Skip to main content
sharethis

เชื้อปรสิต Toxoplasma gondii ที่อยู่ในลำไส้ของเจ้าเหมียว ถูกนำมาทดลองพบว่าสามารถกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันทำงานต่อต้านเซลล์เนื้องอกและมะเร็งได้ แม้จะเป็นความหวังใหม่ของการรักษามะเร็ง แต่ยังต้องศึกษาทดลองอีกมากและถือว่ายังไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ต้องการรับเชื้อโดยตรงไม่ผ่านการดัดแปลงเป็นวัคซีน


24 ก.ค. 2557 เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ศูนย์วิจับมะเร็งดาร์ตเมาธ์ฮิชค็อก นอร์ริสค็อตตอน ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยมะเร็งชั้นนำในสหรัฐฯ ได้ทำการค้นคว้าปรสิตที่ชื่อว่า "Toxoplasma gondii" (T. gondii) ซึ่งพบในลำไส้และอุจจาระของแมว แล้วพบว่าระบบภูมิคุ้มกันของคนมีปฏิกิริยาต่อปรสิตดังกล่าวในรูปแบบเดียวกับที่พยายามต่อสู้กับเนื้องอก

T. gondii เป็นปรสิตเซลล์เดียวที่นอกจากจะอยู่ในลำไส้ของแมวแล้ว ยังสามารถอยู่ได้ในสัตว์เลือดอุ่นอื่นๆ เว็บไซต์ไซเอนซ์เดลี่ระบุว่า T. gondii ส่งผลกระทบต่อประชากรราว 1 ใน 3 ของโลก มีจำนวน 60 ล้านคนเป็นชาวสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่ที่มี T. gondii อยู่จะไม่แสดงอาการอะไร แต่ก็มีบางคนที่แสดงอาการคล้ายเป็นหวัด แต่กับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดีอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ถ้าร่างกายไม่สามารถกำจัดเจ้าปรสิตชนิดนี้ออกไป

อย่างไรก็ตามในกลุ่มคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันดีมีโอกาสได้ประโยชน์จากปรสิตตัวนี้ โดยเดวิด เจ. ชิค ศาตราจารย์วิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากวิทยาลัยแพทย์ที่ดาร์ทเมาธ์กล่าวว่าปรสิต T. gondii สามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองในแบบที่อยากต่อสู้กับมะเร็ง

T. gondii กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์ที่เรียกว่าไซโตท็อกซินทีเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์เพชรฆาตที่พยายามกำจัดเซลล์มะเร็ง แม้ว่ามะเร็งจะพยายามขัดขวางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่เมื่อ T. gondii ไปอยู่ในสภาวะที่มีเนื้องอกก็สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับมาทำงานได้

บาร์บาร่า ฟ็อกซ์ ผู้ช่วยนักวิจัยจากหน่วยงานเดียวกับชิคเปิดเผยว่าลักษณะทางชีววิทยาของปรสิตนี้ทำให้ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างจากการรักษาเชิงกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบอื่นๆ ที่แค่กระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันจากภายนอก แต่ในกรณีนี้พวกเขาใช้ T. gondii ที่ถูกดัดแปลงสายพันธุ์แล้ว เข้าไปเปลี่ยนแปลงภายในทำให้ระบบภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านเซลล์เนื้องอกและเซลล์มะเร็งอย่างเป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าแค่รับตัวปรสิต T. gondii เข้าไปด้วยตัวเองแล้วจะปลอดภัย แต่ต้องใช้วัคซีนที่ชื่อ "cps" ซึ่งชีคและฟ็อกซ์ร่วมกันดัดแปลงจากตัวปรสิตโดยนำยีนที่กลายพันธุ์ไปเพาะเลี้ยงโดยไม่ต้องอาศัยตัวสัตว์ได้

การใช้วัคซีน "cps" จะทำให้ปรสิต T. gondii ไม่สามารถแบ่งตัวได้ทำให้มีความปลอดภัยกว่า และแม้ว่าผู้รับวัคซีนตัวนี้จะมีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดการทำงานของภูมิคุ้มกันได้

นักวิจัยได้ทดลองวัคซีนดังกล่าวกับหนูที่เป็นมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาและมะเร็งรังไข่ในระดับที่ขยายตัวเร็วมาก แล้วพบว่าหนูทดลองสามารถรอดชีวิตจากมะเร็งมาได้ในอัตราที่สูงมากอย่างไม่เคยพบมาก่อน และคิดว่าอาจจะนำมาใช้กับคนได้ในวันข้างหน้า

แต่ฟ็อกซ์และชิคก็บอกว่ายังต้องมีการวิจัยวัคซีน "cps" มากกว่านี้ก่อนที่จะให้มันออกจากห้องทดลองได้ โดยพวกเขายังต้องศึกษาในระดับโมเลกุลและกลไกของเป้าหมาย

"การใช้ cps รักษามะเร็งด้วยการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเป็นความหวังอย่างยิ่งในการสร้างวัคซีนและยารักษามะเร็ง" ชีคกล่าว

 

เรียบเรียบจาก

Parasites in Cat's Excreta Can Help Cure Cancer: Study, International Business Times, 18-07-2014
http://au.ibtimes.com/articles/559611/20140718/parasites-toxoplasma-gondii-tgondii-cat-poop-cancer.htm?fs=4fc87#.U9Ecm-OSzjK

Does cat poop parasite play a role in curing cancer?, Science Daily, 15-07-2014
http://www.sciencedaily.com/releases/2014/07/140715095515.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net