ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 โครงสร้างอำนาจ และสถาบันทางการเมือง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

โครงสร้างอำนาจนี้ถูกกำหนดขึ้นใหม่เป็นการชั่วคราว ตามเนื้อหาของธรรมนูญการปกครองฯ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำการบริหารราชการแผ่นดินและเพื่อการปฏิรูปประเทศ ควรพินิจพิจารณากันว่าองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองที่กำหนดขึ้นตามธรรมนูญการปกครองนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์

1.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้มีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คน ที่มาจากการ”คัดเลือก”ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมเข้าเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา (ความตามมาตรา 6) โดยที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผุ้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ควมตามมาตรา 10) โดยสภานิติบัญญัติมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอ และลงมติเพื่อตราพระราชบัญญัติได้ ยกเว้นพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน (ความตามมาตรา 14) ทั้งนี้สมาชิกสภานิติบัญญัตินั้นสามารถตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีฯและคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินได้ และสามารถเปิดอถิปรายได้แต่จะลงมติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจไม่ได้ (ความตามมาตรา 16)

2.นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายกรัฐมนตรีให้มาจากการคัดเลือกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วนคณะรัฐมนตรีจำนวน 35 คนนั้นให้มาจากการคัดเลือกของนายกรัฐมนตรี โดยการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีหรือในนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งนี้ผู้ที่จะทำการทูลเกล้าเสนอให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ความตามมาตรา 19)

3.สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้มีสภาปฏิรูปโดยมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 250คนประกอบขึ้นเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมีที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ตามการถวายคำแนะนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (ความตามมาตรา 28) โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติมีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆเช่น การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน การศึกษา เศรษฐกิจ ฯลฯ (ความตามมาตรา 27)  อีกทั้งอำนาจหน้าที่ในการเสนอพระราชบัญญัติต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติและให้ความเห็นข้อเสนอแนะ ให้ความเห็นชอบต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการร่างรัฐธรรมนูญด้วย (ความตามมาตรา 31)

4.คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีจุดประสงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร (?) โดยประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 36 คนซึ่งมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 20 คน จากคณะรัฐมนตรี 5 คน จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 5 คน จากสภาปฏิรูปแห่งชาติ 5 คน และประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมเป็น 36 คน  (ความตามมาตรา 32)

5.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยังคงเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติต่อไปตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 6/2557  (ความตามมาตรา 42) ในระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ให้ถือว่าอำนาจของฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติอยู่ที่ความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ความตามมาตรา 43) ทั้งนี้ให้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการสั่งการให้เข้าควบคุม ปราบปรามหรือกระทำการใดๆเพื่อปกป้องและรักษาความสงบได้โดยทันที แล้วจึงทำรายงานในเรื่องนั้นๆนั้นแจ้งทราบต่อประธานสภานิติบัญญัติ และนายกรัฐมนตรีภายหลัง (ความตามมาตรา 44) ที่น่าสนใจคือไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นตำแหน่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือกลไกในการตรวจสอบหรือถ่วงดุลอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเลยแม้แต่น้อย

ในโครงสร้างอำนาจรูปแบบนี้อาจกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรใหม่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสูงสุดในการคัดเลือก แต่งตั้ง หรือถอดถอนสมาชิกของสถาบันทางการเมืองอื่นๆและติดตาม สอดส่อง ดูแลการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองต่างๆภายใต้ความชอบธรรมในนามของกฏหมาย โดยไม่มีกลไกหรือเครื่องมือใดๆมาตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ นอกจากนี้ความตามมาตรา 44 นั้นยังให้ความชอบธรรมแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการดำเนินการใดๆก็ได้เพื่อรักษาความสงบ ไม่ต่างจากมาตรา 17 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

“มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญนี้ ในกรณที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นการกระทำหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย... เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรแจ้งให้สภาทราบ”

นับเป็นความเหมือนที่ยากจะแยกออกจากกันระหว่างบทบัญญัติมาตรา 17 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในช่วงการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับมาตรา 44 ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 ในการให้อำนาจเด็ดขาดกับ”ผู้นำ” แม้จะมีความต่างในส่วนที่มาตรา 17 นั้นให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรี คือจอมพลสฤดษิ์ ธนะรัชต์ ขณะที่มาตรา 44 นั้นให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่โดยเนื้อหาแล้วไม่ต่างกันเพราะเป็นการให้ความรับรองและความชอบธรรมแก่”ผู้นำที่แท้จริง”

อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายผู้ปกครองเองก็รับรู้ถึงความไม่พอใจของประชาชนบางส่วนที่ยังคุกรุ่นอยู่และรอวันปะทุ จึงต้องคงอำนาจเบ็ดเสร็จเอาไว้ที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อป้องกัน และปราบปรามในกรณีที่”อาจจะ”มีการเคลื่อนไหวต่อต้านภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว นอกจากการนี้การคงสถานะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกฉบับให้ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปนั้น (ความตามมาตรา 47)ก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประกาศห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือการประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองนั้นยังคงมีผลต่อเนื่องอยู่ เพียงแต่หลบอยู่เบื้องหลังฉากที่เรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557 นี้น่าจะเป็นเพียงตัวต้นแบบ เพื่อลดแรงเสียดทานจากต่างประเทศ และเพื่อลองสำรวจความเห็นภายในที่มีต่อเนื้อหา โครงสร้างอำนาจใหม่ที่น่าสนใจน่าจะระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวร(?) ที่กำลังจะออกมาจากหลังจากนี้ น่าขบคิดเป็นอย่างยิ่งว่า”ประชาธิปไตยสมบูรณ์”ที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมออกแบบนั้นจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร ภายใต้ระบบการปกครองยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ที่ 2 ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จะสร้างประชาธิปไตยได้จริงๆหรือ? เหล่านี้คงต้องรอคอยติดตามกันต่อ่ไปถึงที่สุดแล้วเราจะได้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ หรือจะได้พบ ”14 ตุลาวันมหาปีติ” อีกครั้งกันแน่?

ปล.ผู้เขียนเลือกใช้คำว่า”ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2557” แทนคำว่า “รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557” เพื่อให้พ้องกับชื่อเรียกขานกฏหมายปกครองชั่วคราว ของคณะรัฐประหารในอดีต
 

เกี่ยวกับผู้เขียน ปัจจุบัน จักรพล ผลละออ เป็นนิสิต ชั้นปีที่ 2 ศึกษาอยู่ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท