โศกนาฏกรรมของรัฐธรรมนูญไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เมื่อ คสช.ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ได้มีสมาชิกคนหนึ่งของรัฐบาลทหารออกมาพูดเป็นทำนองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ (และฉบับถาวรในอนาคต) จะเป็นระดับขั้นหนึ่งที่ทำให้ต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นในโรดแมพของการปฏิรูปประเทศโดยคสช.อันนำไปสู่ความสัมพันธ์รูปแบบปกติระหว่างไทยกับประเทศนั้นๆ  คำพูดนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนตับเป็นอย่างมาก อยากจะเข้าใจว่าคำพูดของเขาซึ่งแทนความคิดของคสช.เช่นนี้เป็นการเสแสร้งเสียมากกว่าความเขลาเพื่อเป็นการตบตาตะวันตก  ซึ่งผู้เขียนเองก็คิดว่าประเทศตะวันตกนั้นไม่ได้โง่และน่าจะศึกษาบริบทการเมืองไทยรวมไปถึงเข้าใจภาษาไทยในรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี ทำให้พวกเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร (1)    

ประเทศเหล่านั้นต่างก็รู้ดีว่า รัฐธรรมนูญ (Constitution) นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นตัวบ่งบอกความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป  ประเทศทั้งหลายล้วนแต่มีรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เผด็จการหรือคอมมิวนิสต์อย่างเช่นสหภาพโซเวียต  เกาหลีเหนือ และจีนซึ่งฝ่ายหลังสุดนั้นถือได้ว่ามีรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ด้วยประโยชน์ประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญคือหลักที่อนุญาตให้รัฐมีอำนาจเหนือประชาชนและสามารถจัดการรัฐกิจทุกประการได้อย่างสะดวกและชอบธรรม  ดังจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญของประเทศเหล่านี้ยังบรรจุเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ด้วยแต่จากการกระทำของรัฐบาลเหล่านั้นผ่านข่าวต่างประเทศที่เราเห็นอยู่ทุกวันแสดงให้เห็นว่าสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่องอันเลื่อนลอยไม่สามารถสู้กับมาตราอื่นที่เน้นเรื่องความมั่นคงของรัฐได้  รัฐธรรมนูญจึงมักกลายเป็นเครื่องประดับของรัฐบาลเผด็จการที่ดูสวยงามเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง    

สำหรับเนื้อหาทั้ง 48 มาตราของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทยที่เพิ่งถูกประกาศใช้นั้น ผู้เขียนของดวิจารณ์และวิเคราะห์ในเชิงลึกเพราะรู้ว่าผู้อ่านบทความนี้น่าจะได้อ่านมาอย่างดีและหลายท่านที่มีความรู้ด้านกฎหมายน่าจะวิเคราะห์ได้ดีกว่าผู้เขียนเสียอีก ปัญหาก็คือในหลายๆ  ส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้นเป็นการพายเรือวนอยู่ในอ่าง หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ของรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับโดยเฉพาะฉบับที่ถูกร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารอย่างเช่นปี 2550   อารัมภบทของรัฐธรรมนูญเหล่านั้นล้วนแต่อ้างถึงเหตุผลที่ทหารได้ "อาสามารับใช้ชาติ" เพราะความฉ้อฉลของรัฐบาลชุดก่อนและการเข้ามายุติความขัดแย้งหรือภัยจากศัตรูคือคอมมิวนิสต์ในยุคก่อนอันเป็นการโหมโรงก่อนรัฐธรรมนูญมาตราอื่นซึ่งมักสอดใส่เรื่องสนองผลประโยชน์ของตนเช่นนิรโทษกรรมแก่ผู้ทำรัฐประหาร (มีคนออกมาแขวะว่าทำไมยังไม่มีใครออกมาเป่านกหวีดประท้วง ?) รวมไปถึงการให้อำนาจของคณะรัฐประหารก้ำกึ่งกับฝ่ายบริหารที่จะเกิดขึ้น (และสมาชิกก็คือพวกตัวเองนั้นแหละ) อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ดูเหมือนจะงดประณามรัฐบาลของยิ่งลักษณ์หรือเครือข่ายทักษิณเหมือนฉบับก่อนอันนำไปสู่การคาดเดาได้ต่างๆ นาๆ เช่นอาจไม่ต้องการให้คนซึ่งฝักใฝ่เสื้อแดงเกิดความไม่พอใจอันอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ในอนาคต หรืออาจจะมีการเกี้ยะเซี้ยะกับอีกฝ่าย ด้วยเป็นที่น่าสนใจว่า คสช.ปล่อยให้ ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศในช่วงที่ปปช.ตัดสินความผิดของยิ่งลักษณ์เกี่ยวกับเรื่องจำนำข้าวพอดี 

