Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายวิชา มหาคุณ ในฐานะโฆษกของ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ลงมติ 7-0 วินิจฉัยว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว จึงดำเนินเรื่องส่งสำนวนฟ้องไปยังอัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ในคำอธิบายของ ป.ป.ช.ได้ระบุความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว ทำให้ราคาข้าวเปลือกสูงกว่าราคาตลาดเกินกว่าที่ควรคาดหมายได้ตามปกติ ลักษณะเป็นการบิดเบือนกลไกราคาตลาด และการดำเนินโครงการมีการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การสวมสิทธิ์เกษตรกร โกงความชื้น โกงตาชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ ส่วนการระบายข้าว มีการใช้อิทธิพลช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ข้าวจากโครงการไปจำหน่าย การเก็บรักษา ยังมีปัญหาทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพและเกิดการสูญหาย ทำให้การขายข้าวขาดทุน ซึ่ง รัฐบาลเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ สร้างความสูญเสียเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว จำนวนหลายล้านราย ที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการฯ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนบางคนถึงกับฆ่าตัวตาย และว่า ทั้งที่โครงการมีปัญหาเช่นนี้ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงที่สุดของประเทศ

ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 โดยเป้าหมายของโครงการก็คือการเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาไทย ผ่านการแทรกแซงกลไกตลาดด้วยการพยุงราคาขั้นต่ำ ด้วยวิธีการ “รับจำนำ” คือให้ชาวนาสามารถกลับมาไถ่ถอนคืนได้ในเงื่อนไขที่กำหนด แต่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำไว้สูง ผลก็คือ ชาวนาไม่มาไถ่ถอนคืน ข้าวในโครงการจึงตกอยู่ในมือรัฐบาล เท่ากับว่า รัฐบาลเป็นผู้รับซื้อข้าวโดยตรงจากชาวนาโดยไม่จำกัดจำนวนในราคาที่ประกาศไว้นั่นเอง ลักษณะนโยบายแบบนี้ คือ มาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร(subsidy) ซึ่งประเทศทั้งหลายรวมทั้งประเทศไทยทำกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

เป็นที่ยอมรับกันต่อมาว่า โครงการนี้มีผลให้ข้าวราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อรายใหญ่ ข้าวจำนวนมากไปอยู่ในมือรัฐบาล ทำให้พ่อค้าต้องเสนอราคารับซื้อสูงตามไปด้วย ผลก็คือ ชาวนาทั่วไปแม้จะไม่ได้เข้าร่วมโครงการก็จะขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบในด้านรายได้ของชาวนาที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นนโยบายประชานิยมสำคัญของยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์

เป็นที่แน่นอนว่า ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมีการเสนอนโยบาย ก็ต้องมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรืออย่างน้อยผู้ได้ผลกระทบจากนโยบายย่อมไม่พอใจ ดังนั้น โครงการนี้จึงถูกคัดค้านโจมตีตั้งแต่ต้น จากพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่มพ่อค้าข้าวที่เสียประโยชน์ และกลุ่มนักวิชาการกระแสหลัก โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฝ่ายผู้คัดค้านพากันเห็นว่า นโยบายจำนำข้าวนี้เป็นจุดตายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นนโยบายที่มีข้ออ่อนอย่างมาก แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีการโจมตีข้อบกพร่องและข้อมูลทุจริตที่ขยายเกินจริง ไปจนถึงข้อมูลเท็จและข่าวลือต่าง ๆ ด้วย (เช่น ข่าวลือการเอาข้าวพม่าข้าวเขมรมาสวมสิทธิ์ เป็นต้น) กรณีนี้จึงนำมาสู่การที่ฝ่ายพันธมิตรและพรรคประชาธิปัตย์ นำเรื่องยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. และนำมาซึ่งการตัดสินเช่นนี้

ปัญหาประการแรกที่ต้องพิจารณาในกรณีนี้ก็คือ การตัดสินของ ป.ป.ช.ครั้งนี้เป็นการตัดสินที่ก้าวข้ามจากการพิจารณาเรื่องการทุจริต มาสู่เรื่องนโยบาย ก่อให้เกิดปัญหาในเชิงหลักการว่า การใช้นโยบายเป็นเรื่องของอำนาจบริหาร ที่นำเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย นโยบายจำนำข้าวถูกหรือผิดก็เป็นที่วิจารณ์หรือถกเถียงกันได้ในสังคม และท้ายที่สุด ประชาชนน่าจะเป็นผู้ตัดสิน แต่กลับกลายเป็นว่า ป.ป.ช.ได้ทำตัวเป็นผู้วิจารณ์นโยบาย และมาเป็นผู้ตัดสินความผิดถูกของนโยบาย นี่เป็นการกระทำนอกเหนือหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริต ถ้าหากบรรทัดฐานนี้เป็นที่ยอมรับ หมายถึงว่าตั้งแต่นี้ไป รัฐบาลชุดใดจะมีนโยบายอย่างไร จะต้องมาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบลงมติเสียก่อน นี่จะเป็นการถูกต้องหรือไม่

ปัญหาต่อมา ป.ป.ช.ได้ตั้งข้อกล่าวหาและตัดสินล่วงหน้าว่า นโยบายนี้นำมาซึ่งการทุจริตทุกขั้นตอน และตัดสินว่า นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์เข้าไปส่งเสริมการทุจริตเช่นนั้น แต่ในเอกสารทั้งหมดของ ป.ป.ช. ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเลยว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร มีคดีอะไร เจ้าหน้าที่หรือเอกชนรายใดที่กระทำทุจริต โดยการสวมสิทธิเกษตรกร โกงความชื้น โกงตราชั่ง นำข้าวมาเวียนเข้าโครงการ หรือ การลักลอบนำข้าวออกจากคลัง เป็นต้น การตัดสินลักษณะนี้เป็นการนำข้อกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นคำตัดสิน โดยไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นการผิดวิธีการพิจารณาความ ซึ่งจะต้องเริ่มจากหลักฐานเป็นสำคัญ

แม้กระนั้น ข้อกล่าวหาว่าโครงการใดมีการทุจริตนั้น ไม่ใช่ข้ออ้างที่ว่าโครงการนั้นไม่ควรที่จะดำเนินการ เพราะถ้ายึดหลักการว่า โครงการใดมีทุจริต ก็ต้องยกเลิกให้หมด ก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องยกเลิกหมดเกือบทุกโครงการในประเทศไทย เพราะโครงการอีกมากมายก็อาจมีทุจริตได้ ไม่เว้นแม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างและโครงการของกองทัพ ดังนั้น ถ้าพิสูจน์ได้ว่าโครงการมีการทุจรติ ทางออกจึงไม่ใช่การตัดสินเลิกโครงการ แต่เป็นการปรับปรุงการดำเนินการให้รัดกุม

ส่วนในเรื่องที่ว่า โครงการนี้ก่อให้การขาดทุนของรัฐ ต้องเข้าใจว่า นโยบายอุดหนุนเกษตรทั่วไป เป็นโครงการที่รัฐยอมขาดทุนเพื่อยกระดับเกษตรกรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง การแทรกแซงกลไกตลาดโดยใช้รายจ่ายภาครัฐเป็นเรื่องปกติธรรมดาในวิชาหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค และที่สำคัญตัวเลขที่กล่าวอ้างการขาดทุน 5 แสนล้านบาทก็เป็นตัวเลข”ยกเมฆ”เกินจริง ซึ่งนำตัวเลขมาจากกลุ่มที่ต่อต้านนโยบายราคาข้าว

ในกรณีนี้ ในวันที่ 18 มิถุนายน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ ป.ป.ช.ถึง 7 ประเด็น โดยประเด็นหนึ่งที่เน้นย้ำก็คือ ความแตกต่างในบรรทัดฐานการทำงานของ ป.ป.ช. ระหว่างคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กับคดีในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่คดีทุจริตข้าวของรัฐบาลประชาธิปัตย์ถูกร้องเรียนตั้งแต่ พ.ศ.2552 แต่คดีไม่มีความคืบหน้า โดย ป.ป.ช.ใช้ข้ออ้างว่าติดน้ำท่วม และยังมีอีกหลายคดีที่คนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น การทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 การทุจริตการก่อสร้างโรงพยาบาลราชบุรี การทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์กระทรวงศึกษาธิการ การทุจริตโครงการชุมชนเข้มแข็ง การทุจริตการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่งและแฟลตตำรวจ ฯลฯ ทุกเรื่องเงียบหายหมด

แต่ในที่นี้ อยากจะขอสรุปว่า นโยบายจำนำข้าวจะถูกหรือผิดไม่ใช่เรื่องของ ป.ป.ช. การดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เช่นนี้ จึงเป็นอีกครั้งนี้ที่ชี้ให้เห็นการบิดเบือนการใช้อำนาจ เพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง และเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่มุ่งทำลายการปกครองในแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั่นเอง

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้ วันสุข ฉบับที่ 474 วันที่ 26 กรกฎาคม 2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net