Skip to main content
sharethis

หลังจากที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้แรงงานต่างชาติอย่างหนัก ประเทศใน “ตะวันออกกลาง” จึงได้ออกข้อบังคับให้คนงานพักยาวในช่วงกลางวันระหว่างช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของภูมิภาค ส่วนที่ “เวียดนาม” วัฒนธรรมงีบหลับในที่ทำงานกำลังถูกท้าทายด้วยการปรับภาพลักษณ์เพื่อค้าขายกับต่างชาติ

 

 

 

หลังจากที่ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้แรงงานต่างชาติอย่างหนัก ตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจึงได้ออกข้อบังคับให้คนงานสามารถพักยาวได้ในช่วงกลางวัน เพื่อป้องกันไม่ให้คนงานได้รับอันตรายจากการสัมผัสแสงแดดและอุณหภูมิที่สูงในช่วงเดือนที่มีอากาศร้อนที่สุดของภูมิภาค สำหรับปี ค.ศ.2014 ข้อบังคับนี้ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การให้แรงงานพักผ่อนในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนระอุนี้ ถือว่าเป็นข้อบังคับของรัฐบาลหลายประเทศในตะวันออกกลาง มีผลบังคับใช้ 2-3 เดือน (มิถุนายน-สิงหาคม หรือกันยายน) โดยคูเวตและโอมาน ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน, กาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน, บาห์เรนและซาอุดีอาระเบียประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

กาตาร์เป็นประเทศที่ประกาศห้ามทำงานในเวลากลางวันนานที่สุดถึง 5 ชั่วโมง ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่ให้เวลาช่วงพักทำงานสั้นที่สุดเพียง 2.5 ชั่วโมง

ด้านการตรวจสอบนั้นจะมีคณะผู้ตรวจสอบจากกระทรวงแรงงานของประเทศต่างๆ เดินทางไปตรวจเยี่ยมไซต์งานก่อสร้างที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติหลายหมื่นแห่งในภูมิภาคโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และหากพบการละเมิดข้อบังคับก็จะมีโทษปรับเงินรวมถึงการสั่งระงับการดำเนินงานชั่วคราว

ทั้งนี้พบว่าโทษปรับเงินของการละเมิดข้อบังคับนี้มีจำนวนที่ไม่มากนัก โดย constructionweekonline.com รายงานตัวอย่างในซาอุดิอาระเบียมีโทษปรับเพียง 800 - 2,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนในบาห์เรนมีโทษปรับเพียง 1,300 - 2,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น และยังพบว่าช่วงนี้ของทุกปีมักจะมีข่าวการละเมิดข้อบังคับอยู่เนืองๆ อย่างในปี 2012 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พบบริษัทละเมิดข้อบังคับให้แรงงานพักนี้ถึง 102 แห่ง [1] ในปี 2013 ที่บาห์เรนพบบริษัท 118 แห่งละเมิดข้อบังคับ [2] ส่วนในปี 2014 นี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาก็พบว่ามีบริษัท 54 แห่งที่ละเมิดข้อบังคับนี้ไปแล้ว [3]

การออกกฎให้แรงงานพักผ่อนในช่วงกลางวันที่มีอากาศร้อนนั้นสืบเนื่องมาจากการกฎดันขององค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรแรงงานต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีการจ้างงานแรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก และการให้คนงานปฏิบัติงานในสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยนั้นถือว่าเป็นการเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงาน ตัวอย่างในปี 2013 ได้มีการเปิดเผยเอกสารจากสถานทูตเนปาลที่ระบุว่าคนงานเนปาลเสียชีวิตกว่า 44 คน ในกาตาร์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมซึ่งเป็นช่วงอากาศร้อนที่สุด โดยกว่าครึ่งมาจากปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่ต้องทำงานหนักไม่ได้หยุดและขาดน้ำท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึง 50 องศา

ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า ในแต่ละปีนั้นการบังคับใช้แรงงานที่ถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมาย สามารถทำเงินได้ถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และในจำนวนนี้มีถึง 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่เป็นเม็ดเงินจากการบังคับใช้แรงงานในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อนึ่งสำหรับสภาพภูมิอากาศในตะวันออกกลางนั้น มี 2 ฤดู ได้แก่ฤดูร้อนและฤดูหนาวโดยระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนอากาศร้อนจัดและความชื้นสูงอุณหภูมิประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส ส่วนในเดือนตุลาคมถึงเมษายนเป็นฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่หนาวมากนักอุณหภูมิเฉลี่ย 15-30 องศาเซลเซียส

 

เมื่อบริษัทข้ามชาติห้ามพนักงานเวียดนามนอนกลางวัน

 

 

 

วัฒนธรรมการนอนกลางวันที่ชาวเวียดนามคุ้นเคยและได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ครั้งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส กำลังถูกท้าทาย โดยบริษัทด้านไอทีแห่งหนึ่งได้ห้ามพนักงานงีบหลับตอนกลางวันภายในสถานที่ทำงาน เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดีขึ้นเพื่อการทำธุรกิจกับต่างประเทศ

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2014 ที่ผ่านมา globaltimes.cn รายงานว่าบริษัทด้านไอทีอย่าง FPT-IS ของเวียดนาม ที่มีสาขาทั่วโลกถึง 18 แห่ง ได้ออกคำสั่งห้ามพนักงานนอนกลางวันภายในบริษัท โดยผู้บริหารได้ให้เหตุผลว่า ลูกค้าของ FPT-IS ในสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ได้สะท้อนมาว่าพวกเขารู้สึกตกใจเมื่อเห็นพนักงานชาวเวียดนามนอนกลางวันในที่ทำงานซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับพวกเขา

ผู้บริหารของ FPT-IS ยังระบุอีกว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมไอทีระดับโลกนั้น เวียดนามกำลังแข่งขันกับบริษัทจากอินเดียและจีนอย่างดุเดือดทั้งด้านเทคนิคและวัฒนธรรม ดังนั้นเพื่อที่จะได้สัญญาจากลูกค้าต่างชาตินั้น พนักงานชาวเวียดนามควรเลิกการนอนกลางวันเสียที

นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทเอกชนอีกแห่งหนึ่งในเวียดนามที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้บริหารของ FPT-IS ระบุว่าการนอนหลับในสำนักงานไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัท ส่วนชาวเน็ตในเวียดนามจำนวนมาก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่อคำสั่งห้ามนอนกลางวันในสำนักงานกันอย่างหลากหลาย โดยบางส่วนสนับสนุนการห้ามนอนกลางวันในที่ทำงานนี้แต่ระบุว่าถ้าพนักงานอยากจะนอนพักเที่ยง ก็ควรกลับไปยังที่พัก เช็กอินโรงแรม หรือไม่ก็ไปงีบหลับตามสวนสาธารณะแทน

ส่วนพนักงานของ FPT-IS ที่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อกลับระบุว่า ควรอนุญาตให้มีการนอนกลางวันเป็นเวลาสั้นๆ ในช่วงเที่ยงวัน เพราะจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยพวกเขารู้สึกสดชื่นขึ้นหลังได้นอนพัก 10-15 นาที

 

 

 

อนึ่งสำหรับประเด็นการงีบหลับระหว่างทำงานนั้น แม้แต่ในโลกตะวันตกก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่าการได้งีบหลับเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มความตื่นตัวในการปฏิบัติงาน เพิ่มความกระปรี้กระเปร่า พัฒนาการจดจำ ทักษะการขับยานพาหนะ การตัดสินใจและอารมณ์ ลดความเครียด ลดความประมาท หรือแม้แต่ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ในหน่วยธุรกิจที่คำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้พนักงานนั้นถึงกับมี “ห้องงีบ” (Nap Rooms) ให้พนักงาน ไว้พักงีบเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น บริษัท Nike ก็มีห้องงีบนี้ไว้สำหรับพนักงานในการงีบหลับหรือทำการนั่งสมาธิ ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านนวัตกรรมอย่าง Google ก็ถึงกับสร้างแคปซูลไฮเทคไว้ทั่วสำนักงานในเมืองเมาท์เทนวิว รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้พนักงานไว้งีบหลับ เป็นต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net