Skip to main content
sharethis
 
ลาวหารือเรื่องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
 
1 ก.ค. 2014 หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ของ สปป.ลาวรายงานในวันนี้ว่า ตัวแทนจากหลายภาคส่วนได้หารือกันเรื่องความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากที่ขึ้นครั้งหลังสุดเมื่อปี 2011
 
ตัวแทนจากสมาพันธ์สหภาพแรงงาน สปป.ลาว หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมกำลังหารือกันที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งจะเป็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 6 นับตั้งแต่ปี 1991 เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลน
 
สปป.ลาวขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งหลังสุดเป็นเดือนละ 626,000 กีบ (ราว 2,500 บาท) สหภาพแรงงานเสนอว่า จากการวิเคราะห์ค่าครองชีพในกรุงเวียงจันทน์และสามจังหวัดสำคัญพบว่า ควรต้องเพิ่มเป็นเดือนละ 800,000 กีบ (ราว 3,200 บาท) เพื่อดึงดูดแรงงานให้ทำงานในภาคเอกชนและแก้ปัญหาแรงงานในประเทศขาดแคลน ขณะที่หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติ สปป.ลาว เกรงว่า จะเกิดผลกระทบต่อธุรกิจและการลงทุนหากไม่ใคร่ครวญข้อเสนอให้ดีพอหรือไม่ปรึกษาผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง เวียงจันทน์ไทม์ระบุว่า ตัวแทนจากหลายฝ่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ต้องการลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐและเอกชน
 
สภาโบลีเวียผ่านร่าง กม. ให้เด็ก 10 ขวบใช้แรงงานได้
 
2 ก.ค. 2014 สภาโบลิเวียได้ผ่านกม.อนุมัติให้เด็กอายุ 10 ปี สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขพิเศษของการจ้างงาน โดยสภาได้ออกกฎหมายนี้เพื่อหวังคุ้มครองเด็กโบลิเวียที่ต้องทำงานอยางผิดกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองด้านสวัสดิภาพและจิตใจจากผู้จ้างงาน และป้องกันการถูกฉวยประโยชน์ รวมทั้งกำหนดว่า ภายใต้การทำงานดังกล่าว จะต้องได้รับความยินยอมจากเด็ก รวมทั้งครอบครัว หรือผู้ปกครองดูแลด้วย ขณะที่ผู้สนับสนุนกฎหมายนี้อ้างว่า กฎหมายนี้จะช่วยให้โบลิเวียพ้นจากภาวะความยากจนได้ก่อนปี 2025 
 
กฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนจากเด็กโบลิเวียที่ต้องการทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว และเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด โดยที่ผ่านมา มีเด็กโบลิเวียอายุเยาว์วัยได้เริ่มทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่งานร้านอาหาร ไปจนถึงงานในเหมือง พวกเขาบอกว่า ต้องการเงิน โดยสำหรับเด็กโบลิเวียจำนวนมาก การมีงานทำหมายถึงการได้ชีวิตอยู่รอด โดยปัจจุบัน โบลิเวีย มีเด็กเป็นจำนวน 8.7 แสนคนต้องทำงาน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่รายงานด้านแรงงานเด็กโบลิเวียก่อนหน้านี้เผยว่า 28 เปอร์เซนต์ของเด็กโบลิเวียอายุ 5-17 ปี ต้องเข้าสู่ภาวะรับจ้างใช้แรงงาน จำนวนนี้ 87 เปอร์เซนต์ต้องอยู่ในาภาวะเสี่ยงต่อร่างกายและสภาพจิตใจ      
 
ขณะเดียวกัน กฎหมายนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานยูนิเซฟในโบลิเวีย ที่ต้องการให้รัฐบาลโบลิเวียคุ้มครองเด็กที่ทำงานในสภาพอันตราย เช่น งานเกษตร และงานในเหมืองแร่ แต่ก็หน่วยงานเอ็นจีโอบางกลุ่มคัดค้านกม.นี้ โดยระบุว่า มาตรการนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาหลักของแรงงานเด็กโบลิเวีย เพราะรัฐบาลสมควรจะที่ใช้นโยบายและคุ้มครองประชากรที่เบาะบาง รวมทั้งครอบครัวที่ยากจน และสนับสนุนครอบครัวเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กต้องออกมาทำงานก่อนเกณฑ์อายุ
 
คนงานภาคขนส่งแคเมอรูน ขู่นัดหยุดงานทั่วประเทศ หลัง รบ.เลิกอุดหนุนเชื้อเพลิง-ห้ามขึ้นค่าโดยสาร
 
2 ก.ค. 2014 คนงานชาวแคเมอรูนที่ทำงานในธุรกิจการขนส่งทั่วประเทศออกคำแถลงร่วมในวันพุธ (2 ก.ค.) ขู่นัดหยุดงานประท้วงในสัปดาห์หน้า หลังรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี “ปอล บิยา” ตัดสินใจยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนค่าเชื้อเพลิง
       
ก่อนหน้านี้รัฐบาลของประธานาธิบดีบิยาประกาศในวันจันทร์ (30 มิ.ย.) ยกเลิกการจ่ายเงินอุดหนุนด้านพลังงานทุกรูปแบบทั้งเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลและแก๊สหุงต้ม จนส่งผลราคาเชื้อเพลิงทั้งสองประเภทปรับพุ่งขึ้นทันทีระหว่าง 14-15 เปอร์เซ็นต์ โดยที่รัฐบาลออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบการขนส่งขึ้นราคาค่าบริการโดยเด็ดขาด เป็นเหตุให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้างในหมู่ผู้ประกอบการและคนงานในธุรกิจดังกล่าว
       
ปิแอร์ เอ็นเยเม็ก ประธานสหภาพแรงงาน “CGSTC” ซึ่งเป็นหนึ่งในสหภาพแรงงานภาคขนส่งที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดของแคเมอรูนออกมาระบุว่า หากรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศเป็นอัมพาตในสัปดาห์หน้าก็ต้องยินยอมให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาค่าโดยสารและค่าขนส่งสินค้าได้โดยไม่มีเงื่อนไข มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของแคเมอรูน
       
ทั้งนี้ ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เรียกร้องอย่างยาวนาน ให้รัฐบาลแคเมอรูนภายใต้การนำของประธานาธิบดีปอล บิยาที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1982 ยุติการดำเนินมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานที่ส่งผลให้รัฐบาลต้องสูญเสียงบประมาณมากกว่า “ปีละ 600 ล้านดอลลาร์” และซ้ำเติมปัญหาขาดดุลงบประมาณของประเทศให้เลวร้ายหนักข้อกว่าเดิม
       
อย่างไรก็ดี รัฐบาลบิยาได้ชะลอการตัดสินใจดังกล่าวเรื่อยมา แม้จะเผชิญการขาดดุลงบประมาณในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 5.5 ของจีดีพี เนื่องจากหวั่นสูญเสียคะแนนนิยมทางการเมือง และเกรงจะเกิดปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ซ้ำรอยวิกฤตการประท้วงของ “คนขับรถแท็กซี่” ทั่วประเทศเมื่อปี 2008 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน
 
รัฐสภาเยอรมนีอนุมัติร่างกฎหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ
 
4 ก.ค. 2014 สถานีโทรทัศน์ ARD ของเยอรมนีรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีหรือ Bundestag ได้ลงมติเสนอแผนปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 8.50 ยูโร (ราว 11.60 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อชั่วโมง
 
โดยข้อบังคับครั้งใหม่นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2015 โดยคาดว่าพนักงานกว่าหลายล้านคนจะได้รับผลประโยชน์จากการปรับเพิ่มค่าจ้าง อุตสาหกรรมบางภาคส่วนสามารถเลื่อนการปรับเพิ่มค่าจ้างได้เป็นเวลาสองปีเพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นสามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่นี้ไม่ครอบคลุมพนักงานบางกลุ่ม เช่น พนักงานฝึกงานระยะสั้นและพนักงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
 
ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาด้านค่าจ้างขั้นต่ำในเยอรมนีระหว่างผู้ว่าจ้างและสหภาพในแต่ละอุตสาหกรรม การอนุมัติกฎหมายปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของ Bundestag เกิดขึ้นภายหลังจากการเจรจาอันยืดเยื้อระหว่างพรรคคริสเตียน เดโมเครติค (CDU) ของนายกรัฐมนตรีอังเกล่า แมร์เคล และพรรคโซเชียล เดโมเครติค (SPD) ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรในรัฐบาลผสม
 
ร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งเป็นโครงการหลักของพรรค SPD ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างหนักในเยอรมนี โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากฝ่ายที่เชื่อว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างจะก่อให้เกิดตลาดแรงงานที่มีความยุติธรรมมากขึ้น และช่วยลดจำนวนงานที่ให้ค่าจ้างต่ำเกินควร
 
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอื่นๆได้ออกมาโต้แย้งว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศจะส่งผลกระทบต่ออัตรางานไปเรื่อยๆ และจะกลายเป็นปัญหาต่อศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก หลังค่าใช้จ่ายด้านแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น และบริษัทพากันย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น
 
กลุ่มผู้ประท้วงในรัฐแคลิฟอร์เนียเข้าขวางขบวนรถบัสที่บรรทุกผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศในอเมริกากลาง
 
4 ก.ค. 2014 กลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 150 คนในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ เข้าขวางขบวนรถบัสที่บรรทุกผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายจากประเทศในอเมริกากลางราว 140 คนไม่ให้เข้าไปถึงศูนย์พักพิงในเมืองเมอร์เรียตา พร้อมตะโกนขับไล่ให้กลับประเทศตัวเอง ทำให้ขบวนรถบัสคันดังกล่าวต้องเปลี่ยนเส้นทางไปยังเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายกเทศมนตรีเมืองซานดิเอโก "นายอลัน ลอง" เรียกร้องให้ชาวเมืองร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับแผนการย้ายผู้อพยพไปยังรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อบรรเทาความแออัดตามศูนย์พักพิงตลอดแนวชายแดนด้านที่ติดกับเม็กซิโก ซึ่งผู้อพยพเหล่านี้ถูกจับหลังหลบหนีความรุนแรงและการข่มขู่คุกคามจากแก๊งต่างๆ ในกัวเตมาลา, เอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส
 
ช่วยคนงานติดในเหมืองฮอนดูรัสได้แล้ว 3 ราย
 
5 ก.ค. 2014 เจ้าหน้าที่กู้ภัยฮอนดูรัสช่วยเหลือคนงานที่ติดอยู่ในเหมืองใต้ดินทางตอนใต้ของประเทศได้แล้ว 3 คน จากทั้งหมด 11 คน หลังจากพวกเขาติดอยู่นาน 2 วัน
 
คนงานเหมืองที่ได้รับการช่วยเหลืออยู่ในสภาพอิดโรย ขาดน้ำ และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับคนงานที่ยังติดอยู่อีก 8 คน เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เจาะลึกลงไปใต้ดิน 100 เมตร และตะโกนติดต่อกับคนงานที่อยู่ข้างใต้ จนกระทั่งสามารถนำตัวพวกเขาขึ้นมาผ่านซอกหิน ท่ามกลางญาติมิตรที่รอคอยอย่างยินดีอยู่ด้านบนเหมือง เจ้าหน้าที่กู้ภัยคนหนึ่งเผยว่า อาจต้องเปลี่ยนจุดค้นหาคนงานที่ยังติดอยู่ เนื่องจากจุดที่ช่วยคนงานขึ้นมาได้นั้นมีดินหินจำนวนมากร่วงลงไปภายในช่องทางเดิน
 
เหตุเหมืองถล่มเกิดขึ้นเมื่อวันพุธ ตามเวลาท้องถิ่น ที่ระดับความลึก 80 เมตร เป็นเหมืองเถื่อนในจังหวัดโชลูเตกา ทางใต้สุดของประเทศ ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี มีคนงานเหมืองเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 1 คน หลังจากติดอยู่ในเหมืองเดียวกันนี้ พื้นที่ในเขตนี้เป็นพื้นที่เทือกเขา มีเหมืองใต้ดินประมาณ 80 แห่ง และมีคนจากชุมชนใกล้เคียงเดินทางมาทำเหมืองประมาณ 4,000 คน
 
จีเอ็ม-บีเอ็มฯ หยุดผลิตในแอฟริกาใต้ หลังการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็กลุกลาม
 
5 ก.ค. 2014 จีเอ็ม และบีเอ็มดับบลิว ยุติสายการผลิตที่โรงงานในแอฟริกาใต้ หลังการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็กกว่า 2 แสนคน ลุกลามทำให้การผลิตชิ้นส่วนรถชะงักงันและสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
 
เจนเนอรัล มอเตอร์ หรือจีเอ็ม และบีเอ็มดับบลิว 2 ค่ายรถชั้นนำโลก ตัดสินใจยุติการผลิตหลังจากการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานเหล็ก ทำให้บริษัททั้งสองแห่งไม่สามารถเดินสายการผลิตตามปกติได้ ล่าสุด ตำรวจได้จับกุมผู้ชุมนุมประท้วงไป 26 คน ที่ก่อเหตุโจมตี ทำลายข้าวของ และคุกคามโรงงานต่างๆรอบกรุงโยฮันเนสเบิร์ก หลังจากการเจรจาขอขึ้นค่าจ้างแรงงานระหว่างสมาพันธ์อุตสาหกรรมวิศวกรรมและเหล็กแห่งแอฟริกาใต้ และสหภาพแรงงานเหล็กกล้าของแอฟริกาใต้ ประสบความล้มเหลว
 
การผละงานประท้วงของแรงงานกว่า 220,000 คนเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆในแอฟริกาใต้ราว 1 ใน 3 ส่งผลให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังอย่างมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส เตือนว่า สถานการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น เพิ่มความเสี่ยงให้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ที่สำคัญ การประท้วงครั้งนี้ เกิดขึ้นตามหลังการประท้วงของคนงานเหมืองแพลตตินัมจำนวนกว่า 70,000 คนนาน 5 เดือนเต็ม จนทำให้เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้หดตัวลง
 
ทั้งนี้ไซฟาในฐานะตัวแทนนายจ้าง เสนอขึ้นค่าจ้างแรงงาน 10% ขณะที่ตัวแทนลูกจ้าง เรียกร้องขอขึ้นค่าแรง 12% พร้อมทั้งให้ยกเลิกระบบนายหน้าหางาน
 
กรีซสั่งให้คนงานการไฟฟ้ากลับไปทำงานแล้ว
 
5 ก.ค. 2014 กรีซสั่งให้คนงานการไฟฟ้ากลับไปทำงานแล้ววันนี้ และขู่ว่าจะจับกุมหากพวกเขายังคงหยุดงานประท้วงต่อไป ซึ่งเป็นสาเหตุให้ต้องตัดกระแสไฟฟ้าทั่วประเทศ ในฤดูแห่งการท่องเที่ยวนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังคนงานบริษัทการไฟฟ้าหรือพีพีซี. ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่สุดของกรีซ ได้ละเมิดคำสั่งศาล หยุดงานประท้วงอย่างผิดกฎหมายเมื่อวานนี้ ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งนี้คนงานโรงไฟฟ้าจำนวนมากไม่พอใจที่กรีซพยายามแปรรูปการไฟฟ้าให้เป็นของภาคเอกชน และมีการประท้วงต่อต้านมาเป็นระยะๆ 
 
แรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ขยายตัวลดลงครึ่งหนึ่งติดต่อกันสองปี
 
8 ก.ค. 2014 นายตัน ชวนจิน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสิงคโปร์เผยว่า จำนวนแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงถึงครึ่งหนึ่งติดต่อกันสองปี
 
นายตันเผยเรื่องนี้ระหว่างชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับรายงานเหตุจลาจลย่านลิตเติลอินเดียเมื่อปลายปีก่อนว่า แรงงานต่างชาติไม่รวมคนงานก่อสร้างและแม่บ้านเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 9.4 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 4.6 ในปี 2555 และร้อยละ 2.3 ในปี 2556 นายตันย้ำว่า ในขณะที่ทางการให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงแหล่งที่แรงงานต่างชาตินิยมมารวมตัวกันและคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติ การลดอัตราการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างชาติก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ ที่ผ่านมาทางการได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อยกระดับคุณภาพแรงงานต่างชาติและลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติค่าแรงต่ำ
 
สิงคโปร์ลดจำนวนแรงงานต่างชาติลงอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ข้อมูลของกระทรวงแรงงานเผยว่า แรงงานต่างชาติในประเทศนับจนถึงเดือนมิถุนายนปีก่อนมีมากกว่า 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24 ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่มาจากจีน ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แรงงานค่าแรงงานต่ำ เช่น ก่อสร้าง ขับรถบรรทุก ทำความสะอาด มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 1,500-2,500 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 37,500-62,500 บาท)
 
สิงคโปร์เพิ่มกำลังตำรวจปราบจลาจลหลังคนงานอินเดียก่อความไม่สงบ
 
8 ก.ค. 2014 สิงคโปร์เพิ่มกำลังตำรวจปราบจลาจลเป็น 2 เท่าและเพิ่มการตรวจตราหลังเกิดกรณีคนงานชาวอินเดียก่อเหตุความไม่สงบเมื่อปีที่แล้ว แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของตำรวจหลังจากสิงคโปร์มีกฎระเบียบทางสังคมที่เข้มงวดมาเป็นเวลา 40 ปี
 
นายเตียว ชีเฮียน รัฐมนตรีมหาดไทยของสิงคโปร์กล่าวต่อรัฐสภาวานนี้ว่า สำนักงานตำรวจจะเพิ่มกำลังตำรวจใหม่จำนวน 300 นายให้แก่กองบัญชาการปฏิบัติการพิเศษ (เอสโอซี) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานปราบปรามการก่อการร้ายด้วย ซึ่งมาตรการดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเสนอแนะภายหลังการสอบสวนกรณีเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2013 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บ 39 คนและรถยนต์เสียหาย 25 คัน
 
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจะเริ่มทดลองใช้กล้องที่สวมไว้กับตัว และบนรถตำรวจจะมีกล้องถ่ายทอดภาพยังศูนย์บัญชาการ และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
 
เหตุจลาจลบนท้องถนนในสิงคโปร์เริ่มขึ้นหลังจากคนงานชาวอินเดียราว 400 คนเกิดความไม่พอใจหลังจากเพื่อร่วมชาติถูกรถโดยสารทับเสียชีวิต รายงานการสอบสวนพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของกองกำลังตำรวจ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างการสื่อสาร การฝึกอบรมและการจัดคณะทำงาน
 
แอฟริกาใต้ ประกาศใช้ “ไบโอเมตริก วีซ่า” สกัด ก่อการร้าย-ลักพาตัวเด็ก-อัตราว่างงานสูง กระทบ “แรงงานซิมบับเวร่วม 250,000 มีสิทธิ์ถูกส่งกลับ”
 
10 ก.ค. 2014 แอฟริกาใต้เดินหน้าประกาศมาตรการออกหนังสืออนุญาตเข้าประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยการให้นักท่องเที่ยวต้องยื่นขอเป็นการส่วนตัว “ ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล หวังเพื่อคุมเข้มระบบความปลอดภัยและลดปัญหาการลักลอบค้าเด็ก ซึ่งมาตรการวีซ่าใหม่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ทำขึ้นอย่างเร่งด่วนหลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่ออุดช่องโหว่ต่างๆ รวมไปถึงอัตราาว่างงานสูงลิ่วในประเทศ ส่งผลให้แรงงานต่างด้าวในแอฟริกาใต้ เช่น ชาวซิมบับเวจำนวนหลายแสนคนได้รับผลกระทบหนัก อาจถึงขึ้นถูกส่งตัวกลับระเทศ 
       
มาตรการใหม่ของแอฟริกาใต้สำหรับนี้ที่มีเป้าประสงค์เพื่อป้องกันการก่อการร้าย และลดปัญหาลักลอบค้าเด็กข้ามชาติ โดยกำหนดกฎเกณ2 มาตรการเข้มสำหรับนักท่องเที่ยว
       
ทั้งนี้มาตรการแรก นักท่องเที่ยวที่เป็นผู้ปกครองประสงค์นำบุตรหลานเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องนำหลักฐานสูติบัตรขนาดย่อตัวจริงสำหรับเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และทั้งนักเดินทางที่เป็นพลเมืองแอฟริกาใต้และนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องให้ข้อมูลรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับบิดามารดาของเด็ก
       
และมาตรการที่สอง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องร้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ ต้องยื่นด้วยตัวเองขอรับ “ไบโอเมตริก วีซ่า” หรือ หรือวีซ่าชนิดเก็บข้อมูลชีวภาพส่วนบุคคล
       
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ รวมถึงสายการบิน บริษัททัวร์ เกรงว่ามาตรการเข้มงวดนี้จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ในระดับโลก และพยายามล็อบบี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎเหล็กนี้เลือนออกไป 12 เดือน โดยเกรงว่าจะมีผลกระทบหนักสุดในตลาดการท่องเที่ยวของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น จีน และ อินเดีย
       
เช่นในจีน พบว่ามีแค่ 2แห่งในกรุงปังกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ ที่นักท่องเที่ยวชาวจีนจะสามารถเดินทางด้วยตนเองเพื่อร้องขอ ไบโอเมตริก วีซ่าเดินทางเข้าแอฟริกาใต้ได้ และพบว่านักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่เดินทางมาท่องเที่ยวแอฟริกาใต้นั้นอาศัยอยู่นอกกรุงปักกิ่ง และเซียงไฮ้ ดังนั้นเมื่อมาตรการใหม่บังคับใช้ จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนต้องจัดสรรค์เวลาและเงินเพื่อยื่นขอวีซ่าแบบใหม่นี้ ไมเคิล โทลแมน (Micheal Tollman) ซีอีโอของ คูลินาน โฮลดิงส (Cullinan Holdings) ให้สัมภาษณ์กับเมล และการ์เดียน สื่ออังกฤษ
       
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลแอฟริกาใต้ได้ขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2014 เพื่อบังคับใช้มาตรการใหม่นี้ และทำให้ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยมีเวลามากพอเพื่อหารือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้โดยไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวท้องถิ่น
       
แต่ทว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแอฟริกาใต้มีแผนขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปอย่างน้อย 12 เดือน สภาการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้(TBCSA) ที่ควบคุมธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้ยื่นจดหมายถึงมาลูซี กิกาบา (Malusi Gigaba) รัฐมนตรีมหาดไทยแอฟริกาใต้ ร้องขอให้มีการยกเลิก หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไป และโอกาสที่จะยื่นขออุทธรณ์ในมาตรการใหม่นี้
       