แต่สำหรับผู้เขียนเห็นว่าการหลีกเลี่ยงการประณามรัฐบาลชุดก่อนตามจารีตอันดีงามของรัฐประหารนั้น ได้สร้างปัญหาให้กับคนเขียนว่าจะต้องไปให้น้ำหนักของปัญหาของความมั่นคงมากจนเกินไป และยังต้องเขียนบรรยายขยายภาพความหายนะของประเทศจนน่าตกใจจนดูเหมือนภาพยนตร์แนวหายนะที่ทำรายได้ถล่มทลายของภาพยนตร์ฮอลลีวูด  แต่ถ้าเรานึกถึงการที่กำนันสุเทพ (ซึ่งได้บวชเป็นพระในวัดที่เขาไม่คู่ควรแม้แต่จะก้าวเท้าเข้าไปเสียด้วยซ้ำ) ออกมาแฉถึงการติดต่อระหว่างกองทัพกับ กปปส.ซึ่งมีส่วนในการก่อความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2553 นั้น หากคำพูดของเขาเป็นจริง ก็เท่ากับอารัมภบทเช่นนี้น่าจะถูกเขียนตั้งแต่ก่อนการก่อหวอดของกลุ่ม กปปส.หรือการรัฐประหารโดยระบบราชการและศาลต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือว่าแท้ที่จริงอารัมภบทนี้คือสคริปต์ที่เป็นตัวกำหนดบทบาทและกลยุทธ์ของตัวละครทางการเมืองทั้งหลายซึ่งมีผลต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เราได้ประสบพบมาหลายเดือนเสียด้วยซ้ำ ! 

ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจว่าสาธารณชนจะให้ความสนใจต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเช่นนี้มากน้อยเพียงใด เช่นเดียวกันสาธารณชนควรจะเตรียมพร้อมและแสวงหาสิทธิในการวิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับในอนาคตว่าเนื้อหานั้นถูกต้องและเหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด แต่ผู้เขียนเดาเอาว่านอกจากขีดจำกัดทางกฎหมายที่ถูกยัดเหยียดโดยคสช.ให้กับนักวิชาการทั้งหลายแล้ว โดยวิสัยของมวลชนที่ยังเปี่ยมสุขด้วยหลายเรื่องที่คสช.ประเคนให้ไม่ว่าไม่ว่าการจ่ายเงินให้กับชาวนา การปลดผู้ว่ารถไฟเพราะกรณีน้องแก้ม การจัดคิวรถ การคืนความสุขโดยการจัดปาหี่นานาชนิด ฯลฯ แล้ว ความตื่นตัวและพลังต่อต้านรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็คงจะขาดพลังไปมาก ที่สำคัญการยืนยันของรัฐบาลทหารว่าจะไม่ให้มีการลงประชามติก็จะทำให้การถกเถียงกันอย่างละเอียดดังในปี 2550 นั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะมองรัฐธรรมนูญในเชิงวิพากษ์ นอกจากจะกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ได้ถูกบันดาลจากเบื้องบน

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่น้อยดังที่นักวิชาการหลายท่านชี้ให้เห็นว่าสำหรับสังคมไทยนั้น รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมทางการเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญกว่าฉบับตัวหนังสือ ทั้งที่ในโลกตะวันตกนั้น รัฐธรรมนูญฉบับหนังสือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับประชาชนเพราะมันเป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดขอบเขตและความสูงต่ำของกฎหมายต่างๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจขององค์กรต่างๆ ของรัฐรวมไปถึงประชาชน และตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญถึงแม้อาจจะมีข้อบกพร่อง สามารถถูกตีความได้แตกต่างกันแต่ก็ยังมีหลักยึดที่ชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่หาความแน่นอนไม่ได้  นอกจากนี้ยังน่าเสียดายว่าก่อนการทำรัฐประหารนั้นได้มีการจัดงานเสวนาและการถกเถียงระหว่างนักวิชาการเสื้อสีต่างๆ  ผ่านสื่อมวลชนเกี่ยวกับการตีความในรัฐธรรมนูญปี 2550  จนน่าจะขยายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างใหม่นั้นคือทำให้คนตื่นตระหนักถึงประชาธิปไตยที่มีศูนย์กลางคือรัฐธรรมนูญ (ที่เป็นตัวหนังสือ) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองของไทยใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญฉบับอันเป็นลักษณะเดียวกับประเทศที่มีการปกครองประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตก  แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็ได้ล้มเหลวอันเกิดจากการปิดกั้นเสรีภาพของรัฐสตาลินแบบไทยๆ  รัฐธรรมนูญไทยจึงยังคงขาดความศักดิ์สิทธิ์ดังในอดีตและจำนวนของรัฐธรรมนูญก็สามารถเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ  ในอนาคตอย่างไร้ขีดจำกัด เพราะวัฒนธรรมไทยที่เน้นการถูกกำหนดจากเบื้องบนมากกว่าเบื้องล่างหรืออาวุธปืนมีพลังมากกว่าเหตุผล

นอกจากนี้ที่มาของรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งอย่างเช่นรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งถือได้ว่ามาจากเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริงเพราะมาจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร.ที่มาจากการเลือกของประชาชน การร่างก็ย่อมนึกถึงเรื่องการให้อำนาจแก่ประชาชนและรัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นหลัก แม้จะก่อให้เกิดองค์กรอิสระซึ่งกลายเป็นตัวทำลายรัฐบาลในตอนหลัง รวมไปถึงจุดอ่อนหลายๆ ข้อดังที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550  ซึ่งถูกใช้ผ่านประชามติเชิงบังคับได้อ้างก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มีคุณค่าเสมือนกับสมุดการบ้านที่ประชาชนได้ฝึกซ้อมความเป็นพลเมือง นอกจากนี้ผู้เขียนยังคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง ย่อมเกิดจากการที่คนร่างคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองหรือ "นายจ้าง"ของตัวเองเป็นสำคัญ การที่ใครหลายคนยกย่องรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นต้นเพราะสามารถคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้มากๆ  จากกลุ่มผลประโยชน์อื่นเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรที่เราเชื่อมั่นว่า "ดี" ก็เพราะเราไม่เคยตรวจสอบเขาได้อย่างจริงจังเลยว่ามีพฤติกรรมแตกต่างจากนักการเมืองมากน้อยแค่ไหน

อย่างในตอนนี้ใครหลายคนอาจมีความสุขกับรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจแก่คสช.อย่างมหาศาลอันจะเป็นตัวรับประกันเสถียรภาพและความสงบสุขภายใต้รองเท้าบู๊ต แต่ว่าในอนาคตถึงแม้ระบอบและเครือข่ายทักษิณจะปลาสนาการจากโลกนี้โดยสิ้นเชิง  คนไทยก็ยังมีความสุขแบบเด็กไม่รู้จักโตเสียทีเพราะรัฐธรรมนูญต่อไปนี้ซึ่งมักถูกอ้างว่าเป็นการระงับการทำงานประชาธิปไตยเพียงชั่วคราว (เพื่อให้คนไทยได้ตายใจ) นั้นก็ได้กำหนดแผนที่ทางอำนาจให้พรรคการเมือง ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายด้อยอำนาจกว่าระบบราชการ สถาบันการเมืองเหล่านั้นถูกจับดองในโหลนั้นคือจะต้องขาดพัฒนาการไปตลอดกาล  ประเทศไทยก็จะไม่มีการเรียนรู้ประชาธิปไตยโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้นคือนักการเมืองที่มาจากการเลือกจะตกอยู่ใต้อำนาจของข้าราชการและนักการเมืองที่มาจากการสรรหา คนไทยในอนาคตก็จะคุ้นชินกับการปกครองเผด็จการเบ็ดเสร็จ โดยกลุ่มคณาธิปไตยที่เน้นผลประโยชน์ตัวเองไปเรื่อยๆ เนียนๆ  ภายใต้ผ้าคลุมของประชาธิปไตยอันอาจจะดูเหนือชั้นกว่าเพียงเล็กน้อยตามสายตาของคนที่เกลียดทักษิณคือ “ประชาธิปไตยที่ปราศจากทักษิณ" แต่หารู้ไม่ว่ามีคนแบบทักษิณอยู่ในรัฐบาลชุดใหม่เต็มไปหมด

ดังนั้นผู้เขียนมองว่าการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของคสช.คือจุดเริ่มต้นโศกนาฏกรรมของรัฐธรรมนูญไทย

เชิงอรรถ
(1) กระนั้นผู้เขียนในฐานะที่ไม่ได้ศรัทธาในนโยบายต่างประเทศของตะวันตกแอบมาคิดเล่นๆ ว่าอาจจะเป็นการนัดแนะหรือการตกลงกันระหว่าง คสช.กับตะวันตกหรือไม่เพื่อสร้างฉากทางการเมืองบางประการอันจะเป็นทางออกให้ตะวันตกสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับไทยได้เหมือนเดิมด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มากมายรวมไปถึงอิทธิพลของบริษัทข้ามชาติ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท