Skip to main content
sharethis

“ทางนี้ โว้ โว้” เสียงตะโกนลงมาจากชั้นสี่ของตัวตึก ยังไม่ทันที่เราจะก้าวขาออกจากรถ
“อ้าว” ใครล่ะนี่ “พี่สนอง หรือพี่สมศักดิ์ แล้วอีกคนล่ะ” เราตะโกนตอบ
“ภาณุพงศ์ สารคาม ครับ”
“กินข้าวละยัง แม่ไอ้เป๊กและพวกเรามาถึงกรุงเทพแล้ว แต่ยังไม่ทันถึงนี้ คนขับง่วงนอน เดี๋ยวมา”
“ยังไม่ได้กินไรเลย”

แปดโมงกว่าแล้ว ทำไมยังไม่ได้กินข้าวเช้า เราเดินตรงไปสั่งข้าวกล่อง กระเพรา ไข่ดาว หกกล่อง ก่อนจะเดินไปหน้าตึก ได้ยินใครตะโกนลงมาอีก “พี่...” อ้าว ไอ้เป๊ก ที่เราเรียกมันว่าไอ้อ้วน หญิงหนึ่งเดียวที่เหลืออยู่เช้าอังคาร ที่ 29 กรกฎาคม
“แม่กำลังมานะ มากินไร รองท้องก่อน”

เราเดินมาที่ประตู วางสำเนาบัตรประชาชน โปรยยิ้มแล้วพูดนิ่มนวลชวนเจ้าหน้าที่คุย เห็นผู้คุมเดินอาดๆไปมา บางคนโหวกเหวก โวยวาย นักโทษที่อยู่แค่ประตูกรงกระจกกั้น เดินขึ้นเดินลง เคลียร์สัมภาระ และขยะ จากชั้นสองและชั้นสาม
ตอนนี้เหลือพวกเขา 5 ชาย 1 หญิง ในจำนวนนี้มีจากมหาสารคามสองคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ได้สองวันก่อนหน้าปฏิวัติของประยุทธ์

ปกติเราจะมากับมิตรสหาย หรือทนายเสื้อแดง คราวนี้ไม่มีใครอยู่เลย ดูๆไปก็วังเวง สักพักมีผู้หญิงทำสีผมทองใส่เสื้อส้มมาขอเยี่ยมเหมือนกัน และตลอดครึ่งวัน มีอดีตผู้คุมเรือนจำใต้ถุนศาลรัชดามาแป๊ปนึง และชายชราหน้าตาจีนๆขับรถมา คงฝากสตางค์ให้เมียพี่สนองแล้วรีบจากไป แค่นี้จริงๆ สำหรับสิ่งที่เรียกว่านักโทษการเมืองที่หลักสี่ ก่อนวันที่เขาจะปิดฉากประวัติศาสตร์สองปีเจ็ดเดือนของคุกนี้

เก้าโมงกว่า แรงงานที่เป็นนักโทษชั้นดีจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ มาขนตู้เหล็ก โทรทัศน์ พัดลม ที่นอนและอุปกรณ์ต่างๆของเจ้าหน้าที่ราชฃทัณฑ์กลับไปที่เรือนจำพิเศษ

ผู้คุมที่ประจำหลักสี่ประมาณ หนึ่งโหล ส่วนใหญ่เป็นคนใหม่ที่ถูกย้ายมาดูแล หลังขั้วอำนาจกรุงเทพเปลี่ยนมือจาก กปปส. เอ่อ หมายถึงรัฐบาลเป็ดง่อยของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไปเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคุณสมชาย ของข้าราชการที่กำลังเกษียณชื่อประยุทธ์ จันทร์โอชา

“เดี๋ยวๆ สองคนนั้น รอไปก่อนนะ ออกไปจากตรงนี้ก่อน เขาจะย้ายของกัน ยังเยี่ยมไม่ได้” มันเกี่ยวกันตรงไหนว่ะ ที่คุยทางโทรศัพท์ก็อยู่ข้างๆ ไม่ได้เกะกะซะหน่อย

ระหว่างนั้น หนุ่มสารคามที่เกาะประตูอยู่นานแล้ว ตะโกนบอกหนึ่งในผู้คุมว่าขอข้าวกล่องตรงนั้นกินหน่อย
รอไปสักชั่วโมง รถขนของไปแล้ว เจ้าหน้าที่ที่กร่างไปมาก็กลับเข้าไปหัวเราะต่อกระซิกในห้องทำงานแล้ว เราถึงได้เข้าไปเยี่ยม เมื่อญาติๆของพวกอุบลทยอยเดินเข้ามา

ช่างภาพหนังสือพิมพ์ภาอังกฤษ กับภาษาไทยอีกฉบับย่านวิภาวดีมาถ่ายรูปตอนขนของทัน สักพักโทรทัศน์ของช่องภาษาอังกฤษอีกค่ายก็มาถ่ายตอนญาติๆขนกะละมัง ถุงดำ เสื่อ ไม้ตียุง และสารพัดของของพวกที่เหลืออกมากองกันข้างทางเดิน
พี่โอด สีทน ที่หลุดคดีเผาศาลากลางก็ช่วยแม่ธีรวัฒน์ ขนของ ถือรูปวาดดรออิ้ง ไม้หนึ่ง ก. กุนที ไว้ในมือ พี่โอด บอกว่า ผมมากับพวกอุบลอีกสองสามคน งานศพ ไม้หนึ่งด้วย กวีเสื้อแดงคนนี้เคยเป็นคนที่มาเยี่ยมเยียนนักโทษสม่ำเสมอ ร่วมกับเครือข่ายอดีตนักโทษการเมือง เช่นหนุ่ม ธัณธวุฒิ และอ.หวาน และมิตรสหายอีกจำนวนมาก ที่เคยมาร่วมจัดงานปีใหม่บ้าง วันเกิดบ้าง รับขวัญคนที่พ้นคดีแล้วบ้าง

วันนี้ ไอ้อ้วนที่อายุ 27-28 ยังเร่าร้อนไม่แปรเปลี่ยน “ใครจะไปปรองดอง ไม่มีหรอกพี่ เป็นปรองดองที่เอากระบอกปืนจ่อปากเรา และเหยียบหัวเราไว้อย่างนี้ ไม่กลัวหรอก พูดให้พวกที่มันดักฟังโทรศัพท์ผู้ต้องขังได้ยินเลย”

ระหว่างรอเมียๆแม่ๆที่มาเยี่ยมพวกอุบลอยู่นาน เราสอบถามภาณุพงษ์ พลเสน และนายคมกฤษ คำวิแสงจากมหาสารคาม ทั้งคู่ห่วงเรื่องความแออัดของคุกแห่งนั้น

“นักโทษเป็นพันครับ ต้องนอนตะแคงสลับฟันปลา” ถามเรื่องการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เขาไม่รู้ว่าใครต้องเป็นคนทำให้ แต่ทึกทักว่าทนายที่มาเดินเรื่องประกันตัว น่าจะช่วย

“แต่ก็ไม่มีใครติดต่ออะไรให้พวกผมเลย” ภาณุพงศ์ วัย 31 กล่าว

เขาช่วยพ่อแม่ทำนาระหว่างที่ได้ประกันออกไปประมาณปีครึ่ง แต่ช่วงที่ติดคุกอยู่สารคามช่วงแรกก็พยายามจะเรียนหลักสูตรการเกษตร

ส่วนคมกฤช อยู่กับตายายที่สารคาม เพราะ พ่อ ซึ่งแยกทางกับแม่ ก็อยู่กรุงเทพ น้องชายอ่อนกว่าสามปีก็ทำงานอยู่กับแม่ พวกเขาเรียนหนังสือแค่ป. 6

พี่สนอง เกตุสุวรรณ์ ดูจะเป็นคนที่คร่ำครวญพอๆกับธีรวัจจ์ สัจจสุวรรณ พวกเขาไม่รู้จะหวังอะไรแล้ว อยากจะเห็นคสช.มาช่วยพาเขาออกไปจากเรือนจำ พรบ.นิรโทษกรรมอะไรก็ได้ ที่จะพาเขาไปสู่อนาคตที่ดีกว่าโทษ 33 ปี 4 เดือนที่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินตามภาพถ่ายและการลงลายมือชื่อในเอกสารรับสารภาพชั้นสอบสวน

“จะให้พวกผมยอมเงื่อนไขอะไรก็ได้ พวกผมไม่มาทำอะไรเกี่ยวการเมืองแล้ว แต่ช่วยนิรโทษพวกผมไปก่อน ผมห่วงแม่” ธีรวัจจ์ หนุ่มน้อยสุดวัย 25-26 กล่าว

สนอง บอกว่า ตนเองเสียใจ ซึม จนพูดไม่ออก เหมือนแย่ยิ่งกว่าเป็นผู้ลี้ภัย “นี่เหรอ นักโทษการเมือง” เขารำพัน
สนองอยากเห็นแกนนำนปช.และสส.เพื่อไทย ออกมาแสดงความหาญกล้า ที่จะผลักดันการช่วยเหลือที่เป็นจริงกับพวกเขา ปล่อยพันธนาการพวกเขาออกไป

“เขาไม่ได้อยู่ในคุก จะยังกลัวอะไรอีกนักหนา จะว่าไป ที่ผมได้เกี่ยวข้องมาในเหตุการณ์ทางการเมือง ก็ล้วนเป็นผลพวงจากการขับเคลื่อนทางการเมืองของพวกเสื้อแดง เขาน่าจะออกมารับผิดชอบบ้าง”

สนองบอกว่าเขากังวลเรื่องการย้ายกลับไปเรือนจำภูมิลำเนาเดิม เพราะคุกปิด ระบบต่างๆ สุขอนามัย การกินอยู่พื้นฐาน อาจจะสาหัสกว่าที่หลักสี่ เขาอยากเห็นกรมคุ้มครองสิทธิของกระทรวงยุติธรรม ออกมาเยี่ยมเยียนพวกเขาบ้าง
“กสม.เหรอ ก็ได้ครับให้เขาออกมาช่วยเถอะครับ ใครก็ได้”

“เอาองค์กรกาชาดสากล (ICRC) ด้วยไหม”

“ใครที่เอ่ยอ้างว่าทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็ควรจะมาช่วยเมื่อพวกผมถูกโยกย้ายไปอยู่ในระบบคุกปกติล่ะครับ”
“ประกันล่ะ”

“ก็อย่างที่เห็นล่ะครับ ขอกี่ครั้งก็ยังไม่ได้ เขาเลยไม่ขอกันแล้วมั้ง”

หกชีวิตนอนหลักสี่เป็นคืนสุดท้าย กินอาหารที่ญาตินำมาเยี่ยม เป็นมื้อสุดท้ายที่กรุงเทพ เช้าวันพุธ พวกเขาจะเดินทางกลับไปยังเรือนจำที่พวกเขาเคยถูกขังมาก่อน

ปิดฉากที่เคยโลดโผน ไปอย่างเงียบเชียบ จนกว่าสี่คนนี้จะได้ฟังคำพิพากษา ศาลฎีกา และคอยรอกระบวนการพระราชทานอภัยโทษ ไม่รู้นิรโทษกับอภัยโทษ อะไรจะได้มาก่อนกัน

ส่วนพวกมหาสารคามก็ได้แต่รอกระบวนการทางราชการที่จะพาเอกสารไปถึงช่องทางสุดท้าย เขาไม่รู้หรอกว่า ทนายที่ทำเรื่องประกันเขาไม่ได้อาสา หรือได้รับจ้างมาทำเรื่องติดต่อผลักดันให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วย

 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net