อย่างไรก็ตาม กิกาบากล่าวว่า ทางกระทรวงยินดีรับฟังในผลที่จะตามหลังจากมีการบังคับใช้ และยังกล่าวว่า ไม่มีใครสามารถประกาศใช้มาตรการใหม่ที่ประสบความสำเร็จ 100% ในครั้งแรก
       
ด้านดีเรค ฮาเนกอน (Derek Hanekon) รัฐมนตรีกระทรวงท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์ที่ผ่ามาว่า ทางกระทรวงพยายามจะป้องกันถึงผลกระทบที่ตามมาหลังจากการประกาศใช้ และกำลังอยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงมหาดไทยของแอฟริกาใต้ในการหาทางออกที่เหมาะสมในเรื่องนี้
       
นอกจากนี้ มาตรการไบโอเมตริก วีซ่า ที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปรับปรุงกฎหมายเข้าเมืองแอฟริกาใต้ที่ถูกปรับให้เข้มงวดขึ้นหลังจากที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในแอฟริกาใต้ในเดือนมิถุนายนล่าสุด นั้นไม่กระทบเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ประสงค์เดินทางเข้ามาในแอฟริกาใต้เป็นระยะเวลาอันสั้น แต่ยังมีผลกับแรงงานต่างด้าว เช่น ชาวซิมบับเวที่มีหลายแสนคนอยู่ในแอฟริกาใต้อีกด้วย เพราะนโยบายนี้ต้องการระบุให้แน่ชัดระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการท่องเที่ยวในประเทศแดนกาฬทวีปเป็นระยะเวลาอันสั้น และผู้ต้องการพำนักถาวรในแอฟริกาใต้ เช่น แรงงานซิมบับเวจำนวน 250,000 คน ที่ลี้ภัยจากสงครามการเมืองและความอดอยากหลังการเลือกตั้งทั่วไปในซิมบับเวปี 2008 จะต้องหาทางต่ออายุใบอนุญาตการพำนักและทำงานในแอฟริกาใต้หลังจากที่สิทธิการพำนักจะสิ้นสุดในสิ้นปีนี้
       
ซึ่งแอฟริกาใต้ถือเป็นฮับของกาฬทวีปสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการอาศัยอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติที่มาจาก คองโก โซมาเลีย ไนจีเรีย และซิมบับเว ล้วนต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ทั้งสิ้น
       
เอเอฟพีรายงานว่า นโบายใหม่ยกเครื่องตรวจคนเข้าเมืองของแอฟริกาใต้นี้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังเสร็จศึกเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2014 เพื่อแก้ปัญหาแอฟริกาใต้ที่ต้องเผชิญกับอัตราว่างงานที่สูงลิ่วทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งหามาตรการอุดช่องโหว่
       
โดยกิกาบาที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ให้สัมภาษณ์ว่า “แรงงานต่างด้าวนั้น ผมกล้าพูดได้ว่า เช่น ชาวซิมบับเวที่แห่เข้ามาเพื่อขอที่ลี้ภัยนั้น ทางรัฐบาลแอฟริกาใต้ต้องถามกลับว่า ในขณะนี้มีสงครามเกิดขึ้นในซิมบับเวที่ชาวซิมบับเวจำเป็นต้องยื่นขอที่ลี้ภัยในแอฟริกาใต้หรือไม่”
       
แต่จากปัญหาเศรษฐกิจทรุดหนักของซิมบับเวที่มีอัตราว่างงานสูงถึง 80% และประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) มีชัยกลับเข้าสู่อำนาจได้อีกสมัย เป็นผลทำให้ชาวซิมบับเวส่วนใหญ่ลังเลที่จะอพยพกลับ
       
สหราชอาณาจักร-ลูกจ้างรัฐนัดหยุดงานประท้วง
 
10 ก.ค. 2014 แรงงานภาครัฐกว่า 1 ล้านคน ทั่วสหราชอาณาจักร นัดหยุดงาน 24 ชั่วโมงเพื่อประท้วงมาตรการจำกัดการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล หรือที่เรียกว่า Poverty Pay
 
แรงงานหลากหลายอาชีพ อย่างเช่น ครูอาจารย์ ลูกจ้างรัฐ พนักงานกวาดถนน และคนดูแลสวนสาธารณะ ร่วมกันหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี 
 
ผู้ประท้วงนัดชุมนุมตามเมืองใหญ่ๆ รวมถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ในกรุงลอนดอน เพื่อประท้วงรัฐบาลผสมภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่ใช้มาตรการควบคุมค่าจ้างแรงงานภาครัฐตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2010 โดยห้ามขึ้นค่าแรง 2 ปี หลังจากนั้นยังจำกัดการขึ้นค่าแรงได้เพียงปีละ 1  % ตามนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการนี้ทำให้รายได้แรงงานภาครัฐปรับขึ้นไม่ทันค่าครองชีพ จนถูกเรียกว่า Poverty Pay หรือค่าแรงที่ทำให้จนลง 
 
ครูคนหนึ่งที่มาประท้วงแสดงความไม่พอใจที่ได้เงินเดือนขึ้นเพียง 1% ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้เงินเดือนขึ้น 11% ในปีนี้ การประท้วงส่งผลให้โรงเรียน 3,225 โรง ปิดการเรียนการสอน และอีก 1,000 โรง ปิดสอนบางส่วน
 
นายกฯอิตาลี วอน “อาลิตาเลีย” ยอมรับแผนปลด พนง.ครั้งใหญ่ แลกเงินลงทุนจากสายการบินเศรษฐีอาหรับ
 
11 ก.ค. 2014 รัฐบาลอิตาลีและทีมผู้บริการของสายการบินอาลิตาเลีย กำลังเปิดการเจรจากับทางสหภาพแรงงานของสายการบินเพื่อหาทางประนีประนอมและลดทอนผลกระทบให้กับแรงงานมากกว่า 2,000 คน ที่กำลังจะถูกเลิกจ้าง หลังจากที่สายการบินชื่อดังจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่าง “เอติฮัด” เข้ามาซื้อหุ้นของอาลิตาเลียจำนวน 49 เปอร์เซ็นต์ และทางเอติฮัดยื่นเงื่อนไขให้มีการปลดพนักงานออกครั้งใหญ่ เพื่อปรับโครงสร้างและลดค่าใช้จ่ายในองค์กร
       
รายงานข่าวระบุว่า ผู้นำอิตาลีได้เรียกร้องให้ทางสหภาพแรงงานของสายการบินอาลิตาเลีย ยอมรับมาตรการปลดพนักงานดังกล่าว เพื่อแลกกับการดำรงอยู่ของสายการบินแห่งชาติ ซึ่งเปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 และมีการจ้างแรงงานในขณะนี้มากกว่า 14,000 ตำแหน่ง
       
“สำหรับสายการบินอาลิตาเลียนั้น ในขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะมานั่งพูดกันถึงเรื่องจำนวนพนักงานที่ต้องถูกเลิกจ้าง แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ การที่เราจะต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการปลดพนักงานออกเพื่อให้องค์กรอยู่รอด หรือการรักษาตำแหน่งงานไว้ แต่ต้องแลกกับการปิดกิจการ” นายกรัฐมนตรี เรนซี กล่าวหลังเข้าร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีในกรุงโรม
       
ทั้งนี้สายการบินอาลิตาเลียซึ่งมีหนี้สินล้นพ้นตัว และแทบไม่เคยมีกำไรนับตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ ได้ยื่นขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิตาลีเมื่อปีที่แล้วในวงเงิน 500 ล้านยูโร (ราว 21,906 ล้านบาท) ก่อนที่จะมีการเจรจาขายหุ้น 49 เปอร์เซ็นต์ให้กับสายการบินเอติฮัดของรัฐบาลอาบูดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อแลกกับเงินลงทุนก้อนโต อย่างไรก็ดี ทางเอติฮัดได้ยื่นเงื่อนไขให้อาลิตาเลียต้องยอมปลดพนักงานครั้งใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายภายในเสียก่อน
 
ซัมซุงเร่งสอบกรณีถูกกล่าวหาใช้แรงงานเด็กในจีน
 
10 ก.ค. 2014 บริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์แห่งเกาหลีใต้แถลงว่า บริษัทกำลังเร่งสอบสวนตามข้อกล่าวหาที่ว่าหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายสินค้าของซัมซุงในจีนจ้างแรงงานเด็กและนักเรียนอายุยังไม่ถึงเกณฑ์
 
กลุ่มไชนาเลเบอร์วอชท์ในนิวยอร์กแถลงคาดว่า บริษัทซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้จัดจำหน่ายสินค้าของซัมซุงในจีน จ้างแรงงานอายุต่ำกว่า 16 ปี อย่างน้อย 5 คน นอกจากนี้ยังละเมิดกฎหมายหลายด้าน เช่น ไม่จ่ายค่าแรงล่วงเวลา ใช้ทำงานเกินเวลา ไม่มีประกันสังคม และฝึกอบรมพนักงาน  
 
แถลงการณ์ของบริษัทซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ระบุว่า บริษัทเร่งสอบสวนตามข้อกล่าวหานี้แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีใช้แรงงานเด็ก และว่าบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้ารายงานผลการตรวจสอบไปเมื่อต้นปี แต่ยังไม่พบว่ามีกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กลุ่มไชนาเลเบอร์วอชท์ระบุว่าระบบการตรวจสอบของซัมซุงไม่มีประสิทธิภาพ
 
"ซูเปอร์มาร์เก็ต" UK อ่วม สงครามราคาพุ่ง-เลิกจ้างลดต้นทุน
 
11 ก.ค. 2014 หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนรายงานว่า "แอสด้า" ซึ่งเป็นบริษัทลูกของวอลล์มาร์ท ระบุว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้กระทบพนักงานจำนวน 4,100 คน แต่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่มีรายได้ไม่สูงนัก 
 
ที่ผ่านมาเชนซูเปอร์ มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ 4 อันดับแรกในสหราชอาณาจักรต่างก็มองหาการตัดลดค่าใช้จ่ายเช่นกัน หลังจากต้องเผชิญกับการถูกกดดันจากสงครามราคาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่งต้องตัดราคาขายกันเอง เพื่อแข่งขันกันอยู่รอดและสู้กับดิสเคานต์สโตร์ต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว 
 
"นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากที่สุด ของเรา ในการทำสิ่งที่เหมาะสมที่สุดให้กับแอสด้าในฐานะซีอีโอของบริษัท แต่เราก็มีความเชื่ออย่างแท้จริงว่านี่เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วสำหรับ อนาคตของบริษัท มิเช่นนั้นก็ไม่อาจที่จะตามทันตลาดหรือคนอื่นได้" แอนดี้ คลาก ประธานบริหารแอสด้าระบุ 
 
การออกมาปรับลดจำนวนพนักงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษ "เดวิด คาเมรอน" ได้ชมเชยว่าแอสด้าเป็นบริษัทที่สร้างงานใหม่ ๆ ให้แก่ผู้คนกว่า 12,000 ตำแหน่ง ในช่วงเวลา 5 ปีต่อจากนี้ จากแผนของบริษัทในการรุกเปิดสาขาใหม่ ๆ ซึ่ง ในตอนนั้น "ดัก แมคมิลเลียน" ประธานและซีอีโอของบริษัทวอลล์มาร์ท ระบุว่า แอสด้ากำลังจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้นจำนวนมาก และจะทำให้แอสด้าเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรมากขึ้นอย่างต่อ เนื่อง 
 
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างด้านบุคลากรในครั้งนี้ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อแอสด้าได้ระบุว่า ต้องการลดสตาฟจำนวน 2,600 คน ในครั้งนั้นโรงอาหารพนักงานได้ถูกปิดตัวลง และถูกแทนที่ด้วยเครื่องจำหน่ายอาหารและน้ำดื่มอัตโนมัติแทน เช่น เดียวกันกับ "มอริสัน" เชนซูเปอร์มาร์เก็ตอีกรายในสหราชอาณาจักร ที่ประกาศในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า กำลังพิจารณาการปรับโครงสร้างใหม่ ซึ่งอาจทำให้ต้องลดจำนวนพนักงานลงถึง 2,600 ราย 
 
"แอสด้า" ระบุว่า การปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะช่วยให้การบริหารจัดการร้านมีความยืดหยุ่นมาก ขึ้น และสามารถตอบรับกับการพฤติกรรมการช็อปปิ้งในปัจจุบันและอนาคตของลูกค้า โดยการหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาช่องทางอีคอมเมิร์ซ และลดภาระหน้าที่ขององค์กรในส่วนแบ็กออฟฟิศลง ซึ่งภายในอาทิตย์หน้าพนักงานระดับผู้จัดการที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยน แปลงครั้งนี้จะได้รับการเทรนนิ่งสำหรับตำแหน่งงานใหม่ หรือได้รับค่าชดเชยพิเศษจากการเลิกจ้าง
 
ก่อนหน้าที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจจะตกต่ำขึ้นนั้น ดิสเคานต์สโตร์เป็นเพียงตัวเลือกเล็ก ๆ ในอุตสาหกรรมค้าปลีกของสหราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ หลังจากนั้นช่องทางดังกล่าวก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยพฤติกรรมการบริโภค ที่ระวังการจับจ่ายมากขึ้น จนทำให้เชนดิสเคานต์สโตร์อย่าง "อัลดิ" และ "ลิดเดิล" ในปัจจุบันมีอำนาจการต่อรองมากกว่า "โค-ออป" ซึ่งเป็นเชนซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่อันดับที่ 5 ของสหราชอาณาจักร
 
นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่ากลยุทธ์ของบิ๊กซูเปอร์มาร์เก็ตก็ไม่เพียงแต่จะปรับ ตัวรับ โดยมุ่งไปยังช่องทางอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว เช่น ในเดือนที่ผ่านมา "เซนบิวรี่" ได้ประกาศถึงการร่วมทุนกับบริษัทด้านค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในเดนมาร์ก "แดงส์ซูเปอร์มาร์เก็ต" เพื่อเปิดตัวดิสเคานต์สโตร์ใหม่ "เน็ตโต้" ซึ่งคาดว่าจะมีสาขาครบ 15 แห่งภายในปีหน้าได้
 
"ไคลฟ์ แบล็ค" นักวิเคราะห์จากบริษัท ชอร์ แคพปิทอล กล่าวว่า ผู้บริหารของซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ กำลังถูกกดดันให้ จัดการกับต้นทุนการจ้างงานที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่พวกเขาสามารถทำได้ในขณะนี้ เพราะปัจจุบันดีมานด์ที่เกิดขึ้นในตลาดมีการลดลงอย่างมาก รวมไปถึงการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันเพื่อรักษายอดขายและฐานลูกค้า 
 
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เศรษฐกิจตกต่ำ พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวอังกฤษได้พยายามที่จะหันมาระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งการลดจำนวนการซื้อลง เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองกับสินค้าหรืออาหารที่ไม่จำเป็น โดยเพิ่มความถี่ในการไปจับจ่ายยังร้านค้าเล็ก ๆ มากกว่าที่จะไปร้านใหญ่เพื่อซื้อของจำนวนมากในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ 
 
