Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ว่าจะเขียนถึงความคิดหลักของท่านพุทธทาสต่อเลย แต่บังเอิญมีเรื่องแทรก คือมีข่าวว่าวัดพระธรรมกายทำบัตรเอทีเอ็มเพื่อกระตุ้นการบริจาคทำบุญอะไรทำนองนั้น เลยมีผู้สื่อข่าวถามผมว่า แบบนี้เป็น “พุทธพาณิชย์” หรือไม่? จึงอยากอธิบายประเด็นนี้เพื่อเปรียบเทียบให้เข้าใจความคิดของท่านพุทธทาสชัดเจนขึ้น

ถ้าเรามองว่าธรรมกายเป็นพุทธพาณิชย์ ถามว่าธรรมกายขายอะไร? สิ่งที่ธรรมกายขายก็คือ “ของเก่า” ที่ขายกันมานานมาก แต่ว่าตลาดเปลี่ยนไปตามสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ ของเก่าที่ขายก็คือ ขายความเชื่อที่ว่า “การทำบุญด้วยการบริจาคมากจะได้รับผลตอบแทนมาก” ความเชื่อแบบนี้เคยขายดีในตลาดศาสนาที่มีชนชั้นเจ้าขุนมูลนายเป็นผู้บริโภคหรือลูกค้าหลัก เช่นในสมัยที่เจ้าขุนมูลนายนิยมสร้างวัดใหญ่โตอลังการ เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้มีบุญบารมี ได้มีการสอนความเชื่อทางพุทธศาสนามากเป็นพิเศษว่า บริจาคสร้างโบสถ์ วิหาร วัดวาอาราม ตายไปจะได้เกิดเป็นเทพบุตร มีนางฟ้าห้าร้อยเป็นบริวาร เป็นต้น 

แม้แต่ในคำอธิบายเวสสันดรชาดกประกอบเนื้อหาตอนที่พระเวสสันดรบริจาคทานครั้งใหญ่ เช่นบริจาคทาสชาย 700 คน ทาสหญิง 700 คน ก็บอกว่า “ผู้บริจาคข้าทาสบริวารจะมีอานิสงส์ให้มีข้าทาสบริวารมากในชาติต่อไป” คำสอนทำนองนี้ย่อมถูกใจ หรือเป็นการเอาใจชนชั้นเจ้าขุนมูลนายซึ่งเป็นผู้บริโภคหรือลูกค้าหลักในตลาดศาสนายุคเก่า (แต่จะถูกใจบรรดาข้าทาสหรือไม่ ลองจินตนาการให้ตัวเองเป็นข้าทาสที่ถูกบริจาคราวกับเป็นวัตถุสิ่งของ แล้วถามตัวเองดู)

แต่ตลาดศาสนายุคปัจจุบันเป็นตลาดแบบใหม่ คือตลาดชนชั้นกลาง ที่มีทุกข์ มีปัญหา มีความหวัง ความฝันของตนเองต่างจากชนชั้นเจ้าขุนมูลนายในอดีต และมี “จริต” ต่างกัน ธรรมกายวิเคราะห์ทุกข์หรือปัญหา ความต้องการและจริตชนชั้นกลางในตลาดศาสนาปัจจุบันได้ดีกว่าวัดหรือสำนักอื่นๆ จึงทำการตลาดได้ดีกว่า กระตุ้นการบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วยเทคนิคการตลาดสมัยใหม่ แต่สินค้ายังเป็นของเก่าคือการขายศรัทธาใน “บุญ” บริจาคมากได้อานิสงส์มาก รวยมาก และ ฯลฯ

การถามแค่ว่าธรรมกายผิดหรือถูก อาจไม่ได้ช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาพุทธศาสนาไทยที่ยังมองได้อีกหลายแง่มุมมาก

อย่างไรก็ตาม ตลาดศรัทธาทางศาสนาต่างจากตลาดทั่วไป ตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงการลงทุนเพื่อหวังกำไรเหมือนธุรกิจทางโลก แต่มันนำไปสู่การสร้างความเชื่อ ค่านิยมทางศีลธรรมที่กลายเป็นวัฒนธรรมทางสังคมและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต การคิด การตัดสินใจในเชิงศีลธรรมของผู้คนอย่างมีนัยสำคัญ เช่นตลาดศรัทธาทางศาสนายุคโบราณได้ผลิตและสร้างการบริโภคศีลธรรมสนับสนุนระบบชนชั้นอย่างชัดเจน คำสอนที่ว่า “ผู้บริจาคข้าทาสบริวารจะมีอานิสงส์ให้มีข้าทาสบริวารมากในชาติต่อไป” คือการตอกย้ำจิตสำนึกทางชนชั้นว่า คนที่อยู่ในชนชั้นที่ได้เปรียบมีความชอบธรรมเพราะชาติก่อนทำบุญมามากกว่า และคนที่อยู่ในชนชั้นที่เสียเปรียบก็ควรยอมรับชะตากรรมเพราะชาติก่อนทำบุญมาน้อยกว่า

ในทำนองเดียวกัน การกระตุ้นการบริโภคศาสนาภายใต้ความเชื่อหลักที่ว่าการบริจาคเงิน ประกอบพิธีกรรม การปฏิบัติธรรม และกิจกรรมอื่นๆ ในทางศาสนาเป็นการสั่งสมบุญที่จะส่งผลให้บรรลุความปรารถนาคือความสุข ความร่ำรวยมั่งคั่ง มีชีวิตที่สุขสบายในชาตินี้และชาติต่อๆ ไป ซึ่งถูกจริตชนชั้นกลางนั้น ก็เป็นการผลิตสร้างความเชื่อหรือค่านิยมทางศีลธรรมที่ตอบสนองความปรารถนาหรือเป้าหมายชีวิตของชนชั้นกลางเป็นด้านหลัก เหมือนที่ในอดีตเคยผลิตสร้างความเชื่อ ค่านิยมทางศีลธรรมตอบสนองความปรารถนาหรือเป้าหมายของชนชั้นเจ้าขุนมูลนายเป็นด้านหลัก

