Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ถูกกลุ่มอุดมการณ์ และกลุ่มไร้อุดมการณ์ ต่างๆ ในสังคมไทยฉวยใช้ประโยชน์อยู่ตลอดเวลา ที่เป็นข่าวโต้เถียงกันใหญ่โตในขณะนี้ก็คือการใช้อาจารย์ป๋วยเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่เลือกเส้นทางรับใช้ระบอบเผด็จการทหาร โดยอ้างว่าอาจารย์ป๋วยก็รับใช้รัฐบาลเผด็จการเหมือนกัน

ผมเห็นว่าข้ออ้างทำนองนี้บอกความจริงเพียงส่วนเดียว อีกทั้งเป็นการตัดสินอาจารย์ป๋วยอย่างลดรูปและขาดพร่องเกินไป จนทำให้มองไม่เห็นภาพรวมของตัวตนและความคิดของอาจารย์ป๋วยตลอดทั้งชีวิต มิพักต้องพูดถึงว่า การเปรียบเทียบอาจารย์ป๋วยกับนักรับใช้เผด็จการยุคใหม่หลายคนที่ชอบแก้ตัวเช่นนั้น (หรือมีคนอื่นคอยแก้ตัวให้) เป็นเรื่องชวนหัวแบบขำขื่นเสียมากกว่า

อาจารย์ป๋วยแตกต่างจาก ‘นักรับใช้เผด็จการยุคใหม่’ อย่างไร

หนึ่ง อาจารย์ป๋วยได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ เมื่อกลับประเทศไทยก็จำต้องรับราชการเพื่อชดใช้ทุน อาจารย์ป๋วยทำงานให้รัฐบาลเผด็จการทหารในฐานะ ‘ข้าราชการ’ หรือ ‘เทคโนแครต’ ในระบบราชการ

อาจารย์ป๋วยเคยถูกเรียกร้องให้รับตำแหน่งใหญ่ทางการเมืองอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ในสมัยรัฐบาลเผด็จการ) และนายกรัฐมนตรี กระทั่งหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญ (ในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) แต่อาจารย์ป๋วยได้ปฏิเสธ เนื่องจากเคยตั้งปณิธานไว้เมื่อครั้งเป็นเสรีไทยว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิสูจน์ว่าตนไม่ได้เป็นเสรีไทยเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

กระนั้น อาจารย์ป๋วยเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอยู่สมัยหนึ่ง แต่ไม่ใช่ภายใต้ยุคเผด็จการทหาร หากเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

แล้วนักรับใช้เผด็จการยุคใหม่ละ?

สอง ประเทศไทยในยุคสมัยของอาจารย์ป๋วยถูกปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนาน นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่อยมาถึงยุคจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงต้นทศวรรษ 2500 จนสิ้นยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร ในปี 2516 กินเวลารวมกันเกือบ 30 ปี

ข้าราชการที่มีความเป็นนักปฏิบัติและนักอุดมคติผสมกันอยู่ในตัวอย่างอาจารย์ป๋วยเผชิญกับทางเลือกในการทำงานที่มีอยู่อย่างจำกัดมากภายใต้ระบอบเผด็จการทหารที่แทบจะมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ความท้าทายที่สำคัญคือการรักษาสมดุลระหว่างโลกอุดมคติกับโลกแห่งความเป็นจริง ผมเชื่อว่าอาจารย์ป๋วยต้องผ่านการตัดสินใจต่อส่วนตัวและส่วนรวมในการทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารที่ยากลำบากหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในวัยหนุ่มที่มีไฟอยากสร้างเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ (อาจารย์ป๋วยกลับมารับราชการในกระทรวงการคลังปี 2492 เมื่ออายุ 33 ปี เป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่ออายุ 37 ปี เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติเมื่ออายุ 43 ปี) ยิ่งเมื่อสวมหมวกผู้ว่าแบงก์ชาติด้วยแล้ว การตัดสินใจต่างๆ น่าจะยิ่งยากลำบากขึ้น