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อยอดขายของร้านขนาดใหญ่ต่าง ๆ ซึ่งมีต้นทุนคงที่ในอัตราค่อนข้างสูง โดย "แบล็ค" ยังระบุต่อไปอีกว่า เขาเชื่อว่าทั้งเซนบิวรี่และเทสโก้ก็จะต้องประกาศแผนการปรับโครงสร้างเพื่อ เพิ่มจำนวนของยอดขาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการปรับลดพนักงานอย่างแน่นอน
 
ซัมซุงพบหลักฐานการใช้แรงงานเด็กที่โรงงานในจีน
 
14 ก.ค. 2014- ซัมซุง บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของเกาหลีใต้เผยว่า ได้ระงับการทำธุรกิจกับผู้ผลิตรายหนึ่งในจีน หลังจากพบหลักฐานว่าอาจมีการใช้แรงงานเด็กที่โรงงานแห่งนั้น
 
ซัมซุงแถลงว่า ได้เปิดการสอบสวนบริษัทตงกวนซินหยางอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากกลุ่มจับตาแรงงานจีนซึ่งตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐแจ้งว่า โรงงานแห่งนี้จ้างงานเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี ผลการสอบสวนทำให้บริษัทตัดสินใจระงับการทำธุรกิจกับโรงงานดังกล่าวเป็นการชั่วคราวเพราะพบหลักฐานว่าน่าจะมีการใช้แรงงานเด็กจริง นอกจากนี้ทางการจีนก็กำลังสอบสวนเรื่องนี้เช่นกัน หากผลการสอบสวนยืนยันว่าโรงงานนี้จ้างแรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมาย บริษัทก็จะยุติการทำธุรกิจด้วยเป็นการถาวร
 
ซัมซุงย้ำว่า ได้ตรวจสอบผู้ผลิตอย่างสม่ำเสมอเพราะมีนโยบายไม่ปล่อยให้มีการใช้แรงงานเด็ก เฉพาะโรงงานตงกวนซินหยางนี้บริษัทได้ตรวจสอบมาแล้ว 3 ครั้งตั้งแต่ปีก่อน แต่ก็ยังเกิดข้อกล่าวหาดังกล่าวขึ้น บริษัทจะเพิ่มการตรวจสอบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ด้านกลุ่มจับตาแรงงานจีนตำหนิว่า ระบบตรวจสอบของซัมซุงไร้ประสิทธิภาพ เพราะนอกจากจ้างแรงงานเด็กแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังไม่จ่ายค่าแรงนอกเวลาทำงาน ให้ทำงานนอกเวลามากเกินควร ไม่มีประกันสังคมและการฝึกอบรมแก่คนงาน
 
Microsoft เตรียมแผนหั่นพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี
 
15 ก.ค. 2014 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เจ้าพ่อซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ (Microsoft) กำลังวางแผนประกาศปรับโครงสร้างบริษัทซึ่งจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี แหล่งข่าวชี้การปรับโครงสร้างบริษัทครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อรับกับการผูกรวมหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโนเกีย (Nokia Oyj) ที่ไมโครซอฟท์เพิ่งซื้อกิจการมา
       
บลูมเบิร์ก อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าววงในไมโครซอฟท์ว่า การประกาศปรับโครงสร้างบริษัทจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์นี้ โดยการเลิกจ้างพนักงานจะเป็นไปตามส่วนงานที่ทับซ้อนกันระหว่างหน่วยธุรกิจโนเกีย และบุคลากรที่ไมโครซอฟท์มีอยู่แล้ว คาดว่าการปรับโครงสร้างจะรวมถึงส่วนงานสายการตลาด และวิศวกรรม
       
ข่าวการปรับโครงศร้างองค์กรของไมโครซอฟท์นั้นถูกจับตามองมานาน เนื่องจากนับตั้งแต่ไมโครซอฟท์ซื้อหน่วยธุรกิจโทรศัพท์มือถือของโนเกียเมื่อช่วงปีที่แล้ว จำนวนบุคลากรของไมโครซอฟท์นั้นเพิ่มขึ้นเป็น 127,000 คนทันที จำนวนทีมงานมหาศาลนี้ถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในวงการไอทีอย่าง แอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) จุดนี้เหล่านักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีทล้วนเชื่อว่า ซีอีโอไมโครซอฟท์อย่าง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) จะลงมือปลดพนักงานบางส่วนแน่นอน และมีแนวโน้มว่านี่อาจเป็นการเลย์ออฟพนักงานครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009
       
หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไมโครซอฟท์ ประกาศเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 5,800 ตำแหน่งในปี 2009 จุดนี้มีความเป็นไปได้ที่จำนวนการปลดพนักงานของไมโครซอฟท์ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นอาจจะทำลายสถิตินี้อย่างราบคาบ
 
เบื้องต้น บลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า ไมโครซอฟท์จะมุ่งปลดพนักงานส่วนการตลาดในบางธุรกิจ เช่น หน่วยการตลาดในธุรกิจเกมอย่างเอ็กซ์บ็อกซ์ (Xbox) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ทีมทดสอบซอฟต์แวร์ หรือ software tester และส่วนวิศวกรรมก็อาจมีการปรับโครงสร้างเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายบริหารบริษัทของซีอีโอคนใหม่
       
สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่า ซีอีโอไมโครซอฟท์ลงมือส่งบันทึกภายในถึงพนักงานไมโครซอฟท์เพื่อแจ้งถึงนโยบายปรับองค์กรเพื่อให้กระบวนการทำงานระหว่างแผนก และหน่วยธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบันทึกภายในฉบับนั้นไม่มีการให้ข้อมูลการปลดพนักงานครั้งใหญ่ใดๆ
       
ก่อนหน้านี้ ซีอีโอไมโครซอฟท์เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะแถลงนโยบายบริหารองค์กร และงบการเงินของบริษัทสำหรับปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 22 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ไมโครซอฟท์วางแผนแถลงผลประกอบการบริษัทช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนที่ผ่านมา คาดว่านโยบายต่างๆ จะมีความชัดเจนในวันดังกล่าว ก่อนที่ปีงบประมาณใหม่ของไมโครซอฟท์จะเริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมนี้
 
สิงคโปร์ขู่ถอนใบอนุญาตบริษัทจัดหางานที่ปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติไม่เหมาะสม
 
17 ก.ค. 2014 กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ประกาศเตือนบรรดาบริษัทจัดหางานว่า ทางกระทรวงเป็นกังวลเกี่ยวกับการนำเสนอคนรับใช้ตามบ้านอย่างไม่เหมาะสมในโฆษณา อาทิ การโฆษณาว่านายจ้างสามารถว่าจ้างแรงงานเหล่านี้ในราคาถูกหรือในราคาที่ลดลงจากปกติราวกับพวกเขาเป็นสินค้า รวมถึงการโฆษณาว่านายจ้างสามารถทดลอง ซื้อและเปลี่ยนคนรับใช้ตามบ้านได้หากไม่พอใจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทางกระทรวงขอให้บริษัทจัดหางานในสิงคโปร์ยุติการโฆษณาที่ไม่ให้เกียรติแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนรับใช้ตามบ้านทุกรูปแบบ หากฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
 
กระทรวงแรงงานของสิงคโปร์ประกาศเตือนหลังจากมีรายงานข่าวและได้รับการร้องเรียนจากนักเคลื่อนไหวแรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการนำตัวแรงงานต่างชาติที่มาทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านไปสาธิตการทำงานที่บริษัทจัดหางานซึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า
 
