สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยอังกฤษ: University and College Union

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ ย่อมประกอบด้วยบุคลากรสองประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ บุคลากรสายผู้สอน (academic staff) กับบุคลากรสายสนับสนุน (support staff) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบุคลากรประเภทใดก็ตาม ต่างก็มีบทบาทที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของตน เพื่อให้ภารกิจในการให้บริการทางการศึกษาแก่นักศึกษาเจริญรุดหน้าไปในอนาคต

สถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคัดบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและการบริการทางการศึกษา ให้เข้ามาทำงานในสถาบันการศึกษาของตน ในขณะเดียวกัน สถาบันก็อาจใช้ประโยชน์จากบุคลากรในด้านต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมทางธุรกิจอื่นๆ ของสถาบันการศึกษา อีกด้วย สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ จึงได้พยายามเฟ้นหาบุคคลให้เข้ามาทำงานในสถาบันโดยบุคลากรของสถาบันการศึกษาที่ดำรงสถานะต่างๆ จะถูกผูกพันด้วยสัญญาจ้างแรงงาน (contract of employment) ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานจากทางสถาบันการศึกษาแบบรายภาคการศึกษา (fixed-term employment) หรือการจ้างงานจากทางสถาบันการศึกษาในลักษณะสัญญาจ้างถาวร (permanent employment)

สถาบันอุดมศึกษาของอังกฤษในฐานะที่เป็นผู้รับบุคลากรเข้ามาทำงานโดยจ่ายค่าจ้างกับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นบุคคลซึ่งตกลงทำงานให้แก่สถาบันอุดมศึกษาเพื่อรับค่าจ้าง ภายใต้เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันและเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการการเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่น ของสถาบันอุดมศึกษาหรือบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาอันเกี่ยวกับการจ้างงาน ย่อมล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้เรื่องของแรงงานสัมพันธ์ (labour relations) ทั้งสิ้น

อนึ่ง แม้ว่าการดำเนินกิจกรรมบริการสาธารณะด้านการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอังกฤษ จะมีกฎหมายให้อำนาจสถาบันอุดมศึกษาในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาเอาไว้ ตัวอย่างเช่น  พระราชบัญญัติ Further and Higher Education Act 1992 อันเป็นกฎหมายที่กำหนดการยกฐานะของวิทยาลัยอาชีวะและวิทยาลัยอาชีพต่างๆ ให้กลายมาเป็นสถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่น โดยกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่สถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการให้บริการทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่สนใจมาศึกษาในระดับอุดมศึกษา (โปรดดู The National Archives, Further and Higher Education Act 1992, http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1992/13)  อย่างไรก็ตาม กฎหมายอังกฤษมิได้มุ่งจะกำหนดนิติสัมพันธ์ทางแรงงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สัญญาทางปกครองแต่ประการใด แต่กฎหมายอังกฤษกลับมุ่งกำหนดนิติสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา ให้เป็นความผูกพันภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของอังกฤษ

เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา เป็นไปในรูปแบบของความผูกพันทางด้านแรงงานสัมพันธ์แล้ว บุคลากรของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย จึงสามารถรวมตัวกันตามกฎหมายเพื่อการแสวงหาแนวทางส่งเสริมสิทธิเกื้อกูลและคุ้มครองผลประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษา

ดังนั้น บุคลากรของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วทั้งประเทศอังกฤษ จึงได้รวมตัวกันตั้ง สหภาพพนักงานมหาวิทยาลัย (University and College Union - UCU) อันถือเป็นสหภาพแรงงาน (Trade union) ประเภทหนึ่ง (โปรดดูเพิ่มเติมใน University and College Union,  Our history, http://www.ucu.org.uk/2176) โดยสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของประเทศอังกฤษ ก่อตั้งขึ้น เพื่อสร้างอำนาจต่อรองของบุคลากรของสถาบันการศึกษาในฐานะที่เป็นลูกจ้างต่อสถาบันอุดมศึกษาในฐานะที่เป็นนายจ้าง ผ่านการต่อสู้ทางแรงงานต่างๆ ที่ทางสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ได้นำมาใช้เพื่อผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ เช่น การชุมนุมประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานต่อสถาบันอุดมศึกษา การคว่ำบาตรการเจรจากับสถาบันอุดมศึกษาเกี่ยวกับแรงงานสัมพันธ์ และการนัดหยุดการเรียนการสอนเพื่อกดดันสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น

การจัดตั้งสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ย่อมส่งผลดีในแง่ของการเจรจาต่อรองและการกดดันสถาบันอุดมศึกษา ในเรื่องเกี่ยวกับเงินเดือน สวัสดิการและสิทธิเกื้อกูลอื่นๆ ที่บุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาลัยพึ่งจะได้รับอย่างเหมาะสม ภายใต้การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมในสังคมแรงงาน ตัวอย่างเช่น การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาอังกฤษครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 2013 (UK higher education strike 2013) เพื่อประท้วงและเรียกร้องการจ่ายค่าตอบแทนที่มีความไม่เป็นธรรมหรือการจ่ายค่าตอบแทนไม่ได้สัดส่วนกับมาตรฐานค่าตอบแทนที่ควรจะเป็นตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานได้กำหนดเอาไว้ รวมไปถึงการตัดเงินเดือนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ โดยไม่มีเหตุจำเป็น (โปรดดูเพิ่มเติมใน BBC News, University strike expected to go ahead on Thursday, http://www.bbc.com/news/education-24726743)   

สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น การรวมตัวของพนักงานสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อตั้งสหภาพพนักงานมหาวิทยาลัย สำหรับดำเนินกิจกรรมอันนำมาซึ่งผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการคุ้มครองแรงงานและแรงงานสัมพันธ์โดยเฉพาะ (industrial actions) ย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยเหตุว่าความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานมหาวิทยาลัยกับสถาบันอุดมศึกษาเป็นไปในรูปแบบของสัญญาทางปกครอง มิใช่รูปแบบของสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการยากที่บุคลากรสถาบันอุดมศึกษาของไทยจะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วง การคว่ำบาตรหรือการนัดหยุดการเรียนการสอน ต่อสถาบันอุดมศึกษา อนึ่ง กฎหมายแรงงานไทยในปัจจุบัน ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ก็ไม่ได้เปิดช่องให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างในกิจการบริการสาธารณะทุกประเภท (รวมถึงพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาสายสนับสนุน) สามารถทำกิจกรรมต่อรองบางประการอันนำมาซึ่งผลทางเศรษฐกิจอันเกี่ยวเนื่องผลประโยชน์ทางด้านการคุ้มครองแรงงานหรือแรงงาน  เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท