Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

"ตาอินกะตานา หาปลาเอามากินกัน
ได้ปลาทุกวัน รักกันก็ปันกันไป
หาปลามานมนาน หาปลามาบานตะไท
จนแม้ ใคร ใคร รู้น้ำใจไมตรีปรีดา
แต่แล้ววันหนึ่ง เคราะห์มาถึงขมึงทึงมา
สองคนถึงครา แย่งหัวปลาหางปลากันเกรียว
ตาอินกะตานา โศกาอาวรณ์จริงเจียว
ตาอยู่มา เดี๋ยว เดียว
คว้าพุงเพรียวเพรียวไปกิน..."

ผมนำเพลงตาอินกะตานามาโปรยก่อนขึ้นเนื้อหาเพราะเห็นว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ผมเชื่อว่าคนไทยทุกคนรู้จักและร้องได้  เพลงนี้มีเนื้อหาที่สอนใจและเป็นบทวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอาศัยผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมาให้ความเห็น

เหตุการณ์ก่อนการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ของคนสองกลุ่มใหญ่ที่มีความเชื่อทางการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกัน มีการปะทะ มีการประท้วงกันทั่วประเทศ ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย สถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะตึงเครียดโดยไม่มีใครคาดเดาถูกว่าจะจบลงอย่างไร

ต่างฝ่ายต่างประณามหยามเหยียดว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ร้าย ชั่วช้าเลวทราม ต้องพิฆาตเข่นฆ่าให้ย่อยยับลงให้ได้ ต่างฝ่ายต่างใช้เครื่องมือที่ตนมีอยู่อย่างเต็มกำลังโดยฝ่ายที่ครองอำนาจรัฐอยู่ก็เร่งให้มีการออกกฎหมายจนถึงกับออกมีมติกันตอนตีสี่ ส่วนอีกฝ่ายก็ใช้แนวร่วมของตนจัดการไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ปปช. หรือมวลชนเข้าล้มการเลือกตั้งรวมทั้งปิดถนนหนทางจนกรุงเทพฯเป็นอัมพาตไปเป็นส่วนๆ พร้อมกับเรียกร้องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจเพื่อเช็คบิลฝ่ายตรงกันข้าม

จนในที่สุดทหารก็เข้ามายึดอำนาจหลังจากที่มีการประกาศกฎอัยการศึกล่วงหน้าไปไม่กี่วันพร้อมทั้งจับแกนนำและแกนตามทั้งหลายไปปรับทัศนคติกันเป็นจำนวนมาก  ที่ร้ายแรงจนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศก็หลายคน จนล่าสุดคือรายของคุณกฤชสุดา คุณะเสน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับคุณจอม เพ็ชรประดับผ่านทางคลิปวิดีโอโดยเธอกล่าวว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นนอกเหนือจากการถูกควบคุมตัวถึง ๒๗ วันซึ่งเกินกว่าระยะเวลาที่กฏอัยการศึกให้อำนาจไว้ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องพิสูจน์กันต่อไปโดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สามารถทำได้ไม่ยากแม้ว่ารอยฟกช้ำจะหายไปแล้วก็ตาม


เหตุการณ์ดูเหมือนจะเป็นไปตามที่ฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลในสมัยนั้นต้องการ จนแกนนำบางคนถึงกับจัดงานเฉลิมฉลองในเครื่องแต่งกายคล้ายทหารเมื่อหลังเหตุการณ์รัฐประหารใหม่ๆ แต่ต่อมาการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่พวกเเขาคาดหวัง เพราะไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมายึดทรัพย์สินของอดีตนายกฯและคณะ แต่ให้ ปปช.ดำเนินการต่อไปตามปกติ การร่างประกาศคำสั่งต่างๆแม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ไม่มีการเรียกใช้บริการจากนักวิชาการหรือทีมงานของ กกปส.จนท้ายสุดเมื่อมีการประกาศรายชื่อ สนช.ออกมาจึงมีการออกอาการอกหักกันเป็นแถว สื่อที่เคยเชียร์ทหารให้ยึดอำนาจ เช่น เอเอสทีวีผู้จัดการ ก็ถูก คสช.เล่นงานจนต้องตอบโต้ด้วยการขึ้นปกดำมืดเพื่อเป็นการตอบโต้ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าอยู่กันคนละพวกแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้สรุปได้ว่าเมื่อเกิดการแย่งชิงปลากันระหว่างตาอินกับตานากันขึ้น ตาอยู่ซึ่งเป็นผู้ที่มักเข้ามาเป็นผู้รับประโยชน์อยู่เสมอในประศาสตร์การเมืองของไทย  แต่ตาอินกับตานาไม่เคยจดจำประวัติศาสตร์ที่ว่านี้เลย โดยตาอยู่คิดอยู่เสมอว่าตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ที่สามารถจัดสรรผลประโยยชน์ทางการเมืองนี้ได้ แต่ตาอยู่ก็ลืมไปอีกเช่นกันว่าเหตุการณ์ในอดีตเมื่อตาอยู่เข้ามาแทรกแซงนั้นไม่เคยจบลงอย่างสวยงามเลย นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 จนมาถึงจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม พล.อ.สุจินดา หรือแม้กระทั่งล่าสุด พล.อ.สนธิเองก็ตามก็ใช่ว่าจะอยู่อย่างสุขสบายหรือได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนหรือเหล่าทหาร

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะมีข้อพิพาทแย่งชิงปลากันระหว่างตาอินกับตานาและดูเหมือนว่าตาอยู่กำลังครอบครองเนื้อปลาอยู่ก็ตาม ทั้งตาอิน ตานา และตาอยู่ต่างก็เป็นคนไทยที่ต้องอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยยต่อไป ไม่อาจทำลายล้างให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้สูญสิ้นไปได้ จึงเห็นควรที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งตาอยู่ต้องไม่เผลอตัวคิดไปว่ามีเฉพาะพรรคพวกของตนเองเท่านั้นที่เป็นคนไทย

อย่าลืมว่าเมื่อใดก็ตามหากตาอินกับตานาหันมาจับมือกันแล้ว ตาอยู่ก็ตาอยู่เถอะก็อาจจะหนาวได้เหมือนกันแหล่ะครับ

 

หมายเหตุ

1) เทคโนโลยีที่ว่านี้ปรากฎตามพิธีสารอิสตันบูลในคู่มือสืบสวนสอบสวนและบันทึกข้อมูลหลักฐานอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีการทรมาน และ การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ( Istanbul Protocol: Manual on the Effective Investigation and Documentation of Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ที่เกิดจากความร่วมมือของนักนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่อวางหลักการมาตรฐานในการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานกรณีการทรมานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแนวทางให้ความช่วยเหลือเหยื่อผู้เสียหายจากการถูกทรมานเพื่อการคุ้มครองและเยียวยา และสามารถนำเสนอพยานหลักฐานอันเกิดจากการได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยการนำนิติวิทยาศาสตร์ (Forensic science) และนิติจิตเวชศาสตร์ (Forensic psychiatry) มาเป็นเครื่องมือ

2) เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 6 สิงหาคม 2557
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net