แรงงานพม่าประท้วงเกาหลีปิดโรงงานไม่จ่ายค่าจ้าง
 
18 ก.ค. 2014 แรงงานจากโรงงานมาสเตอร์สปอร์ตฟุตแวร์ในนครย่างกุ้ง ระบุว่า เจ้าของโรงงานปิดกิจการอย่างผิดกฎหมาย และไม่มีการแจ้งให้ทราบในเดือน พ.ค. และได้เดินทางออกจากประเทศไปแล้ว แรงงานเหล่านี้กำลังเรียกร้องให้ทูตเกาหลีใต้เข้าช่วยเหลือ เนื่องจากพวกเขาประสบปัญหาทางการเงิน และต้องการความช่วยเหลือในการหางานใหม่
       
หลังรัฐบาลเต็งเส่ง เข้าบริหารประเทศในปี 2011 อุตสาหกรรมในประเทศเติบโตขึ้น และการลงทุนจากต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาในประเทศหลังชาติตะวันตกคลายมาตรการคว่ำบาตร
       
แรงงานกล่าวว่า พวกเขาติดต่อไปยังสถานทูต รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและความมั่นคงสังคม รัฐสภา และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ยังไม่มีรับการตอบรับใดๆ
       
“นี่เป็นเพราะรัฐบาลไม่เคยเคียงข้างคนรากหญ้า พวกเขาไม่เคยปกป้องคุ้มครองคนรากหญ้า หรือแรงงาน นั่นเพราะพวกเขาไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ยิ่งทำให้มีการทุจริตมากขึ้น และลำเอียงเข้าข้างฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ และนักธุรกิจ ส่วนเหยื่อก็มีแต่แรงงาน และคนรากหญ้า” ทนายความฝ่ายแรงงาน กล่าว
 
ผู้ใช้แรงงานหลายพันรวมตัวประท้วงใหญ่กลางเมืองหลวงกานา วอนรบ.เร่งแก้ปัญหา ศก.-ค่าครองชีพ
 
24 ก.ค. 2014 กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำนวนหลายพันคนเข้าร่วมการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ ที่จัดขึ้นในกรุงอักกรา เมืองหลวงของกานาในวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ และปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง
       
รายงานข่าวระบุว่า การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นจากบริเวณ “วงเวียนควาเม เอ็นครูมาห์” กลางกรุงอักกราในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงพลังของกลุ่มผู้ใช้แรงงานครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นในกานา
       
ด้านโซโลมอน โกเต เลขาธิการใหญ่ของสหภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรมและการค้า (ICU) เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า การประท้วงครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลกานาออกมาตรการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมเพื่อพลิกฟื้นภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศโดยเร็ว พร้อมขอให้มีการทบทวนความเหมาะสมของระดับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ตลอดจนราคาน้ำมัน เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาค่าครองชีพพุ่งสูง
       
รายงานระบุว่า บรรยากาศโดยรวมของการประท้วงเป็นไปอย่างสันติ แม้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีจอห์น ดรามานี มาฮามา ที่ก้าวขึ้นครองอำนาจเมื่อ 2 ปีก่อน จะสั่งระดมกำลังตำรวจปราบจลาจลจำนวนกว่า 500 นายพร้อมอาวุธครบมือ เข้าประจำการตามเส้นทางเดินขบวนของกลุ่มผู้ประท้วง
       
ขณะเดียวกัน โฆษกรัฐบาลกานาออกคำแถลงในกรุงอักกรา ประณามการรวมตัวประท้วงของกลุ่มผู้ใช้แรงงานครั้งนี้ โดยระบุเป็นความพยายามของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในการบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ
 
ปธน.สโลวะเกียมอบเงินเดือนให้คนจน
 
26 ก.ค. 2014 สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสโลวะเกีย นายแอนเดรจ คิสกา ทำตามสัญญาตอนที่ชนะเลือกตั้ง ด้วยการมอบเงินเดือนเดือนแรกในฐานะผู้นำประเทศให้กับ 10 ครอบครัวที่มีฐานะยากจน
 
ทั้งนี้ หลังจากชนะเลือกตั้ง นายคิสกา วัย 51 ปี ที่ร่ำรวยขึ้นมาจากธุรกิจบัตรเครดิตเพื่อผู้บริโภค ประกาศมอบเงินเดือนที่ได้เดือนละ 5,376 ยูโร ให้แก่ประชาชนผู้ยากจนตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เขาดำรงตำแหน่ง ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีผู้ใจบุญขแห่งสโลวะเกีย ได้ใช้เงินหลายล้านดอลลาร์ ก่อตั้งองกรค์การกุศลขนาดใหญ่ชื่อ "กู้ด แองเจิล"เพื่อช่วยเหลือครอบครัวและเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ
 
ยอดแรงงานจีนไหลตายพุ่งสูง เกือบ 1 พันคนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
 
26 ก.ค. 2014 จำนวนแรงงานชายชาวจีน ซึ่งยังหนุ่มแน่น นอนหลับ แล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย หรือที่เรียกกันว่า เป็นโรคไหลตายนั้น เพิ่มสูงอย่างมากในช่วง 10 ปีทีผ่านมา จากรายงานผลการศึกษาของนักวิจัยล่าสุด แม้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้อย่างชัดเจน แต่ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า แรงงานเหล่านี้เสียชีวิตในเขตพื้นที่เดียวกัน
       
ผลการศึกษาของคณะนักวิจัยจากโรงเรียนแพทยศาสตร์จงซานในเมืองก่วงโจว (กวางเจา) มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) ระบุว่า มีแรงงานชาวจีนเป็นโรคไหลตายจำนวน 893 คน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของตำรวจในเมืองแห่งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือน ม.ค. 2001 - ต.ค. 2013 ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 3 เท่าจากคดี ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค. 1990 - ธ.ค. 1999 จำนวน 231 คดี เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในเมืองต่งกวน ซึ่งเป็นฐานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท ตำรวจระบุว่า ไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิต โดยจากผลการชันสูตรศพไม่พบว่า ป่วยเป็นโรค หรือได้รับบาดเจ็บ ที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
       
ข่าวแรงงานเป็นโรคไหลตาย ที่เคยปรากฏมานั้น ส่วนใหญ่เกิดในชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้ง ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยผู้เสียชีวิตมักมีอาการหายใจติดขัดก่อนตาย งานวิจัยล่าสุดก็พบลักษณะการเสียชีวิต ที่คล้ายคลึงกับงานวิจัยของนานาชาติ และบ่งชี้ว่า คนงาน ซึ่งเป็นชายหนุ่มและใช้แรงกายในการทำงานจัดอยู่ ในกลุ่มเสี่ยง ที่จะตายด้วยโรคนี้มากที่สุด โดยผู้เสียชีวิตกว่าร้อยละ 90 ในเมืองต่งกวนก็อยู่ในคนกลุ่มนี้
       
การทำงานติดต่อกันนานหลายชั่วโมง ประกอบกับสถานที่ทำงาน ตลอดจนที่พักอาศัย ซึ่งขาดสุขลักษณะ อากาศไม่ถ่ายเท และคับแคบ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เสี่ยงนอนหลับตายได้
       
กลุ่มรณรงค์ด้านสิทธิของผู้ใช้แรงงานในเมืองก่วงตงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาแรงงานอพยพเสียชีวิตจากอาการปัจจุบันทันด่วนนี้มานานแล้ว และเชื่อว่า เป็นผลมาจากการตรากตร่ำทำงานจนเกินกำลัง จากการเปิดเผยของนาย เจิง เฟยหยัง ผู้อำนวยการศูนย์แรงงานอพยพก่วงตงพันอี๋ว์ในก่วงโจว ( Guangdong Panyu Migrant Worker Centre ) 
       
