นแบบอย่าง ถ้าในอนาคตข้างหน้าคนทั่วไปยังคงจำชื่อฉันได้ฉันก็อยากให้จำฉันในฐานะผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง"

กรณี Melissa Nelson กับ Dr. James Knight

Melissa Nelson

หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์มาร่วม 10 ปี Melissa Nelson กลับถูกทันตแพทย์ James Knight เลิกจ้างด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอสวมสุดเซ็กซี่เกินไปซึ่งทำให้เขาไม่มีสมาธิในการทำงาน และอาจจะคุกคามชีวิตสมรสของเขาด้วย

ทั้งนี้ Nelson ได้ฟ้องกลับนายจ้างด้วย โดยเธอระบุว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการ “แก้เกี้ยว” หลังจากที่ช่วงหลังในการทำงานร่วมกันนั้น นายจ้างเริ่มมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โดยเริ่มส่งข้อความ SMS พูดคุยกับเธอ ซึ่งแม้ว่าข้อความส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงาน แต่บางข้อความก็มีเนื้อหาอนาจาร เช่น เคยถามเธอว่าเธอถึงจุดสุดยอดบ่อยแค่ไหน และต่อมาภรรยาของนายจ้างได้พบข้อความเหล่านั้น จึงขอให้เขาเลิกจ้างเธอโดยให้เหตุผลว่าเธอกำลังเป็นภัยร้ายแรงต่อชีวิตการแต่งงาน

ท้ายสุดในปี ค.ศ. 2012 ผู้พิพากษาศาลรัฐไอโอวา (ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ชาย) ได้ตัดสินให้นายจ้างเลิกจ้างเธอได้โดยไม่ถือว่าขัดต่อกฎหมายสิทธิพลเมือง โดยระบุว่านายจ้างทุกคนสามารถไล่ลูกน้องคนใดออกก็ได้ ถ้าหากพิจารณาแล้วว่ามีเสน่ห์เกินห้ามใจ แม้ว่าลูกน้องผู้นั้นจะไม่เคยมีพฤติกรรมยั่วยวน หรือกระทำผิดศีลธรรมใดๆ ก็ตาม แม้ว่าการไล่ออกด้วยเหตุนี้อาจจะดูไม่ยุติธรรมและมีอคติทางเพศ แต่ก็ถือว่าไม่ใช่การเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย ภายใต้กฎหมายสิทธิพลเรือนของรัฐไอโอวา เนื่องจากนายจ้างอาจถูกกระตุ้นจากความรู้สึกและอารมณ์จากลูกจ้าง

อัยการรัฐไอโอวายังให้ความเห็นอีกว่าคำตัดสินดังกล่าวว่าถือเป็นชัยชนะของสถาบันครอบครัวชาวไอโอวา เพราะการเลิกจ้างในกรณีนี้เป็นคำนึงถึงความมั่นคงของชีวิตการแต่งงานของตัวเองไม่ได้ไล่ออกเพราะ Nelson เป็นผู้หญิงและจากคำตัดสินนี้เท่ากับศาลไอโอวาได้ส่งสารให้ผู้หญิงในรัฐไอโอวาที่เคยคิดว่าผู้ชายอาจต้องรับผิดชอบต่อความต้องการทางเพศฝ่ายเดียว ให้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่าฝ่ายหญิงต้องพยายามตรวจสอบตัวเองและควบคุมความต้องการทางเพศของนายจ้างด้วย และหากผู้หญิงคนใดล้ำเส้นกฎเกณฑ์นี้ก็อาจถูกไล่ออกได้

 

อีกประเด็น “การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน”

เมื่อพูดถึงเรื่องเพศในที่ทำงานแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่จะละเลยไม่ได้นั่นก็คือประเด็นปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาเรื่องเพศในระดับโลกเลยทีเดียว

โดยปี ค.ศ. 2010 Reuters/Ipsos โพลล์ได้เผยผลสำรวจคนทำงาน 12,000 คนจาก 24 ประเทศ พบว่าคนทำงาน 1 ใน 10 คน เป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศในที่ทำงาน โดยประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการคุกคามทางเพศสูงที่สุดคือร้อยละ 26 ตามมาด้วยจีนร้อยละ 18 ซาอุดีอาระเบียร้อยละ 16 เม็กซิโกร้อยละ 13 แอฟริกาใต้ ร้อยละ 10 อิตาลีร้อยละ 9 ส่วนในบราซิล, รัสเซีย, เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริการ้อยละ 8 ตามลำดับ

ส่วนประเทศที่มีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานน้อยที่สุดคือ ประเทศสวีเดนและฝรั่งเศส ซึ่งมีเพียง 3% โดยจากผลการสำรวจยังพบว่าพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด

ในปี ค.ศ. 2011 องค์กร Women Watch-China ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้หญิง 1,837 คน ในบริษัทใหญ่ 10 แห่งในจีน พบว่าร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในจำนวนนี้มีไม่ถึงครึ่งที่เอาเรื่องหรือรายงานหัวหน้างาน และมีน้อยกว่าร้อยละ 20 ที่แจ้งตำรวจ สาเหตุเป็นเพราะพนักงานหญิงกลัวว่าจะเป็นเป้าของสังคม กลัวที่จะถูกบังคับให้ออกจากงาน กลัวได้ค่าชดเชยไม่คุ้มกับเสียชื่อเสียง อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายช่วยเหลือผู้หญิงโดยตรง และการรวบรวมพยานหลักฐานในเรื่องนี้ถือว่ายากลำบากมากในสังคมจีน

ส่วนภัยคุกคามทางเพศที่ทำงานในไทยสถิติก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เปิดเผยข้อมูลปัญหาความรุนแรงทางเพศและการละเมิดสิทธิมนุษยชนพบว่ามีทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภัยคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

โดยพบยอดผู้ที่ถูกกระทำรุนแรงถูกล่วงเมิดทางเพศและถูกล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างปี พ.ศ. 2553-2555 พุ่งสูง อยู่ที่ 2,574 ราย หรือคิดเป็น 5% ซึ่งแบ่งเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนรวม 1,340 เรื่อง และคิดเป็น 122 เรื่องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านเด็ก สตรี และความเสมอภาคของบุคคล โดยสถานที่ที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อนั้น ได้แก่ สถานที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน โดยตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2556 เป็นต้นมานั้น มีจำนวนผู้มาร้องเรียนกับหน่วยงานเพิ่มมากขึ้น

โดยรูปแบบการล่วงละเมิดทางเพศที่พบมักเกิดจากผู้มีอำนาจกระทำต่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เช่น ข้าราชการถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้บังคับบัญชา หรือผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ข่มขู่ คุกคามทางเพศ เป็นต้น

 

 
ทัศนคติ ‘พนักงานหญิง’ ต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน
 
ในปี พ.ศ. 2546 กรุงเทพโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้หญิงที่ทำงานในสถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และพนักงานบริษัทเอกชน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทำงานอยู่ในเขตปกครองของกรุงเทพมหานคร ได้ตัวอย่างทั้งสิ้นจำนวน 1,157 คน
 
ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 42.2 ระบุว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ
 
โดยรูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศโดยวาจานั้นมีหลายรูปแบบ ได้แก่ ผู้หญิงร้อยละ 40.8 เคยถูกวิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างและการแต่งตัวที่ส่อไปในทางลามก ร้อยละ 42.5 เคยได้รับฟังคำพูดสองแง่สองง่ามหรือพูดเรื่องสัปดนหรือพูดเสียดสีเล้าโลมและบางกรณีเคยถูกตามตื๊อตามจีบจากบุคคลที่ไม่ชอบ
 
ส่วนการแสดงออกทางกิริยา มากที่สุด คือร้อยละ 35 ระบุว่าเคยถูกมองอย่างกรุ้มกริ่มหรือส่อไปในทางเพศ รองลงมาถูกจงใจให้เห็นภาพโป๊บนโต๊ะทำงานหรือในเครื่องคอมพิวเตอร์และร้อยละ 5.3 เคยถูกแอบดูในห้องน้ำ
 
สำหรับการล่วงละเมิดโดยการสัมผัส มีทั้งการยืน เดินหรือนั่งใกล้กันเกินความจำเป็นหรือใช้ร่างกายเสียดสี ซึ่งผู้หญิงร้อยละ 39.8 ระบุว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศแบบนี้มาแล้ว ส่วนการแตะเนื้อต้องตัว การจับต้องเสื้อผ้าหรือตามร่างกาย การนวดคอหรือแขน ก็มีไม่น้อย ร้อยละ 30 และร้อยละ 14.9 บอกว่าเคยถูกกอดจูบ หอมแก้ม ตีก้น สะโพกหรือจับหน้าอก
 
ส่วนคำถามว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลใดบ้าง ร้อยละ 52.3 ระบุว่าเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 14.7 เคยถูกกระทำจากผู้บังคับบัญชา และบางคนเคยถูกล่วงละเมิดจากลูกค้า บุคคลในครอบครัวและผู้ใต้บังคับบัญชา
สาเหตุที่คิดว่าก่อให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าว ส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.8 เห็นว่าเกิดจากการแต่งกายที่ล่อแหลมไม่เหมาะสม ร้อยละ 15 ระบุว่าเป็นความผิดปกติของจิตใจ ส่วนคนอื่นๆ คิดว่าเกิดจากความใกล้ชิด อุปนิสัยส่วนตัวหรือความเจ้าชู้ ลอกเลียนแบบสื่อโฆษณาและความคึกคะนองหรือความสนุก
 
ผู้หญิงทุกคนเมื่อถูกละเมิดทางเพศแล้วได้รับผลกระทบทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28.4 ชี้ว่าเกิดความกลัว อาย วิตกกังวล ร้อยละ 15.3 บอกว่าโกรธ เกลียด รำคาญ บางคนบอกว่าขาดความเชื่อมั่น สุขภาพจิตเสีย เกิดความเครียด กดดันและบางคนเกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับผู้ชายไปเลย
 
นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบกับการทำงานด้วย โดยร้อยละ 25.5 ระบุว่าประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ร้อยละ 23.2 บอกว่าขาดงานและลางานบ่อย รองลงมาบอกว่าสูญเสียกำลังใจในการทำงานและเกิดความตึงเครียด
สุดท้าย วิธีที่จะช่วยแก้ปัญหา ส่วนใหญ่ร้อยละ 23.2 เห็นว่าควรป้องกันตนเอง ร้อยละ 15.3 แนะว่าควรวางตัวให้เหมาะสม อีกร้อยละ 10.8 บอกว่าไม่ควรแต่งกายล่อแหลมไม่เหมาะสม และอื่นๆเสนอว่าควรมีการอบรมพฤติกรรม ควรมีกฎที่เข้มงวดหรือมีการลงโทษตามกฎหมาย ควรฟ้องผู้บังคับบัญชาและควรโต้ตอบกลับ.
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท