Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ขณะที่หลายฝ่าย กำลังวิพากษ์วิจารณ์ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของ คสช. ที่ห่วงกันว่า จะทำให้ ประเทศไทย ถอยหลังไปสู่การปกครองแบบเผด็จการทหารยาวนานอีกหลายสิบปีและประเทศไทย อาจจะเป็นตัวอุปสรรคต่อการพัฒนาในภูมิภาคอาเซี่ยน

แต่สิ่งที่ผมติดใจ และให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ แถลงการณ์ฉบับหนึ่ง ที่ออกโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 23 กรกฎาคม  2557  ซึ่งได้อ่านผ่านเว็บไซด์ประชาไท

เป็นแถลงการณ์อันเป็นท่าที ของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่ได้แสดงความวิตกกังวล เป็นห่วงเป็นใยอย่างยิ่ง ต่อคำตัดสินของศาลเมียนม่าร์ ในเขตมะเกว สั่งจำคุกนักข่าว 4 คนที่ลักลอบเข้าไปหาข่าวเกี่ยวกับการผลิตอาวุธเคมีในเขตหวงห้ามของทหารของพม่า

บางช่วงบางตอนของแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “เป็นเรื่องน่าเศร้า และถือเป็นความถดถอยในเรื่องสิทธิและเสรีภาพสื่อมวลชนในพม่าอย่างรุนแรง…เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนถึงความถดถอยของเสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมาร์ซึ่งยังคงอ่อนไหวอยู่ และสร้างความหวดกลัวว่า เมียนมาร์ จะกลับไปมีการเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวดอีกครั้ง” แถลงการณ์ระบุ

ตอนท้ายของแถลงการณ์ฉบับนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังแสดงความเห็นใจต่อเพื่อนสื่อมวลชนในเมียนม่าร์ อีกทั้ง ยังขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการปฎิบัติที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และหวังที่จะเห็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะส่งเสริม และปกป้องเสรีภาพของสื่อในเมียนมาร์

หลังจากอ่านเนื้อหาสาระของแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว  ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้นมากมาย  ทั้งรู้สึกดี และมีคำถามรวมทั้งรู้สึกละอายใจอยู่ลึก ๆ ด้วยเหมือนกัน

รู้สึกแรกก็คือ การออกแถลงการณ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเพราะเป็นการแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วย กับการที่เพื่อนร่วมวิชาชีพถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างรุนแรง  เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ สมาคมวิชาชีพฯ จะต้องออกมาแสดงการคัดค้าน หรือ ไม่เห็นด้วย กับการละเมิด หรือการปิดกั้นการทำหน้าที่ตามหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ เพื่อยืนยันในหลักของสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนด้วยกัน

แต่ความรู้สึกที่รบกวนจิตใจอย่างยิ่ง และเป็นคำถามใหญ่ เมื่ออ่านแถลงการณ์ฉบับนี้ นั่นก็คือ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย ไม่ได้รู้สึกอ่อนไหว หรือ หวาดกลัวต่อ สถานการณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในเวลานี้บ้างเลยหรือ  สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย อยู่ในสภาะที่ถดถอยอย่างรุนแรงด้วยเหมือนกันไม่ใช่หรือ

ไม่เฉพาะสิทธิเสรีภาพของสื่อไทยเท่านั้น ที่จะถูกละเมิด หรือถูกทำลายจากเผด็จการทหาร คสช.  แม้แต่ ประชาชนคนไทยเวลานี้ ก็ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปด้วยพร้อมทั้งยังถูกริดรอน สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก หรือความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน

อย่างนี้แล้ว สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ไม่ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับปฎิบัติการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และหาทางออกเพื่อร่วมกันปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยด้วยกันเองบ้างหรือ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย มองไม่เห็นภาวะแห่งความถดถอยของการริดรอน และการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทย รวมทั้งประชาชนคนไทย ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นนี้เลยหรืออย่างไร

มีนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ไทย  จำนวนไม่น้อย ที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในขณะที่ปฎิบัติหน้าที่อยู่ ณ เวลานี้ แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯก็ตาม แต่พวกเขาอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย ได้ช่วยเหลือ หรือทำอะไรให้พวกเขาเหล่านั้นเกิดความมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยในการปฎิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาบ้างแล้วหรือยัง

ไม่ว่าจะเป็น นักข่าวประชาไท  บก.นิตยสารฟ้าเดียวกัน นักข่าวเนชั่น อย่างคุณประวิตร โรจนพฤกษ์  และอีกหลายต่อหลายคน ในหลายสำนักข่าว ที่ถูก คสช. ข่มขู่ คุกคามให้เกิดความกลัว ทั้งการเรียกไปรายงานตัว สั่งให้ยุติการทำหน้าที่ในลักษณะต่าง ๆ ที่อ้างว่า จะเป็นการยุยงให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก  หรือแม้แต่การปิดสถานีโทรทัศน์ สำนักข่าว หรือ สื่อต่าง ๆ ที่คัดค้าน หรือ เห็นต่าง กับ เผด็จการทหาร

ถ้าจะยกตัวอย่างให้ใกล้เคียงกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ 4 นักข่าวชาวเมียนมาร์ มากที่สุด นั่นก็คือ กรณีของ คุณสมยศ พฤษาเกษมสุข ที่ศาลไทยตัดสินสั่งจำคุก เป็นเวลาถึง 15 ปี ในข้อหาหมิ่นสถาบัน โดยไม่มีการสอบสวน และไม่ยอมให้ประกันตัว

ความถดถอยที่กลายเป็นวิกฤติแห่งการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยในลักษณะนี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทำไมถึงเพิกเฉย กับเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เป็นคนไทยด้วยกันเอง

หรือมองว่า เป็นสื่อมวลชนคนละพวกกับสื่อที่สังกัดอยู่ในสมาคมวิชาชีพ  หรือคิดว่าเป็นสื่อที่รับใช้กลุ่มการเมือง เป็นทาสของกลุ่มอำนาจใหม่ที่กำลังทำสงครามอยู่กับกลุ่มอำนาจเก่า  หรือเป็นสื่อที่ใช้เสรีภาพอย่างไร้ความรับผิดชอบ เพราะนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งยั่วยุให้เกิดความรุนแรงตามการกล่าวอ้างของเผด็จการทหาร คสช

จุดยืนของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อยู่ตรงไหนกับการต่อสู้ ระหว่างกลุ่มประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย กับ กลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังจะรื้อฟื้นอำนาจเผด็จการขึ้นมาอีกครั้ง

ระหว่างสื่อมวลชนที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพให้ประชาชนคนไทย  กับสื่อมวลชนที่รับใช้เผด็จการ  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ไทย จะเลือกสนับสนุนหรือปกป้องฝ่ายใด หรือยังคงอาศัย กลุ่มอำนาจเผด็จการเก่า เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กคอยคุ้มกันให้สถานภาพของตัวเองและของสมาคมวิชาชีพดำรงอยู่ต่อไปได้

เป็นไปได้อย่างไร ที่สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนไทย ถึงไม่ได้รู้สึกหวั่นไหว ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว ซึ่งปกคลุมอยู่ทั่วประเทศไทยในเวลานี้  แม้กระทั่ง สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสื่อมวลชนเอง กลับถูกยอมให้ละเมิดได้อย่างไม่ขัดขืน  อย่างนี้แล้วจะหาญกล้าที่จะประกาศว่า มีเสรีภาพบนความรับผิดชอบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนได้อย่างไร

กว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สังคมไทย ยังไม่เห็นความกล้าหาญและจริงจังของ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ที่แสดงออกถึงการต่อต้านหรือการคัดค้าน เผด็จการทหารอย่างเป็นรูปธรรม ทำได้เพียงแค่การออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและมีท่วงทำนองที่รับได้กับการทำรัฐประหารเสียด้วยซ้ำ และแม้แต่การยอมที่จะรอมชอมยอมความกัน

สื่อมวลชนของเมียนม่าร์เสียด้วยซ้ำ ที่แสดงออกในเชิงสัญญลักษณ์เพื่อต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

ด้วยการวางอุปกรณ์การประกอบวิชาชีพสื่อกองไว้กับพื้น พร้อมกับนั่งปิดหูปิดตา ปิดปากตัวเอง เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า ไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการ  และพวกเขาก็ยังคงปฎิบัติหน้าที่ในภาวะแห่งการปิดกั้นและถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพต่อไป ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนไทยเวลานี้

ดังนั้นการที่ สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนไทย แสดงท่าทีรอมยอมอ่อนข้อให้กับ อำนาจเผด็จการทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จล้นฟ้า และกำลังใช้อำนาจที่ได้มาอย่างไม่ชอบธรรมนั้นนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎกติกาการปกครองประเทศครั้งสำคัญเช่นนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายอย่างยิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในอนาคต

ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนคนหนึ่ง นับเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งหากหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติในอนาคต  ส่วนหนึ่งมาจากน้ำมือ และความไม่รับผิดชอบของสื่อมวลชนที่หลอกตัวเองว่ามีเสรีภาพ

ถึงตอนนั้น ก็คงจะได้เห็นแถลงการณ์ของ สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ของเมียร์ม่า ที่แสดงความวิตกกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อภาวะถดถอยของการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในประเทศไทย  และคงจะได้เห็นน้ำใจอันงดงามของเพื่อนร่วมวิชาชีพชาวเมียนม่าร์ ที่อาสาจะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับปฎิบัติการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย
ถึงเวลานั้น ผมขอเป็นคนแรก ที่จะกล่าวขอบคุณ สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชนเมียร์ม่าไว้ล่วงหน้า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net