เขายังระบุด้วยว่า การเรียกร้องค่าเสียหายแก่ผู้ตาย เนื่องจากทำงานหนัก เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะกฎหมายของจีนไม่รองรับในเรื่องนี้ อีกทั้งเจ้าของโรงงานสามารถโต้แย้งได้ว่า คนงานอื่น ๆ ก็มีชั่วโมงทำงานเท่ากัน แต่เหตุใดจึงยังไม่เสียชีวิต 
       
งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบว่า ผู้มีอายุระหว่าง 20-40 ปี ซึ่งมักเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวและอยู่ในภาวะถูกกดดันอย่างหนัก จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุดที่จะเป็นโรคไหลตายยกตัวอย่าง เช่น พบว่า กว่าร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตจำนวน 328 คนในช่วงปี 2544-2549 มีอายุระหว่าง 21-40 ปี นอกจากนั้น เมื่อคิดอัตราเฉลี่ยแล้ว เห็นได้ว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 10 คน เป็นผู้ชายมากกว่า 9 คน 
 
คนงานชายกะดึก เจอศึกโรคเบาหวาน
 
28 ก.ค. 2014 วารสาร “เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและอาชีวะ” ของสหรัฐฯรายงานว่า ผลของการสำรวจแรงงานตามชาติต่างๆครั้งใหญ่ ได้พบว่า ผู้ที่ต้องทำงานเป็นผลัดจะเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานแบบที่ 2 ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ชายจะยิ่งน่ากลัวที่สุด
 
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคของอังกฤษโทษว่าอาจเป็นเพราะมันไปรบกวนนาฬิกาชีวภาพ ซึ่งเกี่ยวพันกับขนาดของรอบเอว ระดับฮอร์โมน และการนอนเข้า
 
การศึกษาของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนก็พบว่า คนทำงานที่ต้องทำงานเป็นกะ จะป่วยเป็นเบาหวานกันประมาณร้อยละ 9 และหากเป็นในหมู่ผู้ชายแล้วจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นร้อยละ 35 ยิ่งเป็นผู้ที่ต้องสลับหมุนเวียนระหว่างกลางวันกับกลางคืนด้วยแล้ว ยิ่งสูงถึงร้อยละ 42 นักวิจัยได้บอกเตือนว่า “ผลการวิจัยส่อว่า ผู้ชายที่ต้องทำงานเป็นผลัดแล้ว ควรจะระมัดระวังตัว ควรจะกินอาหารให้ถูกส่วนไว้”
 
สื่อผู้ดีแฉแรงงานสร้างสนามบอลไม่ได้ค่าจ้าง
 
29 ก.ค. 2014 สื่อของอังกฤษ ออกข่าวแฉกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ว่า แรงงานต่างชาติ ที่เข้ามาสร้างสนามแข่งขันรับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม และบางส่วนไม่ได้รับค่าจ้างมานานนับปี
 
ประเทศกาตาร์ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ถูกสื่ออังกฤษ โจมตีมาโดยตลอด ตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูลว่ามีการติดสินบนเพื่อให้ได้จัดฟุตบอลโลก 2022 ล่าสุด สื่อของอังกฤษ เปิดเผยว่า แรงงานกว่าหลายร้อยคน ที่ก่อสร้างสนามอัล วาคราห์ กำลังประสบปัญหาไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 1 ปี และมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก นอกจากนั้นเปิดเผยว่าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก ต้องเสียชีวิตจากทั้งอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย และอาการหัวใจล้มเหลว
 
สื่อของอังกฤษ พบว่าแม้บางคนจะได้รับค่าจ้าง แต่ก็เป็นค่าตอบแทนที่ต่ำมาก เฉลี่ยเพียงวันละ 4.9 ปอนด์ หรือประมาณ 220 บาท คิดเป็นสัปดาห์ละประมาณ 1,500 บาทเท่านั้น ส่วนทำงานล่วงเวลาได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าเกณฑ์ ขณะที่ผู้จัดการโครงการ ตัวแทนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างในกาตาร์ ยืนยันว่าค่าตอบแทนในกาตาร์ยังมากกว่าค่าแรงในอินเดียและเนปาล ซึ่งทำให้แรงงานจากหลายประเทศ อพยพเข้ามาทำงานในกาตาร์เป็นจำนวนมาก
 
สำหรับกาตาร์ใช้งบประมาณในการวางโครงสร้าง และระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดถึง 134,000 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท ส่วนงบประมาณในการก่อสร้างสนาม ทั้ง 8 แห่ง เพื่อใช้ในฟุตบอลโลก ใช้งบประมาณ 2,400 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท
 
อพยพแรงงานจีนออกจากลิเบีย
 
31 ก.ค. 2014 กลุ่มติดอาวุธในลิเบียยอมหยุดยิงชั่วคราวใกล้สนามบินในกรุงทริโปลี ขณะที่จีนเริ่มอพยพแรงงานจีนหลายร้อยคนจากลิเบียไปยังมอลต้าแล้ว กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในลิเบียที่เปิดฉากสู้รบเพื่อยึดครองสนามบินในกรุงทริโปลี ยอมหยุดยิงชั่วคราวเมื่อวานนี้ เพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าไปควบคุมไฟที่กำลังลุกลามในคลังน้ำมัน ทำให้เมื่อวานนี้สถานการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวไม่มีการสู้รบกัน และเงียบที่สุดในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
ส่วนที่เมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับ 2 ของลิเบีย มีรายงานว่า พบศพอย่างน้อย 75 ศพ และ ส่วนใหญ่เป็นทหารที่ล้มตายจากการสู้รบกับกลุ่มติดอาวุธ 2 กลุ่มที่บุกยึดฐานทัพของกองทัพได้แล้ว เมื่อ 2 วันก่อน
 
สำหรับสถานการ์ณในลิเบียช่วง 2 สัปดาห์ทีผ่านมา นับว่าเลวร้ายที่สุดตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองจากการโค่นอำนาจมูอัมมาร์ กัดดาฟี่ ผู้นำลิเบีย เมื่อปี 2011 ส่งผลให้ชาติตะวันตก นำโดยสหรัฐฯ รวมไปถึงสหประชาชาติ ต้องถอนเจ้าหน้าที่ทางการทูตออกจากลิเบีย
 
ล่าสุด เมื่อวานนี้จีนได้อพยพแรงงานของตนหลายร้อยคนจากลิเบียทางเรือไปยังมอลต้าแล้ว ซึ่งรัฐบาลมอลต้าได้เตรียมที่พักชั่วคราวให้กับคนงานเหล่านี้ และ เตรียมพร้อมแล้วสำหรับการอพยพครั้งใหญ่ หากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียยังไม่ยุติ
 
ทั้งนี้จีนได้เรียกร้องให้พลเรือนของตนเดินทางออกจากลิเบียก่อนหน้านี้แล้ว สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวจีนอพยพออกจากลิเบียราว 1,000 คน แต่ยังมีอีก 1,000 คนที่ยังอยู่ในลิเบีย รายงานระบุว่า ชาวจีนส่วนใหญ่หลบหนีออกจากลิเบียมายังตูนิเซีย-เมื่อวานนี้ ฟิลิปปินส์ได้ส่งเรือเช่าเหมาลำมารับแรงงานของตน 1,000 คน ไปยังมอลต้าแล้ว
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก: ประชาไท, ครอบครัวข่าว, ASTV ผู้จัดการออนไลน์, สำนักข่าวไทย, กรุงเทพธุรกิจ, ไทยรัฐออนไลน์, เดลินิวส์, สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net