Skip to main content
sharethis
2 ส.ค. 2557 สืบเนื่องจากประเทศพม่าและประเทศจีนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น สกว.จึงต้องการสนับสนุนงานวิจัยด้านพม่าและจีน โดยเฉพาะการพัฒนานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศทั้งสองยังขาดแคลน อีกทั้งการเข้าถึงแหล่งข้อมูลปฐมภูมิของประเทศสองก็ทำได้ยาก แม้จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขของพม่า แต่ก็พบว่ายังสามารถทำงานวิจัยได้ในขีดจำกัด อย่างไรก็ตามพม่าและจีนมีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อบทบาทในภูมิภาคเอเชีย สกว.จึงใคร่ขอคำแนะนำจากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในเรื่องประเด็นวิจัยที่ตรงกับความต้องการของประเทศ และช่องทางในการเข้าไปศึกษาวิจัยในประเทศพม่าและจีน
 
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ สกว. ได้สอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ควรจะทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีนและพม่าที่ รวมถึงช่องทางที่ สกว.จะนำผลงานวิจัยมาเผยแพร่ ซึ่งอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกแจ้งว่าปัจจุบันนี้ไทยยังขาดคลังสมองอันเป็นหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนข้อมูลในการทำยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ของไทย จึงเสนอให้ สกว.ช่วยสร้างคลังสมองเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญในการสนับสนุนข้อมูลให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ โดยอาจตั้งสาขาในต่างประเทศ เช่น สถาบันทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ วิจัยนำร่องให้ภาครัฐและภาคเอกชน คิดค่าบริการแบบไม่คิดกำไรมาก มีทีมวิจัยเต็มเวลา 
 
สำหรับประเด็นที่อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ สกว.ดำเนินการทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศพม่าประกอบด้วย (1) ชนกลุ่มน้อยของพม่ามีผลต่อความมั่นคงของพม่าอย่างไร (2) ประเด็นข้ามแดน เช่น ยาเสพติด แรงงานผิดกฎหมาย ผู้อพยพ (3) สุขภาวะชายแดน (4) นโยบายในการควบคุมดูแลโรฮิงญาของประเทศไทย (5) การพัฒนาพื้นที่ชายแดน (6) ความสัมพันธ์ของพม่ากับต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา เป็นต้น (7) การเมือง เช่น ผู้มีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจ ผู้นำรุ่นใหม่ พรรคการเมือง บทบาทของกองทัพพม่าในการบริหารประเทศ ทั้งนี้ควรจะศึกษาทำความเข้าใจกองทัพพม่าจึงจะเข้าใจการเมืองพม่า (8) การพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทั้งนี้กระทรวงได้ให้ความสนใจเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านในภาพรวมของประเทศ ซึ่งรวมถึงการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานอื่น ๆ และภาคเอกชนด้วย
 
ส่วนประเด็นการวิจัยเกี่ยวกับประเทศจีน ได้แก่ (1) การเมือง: ผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์ เครือข่ายในพรรค ทหาร กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (2) นโยบายต่างประเทศของจีนต่อญี่ปุ่น และนโยบายต่างประเทศของจีนต่อสหรัฐอเมริกา (3) พัฒนาการความสัมพันธ์ของจีนกับไต้หวัน ทิเบต และฮ่องกง (4) บทบาทของจีนต่ออาเซียน การเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ที่มีผลต่อเอกภาพอาเซียน (5) ไทยควรจะเป็นประเทศผู้ประสานงานในการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ระหว่างจีน-อาเซียนหรือไม่ (6) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง (7) นโยบายเศรษฐกิจของจีนที่มีผลต่อตลาดโลก เช่น การสร้างเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21 ไปยุโรปทางบกและเส้นทางน้ำมาสู่อาเซียน การลงทุนสร้างท่าเรือในพม่าเพื่อไม่ต้องผ่านมะละกา การสร้างเส้นทางเชื่อมโยงทางบกจากจีน ลาว ไทยสู่สิงคโปร์ การสร้างการเติบโตจากภายในเพื่อลดการพึ่งพาภายนอก เป้าหมายการยกระดับรายได้ต่อหัวเป็นเท่าตัว ยกระดับค่าแรงและสวัสดิการ ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากชาวนาสู่กรรมกร และเกิดเถ้าแก่น้อยเอสเอ็มอี มีผลให้จีนออกไปลงทุนทางตรงในต่างประเทศ 
 
อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกยังกล่าวด้วยว่า สกว.สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลและเชื่อมโยงกับผู้ใช้ประโยชน์ เช่น จัดเวทีสนทนากลุ่มย่อยกับนักวิชาการที่โดดเด่นเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่นำไปปฏิบัติได้ ทั้งนี้กระทรวงคาดหวังข้อมูลที่น่าเชื่อถือและถูกต้องเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความลึกของข้อมูล ความเชื่อมโยง การสังเคราะห์ การวิเคราะห์ นัยยะ และแนวนโยบาย และขอให้ สกว.แจ้งกระทรวงเมื่อมีการจัดประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อจะได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงที่สนใจเข้าร่วมประชุมด้วย
 
คณะผู้บริหาร สกว. ได้รับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประเด็นการวิจัยดังกล่าวมาพิจารณาถึงความสำคัญของโจทย์วิจัยและความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละประเด็น เพื่อพิจารณาให้ทุนวิจัยต่อไป โดย รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ เปิดเผยว่า การเข้าหารือในครั้งนี้ทำให้ สกว.ได้รับทราบโจทย์การวิจัย ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ากระทรวงการต่างประเทศยังมองในกรอบการเมืองความมั่นคงค่อนข้างมาก แต่เป็นโจทย์ที่เข้าถึงข้อมูลได้ยากหากกระทรวงไม่ให้ความร่วมมือ นอกจากนี้ยังได้รับทราบความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทของภาควิชาการและ สกว. ทำให้มีความชัดเจนว่าฝ่ายควรจะพัฒนาบทบาทและการทำงานอย่างไร โดยเฉพาะการพัฒนากลไกการทำงานกับหน่วยงานภายนอกและกลไกการสื่อสารเผยแพร่ผลงาน รวมถึงการรับทราบข้อจำกัดในการทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจนำมาเป็นโจทย์วิจัยของ สกว. เพื่อหาข้อเสนอแนะในการออกแบบการทำงานของกระทรวงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net