Skip to main content
sharethis

ผู้นำเซียร์ราลีโอนประกาศใช้มาตรการสกัดกั้นไม่ให้เชื้ออีโบลาระบาดเพิ่มขึ้น ขณะประเทศอื่นๆ ในแอฟริกากำลังพยายามดำเนินมาตรการเดียวกัน ด้านไลบีเรียมีมาตรการภายในประเทศตัวเองหลังโรคระบาดจากเชื้อไวรัสอีโบลาคร่าชีวิตผู้คนในแอฟริกาจำนวนมากตามที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าเป็นการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุด

31 ก.ค. 2557 ประธานาธิบดีเออร์เนสต์ ไบ โคโรมา แห่งสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ประกาศภาวะฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

โดยโคโรมากล่าวว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในครั้งนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา โดยให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยบังคับใช้มาตรการ ตัวอย่างของมาตรการเช่นการให้นักท่องเที่ยวล้างมือด้วยสารกำจัดเชื้อโรคก่อน

ก่อนหน้านี้ ไลบีเรียก็มีมาตรการสกัดและควบคุมโรคในประเทศตนเอง โดยมีการสั่งปิดโรงเรียนและในบางชุมชนมีการการกักตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นโรคเพื่อสกัดการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ผู้นำของทั้งสองชาติก็ยกเลิกการไปเยือนสหรัฐฯ ในการประชุมระหว่างสหรัฐฯ และแอฟริกาในสัปดาห์หน้า เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้

ขณะที่ในประเทศเอธิโอเปีย และเคนยาก็เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องบินมากขึ้นรวมถึงมีสายการบินสองสายยกเลิกเที่ยวบินที่ไปสู่ประเทศไลบีเรียและเซียร์ราลีโอน

เว็บไซต์องค์การอนามัยโลกระบุว่า โรคไวรัสอีโบลาหรืออีวีดี (EVD) เป็นโรคร้ายแรงที่มีโอกาสทำให้คนเสียชีวิตร้อยละ 90 แต่คนไข้มีโอกาสรอดมากขึ้นถ้าหากได้รับการรักษาโดยเร็ว อย่างไรก็ตามยังไม่มีวัคซีนที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

ไวรัสอีโบลาแพร่กระจายมาจากสัตว์ป่าและสามารถติดต่อได้จากคนสู่คน สัตว์ที่เชื่อว่าเป็นพาหะนำโรคได้แก่ค้างคาวกินผลไม้ในตระกูล Pteropodidae โดยโรคนี้มักจะมีที่มาจากแถวหมู่บ้านชนบทในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใกล้กับป่าดิบชื้น

จากรายงานข่าวของเดอะการ์เดียน เมื่อวันพุธที่ผ่านมาระบุว่าในการระบาดรอบล่าสุดมีผู้ติดเชื้อในกินี 427 ราย เสียชีวิตแล้ว 319 ราย ในไลบีเรียมีกรณีผู้ติดเชื้อ 249 ราย เสียชีวิตแล้ว 129 ราย ในเซียร์ราลีโอนมีกรณีผู้ติดเชื้อ 525 ราย เสียชีวิตแล้ว 224 ราย

องค์กรอนามัยโลกระบุว่านับตั้งแต่การระบาดในเดือน ก.พ. 2557 มีผู้ติดเชื้อรวมมากกว่า 1,300 ราย เสียชีวิตมากกว่า 700 ราย จากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557

เชื้ออีโบลาสามารถติดต่อผ่านจากคนสู่คนได้ในกรณีที่มีการสัมผัสเลือด, ของเสีย, สารคัดหลั่ง หรืออวัยวะภายในร่างกายของผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังสามารถติดทางอ้อมได้จากของเหลวในธรรมชาติที่มีเชื้อโรคอยู่ ผู้ที่ฟื้นตัวจากโรคแล้วยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้อยู่ในช่วงระยะ 7 สัปดาห์หลังการฟื้นตัวโดยถ่ายทอดเชื้อผ่านทางน้ำอสุจิ

ผู้เป็นโรคจากเชื้ออีโบลาจะมีอาการไข้ขึ้นอย่างกระทันหัน อยู่ในภาวะอ่อนแรงอย่างมาก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปดวหัว และเจ็บคอ ตามมาด้วยการอาเจียน ท้องร่วง มีผื่นขึ้น ตับและไตทำงานได้แย่ลง นอกจากนี้ในบางกรณียังมีอาการเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแลในระดับการพยาบาลผู้ป่วยขั้นวิกฤติ ผู้ป่วยมักจะมีอาการขาดน้ำจึงต้องรักษาแบบประคับประคองด้วยการรักษาสมดุลอิเล็กโตรไลต์และสารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

องค์การอนามัยโลกระบุอีกว่าการระบาดในครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา สื่อเดอะเทเลกราฟระบุว่าการติดต่อของโรคสามารถติดต่อข้ามทวีปได้ในกรณีที่ผู้มีเชื้อเดินทางข้ามประเทศจนทำให้มีโอกาสติดต่อกับคนในประเทศเป้าหมายการเดินทาง

 

เรียบเรียงจาก

Sierra Leone declares Ebola emergency, BBC, 31-07-2014
http://www.bbc.com/news/world-africa-28579890

Ebola in west Africa: the outbreak country by country, The Guardian, 30-07-2014
http://www.theguardian.com/society/2014/jul/30/ebola-in-west-africa-the-outbreak-country-by-country

How could Ebola virus travel to the UK?, The Telegraph, 30-07-2014
http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/africaandindianocean/sierraleone/10999908/How-could-Ebola-virus-travel-to-the-UK.html

Ebola virus disease, WHO
http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs103/en/

Ebola virus disease, West Africa – update 29 July 2014, WHO
http://www.afro.who.int/en/clusters-a-programmes/dpc/epidemic-a-pandemic-alert-and-response/outbreak-news/4236-ebola-virus-disease-west-africa-29-july-2014.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net