ศีลธรรมในความหมายดังกล่าว จึงเป็น “เครื่องมือ” ให้คนบางชนชั้นบรรลุความปรารถนาหรือเป้าหมายของตัวเองเป็นด้านหลัก ไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นมนุษย์ หรือมนุษยชาติที่พ้นไปจากเป้าหมายเฉพาะทางชนชั้น และไม่ใส่ใจความเป็นธรรมทางสังคมที่มีเสรีภาพและความเสมอภาคเป็นแกนหรือเป็นรากฐานสำคัญ

ดูเหมือนปรีดี พนมยงค์จะมองเห็นปัญหาการใช้ศีลธรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้นได้ชัดเจน เขาจึงพยายามตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ดังที่เขาอ้างถึง “สังคมยุคพระศรีอาริย์” ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และอธิบายชัดเจนขึ้นในหนังสือ “ความเป็นอนิจจังของสังคม” ที่เน้นอย่างชัดเจนว่าสังคมในอุดมคติของพุทธศาสนายืนยันความเสมอภาค คล้ายกับอุดมคติของแนวคิดสังคมนิยม

แต่การตีความดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมของทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายก้าวหน้า เพราะฝ่ายแรกมองการตีความของปรีดีว่าขัดกับอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ขณะที่ฝ่ายหลังต้องการอุดมคติทางการเมืองแบบสากลที่พ้นไปจากอุดมคติทางศาสนา  ทว่า “จุดแข็ง” ก็คือการตีความพุทธศาสนาในทางการเมืองแบบปรีดีไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าพุทธศาสนายังมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเมืองเชิงวัฒนธรรม จึงกลับมาตั้งคำถาม และเสนอการตีความใหม่ที่ก้าวหน้ากว่า และการตีความดังกล่าวไม่มีช่องโหว่ให้วิจารณ์ได้ว่าเป็นการอ้างพุทธศาสนาเพื่อปฏิเสธเสรีภาพ และความเสมอภาค

ขณะที่ท่านพุทธทาสก็มองเห็นปัญหาการใช้พุทธศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนระบบชนชั้น ในตลาดศาสนายุคเก่า ซึ่งคลี่คลายมาเป็นการใช้พุทธศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือตอบสนองวัตถุนิยม และความเห็นแก่ตัวในรูปแบบที่ซับซ้อนในยุคปัจจุบัน ท่านจึงตั้งคำถาม วิพากษ์ และเสนอการตีความพุทธศาสนาใหม่ที่มุ่งทำความเข้าใจความเป็นมนุษย์ การแสวงหาอิสรภาพด้านใน และสันติภาพของมนุษยชาติหรือโลก

ศาสนาและศีลธรรมในความหมายของท่านพุทธทาส จึงไม่ใช่เครื่องมือไปสู่สถานะที่ได้เปรียบทางชนชั้น ความเจริญด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ หรือชีวิตที่สุขสบายมั่งคั่ง แม้กระทั่งชีวิตที่สุขสบายในชาติหน้า ดูเหมือนท่านพุทธทาสไม่ได้สอนศาสนาและศีลธรรมในความหมายเช่นนั้นเลย แต่เน้นศีลธรรมแบบ “หน้าที่” ถือว่า “ธรรมะคือหน้าที่” หรือ “การปฏิบัติธรรมคือการปฏิบัติหน้าที่” เป็นหน้าที่ในทางละความเห็นแก่ตัว ละการยึดติดในตัวกู ของกู และเป็นหน้าที่ที่เราต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นใหญ่เหนือประโยชน์ส่วนตัว

ดังนั้น ศาสนาและศีลธรรมในความหมายของท่านพุทธทาส จึงพ้นไปจากความเป็นพุทธพาณิชย์ทั้งแบบยุคเก่าและยุคปัจจุบัน ศาสนาและศีลธรรมไม่ใช่เรื่องของตลาด หรือเรื่อง “ทำการตลาด” ในเชิงการลงทุนโดยหวังผลกำไรทางส่วนตัว หรือทางชนชั้นของตัว เพราะนั่นเป็นความเห็นแก่ตัวหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของการยึดติดตัวกูของกู

แต่ศาสนาและศีลธรรมเป็นเรื่องของ “ความรับผิดชอบ” ต่อตัวเอง สังคม มนุษยชาติหรือโลก แต่ละคนจึงมีหน้าที่ต่อตัวเองที่จะพัฒนาชีวิตตัวเองในด้านต่างๆ รวมทั้งการบรรลุอิสรภาพด้านใน และต้องมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม มนุษยชาติ หรือโลก รวมถึงรับผิดชอบต่อการดูแลธรรมชาติด้วย เนื่องจากศีลธรรมเป็นเรื่องของหน้าที่ตามกฎธรรมชาติที่เราต้องปฏิบัติบนพื้นฐานของความจริงที่ว่า “สรรพสิ่งในธรรมชาติต่างดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันและกัน” ศีลธรรมจึงหมายถึงการปฏิบัติใดๆ ที่ทำให้การดำรงอยู่อย่างอิงอาศัยกันและกันเป็นไปในทางบวกหรือเอื้อต่อสันติสุขร่วมกัน

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข (2-8 ส.ค.2557)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net