การณ์กลับเป็นตรงกันข้ามในยุคสมัยปัจจุบัน ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราอยู่บนทางแพร่งว่าเราจะแก้ไขวิกฤตการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาด้วยวิถีประชาธิปไตยหรือวิถีเผด็จการ เรามีทางเลือก มิใช่ไม่มีทางเลือก เราอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมาก่อน มิได้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร แต่นักรับใช้เผด็จการยุคใหม่กลับเลือกวิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยมีส่วนสำคัญในการร่วมสถาปนาระบอบเผด็จการทหารให้ฟื้นกลับมาใหม่ บั่นทอนสิทธิ เสรีภาพ และวัฒนธรรมประชาธิปไตย พวกเขามิได้เชื่อมั่นและเลือกวิถีทางประชาธิปไตย ด้วยการพยายามสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น เป็นธรรมขึ้น และสร้างสถาบันให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากขึ้น

สาม อาจารย์ป๋วยทำงานให้ระบอบเผด็จการทหารจริงในฐานะข้าราชการ กระนั้น ยากที่จะกล่าวว่าอาจารย์ป๋วยตั้งหน้าตั้งตา ‘รับใช้’ เผด็จการ ดุจเดียวกับนักรับใช้เผด็จการสมัยใหม่ เพราะตลอดระยะเวลาที่รับราชการภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร อาจารย์ป๋วยเลือกที่จะรักษาหลักการและความซื่อสัตย์สุจริต เผชิญหน้าสู้กับความฉ้อฉลในระบอบเผด็จการทหารโดยไม่หวั่นเกรงอันตรายและไม่กลัวที่จะหลุดจากตำแหน่ง

เมื่อครั้งเป็นรองผู้ว่าแบงก์ชาติในรัฐบาลจอมพล ป. อาจารย์ป๋วยงัดกับจอมพลสฤษดิ์จนต้องพ้นตำแหน่งรองผู้ว่าแบงก์ชาติ ต่อมาอาจารย์ป๋วยชนกับพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ จนต้องออกจากประเทศไทยไปทำงานที่สถานทูตไทยในอังกฤษเพื่อความปลอดภัย หรือในยุคที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์ป๋วยก็ทำตัวเป็น ‘ก้างขวางคอ’ จอมพลสฤษดิ์และเครือข่ายในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนเกินทางเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง

แล้วนักรับใช้เผด็จการยุคใหม่ละ?

สี่ ความคิดทางการเมืองของอาจารย์ป๋วยมีการวิวัฒน์อยู่ตลอดเวลา กล่าวได้ว่า อาจารย์ป๋วย ยิ่งแก่ ก็ยิ่ง ‘ซ้าย’ ยิ่งให้คุณค่ากับประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคมยิ่งขึ้น อาจารย์ป๋วยวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เนืองๆ เช่น อาจารย์เคยเขียนว่ารู้สึกบกพร่องที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการเติบโตของส่วนรวมเป็นใหญ่ แต่ละเลยความยุติธรรมในสังคม ในช่วงหลังอาจารย์ป๋วยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบทอย่างยิ่ง

บทบาทด้านประชาธิปไตยของอาจารย์ป๋วยเด่นชัดมากในสมัยที่อาจารย์ถอดหมวกผู้ว่าแบงก์ชาติมาเป็น ‘เสรีชน’ คนธรรมศาสตร์ อาจารย์ป๋วยชูธง ‘สันติประชาธรรม’ สู้กับรัฐบาลทหารก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่อครั้งจอมพลถนอมกระทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง อาจารย์ป๋วยก็ได้เขียนจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึงผู้ใหญ่ทำนุ เกียรติก้อง เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพ และการเลือกตั้ง

ยิ่งเมื่ออาจารย์ป๋วยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บทบาทด้านการสนับสนุนระบอบเสรีประชาธิปไตยยิ่งเด่นชัด แม้กระทั่งอาจารย์ป๋วยต้องเดินทางออกนอกประเทศภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ท่านก็ยังมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศในการเรียกร้องประชาธิปไตยและการยุติความรุนแรงโดยรัฐในประเทศไทย

แล้วนักรับใช้เผด็จการยุคใหม่ละ?

 

เขียน: 6 สิงหาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net